ว่ากันว่า สายลมความคลั่งไคล้ในบริตป๊อป (Britpop) —คลื่นเพลงผู้พลิกวัฒนธรรมดนตรีจากสหราชอาณาจักรในยุค 1990s— ได้ตายไปในยุคของความผันเปลี่ยน ในยุคสมัยของการทำเพลงสังเคราะห์ และการชะลอตัวของสองวงคู่ปรับที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของบริตป๊อปในวันวาน อย่างการแตกคอของพี่น้องกัลลาเกอร์แห่ง Oasis หรือการแยกย้ายไปทำเพลงตามแบบที่ตัวเองสนใจของ Blur (และในกรณีพิเศษ อเล็กซ์ เจมส์ มือเบสผู้ผันตัวไปทำฟาร์มชีส)
กระทั่งเมื่อเทศกาลดนตรีหน้าใหม่อย่างคูลบริทานเนีย เฟสติวัล (Cool Britannia Festival) ที่นิยามตัวเองว่าได้แรงบันดาลใจมาจากยุคทองของบริตป๊อป และเพิ่งมีคอนเสิร์ตขึ้นในเน็บเวิร์ธ (Knebworth) พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เหล่าคนดนตรีเคยไปจารึกไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้หลายคนมองไปยังงานเทศกาลอย่างมีหวังว่าที่สุดแล้วมันอาจปลุกให้บรรยากาศอันครึกครึ้นกับกลิ่นอายดนตรีอังกฤษกลับมาอีกครั้ง ยังไม่นับว่าตัวเทศกาลที่เพิ่งจัดขึ้นมาครั้งแรกในปีนี้ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในการเชิญคนดูและศิลปินเบอร์ใหญ่มาร่วมงาน จนประกาศกำหนดวันแสดงและเปิดให้จองบัตรของปีหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยแท้จริงแล้ว คำจำกัดความของบริตป๊อปนั้นกว้างกว่าแนวดนตรี เพราะมันขยายรวมไปถึงวัฒนธรรมจากอังกฤษที่ทรงพลังไปทั่วโลกในยุค 90s จนในที่สุด คำนี้ได้กลายเป็นคำจำกัดความช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์เหล่านั้นซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือเหล่านักดนตรี โหมโรงแรกของบริตป๊อปเริ่มขึ้นในปลายยุค 80s เมื่ออิทธิพลของ The Smiths พัดพาไปทั่วทั้งเกาะ แลกหมัดกับดนตรีกรันจ์จากฝั่งอเมริกาอย่างสมน้ำสมเนื้อหลังจากที่ปล่อยให้ดนตรีจากฝั่งอเมริกาปกคลุมทั่วทั้งเกาะอยู่เนิ่นนาน
และต้นยุค 90s นั่นเองที่สี่วงอังกฤษอย่าง Oasis, Blur, Suede และ Pulp (ที่ถูกเรียกอย่างยกย่องว่า Big Four หรือสี่จตุรเทพ) ประกาศศักดาของความเป็นอังกฤษผ่านดนตรีและสไตล์อันจัดจ้าน โลกทั้งโลกฟังเพลง Supersonic ของ Oasis ไปพร้อมกันกับที่ช่อง MTV แพร่ภาพของเลียม กัลลาเกอร์ ในชุดเสื้อโค้ตตัวหนา ยืนไขว้มือถือแทมโบรีนแผดเสียงใส่ไมโครโฟน (ก่อนที่ปีต่อมา โลกจะได้เห็นโนล พี่ชายของเขาเล่นเพลงทุกเพลงของ Oasis ด้วยกีตาร์ลายธงชาติยูเนี่ยน แจ็ค, เพลง Parklife ที่มีดามอน อัลบาร์น ฟร้อนต์แมนของ Blur ร้องตะโกนขณะที่เพื่อนร่วมวงยืนสูบบุหรี่ขณะที่มือก็เล่นเบส ไปจนถึง Common People ของ Pulp ที่ถ่ายทอดอารมณ์เดือดดาลอันเงียบงันของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมผ่านคอร์ดสามคอร์ดและเสียงร้องกระแทกกระทั้นของ จาร์วิส ค็อกเกอร์ได้อย่างทรงพลัง
