คุณต้องประหลาดใจ หากรู้ว่ามี ‘อาหารเช้า’ ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมมากขนาดไหน อย่างเช่น ใน Ulysses  ของ เจมส์ จอยซ์ นั้น ลีโอโพลด์ บลูม กินอาหารเช้าโดยนั่งอยู่ริมหน้าต่างในร้านของคนขายเนื้อ จอยซ์บรรยายด้วยภาษาระดับเทพ อ่านแล้วแทบจะได้กลิ่นอาหารออกมาเลย (เช่น A kidney oozed bloodgouts on the willowpatterned dish เป็นต้น)

หรือใน Jane Eyre ของชาร์ล็อต บรองเต้ ในเช้าแรกที่ เจน แอร์ ไปถึงโรงเรียน Lowood นักเรียนก็เสิร์ฟอาหารที่มีกลิ่นหอมหวนฟุ้งมาแต่ไกล แต่มันคือ ‘ข้าวต้มไหม้’ (burnt porridge) ที่มีรสชาติแย่เหมือนมันฝรั่งเน่า

อาหารเช้าที่ปรากฏในทั้งใน Ulysses และ Jane Eyre แสดงให้เราเห็นความอดอยากขาดแคลนในยุคโน้น เช่น ต้องกินทุกส่วนของสัตว์รวมไปถึงเครื่องใน หรือต้องทนกินอาหารที่ไหม้เพราะอยู่ในยุคที่มีความขาดแคลนอาหาร เป็นต้น นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนใช้ ‘อาหาร’ ที่อยู่ในแต่ละมื้อมาเป็นเครื่องสะท้อนสภาพสังคม อันเป็นกลวิธีเขียนที่แยบคายและแนบเนียนมากๆ

แต่อาหารเช้าในวรรณกรรมไม่ได้สะท้อนแต่ภาพของสังคมอดอยากเท่านั้นนะครับ ยังมีมิติอื่นๆ ของอาหารเช้าที่ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมด้วย เช่น ความพิถีพิถันละเมียดละไม จึงอยากชวนคุณมาพินิจพิจารณาอาหารเช้าจากสามเรื่อง นั่นก็คือ Game of Thrones, James Bond และ Lord of the Rings แล้วมาดูกันว่า อาหารเช้าแต่ละแบบ ‘บอก’ อะไรเราบ้าง

อาหารเช้าของจอน สโนว์ (และทีเรียน แลนนิสเตอร์)

จอนเดินเข้าไปในครัวดังที่เขาทำทุกรุ่งสาง ฮ็อบสามนิ้วไม่ได้พูดอะไรขณะยื่นอาหารเช้าแบบโอลด์แบร์มาให้ วันนี้มันคือไข่เปลือกสีน้ำตาลสามฟอง ต้มจนแข็ง และมีขนมปังปิ้ง กับสเต็กแฮม และชามใส่ลูกพลัมผิวย่นมาให้

ตอนหนึ่งจาก Game of Thrones

นี่คืออาหารเช้าตอน จอน สโนว์ อยู่ที่เดอะวอลล์นะครับ จริงๆ น่าจะเป็นอาหารเช้าเรียบง่าย เพราะเป็นที่อยู่ของผู้สละแล้วซึ่งทางโลกย์ ลูกเมียไม่มี แต่กระน้ันก็ต้องเป็นอาหารที่พลังงานสูงพอสมควร เพราะต้องใช้พลังในการระวังป้องกันกำแพงจากทั้งชาวไวล์ดลิงส์และไวท์วอล์คเกอร์ จึงเป็นอาหารเช้าที่น่ากินทีเดียว มีสเต็กแฮม หรือแฮมที่เป็นชิ้นใหญ่ๆ ไข่ต้ม (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นไข่อะไร แต่เปลือกสีน้ำตาลอาจเป็นไข่ไก่ก็ได้) รวมไปถึงขนมปังปิ้งและผลไม้ด้วย

