ผมเคยมาดูงานศิลปะที่แกลเลอรี่เซรินเดีย (Serindia Gallery) หลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยขึ้นมาบนห้องนี้ที่อยู่บนชั้นลอยของอาคาร อาคารแห่งนี้ซึ่งดูคล้ายโรงนาเคยเป็นอาคารที่ทำการสหการแพทย์ของหมอบุญส่ง เลขะกุล งานศิลปะส่วนใหญ่ที่คัดเลือกมาแสดงที่แกลเลอรี่มักเกี่ยวเนื่องกับศิลปะตะวันออก พุทธศิลป์แบบมหายาน และบางงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมืออย่างสูง มีบ้างที่สลับกับงานศิลปะสมัยใหม่พอให้มีรสชาติแปลกใหม่

ผมมาก่อนเวลาจึงนั่งจิบกาแฟรออยู่ที่ร้านกาแฟด้านล่าง เมื่อถึงเวลานัดหมาย ผมเดินผ่านประตูตามเจ้าของพื้นที่ขึ้นไปยังห้องเล็กๆ บนชั้นลอยของแกลเลอรี่ซึ่งมีชั้นหนังสือหนาหนักบรรจุหนังสืออยู่เต็มชั้น ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ชื่อเดียวกันกับแกลเลอรี่ ฝาผนังอีกด้านเป็นภาพถ่ายภาพหนึ่งซึ่งเคยจัดแสดงที่นี่ ในนิทรรศการ ‘MONGOLIA by Hamid Sardar-Afkhami’ เมื่อปี 2010 เป็นภาพของชาวมองโกลขี่ม้ากำลังฝึกเหยี่ยวให้ล่าเหยื่อ งานชิ้นนี้พรินต์แบบแพลตินั่ม ประณีตสวยงาม เสียดายที่ผมไม่มีโอกาสมาดูงานแสดงครั้งนั้น

พี่เชนเป็นทั้งเจ้าของสำนักพิมพ์ (Serindia Publications) แกลเลอรี่ (Serindia Gallery) และร้านหนังสือ (Hardcover: The Art Bookshop) ซึ่งเป็นขาสามข้างในการทำงานของเขา เขาคิดว่าเมื่อพิมพ์หนังสือ ก็ดีหากมีร้านขายหนังสือซึ่งเปรียบเหมือนหน้าร้าน และเมื่อพิมพ์หนังสือภาพที่เน้นคุณภาพและเรื่องราว ถ้ามีแกลเลอรี่เพื่อโชว์งานต้นฉบับได้ ก็น่าจะทำให้สามารถเล่าถึงเรื่องราวและที่มาของหนังสือได้อีกมิติหนึ่ง
​ เรานั่งคุยกันบนโต๊ะไม้แบบจีนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสถึงที่มาที่ไปของชีวิตเขา และการทำงานซึ่งดูราวกับว่าโชคชะตาได้ถูกกำหนดไว้แล้ว

 

1. โชคชะตา

ปี 1992 หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์ ยังไม่ทันได้ร่วมพิธีรับปริญญาบัตร พี่เชนก็เดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาทันที เขาเลือกมหาวิทยาลัย Northwestern ในชิคาโก และเรียนต่อด้านโฆษณาตามที่ร่ำเรียนมา โดยเลือกสาขาวิชา Integrated Marketing Communications / Direct Marketing ซึ่งกำลังมาแรงเมื่อคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนมากขึ้น

หลังเรียนจบได้ไม่นาน พี่เชนมีโอกาสพบกับ J. Moy นักค้าของเก่าชาวจีนในอเมริกา ผู้มีความรู้เรื่องหนังสือและศิลปะจีนอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง Moy เป็นเจ้าของธุรกิจหนังสือ Paragon Book Gallery ในนิวยอร์กที่เขาไปซื้อกิจการมา ร้านนี้เป็นร้านหนังสือเฉพาะทางด้านศิลปะเอเชียตะวันออก แรกเริ่มก่อตั้งโดยชาวยิวซึ่งเกิดในเวียนนา แต่ต้องหนีภัยสงครามและความเกลียดชังของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยลี้ภัยไปเซี่ยงไฮ้ เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ศิลปะ พุทธศาสนา และอารยธรรมตะวันออกอย่างลึกซึ้ง