หากมองในภาพรวม สิ่งที่จุดให้บริตป๊อปแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกไม่ใช่แค่ดนตรีจัดจ้านหลากหลายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสไตล์อันโดดเด่น วัยรุ่นค่อนโลกหวังจะเท่ให้ได้สักครึ่งของสองพี่น้องกัลลาเกอร์ หรืออัลบาร์นและค็อกเกอร์ นอกจากสไตล์อันโดดเด่นแล้ว ที่สำคัญคือเนื้อเพลงที่บอกเล่าถึงความอึดอัดต่อสังคม ดนตรีคือกระบอกเสียงและหนทางที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นประกาศก้องต่อความเป็นตัวเองในยุคสมัยที่อังกฤษยังเผชิญมรสุมยักษ์ของเศรษฐกิจและการเมือง ขณะที่เหล่านักดนตรีบริตป๊อปกว่าครึ่งเติบโตมาจากครอบครัวที่เป็นชนชั้นแรงงาน ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสองพี่น้องกัลลาเกอร์ที่ก่อนหน้ามาจับกีตาร์ก็เคยกำด้ามจอบเหล็กขุดถนนมาก่อน และระบายความโกรธเกรี้ยวเหน็ดเหนื่อยของพวกเขาผ่านบทเพลงที่กระทบหัวใจคนคอเดียวกันจนเกิดเป็นคลื่นความนิยมมหาศาล
“I need to be myself, I can’t be no one else” ของ Oasis จึงบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ เช่นเดียวกับ “I want to live like common people, I want to do whatever common people do” ของ Plup วงที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นชนชั้นแรงงานเมืองเชิฟฟิลด์ ก็จิกกัดท่าทีที่ชนชั้นกลางมีต่อชนชั้นแรงงานในอังกฤษ หรือแม้แต่ Blur เองซึ่งเป็นวงของเหล่าเด็กหนุ่มชนชั้นกลางก็พูดถึงเนื้อหาของ Parklife ที่เล่าถึงเหล่าคนหนุ่มสาวว่างงานและว่างเปล่าอย่างน่าฟังว่า “มันไม่ใช่เพลงเกี่ยวกับชนชั้นแรงงานสักนิด มันคือเพลง Blur ที่พูดถึงแค่คนรักสนุก ทำอะไรอย่างที่อยากทำก็เท่านั้น” เกรแฮม ค็อกซอนมือกีตาร์ของวงสรุป
กลับมาที่งานเทศกาลคูลบริทานเนีย ซึ่งโดยรากฐานของมันนั้นเป็นศัพท์เฉพาะที่เกิดขึ้นในยุคบริตป๊อปด้วยเช่นกัน ช่วงวันเวลาที่บริตป๊อปรุ่งเรืองสุดขีดและก่อพลวัตขึ้นมาทั้งในเชิงดนตรีและเชิงสังคม ศัพท์อย่าง ‘คูลบริทานเนีย’ ก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่ออธิบายความทรงพลังของปรากฏการณ์นี้ หลังจากเกาะอังกฤษทั้งเกาะตกอยู่ในความวุ่นวายของการเมืองอันสับสนและรุนแรงยุค 70s-80s ความสำเร็จสุดขีดของวงดนตรีอย่าง Blur, Oasis, Suede และ Pulp มีส่วนอย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์แง่บวกให้อังกฤษอีกครั้ง มันคือการโหมกระพือครั้งใหญ่ของการประกาศความเป็น ‘อังกฤษ’ หลังจากวงดนตรีฝั่งอเมริกาไหลบ่าครอบคลุมทั่วโลกอยู่นานหลายปี