อาหารเช้าของทีเรียน แลนนิสเตอร์ ก็ไม่ธรรมดานะครับ ตอนหนึ่งบอกว่า

คนรับใช้เดินเข้ามา “ขนมปัง” ทีเรียนสั่ง “แล้วก็ปลาเล็กๆ นั่นสองตัว กับเบียร์ดำดีๆ สักเหยือกเพื่อล้างคอ โอ้ แล้วก็เบคอนด้วยนะ ย่างให้เกรียมๆ ดำๆ ด้วยล่ะ”

กับอีกตอนหนึ่งเป็นอาหารเช้าของซานซา สตาร์ค ที่วินเทอร์เฟล

มีอาหารมากกว่าที่เธอสั่งไป ขนมปังร้อนๆ เนยและน้ำผึ้ง กับแยมแบล็คเบอรี่ เบคอนหั่นบางๆ และไข่ลวก ชีสแท่งหนึ่ง ชามินต์หนึ่งกา

จะเห็นได้เลยว่า อาหารเช้าใน Game of Thrones ไม่ว่าจะเป็นของใคร ล้วนแต่เป็นอาหารเช้า ‘อย่างดี’ ทั้งนั้น เพราะมีโปรตีนเป็นหลัก ไม่ว่าจะจากเนื้อหรือไข่ ซึ่งจริงๆ แล้ว จำลองมาจากอาหารเช้าของคนชั้นสูงชาวอังกฤษในยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคที่คนยุโรปยังไม่นิยมกินอาหารเช้ากัน โดยอาหารเช้าที่ว่ามาทั้งหมด คืออาหารของชาว Elite ที่เป็นคนชั้นสูงทั้งสิ้น

ที่น่าสนใจก็คือ มีรายงานบอกว่า อาหารเช้าในกองถ่ายของ Game of Thrones ก็เป็นแบบนี้ด้วย โดยเฉพาะระหว่างถ่ายทำซีซัน 1 และ 2 ที่อังกฤษ มีการเสิร์ฟอาหารแบบนี้ จนคนในกองถ่ายเรียกอาหารแบบนี้ว่า Breakfast at Winterfell ซึ่งหลักๆ ก็จะเป็นขนมปัง ไข่ลวก ชีส เนื้อ แยม และชาใส่น้ำผึ้ง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสเต็กแฮมกับไข่ต้ม จะเรียกว่าเป็น Breakfast at the Wall แทน

ถ้าใครอินกับ Game of Thrones มากๆ ในเช้าวันจันทร์ที่มีตอนใหม่มาให้ดู ก็อาจลองทำอาหารเช้าแบบ Game of Thrones มากินแกล้มการนั่งดูสดๆ อาจทำให้คุณ ‘อิน’ กับซีรีส์นี้มากขึ้นไปอีก

กาแฟของ เจมส์ บอนด์

ใครๆ ก็รู้ว่า เจมส์ บอนด์ เป็นคนที่พิถีพิถันเรื่องการกินการอยู่ (และผู้หญิงของเขา) มากทีเดียว เวลาพูดถึงเจมส์ บอนด์ หลายคนอาจนึกถึงอาหารหรูๆ ระดับเบลูก้าคาเวียร์ แกล้มกับวอดก้าหรือแชมเปญอะไรทำนองนั้น แต่จริงๆ แล้ว เขาบอกว่าอาหารที่เขาชอบเวลาเดินทางไปตามที่ต่างๆ ก็คืออาหารพื้นถิ่นของประเทศนั้นๆ เพราะเขาจะได้ลิ้มลองอะไรที่แปลกๆ

อ้อ! อย่าเพิ่งคิดว่า เจมส์ บอนด์ เป็นคนจริงๆ นะครับ เพราะเขาเป็นเพียงตัวละครในงานเขียนของ เอียน เฟลมมิ่ง เท่านั้น และเฟลมมิ่งก็สร้าง 007 ของเราให้มีบุคลิกอย่างใจเขา ซึ่งเอาเข้าจริงก็อาจเป็นรสนิยมในการกินของเฟลมมิ่งเองก็ได้

ในเจมส์ บอนด์ ตอนที่มีชื่อว่า From Russia With Love เฟลมมิ่งเขียนไว้ว่า Breakfast was Bond’s favourite meal of the day คือเป็น ‘มื้อโปรด’ ของเขาเลยทีเดียว

คำถามก็คือ แล้วบอนด์กินอะไรบ้าง?