เมื่อเจ้าของคนแรกกลับมาใช้ชีวิตใหม่หลังสงครามในนิวยอร์กจึงเปิดร้านหนังสือแห่งนี้ขึ้น ร้านหนังสือร้านนี้ได้ชื่อว่าเป็น The Oriental Bookstore of America มีชื่อเสียงมากในยุค 60s-70s ใครต้องการความรู้เกี่ยวกับศิลปะและอารยธรรมตะวันออกก็ต้องมาหาหนังสือที่นี่ ต่อมาในยุค 80s เจ้าของร้านเสียชีวิต ธุรกิจจึงถูกขายต่อให้ศิษย์เก่าจาก SOAS (School of Oriental and African Studies, University of London) แต่ผู้รับช่วงคนนั้นบริหารกิจการไม่ไหว ก็เลยปิดร้านอีกครั้ง และเมื่อย้ายถิ่นฐานมาชิคาโกจึงได้ตัดสินใจขายชื่อร้านและรายชื่อลูกค้าทั้งหมดให้กับ J. Moy

พี่เชนซึ่งร่ำเรียนมาทาง Direct Marketing และมีความรู้ภาษาจีนแมนดาริน จึงได้รับการชักชวนจาก Moy ให้มารับหน้าที่ดูแลธุรกิจร้านหนังสือแห่งนี้ เขาเล่าว่าในช่วงเวลาหลายปีที่ทำงานร้านหนังสือ หนังสือนับหมื่นๆ เล่มทั้งเก่าและใหม่ภายในร้านนั้น เขารีวิวเองคนเดียวทุกเล่ม รวมไปถึงการทำฐานข้อมูลของหนังสือใหม่หมดโดยคีย์ข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งรายชื่อหนังสือในฐานข้อมูลไปถึงลูกค้า รวมถึงการตระเวนซื้อหนังสือที่ร้าน used book ซื้อหนังสือจากห้องสมุด และซื้อจากคอลเลกชั่นส่วนตัวของบรรดานักสะสมที่ต้องการโละหนังสือ มันเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ลงลึกในธุรกิจนี้ ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในเวลาต่อมา

นอกจากความรู้เรื่องหนังสือและศิลปะตะวันออกที่ได้จาก Moy พี่เชนในฐานะผู้ช่วย ยังได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญชาวจีนหลายคน ซึ่งบางครั้งได้รับเชิญให้มาชมและตรวจสอบชิ้นงานศิลปะอันทรงคุณค่าเหล่านั้น ทำให้เขามีโอกาสได้เห็นงานต่างๆ ซึ่งเก็บอยู่ในคอลเลกชั่นพิเศษ

“เราได้เห็นของดีมาตั้งแต่ต้น เมื่อได้เห็นได้เรียนรู้ เราก็พอจะแยกแยะได้ว่าอันไหนของจริงอันไหนของปลอม” นั่นคือการศึกษาความงามผ่านกาลเวลา และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความเชี่ยวชาญในชีวิตอีกอย่างหนึ่ง

เวลาผ่านไปหลายปี ธุรกิจหนังสือลงหลักปักฐานในชิคาโก โดยตั้งมั่นอยู่ในโกดังเก่าห่างจากใจกลางเมืองเพียงไม่กี่ถนน เครือข่ายหนังสือของ Paragon Book Gallery ถูกถักทอขึ้นมาทีละเล็กละน้อย กระทั่งเป็นเครือข่ายหนังสือที่แผ่ขยายอีกครั้ง แต่นั่นก็เป็นยุคที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

“ในยุคนั้น ร้านหนังสือ Paragon ที่พี่ทำงานอยู่มีอาการซวนเซจากการเกิดขึ้นของร้านหนังสือออนไลน์อย่าง amazon.com ไหม” ผมถาม เพราะอยากรู้ว่าร้านหนังสือของเขาเอาตัวรอดมาได้อย่างไร

