ผมกำลังเดินขึ้นไปบนชั้น 5 ของอาคารพาณิชย์ย่านสะพานควายซึ่งแบ่งพื้นที่ใช้งานหลากหลาย ชั้น 2 เป็นห้องแคสติ้ง ละครชั้น 3 เป็นสำนักงานออกแบบ ชั้น 4 เป็นแกลลอรี่ศิลปะ จนถึงชั้น 5 ซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นโรงละครเล็กๆ

ค่ำนี้ที่ Buffalo Bridge Gallery จะมีการ Run Through ละครเวทีเรื่อง เจ้าบ้าน ‘The Host Story’ โดย ทัพอนันต์ ธนาดุลยวัฒน์ ผู้กำกับฯ หนุ่มที่เชื่อว่า ความรักและความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อนของชีวิต

ขณะเดินขึ้นบันได ผมรู้สึกถึงความดิบ ความกระตือรือร้น และความคิดสร้างสรรค์ของวัยหนุ่มสาว

‘นวลปณต’ เป็นหนึ่งในนักแสดงหกคนในละครเวทีเรื่องนี้ เธอรับบทเป็นหญิงสาวผู้ซึ่งเกี่ยวพันกับความตาย (นวลมักได้รับบทที่เกี่ยวกับความตาย หากไม่เป็นวิญญาณ ก็เป็นคนใกล้ตาย หรือเป็นคนที่กำลังจะถูกฆ่า)

ผมคุยกับเธอก่อนซ้อมละครท่ามกลางความมืด แสงไฟถูกย้อมสีผ่านเจลสีฟ้าและเหลือง ฉากที่ถูกสร้างอย่างง่ายๆ คล้ายบ้านที่ถูกทิ้งร้าง

เธอมักรับบทเป็นคนใกล้ตายหรือเป็นวิญญาณ แล้วเคยคิดถึงความตายบ้างไหม” ผมถาม

“มีช่วงหนึ่งที่สูญเสียแฟนเก่าที่คบกันมานาน คุณตา และหมาที่รักมาก พวกเขาเสียชีิวิตไล่เลี่ยกันภายในเวลาหนึ่งปีครึ่ง เราเสียศูนย์อยู่พักหนึ่ง ความตายเคยเป็นทางเลือกของเรา อารมณ์แบบนี้มีมาเป็นวูบๆ

“เราว่าใจเราไปอยู่กับคนที่เรารักแล้ว คิดถึงชีวิตหลังความตายว่าจะได้ไปเจอพวกเขาไหม แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำ เพราะมีคนในชีวิตที่เรายังต้องดูแลอยู่ แต่เราก็ desperate ไปช่วงใหญ่ๆ” นวลเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่มีส่วนนำมาใช้ในการเข้าถึงตัวละคร

ผมชอบชื่อของเธอ ‘นวลปณต’ แปลว่า ไหว้สวย และที่แน่ๆ เธอเป็นคนยิ้มสวยด้วย ชื่อนี้เป็นชื่อที่เธอตั้งให้ตัวเองเมื่ออายุราว 23-24 ปี สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอเป็นปาร์ตี้เกิร์ล ชอบเที่ยว ชอบช็อปปิ้ง ใช้ของแบรนด์เนม สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวัน เธอก็เที่ยวกลางคืนทุกวัน ไปเต้นและสนุกกับเพื่อนจนเช้าจึงค่อยกลับบ้าน ตื่นมาก็ไปช็อปปิ้งเพื่อเลือกซื้อชุดสำหรับเที่ยวในคืนต่อมา ชีวิตวนลูปแบบนี้อยู่ราวสองปี

เธอให้เหตุผลกับตัวเองว่า เธอเรียนให้พ่อแม่แล้ว สิ่งที่รักและอยากจะทำก็ควรจะเป็นสิทธิ์ของเธอ นวลเรียกชีวิตช่วงนี้ว่า ‘sex, drugs, and rock n roll’ เรียกว่าเป็น Material Girl ของแท้ เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม โชคดีที่เธอไม่ดื่มเหล้า เพียงแต่ชอบไปเฮฮากับเพื่อน ชอบเต้น ชีวิตของเธอจึงไม่เถลไถลออกนอกเส้นทางไปมากกว่าที่ผ่านมา