เฟลมมิ่งบอกว่า บอนด์ชอบกินไข่มาก (จริงๆ เขากินไข่ได้ตลอดเวลา บ่ายๆ หรือก่อนนอน บางทีก็กินไข่ต้มเป็นสแน็ค เรียกว่าเพิ่มโปรตีนเข้าร่างกันสุดๆ โดยกินไข่แล้วตบท้ายด้วยยินโทนิค วอดก้า หรือไม่ก็แชมเปญ) ถ้าเป็นอาหารเช้า เขาชอบไข่คน (คือ scrambled egg) ที่สุด โดยต้องมีเบคอนหรือไส้กรอกด้วย นอกจากนี้ก็ต้องมีขนมปัง โดยกินกับแยมมาร์มาเลดหรือแยมส้ม หรือไม่ก็แยมสตรอว์เบอรีเท่านั้น

ในตอน Octopussy and The Living Daylights เอียน เฟลมมิ่ง ได้ ‘ให้สูตร’ การทำไข่คนแบบเจมส์ บอนด์ เอาไว้ด้วย โดยเขาตั้งชื่อว่าเป็น Scrambled Eggs James Bond อันเป็นสูตรที่บอนด์เป็นคนลงมือทำเอง สูตรนี้ต้องใช้ไข่มากถึง 12 ฟอง เกลือ พริกไทย แล้วก็เนยสด เครื่องปรุงหลักมีแค่นี้เอง

วิธีทำก็คือตอกไข่ใส่ชาม ตีด้วยส้อม ปรุงรส แล้วเอาเนยใส่ในกระทะ กระทะต้องเป็นกระทะทองแดงหรือกระทะเหล็กหนาๆ หนักๆ พอเนยละลายแล้ว เอาไข่ใส่ลงไปแล้วค่อยๆ ปรุงให้สุกด้วยไฟอ่อน ตีตลอดเวลา พอไข่ใกล้สุกแต่ยังไม่สุกดี ให้ยกออก แล้วเติมเนยเข้าไปอีก คนเพิ่มโดยใช้ความระอุที่เหลือ จากนั้นโรยสมุนไพรอะไรก็ได้ที่ชอบ แล้วเสิร์ฟบนขนมปังปิ้งที่ทาเนยขณะยังร้อนๆ อยู่ แล้วถ้าเป็นเจมส์ บอนด์ ตัวจริง จะต้องกินไข่คนนี้กับพิงค์แชมเปญเท่านั้น

เจมส์ บอนด์ เป็นคนอังกฤษ และอาหารที่เล่ามาทั้งหมดก็ฟังดูออกจะอังกฤษๆ อยู่ แต่ที่น่าประหลาดก็คือ เจมส์ บอนด์ไม่ดื่มชา แต่กินกาแฟแทน ร้านกาแฟที่เขาไปนั่งเป็นประจำชื่อ De Bry อยู่บนถนนนิวออกซ์ฟอร์ดในกรุงลอนดอน และกาแฟที่เขาชอบ ก็คือกาแฟดำที่เข้มมากๆ

ว่ากันว่า วิธีชงกาแฟที่เจมส์ บอนด์ โปรด ก็คือการชงด้วยกระดาษกรองที่เรียกว่า Chemex ซึ่งเป็นกระดาษที่พับหลายชั้น ทำให้รสชาติกาแฟเข้มข้น แล้วถ้าไปกินที่ร้านนี้ ที่ร้านจะเสิร์ฟกาแฟมาพร้อมกับไข่ โดยไข่จะอยู่ในถ้วยวางไข่สีน้ำเงินเข้ม ด้านบนของเปลือกไข่จะมีวงแหวนทองวางอยู่ ไข่ที่ว่าจะต้องต้มนานแค่สามนาทีครึ่งเท่านั้น ทำให้ออกมาเป็นไข่ลวกที่กำลังพอดี