​ “มีผลนะ ทั้งดีและเสีย เราก็ต้องปรับตัวในการคัดหนังสือ หนังสือเก่าที่เรารู้ว่ามีราคา แต่คนอื่นที่เขาโพสต์ขายเขาไม่รู้ โพสต์ขายราคาถูก เราก็มีทีมคอยซื้อมาเข้าคลัง และสามารถเปรียบเทียบราคากับคนอื่นๆ ได้ แต่มันก็มีส่วนที่น่ารำคาญเหมือนกัน เพราะ amazon.com ขายถูกกว่า มักมีลูกค้ามาต่อราคาเรา แต่เราก็ไม่ขาย ยืนยันราคาเดิม

​ “จริงๆ amazon.com สมัยเริ่มต้น ไม่ได้มีหนังสือในคลัง มันเป็นเพียงระบบโลจิสติกส์ พอมีออเดอร์จึงค่อยสั่งหนังสือจากสายส่ง ความจริงเขาฆ่าธุรกิจหนังสือ เพื่อให้เว็บฯ โต ประเด็นคือเขาสร้างเว็บฯ ขึ้นมาเพื่อขายหุ้นในวอลล์สตรีต ไม่ใช่ขายหนังสือ ธุรกิจหนังสือจึงเป็นเพียงแพะบูชายัญเพื่อให้ธุรกิจของเขาเกิด”

 

2. โชคชะตา (ต่อมา)

“คุณรู้ไหมว่า Serindia เป็นคำที่มีประวัติความเป็นมา” พี่เชนเริ่มเล่า เมื่อไล่เรียงประวัติการทำงานของเขาซึ่งขยับมาเป็นการทำสำนักพิมพ์ พร้อมกับหยิบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Aurel Stein on the Silk Road (Susan Whitfield, Serindia Publications, 2004) ผมพลิกเปิดดูพร้อมๆ กับฟังที่มาที่ไปของคำ Serindia

​ Serindia (เซรินเดีย) ถูกนำมาใช้จนเป็นที่รู้จักโดยเซอร์ออเรล สไตน์ นักโบราณคดี นักบุกเบิกและนักเดินทางชาวฮังกาเรียน/อังกฤษ เขาเดินทางสู่เอเชียกลางและตะวันตกของประเทศจีน เพื่อสำรวจอารยธรรมโบราณบนเส้นทางสายไหม ในราวปี 1907 เมื่อเขาเดินทางมาถึงบริเวณเมืองโบราณตุนหวง (Dunhuang) มณฑลกานสู (Gansu) โชคชะตาพาเขาไปพบกับนักพรตเต๋าซึ่งพาเขาไปสู่ถ้ำลึกลับแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าถ้ำโมเกา – Mogao Caves หรือถ้ำแห่งพระพุทธพันองค์ – Thousand Buddha Grottoes

การค้นพบของเซอร์ออเรล สไตน์ ครั้งนั้น ทำให้โลกพบกับคัมภีร์ เอกสารโบราณ และภาพวาดพุทธศิลป์จำนวนมาก ซึ่งเป็นอารยธรรมที่หายสาบสูญไปนาน ตำราและเอกสารโบราณเหล่านี้ถูกขนออกมาจากประเทศจีน และส่งต่อไปยังพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เช่น British Museum ในลอนดอน และ Musée Guimet ในปารีส ต่อมาราวปี 1920 เซอร์ออเรล สไตน์ ได้เขียนตำราเกี่ยวกับการเดินทางบุกเบิกและคัมภีร์โบราณเหล่านี้ไว้ในหนังสือชุดชื่อ Serindia: Detailed Report of Explorations in Central Asia and Westernmost China

ในยุคทศวรรษ 1960 เมื่อกระแสบุปผาชนเป็นที่นิยม ชาวตะวันตกจำนวนมากเดินทางสู่อินเดีย ทิเบต เนปาล เพื่อศึกษาพุทธปรัชญา และชื่อ ‘เซรินเดีย’ ก็มีผู้นำมาใช้อีกครั้ง เป็นชื่อของสำนักพิมพ์เฉพาะทางเกี่ยวกับศิลปะตะวันออกและพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในลอนดอน ซึ่งเจ้าของสำนักพิมพ์กับพี่เชนก็เป็นคู่ค้าที่รู้จักกันมายาวนาน

วันหนึ่งเมื่อปลายปี 2003 เจ้าของเสนอขายสำนักพิมพ์แห่งนี้ให้กับพี่เชน ซึ่งชายในวัยสามสิบกลางๆ อย่างเขาก็ตัดสินใจทันทีว่า ทำไมจะไม่ทำล่ะ ก็ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่เขาสนใจ และทุ่มเททำงานในวงการหนังสือศิลปะตะวันออกมาตลอด ประจวบกับถึงเวลาที่เขาตัดสินใจกลับเมืองไทย จึงคิดว่าสำนักพิมพ์น่าจะเป็นธุรกิจที่เขาสามารถทำงานที่กรุงเทพฯ ได้

3. โชคชะตา (ต่อมาอีก)

 ปี 2005 พี่เชนกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับความเชี่ยวชาญในการจัดการคลังหนังสือ ความรู้อย่างลึกซึ้งในแวดวงหนังสือศิลปะ หนังสือหายาก และการเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ เขาเริ่มพิมพ์หนังสือตามความถนัด ไม่ช้าไม่นานต่อมา มีเพื่อนชวนพี่เชนมาพื้นที่ย่านเจริญกรุง 36 ซึ่งมีเวิ้งบริเวณบ้านเก่าหลังหนึ่งที่จะปรับปรุงทำเป็นร้านค้า ใช้เวลาไม่นาน-เขาตัดสินใจเช่าอาคารไม้หลังนี้เพื่อทำแกลเลอรี่ และตั้งชื่อว่า Serindia Gallery เพื่อแสดงงานศิลปะตามรสนิยมของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปะตะวันออก และมีศิลปะร่วมสมัยบ้างสลับกันไป

  เมื่อพิมพ์หนังสือสวยงามแล้วจัดแสดงงาน ให้ผู้ชมได้เข้าใจและรับรู้ความงามต่อหน้าต่อตา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประสบการณ์ทางศิลปะอีกทางหนึ่ง หนังสือจึงมีค่าเป็นตัวแทนและที่ระลึกของผลงานเหล่านั้น นอกเหนือไปจากข้อมูลที่อัดแน่นอยู่ภายในเล่ม

  การทำงานอย่างประณีตและทุ่มเท ทำให้สิ่งที่เขาลงแรงไปเกิดดอกที่มีกลิ่นหอมหวาน ออกผลอันมีรสชาติกลมกล่อม โอกาสทางธุรกิจจึงเกิดขึ้นตามมา เมื่อมีคนติดต่ออยากให้เขาเปิดร้านขายหนังสือ ซึ่งก็คือ Hardcover ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ และอีกแห่งต่อมาคือ Open House ร้านหนังสือพื้นที่ขนาดมหึมาบนห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางเมือง ที่ชวนให้ย้อนกลับไปนึกถึงภาพของถ้ำลึกลับที่ตุนหวง ซึ่งมีคัมภีร์โบราณซุกซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก

  ฟังเรื่องราวมาถึงตอนนี้ ผมไม่แน่ใจว่าโชคชะตามีจริงไหม? และคนที่พบโชคชะตาที่ลงตัวกับชีวิตนั้นเป็นเพราะผลบุญจากอดีตชาติ? หรือแท้จริงแล้วมันคือเส้นทางที่เราเลือกเอง แล้วค่อยๆ กรุยหนทางให้ทอดยาวออกไปด้วยความอดทนมุ่งมั่น ด้วยความประณีตและใส่ใจ หากมันเป็นประโยชน์ต่อยุคสมัย สิ่งที่เราเพียรทำอย่างสม่ำเสมอก็จะปรากฏตัว หากไม่ใช่ก็คงสูญหายไปจากการรับรู้ และรอคอยการค้นพบครั้งใหม่เฉกเช่นถ้ำโมเกาอันลึกลับ

 

 

เชน สุวิกะปกรณ์กุล | เจ้าของสำนักพิมพ์ แกลเลอรี่ และร้านหนังสือ
Medium Format 6 x 6 | Black and White Negative Film

Tags: , , , , , , , , , , ,