ในช่วงเวลานั้น บังเอิญเธอได้รับรู้รสชาติของละครเวที จากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มละครที่รุ่นพี่ตั้งขึ้นมาสมัยเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ สาขาอังกฤษและอเมริกันศึกษา นวลรู้สึกว่ามันมีเคมีบางอย่างของละครเวทีที่เข้ากันได้ดีกับตัวเธอ ความจริงแล้ว นวลเกือบจะได้เรียนการละครที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ชีวิตก็พาเธอเดินอ้อม เพื่อที่จะได้รู้อย่างแท้จริงว่า เธอต้องการอะไรกันแน่

หลังเรียนจบ เธอทำงานเป็น เอ็กซ์ตรา ฟรีแลนซ์ ให้กับบริษัทผลิตละครทีวีอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะเดินจากมา เพราะละครแบบนั้นไม่ใช่สิ่งที่เธอค้นหา เธอปรารถนาจะเรียนรู้การละครที่จริงจังกว่านั้น อยากสวมบทบาทตัวละครโดยรู้จักพวกเขาจากภายในอย่างแท้จริง ผ่านการค้นคว้าและตีความ เพื่อที่จะได้ผจญภัยและเห็นโลกจากมุมมองของตัวละคร ก่อนที่จะสวมบทบาทถ่ายทอดชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นบนเวทีละคร ภายใต้แสงไฟและความมืด

วันหนึ่ง ชีวิตก็นำเธอเข้าสู่โลกของละคร เมื่อนวลเห็นประกาศเวิร์กชอปของกลุ่มละครเล็กๆ คณะหนึ่งที่อยู่ใกล้กับคอนโดฯ จึงตัดสินใจสมัครทันทีโดยไม่ต้องคิดทบทวน

“วันแรกที่เข้าไปที่คณะละคร หนูก็แต่งตัวแบบของหนู กางเกงขาสั้น รองเท้าส้นสูง เสื้อโปร่งๆ บางๆ หน่อย แต่พอเข้าไป คนที่นั่นเขาใส่กางเกงเล เสื้อตัวโคร่งๆ … แต่รู้สึกเลยนะว่าพวกเขามีพลังงานบางอย่างอยู่ สิ่งนี้เปลี่ยนทัศนคติและช่วยชีวิตเราไว้ ไม่งั้นเราอาจเดินไปอีกทางหนึ่งเลยก็ได้” นวลเล่าถึงชั่วขณะที่เธอก้าวเข้าไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง จากนั้น เมื่อเธอแน่ใจแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่เธอปรารถนา จึงตัดสินใจไปเรียนการแสดงเพิ่มเติมที่นิวยอร์ก

“คิดว่าอยากเรียนอะไรก็ไปเรียนเลย เรียนในสิ่งที่ตัวเองยังอ่อน เช่น เรื่องเทคนิคการแสดง เรื่องการสื่อสารที่นอกจากการใช้ไดอะล็อกในละคร เช่น การสื่อสารทางร่างกาย การฝึกใช้เสียง เทคนิคการแสดงของสคูลต่างๆ” นวลเล่าถึงสิ่งที่เธอได้มาจากหนึ่งปีในเมืองหลวงของศิลปะ

เมื่อสองปีก่อน เธอบอกว่าการแสดงละครมันยังเลี้ยงชีพไม่ได้ แล้วตอนนี้เป็นยังไงบ้าง” ผมนึกถึงสิ่งที่เคยคุยกับนวล ภายใต้เสียงคลอของเปียโนในร้านกาแฟที่ราชบุรี ตอนนั้นเธอเพิ่งจะแสดงเป็น ‘บัว’ หญิงสาวกับความรักแบบเปิดกว้างในนามของเสรีภาพ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir)