เอียน เฟลมมิ่ง บอกว่า ถ้าอยู่บ้านในอังกฤษ เจมส์ บอนด์ จะกินแยมสตรอว์เบอรียี่ห้อ Little Scarlet ส่วนแยมมาร์มาเลด ต้องเป็น Cooper’s Vintage Oxford และน้ำผึ้งก็ต้องเป็น Norwegian Heather Honey จาก Fortnum and Mason เท่านั้น โดยคนที่เตรียมอาหารให้คือแม่บ้านชาวสก็อตที่มีชื่อว่าเมย์

อย่างไรก็ตาม ถ้าไปอยู่ต่างถิ่น บอนด์สามารถกินอะไรก็ได้ไม่เกี่ยงงอนเท่าไร เช่นตอนหนึ่ง บอนด์ไปตุรกี อาหารเช้าที่อิสตันบูลของเขาแปลกไป เพราะมันคือโยเกิร์ตที่เสิร์ฟมาในถ้วยกระเบื้องแบบจีน โดยมีเครื่องเคียงเป็นลูกฟิกที่สุกฉ่ำ กับกาแฟตุรกีที่มีรสขมกว่ากาแฟที่เขากินตามปกติ

เขาคือหนุ่มที่เลือกสรรและพิถีพิถันกับชีวิตที่สุดคนหนึ่งก็ว่าได้

อาหารเช้ามื้อที่สองของฮอบบิท

ที่จริงแล้ว อุปนิสัยในการกินของ เจมส์ บอนด์ กับฮอบบิท ไม่น่าจะต่างกันเท่าไร

ใน The Hobbit ของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน เมื่อบิลโบต้องออกเดินทางผจญภัย สิ่งที่เขาคร่ำครวญหามากทีเดียวก็คือการที่ไม่ได้กิน ‘อาหารเช้าดีๆ’ ในขณะที่แกนดาล์ฟจะได้กินอะไรดีๆ มากกว่า เช่นขนมปังทั้งแถวกับเหล้าหมักน้ำผึ้ง เป็นต้น

ที่บิลโบบ่นขนาดนั้นมีเหตุผลนะครับ เพราะในชีวิตปกติประจำวันของชาวฮอบบิท พวกเขากินกันเยอะมาก ทั้งปริมาณและทั้งจำนวนมื้อ

ฮอบบิทจะกินอาหารเช้าตอนเจ็ดโมงเช้า ตามด้วยอาหารเช้ามื้อที่สองตอนเก้าโมงเช้า ถัดมาคือมื้อ Elevenses ตอน 11 โมง ตามมาด้วยมื้อเที่ยงตอนบ่ายโมง อาฟเตอร์นูนทีตอนบ่ายสาม ดินเนอร์ตอนหกโมงเย็น และมื้อดึกตอนสามทุ่ม รวมแล้วแต่ละวันกินกัน 7 มื้อ!

ว่าแต่ว่า อาหารเช้าชาวฮอบบิทมีอะไรบ้าง?

ถ้าเป็นอาหารเช้ามื้อแรก จะเริ่มต้นวันด้วยอาหารให้พลังงานสูงกันเลย มีตั้งแต่คีช (quiche) ที่ทำจากชีส เบคอน (น่าจะคล้ายๆ คีชลอเรน) หรือไม่ก็เป็นคีชผัก, เค้กที่ทำจากน้ำผึ้งกับลูกนัทแล้วก็แยมมาร์มาเลด, ของทอดที่เรียกว่า Hobbit Hash ซึ่งก็คล้ายๆ แฮชบราวน์ แต่ทำจากมันฝรั่ง ลีค ผักโขม แล้วก็ชีส, ออมเล็ตแฮมใส่เครื่องเทศ แล้วก็บิสกิตที่มีไส้กรอก ไข่ วางอยู่ด้านบน ราดด้วยน้ำเกรวี่