นิตยสาร Time อธิบายศัพท์นี้ไว้อย่างคร่าวๆ ว่าเป็นคำที่ใช้อธิบายยุคสมัยและวัฒนธรรมในสหราชอาณาจักรปี 1990 ที่ไม่ได้แค่อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของวงดนตรี แต่มันยังหมายรวมถึงความรุ่งโรจน์ด้านต่างๆ ทั้งแฟชั่น การเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษหลังเผชิญหน้าสภาวะซบเซาอยู่นาน หลักฐานความยิ่งใหญ่ของยุคสมัยนี้คือการที่นิตยสารดนตรีชื่อดังอย่าง NME อุทิศหน้าปกฉบับหนึ่งให้มวยคู่เอกของวงการในเวลานั้นอย่าง Oasis และ Blur พร้อมพาดหัวเดือด ‘British Heavyweight Championship’ ในปี 1995 และกลายเป็นหลักฐานว่ากาลครั้งหนึ่ง สองวงนี้เคยปะทะกันผ่านทางดนตรี (และคารมร้ายกาจอีกชุดใหญ่ๆ ที่ขุดมาฟังได้นานเป็นวันๆ) มาแล้ว ก่อนที่ในปี 1997 เลียม กัลลาเกอร์ นอนแผ่หรากับแฟนสาว แพ็ตซี เคนซิต บนธงอังกฤษปก Vanity Fair ที่หลายคนให้ความเห็นว่า นี่ช่างแสนจะนิยามยุคสมัยของความเป็นคูลบริทานเนียเสียจริงๆ
ฉะนั้น การที่ศัพท์คำนี้โผล่ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งยังมาในรูปแบบของชื่อเทศกาลดนตรี แถมยังจัดที่เน็บเวิร์ธ สถานที่ซึ่งแทบจะเปรียบเสมือนแดนศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าคนรักเสียงเพลงในอดีต พร้อมด้วยไลน์อัพวงดนตรีที่จะมาขึ้นเล่นอย่าง The Bluetones วงอินดี้ร็อคสัญชาติอังกฤษ Echobelly วงร็อคจากปี 1994 และ Happy Mondays อัลเทอร์เนทีฟร็อคจากแมนเชสเตอร์ ก็ไม่แปลกที่เหล่าแฟนเพลงจะวาดหวังว่ามันอาจจะสั่นสะเทือนอะไรบางอย่างเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว
เรายังไม่ได้พูดถึงว่า บรรยากาศวงการดนตรีในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาก็เดือดพล่านด้วยกลิ่นอายของดนตรีอังกฤษยุค 90s อยู่ไม่น้อย ทั้งการออกอัลบั้มเดี่ยวของโนล กัลลาเกอร์ ตามมาด้วยอัลบั้ม As You Were ของน้องชายไม้เบื่อไม้เมาอย่างเลียม เช่นเดียวกันกับ The Blue Hour อัลบั้มล่าสุดของ Suede แน่ล่ะ ทั้งหมดนี้ย่อมมีกลิ่นอายดนตรีแนวใหม่ที่ทั้งใกล้เคียงและห่างไกลจากความเป็นบริตป๊อปแบบที่หลายคนคุ้นเคย แต่อย่างน้อยที่สุด มันคือหลักฐานว่าชาวดนตรีจากยุค 90s ได้หอบหิ้วเอาอารยธรรมยุคนั้นข้ามเวลามายังนาทีนี้ พวกเขายังไม่ได้หมดหวัง
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีแฟนเพลงอีกหลายคนเช่นกันที่ยืนยันว่า บริตป๊อปจะไม่มีทางหวนกลับมาอีกต่อไปแล้ว ประการแรก ดนตรีบริตป๊อปในยุค 90s นั้นรุ่งโรจน์ได้ด้วยการดัดแปลงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟผนวกเข้ากับป๊อป และกลายเป็นสิ่งใหม่ซึ่งในนาทีนี้มันไม่ใช่ของใหม่อีกต่อไป การกลับมาของเหล่าคนดนตรียุค 90s นั้นจึงเป็นการย่ำซ้ำรอยเดิมที่พวกเขาเคยสร้างไว้เท่านั้น