“ดีขึ้นเยอะนะ เราเห็นแล้วว่ามันมีทางที่เป็นไปได้ รายได้เข้ามามากขึ้น ถ้าเทียบกับรายได้จากงานประจำ ก็พออยู่ได้ ช่วงหลังๆ ได้งานเป็นเอ็กซ์ตราบ้าง งานโฆษณาจากคอนเนกชันของเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานละครบ้าง ที่สำคัญคือเมื่อก่อนที่บ้านไม่ค่อยเข้าใจว่าเราจะทำไปทำไม แม่ไม่เคยมาดู ไม่เคยเห็นการแสดงของเรา แต่ระยะหลัง แม่มาดูแล้วเขาเข้าใจว่า เราใช้ชีวิตอย่างไร”

เธอเล่าในแววตาและรอยยิ้มที่บอกว่า สิบปีที่ผ่านมา เธอยังเดินตามความฝันโดยไม่หนีหายไปไหน มันเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นแววตาแบบนั้น นวลทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง La La Land (2016, Damien Chazelle) นึกถึงชีวิตของมีอา (Emma Stone) หญิงสาวบาริสต้าในโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฝันอยากเป็นนักแสดงอาชีพ แต่ก่อนที่โอกาสของความฝันจะมาถึง เธอต้องฝ่าฟันความจริง มีชีวิตอยู่รอวันที่จะมีโอกาสได้ก้าวเข้าไปในโลกของความฝัน

หลังจากละครเรื่องนี้ วางแผนไว้ว่าจะทำอะไรต่อ” ผมอยากรู้ว่า เธอจะตามความฝันที่เธอวางไว้ต่อไปอย่างไร

“ต่อไปจะมีละครเวทีอีกเรื่องของเพื่อน แสดงเป็นคนที่กำลังจะถูกฆ่า และกำลังทำงานส่วนตัว อาจจะเป็นโซโลหรือดูโอ เขียนบทเอง กำกับ และ แสดงเอง เราอยากสร้างงานของตัวเองบ้าง เคยเป็นนักแสดงเพื่อสื่องานให้คนอื่นมาเยอะแล้ว คิดว่าถึงเวลาที่ควรทำงานส่วนตัวบ้าง ซึ่งก็ตื่นเต้น เพราะมันเป็นการก้าวข้ามที่สำคัญ จากการเป็นนักแสดงไปเป็นอย่างอื่น อยากเริ่มทำกับกลุ่มละครที่คุ้นเคย หากล้มเหลวผิดพลาดก็พร้อมที่จะตายอยู่ในกลุ่มคนที่รัก” เธอเล่าถึงความคิดเรื่องงานที่ก้าวหน้าขึ้นจากสองปีที่แล้วที่เราได้คุยกัน

 

000

 

ใกล้เที่ยงคืน ขณะขับรถกลับบ้าน ฝนที่มากับพายุฤดูร้อนยังคงโปรยปราย ถนนสีดำขลับสะท้อนไฟถนนสีเหลืองส้ม ที่สว่างแล้วทิ้งความมืดไว้บางช่วง เหมือนเวทีละครที่อนุญาตให้เราใช้จินตนาการ ผมนึกถึงความฝันที่มักถูกขยายให้เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต ราวกับความยากลำบากในชีวิตไม่มีอยู่จริง และถูกปลูกฝังว่า วัยหนุ่มสาวควรเลือกเดินตามหัวใจไปสู่ความฝันที่สวยงาม ผัดผ่อนความรับผิดชอบที่จะสร้างองค์ประกอบที่จะสามารถเลี้ยงชีพ รับผิดชอบตัวเอง ไว้เป็นสิ่งสุดท้าย

