‘คนไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก’
นิยามข้างต้นอาจฟังดูคล้ายไกลเกินเอื้อม แต่หากมองถึงความเป็นจริง ณ ปัจจุบันนี้แล้ว แทบจะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เมื่อคนไทยสามารถทลายขีดจำกัดต่างๆ จนก้าวไปสู่จุดที่ได้รับการยอมรับและเปล่งประกายเฉิดฉายบนเวทีระดับโลก เช่นเดียวกับ ‘King Power’ ที่ยึดถือนิยามนั้นเช่นกัน พร้อมลงมือผลักดันเหล่าคนไทยผู้มีศักยภาพทั้ง ด้านกีฬา (Sport Power) ด้านดนตรี (Music Power) และ ด้านชุมชน (Community Power) ภายใต้โครงการ ‘KING POWER THAI POWER พลังคนไทย’ – คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย
และสำหรับในปีนี้ที่เป็นย่างก้าวสู่ปีที่ 6 ของโครงการ KING POWER THAI POWER พลังคนไทย ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขายังคงพร้อมให้การสนับสนุนคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฟากฝั่งธุรกิจที่ดูแล้วมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีหลากหลายแบรนด์สินค้าที่หยิบจับเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยใส่ลงไปในตัวผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่า ชนิดที่เรียกได้ว่ามาตรฐานเกินกว่าแค่เป็นสินค้า OTOP อาทิ THANIYA1988 แบรนด์เครื่องเบญจรงค์ที่จับคู่กับเทียนหอมได้อย่างลงตัว, ETHNICA แบรนด์กระเป๋าสไตล์ New-Boho โดยฝีมือชุมชนชาวกะเหรี่ยง, และ Horoscarf แบรนด์ผ้าพันคอ 12 นักษัตร เอาใจสายมูเตลู
The Momentum จับมือกับโครงการ KING POWER THAI POWER พลังคนไทย ชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ ฐาณิญา เจนธุระกิจ, ชัยวัฒน์ เดชเกิด, และ ดร. ณัฐธิดา ภู่จีบ 3 ผู้บริหารแบรนด์ไทยดังกล่าว ถึงที่มาที่ไปและแนวคิดในการพาผลิตภัณฑ์ให้โด่งดังไปสู่เวทีระดับโลก
เผยเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านเครื่องเบญจรงค์ พร้อมสูดกลิ่นหอมจากเทียนไปกับแบรนด์ THANIYA1988
ถ้าจะยกตัวอย่างความสำเร็จของแบรนด์ ‘THANIYA1988’ ว่าถึงขั้นไหน คงต้องขอหยิบยกตัวอย่างเมื่อปี 2562 ที่ผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์และเทียนหอมจากแบรนด์ดังกล่าว ถูกนำไปใช้เป็นของขวัญแด่แขกผู้มีเกียรติในงานแฟชั่นโชว์ CHANEL Cruise 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และแฟชั่นวีกของ Louis Vuitton ที่มิลานและเซี่ยงไฮ้ ด้วยความพิถีพิถันผสมผสานระหว่าง งาน Art x Craft x Contemporary x Oriental x Elegance x Modern ให้เข้ากับความเป็นสากลและความเป็นไทย ตั้งแต่การออกแบบโลโก้โปรดักต์สินค้าที่ใช้ตัวเลขไทยเข้ามาเป็นกิมมิกหลัก จึงไม่น่าแปลกใจหากแบรนด์เครื่องหอมนี้จะดังไปไกลระดับโลก
ขอย้อนความกลับไปเมื่อปี 2555 ก่อนแบรนด์ THANIYA1988 จะถือกำเนิด ‘แม็ทช์’ – ฐาณิญา เจนธุระกิจ ผู้ก่อตั้ง เพิ่งจะเรียนจบจาก University of Warwick ประเทศอังกฤษหมาดๆ และมุ่งหน้ากลับมายังบ้านเกิด ด้วยความตั้งใจอยากกลับมาสานต่องานกิจการของครอบครัว ที่ทำกิจการเครื่องหอม (OEM) อยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยใช้วิชาความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้มา และมีอยู่แล้วจากการเรียนปริญญาโทวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทว่านั่นไม่ใช่แค่การสานต่อธรรมดา เพราะเธอต้องการสร้างแบรนด์ให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
“จริงๆ เราซึมซับงานหัตถกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นพี่ๆ ที่โรงงาน เห็นคุณแม่ทำมา ตัวแม็ทช์เองเรียนสายวิศวะ แต่ชอบด้านศิลปะ ชอบความเป็นไทย ก็เลยคิดว่าอยากทำแบรนด์ เพราะเรามีศักยภาพ มีทีมงานที่พร้อม มีองค์ความรู้ด้านเครื่องหอมมาพอสมควร เราน่าจะทำแบรนด์ของตัวเองที่นำความเป็นไทย งานคราฟต์ งานอาร์ตมาบวกกัน จนมาเป็นสินค้าที่คนไทยและคนต่างประเทศยอมรับ”