กินแค่นี้ก็น่าจะอิ่มตื้อไปทั้งวันแล้วใช่ไหมครับ แต่ไม่เลย อีกสองชั่วโมงถัดมาต้องมีอาหารเช้ามื้อที่สองอีก ปกติมื้อนี้จะเบาหน่อย ส่วนใหญ่เป็นพวกเพสตรี้หวานๆ ผลไม้ หรือขนมปังกับแยม เช่น เฟรนช์โทสต์สตรอว์เบอรี (ที่อาจจะใส่ไส้กรอกมาด้วย), พุดดิ้งข้าว (ที่ก็อาจจะวางเบคอนมาด้วย), สโคนกับคล็อตเต็ดครีม, พายไส้ต่างๆ เช่น แซลมอน ไข่ ครีม แล้วก็ขนมปังทาแยมหรือน้ำผึ้ง

ส่วนมื้อ Elevenses นั้น จริงๆ คือ ‘มื้อน้ำชา’ ช่วงเช้า (คล้ายๆ มื้อน้ำชาช่วงบ่ายนั่นแหละครับ) ที่กินกันกรุบกริบเล็กน้อยก่อนจะกินอาหารกลางวันแบบจัดเต็มอีกรอบ

เห็นไหมครับ ว่าชาวฮอบบิทนั้นกินกันเยอะขนาดไหน แค่ครึ่งวันก็กินกันเป็นพายุบุแคมแล้ว ดังนั้นที่บิลโบบ่นจึงน่าเห็นใจเขาไม่น้อย เพราะการออกเดินทางไกลๆ ย่อมไม่มีอาหารมากมายให้กินแบบนี้แน่ๆ

หลายคนอาจคิดว่า อาหารเช้ามื้อที่สอง (หรือ Second Breakfast) เป็นเรื่องประหลาดล้ำ ใครจะไปกินจริงจัง น่าจะมีแต่ในนิยายเท่านั้น แต่ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วมีนะครับ มันเป็นมื้ออาหารตามประเพณีของหลายถิ่นที่ในยุโรปเลย เช่น บาวาเรีย โปแลนด์ สโลวาเกีย สเปน และฮังการี เป็นต้น

อาหารเช้ามื้อที่สอง (ในชีวิตจริง) มักจะเสิร์ฟกันตอน 11 โมง (ไม่ใช่ 9 โมงเช้าแบบฮอบบิท) คือเป็นของว่างนั่นเอง โดยจะเป็นอาหารที่เบาๆ หน่อย อย่างในบาวาเรียที่ชอบกินไส้กรอกกัน ก็จะเสิร์ฟไส้กรอกเนื้อขาวหรือ White Sausage (ที่จริงๆ ก็ไม่ได้เบาสักเท่าไร) หรือในบางที่ก็อาจจะเป็นเพรตเซลก็ได้ ที่จริงแล้ว Second Breakfast นี้ กินแทบจะเวลาเดียวกับ Brunch เลยนะครับ แต่ต่างกันตรงที่ Brunch ไม่ได้กินอาหารเช้ามื้อแรกมาก่อนเท่านั้นเอง

จะเห็นได้ว่า อาหารเช้าในงานวรรณกรรมนั้นหลากหลาย สนุกสนาน และพิถีพิถันกันมากจริงๆ เฉพาะสามเรื่องที่หยิบยกมาก็น่าสนใจมากแล้ว แต่ถ้าดูเรื่องอื่นๆ ที่จริงจังกว่านี้ ก็จะยิ่งเห็นมิติของชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ที่แทรกตัวอยู่ภายใน

อาหารเช้าในงานวรรณกรรมจึงมักไม่ใช่แค่ส่วนเติมเต็มให้เกิดอรรถรสเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนวิธีคิด ปูมหลัง ขนบธรรมเนียม และพื้นฐานนิสัยของตัวละครได้อีกด้วย ซึ่งถ้าใช้ถูกจังหวะ ก็จะทำให้เรื่องเล่านั้นทรงพลังมาก

อาหารเช้าคืออาหารมื้อหลักของมนุษย์

อาหารเช้าของแต่ละชาติหรือในนิยายแต่ละเรื่องจึง ‘บอก’ อะไรกับเราได้มากมายเหลือเกิน

Tags: , , , , ,