รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ทุกปีมีผู้หญิง 2.1 ล้านคนต่อปีเป็นโรคมะเร็งเต้านม เฉพาะในปี 2018 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 627,000 คน
ในวารสารวิชาการแคนเซอร์ เซลล์ (Cancer Cell) นักวิจัยมหาวิทยาลัยบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์เผยแพร่ผลการวิจัยที่ทดลองในหนู โดยสามารถเปลี่ยนเซลล์มะเร็งเต้านมให้เป็นเซลล์ไขมันสำเร็จ แทนที่จะใช้ ‘การต่อสู้’ กับมะเร็งแบบเคมีบำบัด แต่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติที่มีอยู่ในร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย
เซลล์มะเร็งส่วนใหญ่นำไปสู่การพัฒนาก้อนเนื้อเพิ่มขึ้นในพื้นที่เฉพาะของร่างกาย การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเป็นกระบวนการหนึ่งที่เซลล์มะเร็งหนีออกจากก้อนเนื้อตั้งต้น และเริ่มกระจายไปยังส่วนอื่นและสร้างก้อนเนื้อใหม่ขึ้นมา
นักวิจัยพบว่าเซลล์เยื่อบุผิวเป็นสาเหตุของการเติบโตของเซลล์มะเร็ง มะเร็งอาศัยเซลล์เหล่านี้นำพาตัวเองไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จนท้ายที่สุดกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยธรรมชาติแล้ว เซลล์เยื่อบุผิวอยู่ในร่างกายของคนเรา และมี ‘ความเป็นพลาสติก’ ในการเปลี่ยนตัวเองเป็นเซลล์ชนิดอื่นตามที่ร่างกายเรียกร้อง ตัวอย่างเช่น เซลล์เยื่อบุผิวอาจกลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่ช่วยร่างกายซ่อมแซมตัวเอง เวลาเราถูกมีดบาด
ระหว่างที่เซลล์เยื่อบุผิวอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า Epithelial-Mesenchymal Transition (EMT) มะเร็งสามารถใช้เวลานี้กระจายไปทั้งร่างกาย รวมทั้งใช้วิธีที่ตรงกันข้ามที่เรียกว่า MET (mesenchymal‐to‐epithelial transition)
ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยใช้โมเดลนี้ด้วยการทดลองกับมะเร็งเต้านม โดยปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์เข้าไปในหนู จากนั้นให้ยารักษาโรคเบาหวานโรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone) และยาต้านมะเร็ง Trametinib เข้าไป ผลการศึกษาพบว่า เซลล์มะเร็งที่ใช้วิธี EMT หรือ MET ถูกเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ไขมันที่ไม่เป็นอันตรายผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการเปลี่ยนตัวเองเป็นเซลล์ไขมัน (adipogenesis) นักวิจัยระบุว่า ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า การบำบัดที่ผสมผสานระหว่างยาโรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone) และยาต้านมะเร็ง Trametinib ควบคู่กับความเป็นพลาสติกที่เพิ่มขึ้น และการสร้างเซลล์ไขมันขึ้นมา ทำให้เซลล์มะเร็งเต้านมเปลี่ยนเป็นเซลล์ไขมันได้
นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่การรักษาด้วยการเปลี่ยนเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ไขมันจะประสบความสำเร็จเท่านั้น มันยังสามารถป้องกันการแพร่กระจายได้ เพราะเซลล์ไขมันจะไม่กลับคืนไปเป็นเซลล์มะเร็งอีก โดยนักวิจัยกำลังทดสอบว่า สามารถใช้วิธีนี้ร่วมกับเคมีบำบัดหรือไม่ เพื่อกดไม่ให้ก้อนเนื้อตั้งต้นโต และเกิดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ที่มา:
https://www.indiatimes.com/technology/science-and-future/scientists-find-cure-for-breast-cancer-turn-cancer-cells-into-fat-stop-them-from-spreading-373344.html
ภาพ: Gettyimages
Tags: เซลล์มะเร็ง, วิจัยมะเร็ง, มะเร็งเต้านม