ประการที่สอง บรรยากาศของความเป็นบริตป๊อปนั้นแสนจะเฉพาะตัว มันคือความเกรียงไกรของวัฒนธรรมจากเกาะอังกฤษที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังอีกหลายประเทศในวันที่ข่าวสารและโลกยังไม่ถูกย่นย่อด้วยอินเตอร์เน็ต มันจึงเต็มไปด้วยความสดใหม่และพลังบ้าคลั่งของดนตรีแบบที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ซ้ำอีกแล้วในยุคปัจจุบันที่ความหลากหลายอยู่ในทุกอณูของอากาศ ความสดใหม่ที่ผสมมากับความดิบเถื่อน ความไม่รู้ ไม่ประสาของผู้คนแบบในอดีตนั้นอาจเกิดขึ้นไม่ได้อีกแล้วในยุคที่เราล้วนเข้าถึงอีกซีกโลกได้ด้วยการสไวป์โทรศัพท์ในมือ
ผู้คนไม่อาจรวมความสนใจไว้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างหนาแน่นอีกต่อไป พวกเราล้วนกระจายความสนใจไปยังเรื่องราวต่างๆ สิ่งละพันอันละน้อย แม้หลายคนจะยังกอดคอกันไปงานคอนเสิร์ตและทุ่มเทหัวจิตหัวใจทุกนาทีไปกับการแสดงอันน่าทึ่งของชายหญิงบนเวที แต่ก็อาจไปไม่ถึงห้วงความรู้สึกแบบเดียวกับที่คนยุค 90s มี นั่นคือความยึดมั่นและยึดเหนี่ยวแบบที่วงดนตรีตรงหน้านั้นคือทุกสิ่ง คือหัวหอกรุนแรงที่ประกาศอารยธรรมของพวกเขาไปสู่อีกโลกหนึ่งได้เป็นผลสำเร็จ
เช่นเดียวกันกับบรรยากาศอัดอั้นตันใจแบบเก่าที่อาจเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ ในยุคนี้ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอังกฤษเปลี่ยนผ่านไปแล้วอย่างถาวร ความกราดเกรี้ยว รื่นเริง และมวลอารมณ์ต่างๆ ของผู้คนต่างมีที่ทางถ่ายทอดแตกต่างกันไปโดยแทบไม่ต้องขึ้นอยู่กับเหล่านักร้องนำบนเวที เนื้อเพลงของพวกเขายังกระทบหัวใจและความรู้สึกของคนฟังได้ แต่มันอาจไม่ทรงพลังเท่าในวันที่เก่าแล้วก็เท่านั้นเอง
แต่ทั้งหมดนี้ย่อมไม่ได้แปลว่า บริตป๊อปจะตายจากไปจริงๆ โดยสิ้นเชิง เพราะถึงอย่างไรเราๆ ก็ยังคงได้ยินเสียงดนตรีของพวกเขาอยู่บ่อยครั้งในบาร์สักแห่ง หรือสตรีมมิ่งใกล้มือ ซึ่งนี่เองคือหลักฐานที่ยืนยันว่าเพลงบริตป๊อปยังไม่ตาย และอาจไม่มีวันตายตราบใดที่ยังมีคนเปิดมันขึ้นมากล่อมเกลาตัวเอง และแน่นอนว่ามันส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ที่แม้เกิดไม่ทันเหล่า ‘น้าๆ’ บริตป๊อป แต่กาลครั้งหนึ่ง พ่อแม่ของพวกเขาอาจเคยกล่อมพวกเขาด้วยเสียงกีตาร์บาดลึกจาก Plup หรือเพลงหม่นเศร้าของ ธอม ยอร์คแห่ง Radiohead และนั่นเองที่เป็นชนวนแรกในการกลับไปขุดค้นเพลงที่พวกเขาคุ้นเคยเมื่อยังเด็ก ซึ่งไม่แปลกเลยแม้แต่นิดว่าทำไมดนตรีของเกาะอังกฤษจากยุค 90s มันจึงไม่เคยเลือนหายไปสักที ทั้งยังแข็งแรงมากพอที่จะก่อให้เกิดเทศกาลดนตรีซึ่งตั้งขึ้นมาจากความเกรียงไกรของพวกเขาอย่าง Cool Britannia Festival ในยุคสมัยนี้อีกด้วย
Tags: Oasis, Britpop, Cool Britannia Festival, Blur, Pulp, Suede