ผมไม่แน่ใจว่าเส้นทางไหนคือเส้นทางที่ถูกควร ระหว่างการใช้พลังของวัยหนุ่มสาวเพื่อสร้างรากฐานของชีวิตก่อนแล้วจึงตามหาความฝันเมื่อชีวิตมั่นคงพอแล้ว โดยยอมถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทรยศต่อความฝันและซื่อตรงต่อโลกของความจริง หรือการเลือกที่จะใช้พละกำลังของวัยหนุ่มสาวตามหาความฝัน ในวัยที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นดุดันอันทะลักล้น เพื่อที่จะไขว่คว้าฝันให้มาอยู่ในมือ หากบาดเจ็บล้มเหลวจึงค่อยทบทวนบทเรียน แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานเลี้ยงชีพอย่างนักรบผู้พ่ายศึกแต่ทรนงในหน้าที่ของตน ก็สถานที่ตายของนักรบไม่ใช่สนาบรบหรอกหรือ ถึงนาทีนี้ผมยังไม่มั่นใจ

เธอมักรับบทเป็นคนตาย เคยคิดถึงความตายของนักละครบ้างไหม” ผมนึกถึงคำถามต่อมา ในขณะที่ไฟหลายดวงถูกเปิดปิดเพื่อทดสอบจังหวะของละครที่กำลังดำเนินไป ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Birdman (2014, Alejandro González Iñárritu) ชายวัยกลางคนที่พยายามลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความฝันอันเรืองรองของตัวเองอีกครั้ง ในวันวัยซึ่งผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดของตัวเองไปแล้ว

“ในความเป็นนักละครเวทีที่บางครั้งต้องเล่นหลายๆ รอบ 10 รอบ 30 รอบ ความท้าทายคือ เราจะรักษาความสดเหมือนกับที่เล่นรอบแรกๆ ได้ไหม ถ้าเล่นละครจนกลายเป็นอัตโนมัติเมื่อไร… ก็จบ เราเป็นมนุษย์ หากเราไม่สามารถรู้สึกได้ ไม่มี Passion มันจบแล้วนะ เราต้องเรียนรู้ว่าจะเก็บความรู้สึกและความทรงจำจากการแสดงครั้งแรกๆ เอาไว้ เมื่อถึงเวลาก็เอามันออกมาใช้

“พี่คนหนึ่งจะชอบให้เด็กใหม่ๆ มาแสดงละคร เราจะเห็นมวลบางอย่างจากเด็กๆ การ Re-act แบบเพียวๆ ไม่มีเทคนิค เป็นเมจิกที่เราสูญเสียไปแล้ว” เธอตอบหลังจากหยุดคิดหาคำตอบที่น่าจะตรงกับความรู้สึกของเธอมากที่สุด

แล้วผู้กำกับฯ ก็เริ่ม Run Through ละคร ผมนั่งดูคนหนุ่มสาวกับความฝันของพวกเขาอยู่ในความมืด ผ่านภาพจำลองของชีวิตที่แสดงอยู่ตรงหน้า บางครั้งบางคราว ผมรู้สึกเหมือนกำลังเฝ้าดูความจริง แสงไฟผ่านเจลสีฟ้าแทนแสงจันทร์ที่สาดส่องผ่านหน้าต่าง คล้ายจะเหมือนความจริง บทสนทนาของตัวละคร เวลาที่เหลื่อมซ้อน ความผูกพันของบางตัวละคร ทำให้ผมย้อนคิดและพิจารณาหลายเรื่องที่ผ่านมาในชีวิต บางครั้งเสียงตะโกนของตัวละครทำให้ผมสะดุ้งตื่นจากภาพฝัน และเมื่อเสียงครวญของแม่ที่สูญเสียลูกชายพูดซ้ำๆ ในตอนกลางของละคร มันทำให้ผมนึกถึงหลายสิ่งและยังติดค้างในหัวต่อ กระทั่งหลับไป

“รู้สึกอย่างไรที่ยังมีชีวิตอยู่….”

คล้ายเป็นคำถาม คล้ายเป็นคำรำพึงของตัวเอง…

 

นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี | นักแสดงละครเวที
Medium Format 6 x 6
Black & White Negative Film

Fact Box

ละครเวทีเรื่อง เจ้าบ้าน “The Host Story" โดย ทัพอนันต์ ธนาดุลยวัฒน์ (*เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป)

วันเวลาจัดแสดง 3-6 และ 9-12 พฤษภาคม 2561 เวลา 20:00 น. ที่ Buffalo Bridge Gallery

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/events/105677856933555/

Tags: