ธุรกิจโรงแรมอาจดูเหมือนเป็นธุรกิจที่นิ่ง มีที่ตั้งชัดเจน มีต้นทุนคงที่ และอยู่รอให้แขกเข้ามาเช็กอิน แต่ความเป็นจริงในโลกของการบริการนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันที่พฤติกรรมของนักเดินทางเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการทำงานแบบไฮบริด เทรนด์ Workation ไปจนถึงความต้องการประสบการณ์แบบ Local ที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ
ในสมรภูมินี้ ‘Marriott’ ยังคงเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยแบรนด์ในเครือกว่า 38 แบรนด์ และโรงแรมที่เปิดให้บริการกว่า 9,500 แห่งทั่วโลก และหากเจาะลึกลงในภูมิภาค APAC โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แมริออทยังคงเดินเกมรุก ทั้งการเพิ่มจำนวนโรงแรม ขยายความหลากหลายของแบรนด์ ปั้นกลยุทธ์สมาชิก Marriott Bonvoy และการดึงดูดนักเดินทางรุ่นใหม่ให้กลายเป็นแฟนคลับโรงแรมอย่างแท้จริง
เราชวน นีราจ โกวิล (Neeraj Govil) Chief Operations Officer ประจำภูมิภาค APAC ของเครือ Marriott International มาพูดคุยถึงโอกาส ทิศทาง และการเติบโตในตลาดในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่การแตกไลน์แบรนด์ การใช้ดาต้าเข้าใจพฤติกรรมนักเดินทาง ไปจนถึงการสร้างบุคลากรด้านบริการที่พร้อมเติบโตข้ามประเทศ
หากพร้อมแล้ว ลองเช็กอินเข้าใจโลกของ Marriott ไปพร้อมกัน
Marriott ในภาพรวมที่เติบโตในทุกเซกเมนต์
ปัจจุบัน Marriott International ดำเนินธุรกิจในกว่า 144 ประเทศทั่วโลก และมีแบรนด์ในเครือมากถึง 38 แบรนด์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในหลากหลายเซกเมนต์ โดยเปิดดำเนินการโรงแรมแล้วประมาณ 9,500 แห่ง และยังมีอีกกว่า 3,800 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Marriott เป็นเครือโรงแรมที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่และครอบคลุมมากที่สุด
หากแบ่งตามระดับของแบรนด์ จัดกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
– Luxury Segment รวมแบรนด์ชั้นนำอย่าง The Ritz-Carlton, St. Regis และ W Hotels
– Premium Segment หรือกลุ่ม Upscale และ Upper-Upscale อย่าง Marriott Hotels, Sheraton และ Westin
– Select Segment ที่ครอบคลุม Mid-scale และ Extended Stays เช่น Courtyard by Marriott, Moxy และ Element
ล่าสุด Marriott ได้เปิดตัว The Ritz-Carlton Yacht Collection ธุรกิจเรือยอชต์ระดับลักชูรีที่ออกเดินทางในหลายเส้นทางทั่วโลก โดยเริ่มต้นในยุโรปและกำลังจะมาที่เอเชียในปีหน้า รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งกรุงเทพฯ เกาะสมุย และภูเก็ต
นอกจากนี้ Marriott ยังมี Marriott Bonvoy โปรแกรมสมาชิกสะสมแต้มที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกกว่า 237 ล้านคนทั่วโลก และกำลังจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในประเทศไทยอีก 2 แบรนด์ภายในปีนี้ ได้แก่ Tribute Portfolio แห่งแรกในกรุงเทพฯ และ Fairfield by Marriott แห่งแรกที่กระบี่
ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกเซกเมนต์ เพื่อรองรับความต้องการของนักเดินทางที่หลากหลายมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค APAC
แม้ Marriott จะเป็นเครือโรงแรมขนาดใหญ่ระดับโลกที่มีโรงแรมในเครือกว่า 9,500 แห่งทั่วโลก แต่เมื่อซูมเข้ามาในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศไทยก็พบข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
“ในประเทศไทย กลุ่มโรงแรมที่เติบโตมากที่สุดคือกลุ่ม Premium” นีราจกล่าวว่า “ประมาณ 50% ของโรงแรมทั้งหมดในไทยอยู่ในกลุ่ม Premium ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก สำหรับอีก 22% ของพอร์ตโฟลิโอในไทยเป็นกลุ่ม Luxury ซึ่งก็มีแบรนด์ระดับไอคอนิกอย่าง JW Marriott, St. Regis, The Ritz-Carlton รวมถึง Ritz-Carlton Reserve ขณะที่กลุ่ม Select Segment ครองส่วนแบ่งที่เหลือ
“ในกลุ่ม Premium เองก็มีหลายแบรนด์ที่คนไทยรู้จักดี เช่น Sheraton, Marriott Hotels, Le Méridien, Renaissance, Westin และ Autograph Collection” ผู้บริหาร Marriott กล่าวเสริม
การเติบโตของ Marriott ในไตรมาสแรก
จากผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้ Marriott มองเห็นการเติบโตที่ชัดเจน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ซึ่งมีอัตราการเติบโตของรายได้ต่อห้องพักหรือ RevPAR สูงถึง 10.9% ขณะที่ RevPAR ทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4%
“ประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เราเติบโตที่ 8.4% ในไตรมาสแรก และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 78% ซึ่งสูงกว่าเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ที่ 72% ด้วยซ้ำ โดยในเดือนมกราคมเป็นช่วงที่แข็งแรงมากของไทย และรายได้จาก F&B (อาหารและเครื่องดื่ม) ก็เติบโตในระดับเลขหลักเดียว
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมในภูมิภาคนี้ฟื้นตัวได้ดีคือ การเดินทางภายในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 55% ของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก และเมื่อรวมกับความสามารถในการรองรับเที่ยวบินที่กลับมาสู่ระดับก่อนโควิดในหลายประเทศก็ยิ่งเป็นแรงส่งที่ชัดเจน”
อีกหนึ่งอาวุธลับของ Marriott คือโปรแกรมสะสมคะแนน Marriott Bonvoy ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 237 ล้านคนทั่วโลก และสำหรับโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกนั้น 75% ของผู้เข้าพักเป็นสมาชิก Bonvoy ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของแบรนด์กับผู้บริโภคอย่างเหนียวแน่น
Marriott มองไตรมาส 2-3 มุมมองช่วงโลว์ซีซัน
แม้ตัวเลขการเติบโตของ Marriott ในประเทศไทยในไตรมาสแรกจะอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซันของการท่องเที่ยว ผู้บริหารของเครือโรงแรมระดับโลกกล่าวว่า มีสัญญาณของ ‘การชะลอตัวเล็กน้อย’ ในประเทศไทย โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อภาพรวม
“เราเห็นว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่ลดลง ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมาโดยตลอด รวมถึงการเกิดขึ้นของจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ในภูมิภาค ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวโดยตรง” นีราจอธิบาย
อย่างไรก็ตามแมริออทยังเชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงชั่วคราว และประเทศไทยยังมีศักยภาพอีกมากในระยะยาว
“เราร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านกิจกรรมทางการตลาดในตลาดต้นทางต่างๆ ทั้งในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ตะวันออกกลาง ไปจนถึงยุโรป” นีราจกล่าว
ความเชื่อมั่นในระยะยาว และกลยุทธ์การทำธุรกิจในไทย
แบรนด์โรงแรมยักษ์ใหญ่รายนี้ยังคงเดินหน้าสื่อสารถึงเสน่ห์ของเมืองไทยในระดับนานาชาติ พร้อมชี้ให้เห็นจุดแข็งที่ยังคงโดดเด่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศที่แข็งแกร่ง โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว ความหลากหลายของจุดหมายปลายทาง ไปจนถึงคุณภาพของบริการ อาหาร การดูแลสุขภาพ และความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย
“ถ้าคุณถามใครสักคนว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน ประเทศไทยก็มักจะติด 1 ใน 3 อันดับแรกเสมอ”
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือ การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวอยู่ยาวขึ้น โดยชูจุดเด่นด้านความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศ ตั้งแต่เมืองใหญ่ไปจนถึงหมู่เกาะธรรมชาติ เพื่อให้ผู้เข้าพักได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ระหว่างการเดินทางในแต่ละครั้ง
“เราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความยืดหยุ่นสูง แม้ในอดีตจะมีอุปสรรคมากมาย แต่ก็ฟื้นตัวได้เสมอ และเรายังคงมั่นใจว่าในระยะยาว ประเทศไทยจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งอย่างแน่นอน”
กลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวของ Marriott
การทำให้ผู้เข้าพักอยากกลับมาใช้บริการอีกครั้ง ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับคุณภาพของที่พักหรือทำเลที่ตั้งเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจ น่าจดจำ และมีความหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ Marriott ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
“นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยในวันนี้ ไม่ได้มองหาแค่สิ่งเดิมๆ ที่นักท่องเที่ยวในอดีตเคยมองหา” ผู้บริหารระดับสูงของเครือ Marriott กล่าวกับเราในบทสนทนาเรื่องกลยุทธ์การเติบโตในภูมิภาค APAC พร้อมเสริมว่า สิ่งที่ผู้เดินทางต้องการมากขึ้นคือ ประสบการณ์เฉพาะตัว (Personalized Experience) และความเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม
หัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้ คือการเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเดินทางของแต่ละคน ผ่านข้อมูลที่ได้จากระบบสมาชิก Marriott Bonvoy ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 237 ล้านคนทั่วโลก “เราสามารถใช้ข้อมูลจาก Marriott Bonvoy เพื่อให้รู้ว่าแขกแต่ละคนเดินทางมาด้วยเหตุผลอะไร มองหาอะไร และต้องการอะไรจากการเข้าพักครั้งนั้น” เขาอธิบาย
ด้วยโรงแรมกว่า 9,500 แห่งทั่วโลกที่มีความหลากหลายทั้งในแง่แบรนด์และจุดหมายปลายทาง Marriott จึงสามารถออกแบบประสบการณ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้เข้าพักได้แทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มองหาการพักผ่อนอย่างหรูหราในแบรนด์อย่าง The Ritz-Carlton และ St. Regis หรือกลุ่มที่ต้องการความยืดหยุ่นและคุ้มค่าในแบรนด์ระดับกลางอย่าง Marriott, Sheraton และ Fairfield by Marriott
“ผู้คนในวันนี้ยอมจ่ายเงินเพื่อประสบการณ์ ไม่ใช่แค่จ่ายเพื่อห้องพักอีกต่อไป พวกเขาต้องการความทรงจำ ความหมาย และเรื่องราวที่สามารถนำกลับไปเล่าต่อ”
เมื่อผสานสิ่งนี้เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการที่แข็งแกร่งและชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางชั้นนำของโลก Marriott เชื่อมั่นว่า การนำเสนอประสบการณ์ที่มีคุณค่าและน่าจดจำ คือกุญแจสำคัญในการดึงดูดนักเดินทางให้เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง และเลือก Marriott เป็นบ้านหลังที่ 2 ระหว่างการเดินทาง
Marriott ดินหน้าเปิดโรงแรมใหม่ทั่ว APAC เผยปี 2024 โตแรงในทุกกลุ่มธุรกิจ
แม้ก่อนหน้านี้จะมีการประกาศเปิดโรงแรมใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และกระบี่ แต่เครือ Marriott ยังไม่หยุดแค่ในประเทศไทย เมื่อผู้บริหารระดับภูมิภาคเผยว่า ตลาดใน APAC ยังคงเติบโตแข็งแกร่ง และมีแผนขยายธุรกิจในหลายประเทศต่อเนื่อง
“ปัจจุบันเราดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากกว่า 635 โรงแรม ที่เปิดให้บริการภายใต้ 25 แบรนด์ ใน 22 ประเทศ เราเห็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในหลายตลาด โดยเฉพาะจากการบริโภคภายในประเทศ” ผู้บริหาร Marriott กล่าว
ญี่ปุ่นและอินเดียถูกยกให้เป็น 2 ประเทศที่มีการเติบโตโดดเด่น ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทยก็แสดงศักยภาพได้ดีเช่นกัน
“ถ้าดูในระดับโลก เอเชียแปซิฟิกคือภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด และยังมีศักยภาพสูงสุด เพราะมีประชากรจำนวนมาก และโครงสร้างประชากรที่เอื้อต่อการบริโภค ซึ่งรูปแบบการบริโภคนี้เองที่เป็นแรงผลักดันสำคัญต่อธุรกิจโรงแรม”
อีกหนึ่งไฮไลต์คือผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา
“ปี 2024 ถือเป็นปีที่ยอดเยี่ยมสำหรับการลงนามสัญญาใหม่ เราได้ลงนามในสัญญาโรงแรมถึง 109 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในกลุ่มลักชูรี นั่นหมายถึงการเติบโตที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจในตลาดหลักทั่วทั้งภูมิภาค”
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของ Marriott ใน APAC จึงสะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของภูมิภาคนี้ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวก
แบรนด์ใหม่ที่เตรียมเปิดตัวในไทย
ในประเทศไทย แมริออทเตรียมนำแบรนด์ Tribute Portfolio และ Fairfield by Marriott เข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งแต่ละแบรนด์มีคาแรกเตอร์เฉพาะที่ต่างจากแบรนด์ใหญ่ในเครือ
Tribute Portfolio จัดอยู่ในกลุ่มแบรนด์แบบ Collection ซึ่งต่างจากแบรนด์หลักอย่าง Sheraton หรือ Marriott ที่เป็นโรงแรมในเครือโดยตรง โดย Tribute เปิดโอกาสให้ Marriott ร่วมมือกับโรงแรมอิสระที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีภาพลักษณ์แข็งแรงในตลาดท้องถิ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Metropole Hotel ในกรุงเทพฯ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ Tribute โดยยังคงความเป็นอิสระไว้ แต่ได้รับการสนับสนุนในด้านมาตรฐานและเครือข่ายจาก Marriott
“เรามองหาโรงแรมที่มีบุคลิก มีเรื่องราว และสามารถสร้างประสบการณ์เฉพาะตัวให้กับผู้เข้าพัก Tribute คือแบรนด์ที่เปิดกว้างสำหรับโรงแรมแบบนี้”
ในขณะที่ Fairfield by Marriott เป็นแบรนด์ระดับกลางค่อนไปทางบนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย จุดเด่นของ Fairfield คือคุณภาพห้องพักที่ไว้วางใจได้ บริการที่จริงใจ เรียบง่าย และคุ้มค่าสำหรับนักเดินทางรุ่นใหม่
Fairfield ตั้งอยู่ในทำเลที่ผู้เข้าพักสามารถออกไปสัมผัสวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ จึงมีบริการอาหารและเครื่องดื่มแบบจำกัด เพื่อให้ประสบการณ์เข้าพักใกล้เคียงกับการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่
อีกหนึ่งแบรนด์ใหม่ที่น่าจับตาคือ Citizen M ซึ่ง Marriott เพิ่งเข้าซื้อกิจการไปเมื่อไม่นานมานี้ Citizen M เป็นแบรนด์แนวไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย เจาะกลุ่มนักเดินทางยุคใหม่โดยเฉพาะ เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักของประสบการณ์เข้าพัก พร้อมบรรยากาศสนุกสนานและไม่เป็นทางการเกินไป
“เรามองว่า Citizen M มีศักยภาพในการเติบโตในเอเชีย และจะกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงในอนาคต”
ทำไม Marriott จึงมั่นใจใน APAC
Marriott ยังคงเดินหน้าลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและ APAC อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการเปิดโรงแรมใหม่ การนำแบรนด์เฉพาะทางเข้ามาขยายฐานลูกค้า รวมถึงการจับมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นในหลายประเทศ ด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ข้อ ที่ชี้ถึงศักยภาพของตลาด
ผู้บริหารระดับภูมิภาคของเครือ Marriott อธิบายว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ APAC เป็นภูมิภาคยุทธศาสตร์สำคัญของบริษัทในเวลานี้ มีอยู่ 4 ข้อใหญ่ๆ ที่ชี้ชัดถึงศักยภาพของตลาด
1. เศรษฐกิจเติบโตเร็ว หลายประเทศใน APAC โดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชียใต้ มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงและต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย
2. โครงสร้างประชากรเอื้อการบริโภค ในหลายตลาดของเอเชีย มีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพลังในการใช้จ่ายสูง และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
3. ความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีเสน่ห์ ทั้งในด้านวัฒนธรรม ธรรมชาติ และไลฟ์สไตล์ จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง
4. โครงสร้างพื้นฐานพัฒนาเร็วเครือข่ายการเดินทางและเทคโนโลยีทำให้ APAC เชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกได้ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ผู้คนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น และพร้อมใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวและที่พัก
เมื่อรวมทุกปัจจัยเข้าด้วยกัน Marriott จึงมองว่า APAC คือภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงสุดในระยะยาว และพร้อมเดินหน้าเปิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งในเมืองท่องเที่ยวหลัก เมืองรอง รวมถึงจุดหมายปลายทางที่กำลังมาแรงในอนาคต
“เราตื่นเต้นกับโอกาสที่จะได้ขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ และยังเชื่อมั่นว่า APAC จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักของการเติบโตในระดับโลกของเราในระยะยาว”
เทรนด์การท่องเที่ยว เอเชียคือหัวใจของการเติบโต
หลังจากช่วงเวลาที่ยากลำบากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วันนี้นักเดินทางทั่วโลกกลับมาพร้อมความมั่นใจมากขึ้น และกำลังมองหาประสบการณ์ที่มีความหมายจากทุกมุมโลก รวมถึงจุดหมายปลายทางที่ใกล้ตัวกว่าที่เคย
“ในอดีตการท่องเที่ยวมักหมายถึงการเดินทางไกลเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราเริ่มเห็นเทรนด์ของการเดินทางระยะสั้นมากขึ้น ผู้คนอยากออกทริปสั้นๆ ช่วงสุดสัปดาห์ บางคนไปประชุมแล้วอยู่ต่ออีก 2 วันเพื่อเที่ยว ซึ่งการทำงานแบบรีโมตมีส่วนผลักดันพฤติกรรมแบบนี้อย่างเห็นได้ชัด”
นอกจากความยืดหยุ่นของผู้บริโภค การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียก็มีบทบาทไม่น้อย ทั้งระบบขนส่ง การเชื่อมโยงเมืองต่างๆ และความพร้อมของเมืองรอง ทำให้ประสบการณ์การเดินทางในภูมิภาคนี้น่าสนใจและเข้าถึงง่ายขึ้น
“เราเห็นความต้องการของนักท่องเที่ยวต้องอยากสัมผัส ‘ประสบการณ์แบบท้องถิ่น’ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตลาดเอเชียที่มีความหลากหลายทั้งวัฒนธรรม อาหาร ผู้คน และสภาพแวดล้อม”
สำหรับธุรกิจโรงแรม เอเชียไม่ได้เป็นเพียงจุดหมายปลายทางยอดนิยมเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในเชิงกลยุทธ์อย่างแท้จริง
ผู้บริหาร Marriott เล่าว่า “การได้ทำธุรกิจในเอเชียเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ลูกค้าในภูมิภาคนี้เปิดรับแบรนด์ใหม่ๆ มีความอยากรู้อยากลอง และแสวงหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ นี่เป็นคุณลักษณะที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ ไม่เพียงแค่ตลาดผู้บริโภคเท่านั้นที่น่าสนใจ เอเชียยังมีอีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญคือ คน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่ไม่อาจมองข้าม”
คนเอเชียจำนวนมากมีความสนใจอยากทำงานในธุรกิจโรงแรม เพราะมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เปิดโอกาสให้ได้เติบโตทั้งในประเทศและระดับสากล “ทุกครั้งที่เราเปิดโรงแรมใหม่ เราได้จ้างพนักงานท้องถิ่นจำนวนมาก และมีส่วนในการพัฒนาทักษะของพวกเขา โรงแรมเป็นธุรกิจระดับโลกที่เปิดเส้นทางให้บุคลากรสามารถเติบโตข้ามพรมแดนได้จริง ซึ่งกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ในเอเชีย
“ในแง่ของกำลังแรงงาน ภูมิภาคเอเชียถือเป็นแหล่งทรัพยากรบุคคลให้กับทั้งโลก เราเชื่อในศักยภาพของผู้คนที่นี่ และพร้อมลงทุนในอนาคตของพวกเขา”
แม้วันนี้การเดินทางของ Marriott ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็เป็นเพราะความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในภูมิทัศน์ของธุรกิจบริการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปรับตัวอย่างรวดเร็ว และความมุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการขยายพอร์ฟอลิโอแบรนด์ การใช้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจลูกค้า หรือการลงทุนในบุคลากร ล้วนแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และพร้อมจะเติบโตไปกับการเดินทางของผู้คนทั่วโลก
Tags: โรงแรม, Neeraj Govil, Hotel, เครือโรงแรม, การท่องเที่ยว, Branded Content, tourism, The Chair, Marriott, แมริออท, Marriott International, ท่องเที่ยว, นีราจ โกวิล