ฐาณิญายังเล่าต่ออีกว่า ช่วงแรกที่กลับมาดูแลงานกิจการที่บ้าน นอกจากการลงมือทำเทียนแก้วและน้ำมันอโรมา เธอยังสังเกตเห็นว่า ‘เซรามิก’ เองก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรังสรรค์สืบต่อมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย เธอจึงเดินหน้าศึกษาเรื่องของประวัติการทำเซรามิก ซึ่งดั้งเดิมแล้วมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ก่อนจะตัดสินใจนำมาฟิวชันกับการทำเทียนหอม แตกไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งกิจการของครอบครัวที่มีชื่อว่า THANIYA1988
เมื่อไอเดียที่จะนำ ‘เครื่องแก้วเซรามิก’ กับ ‘เทียนหอม’ มาบรรจบกัน ฐาณิญาจึงเริ่มวางแผนขั้นตอนการสร้างแบรนด์ใหม่ของเธอ ตั้งแต่เรื่องหน้าร้านจนถึงเรื่องของการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ วางช่องทางสื่อสารกับลูกค้า โดยยึดหัวใจสำคัญคือการสร้างผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นต้องใส่ใจทำด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นตัวเซรามิกที่ค่อยๆ บรรจงขึ้นรูป วาดลวดลาย และเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำเทียนแบบแฮนด์เมด โดยนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์พิเศษของไทยมาผสมผสานต่อยอดพัฒนา
“เราหยิบเอาลูกเล่นและเอกลักษณ์ของเครื่องลายครามที่ประเทศไทยมีมาช้านาน อย่างการเขียนสีฟ้าครามลงบนเครื่องแก้วก่อนเคลือบสีขาว มาออกแบบฟิวชันกับดีไซน์สมัยใหม่ โดยลดทอนลวดลายและลายเส้นประเพณีออกบ้าง เมื่อผนวกกับตัวรูปทรงเรขาคณิตของเครื่องแก้ว จะก่อให้เกิดลวดลายที่เป็นรูปแบบ Modern Contemporary ที่เข้ากับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น” ฐาณิญากล่าวถึงการนำเทคนิควาดเครื่องลายคราม สีฟ้าคราม-ขาว ที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีต มาปรับเปลี่ยนประยุกต์ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่สีฟ้าครามและเบญจรงค์ เครื่องแก้วของแบรนด์ THANIYA1988 ยังหยิบเอาสีเขียวและดำ มาสลับเข้าคู่กับสีขาวแทนสีฟ้าครามเพื่อสร้างความดุดันสวยงาม และเมื่อมองภาพรวมกับลวดลายที่เกิดจากการวาดของช่างฝีมืออย่างประณีต เช่น ลายพญานาคหรือกระติ๊บข้าวเหนียว ที่มีความหมายอันดีและสื่อถึงความเป็นไทย ย่อมทำให้สัมผัสถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ของตัวงานได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนั้นเธอยังพยายามตีโจทย์ความเป็น Luxury ด้วยการหยิบบริบทของยุคแกสบี้ ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของยุโรป รวมถึงลายพู่กันจีนมาใช้ในงาน เพื่อสร้างแรงดึงดูดความสนใจแก่ชาวต่างชาติทั้งยุโรปและเอเชีย
อีกหนึ่งจุดเด่นอย่างเทียนหอมเอง ก็ถูกหล่อหลอมด้วยความประณีตเช่นกัน โดยนอกจากการใช้กลิ่นจากดอกไม้และสมุนไพรไทย ยังมีการใช้วัตถุดิบอื่นๆ อีก เช่น ไขถั่วเหลือง ข้าวหอมมะลิไทย และน้ำมันรำข้าว ซึ่งแบรนด์จะคิดค้นกลิ่นใหม่ๆ ออกวางจำหน่ายทุก 3 เดือน เดือนละ 4-5 กลิ่น และด้วยความพิเศษที่ตัวเทียนทำจากสมุนไพร ทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำน้ำตาเทียนที่เหลือมาละลายน้ำเพื่อนวดเพิ่มความชุ่มชื้นแก่สุขภาพผิว แถมเมื่อใช้เทียนจนหมดตลับยังสามารถนำไปล้างทำความสะอาด และเอาไปแลกซื้อกับทางร้านได้ใหม่ในราคาพิเศษ
ปัจจุบันเครื่องเบญจรงค์และเทียนหอมของแบรนด์ THANIYA1988 โด่งดังและส่งออกไปยังหลายชาติ อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน คิง เพาเวอร์ ยังช่วยสนับสนุนโดยยกมาจำหน่ายที่ศูนย์การค้า คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากมาย และได้รับรางวัล Thailand Top SME Award 2018 สมกับความพยายามอันแน่วแน่ตลอดมา แต่ถึงกระนั้นฐาณิญาก็ยังไม่ลืมที่จะทิ้งท้ายขอบคุณความสำเร็จนี้กับทุกคน ที่มีส่วนร่วมผลักดันให้แบรนด์ไทย ให้ประสบความสำเร็จไปถึงระดับโลก
“แม็ทช์โชคดีที่ครอบครัว และพี่ๆ ทีมงานที่โรงงาน ที่ช่วยซัพพอร์ตและช่วยออกความคิดเห็นเราในทุกๆ อย่าง รวมถึงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีส่วนช่วยพัฒนา แนะนำคอร์สที่ช่วยผู้ประกอบการ ได้เรียนรู้เรื่องการบัญชีการตลาด และยังได้ผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลีและฝรั่งเศสมาช่วยพัฒนาดีไซน์ให้ตอบโจทย์ตลาดยุโรปได้มากยิ่งขึ้น”
ETHNICA แบรนด์กระเป๋าสไตล์ New-Boho จากดินแดนล้านนา ที่เปี่ยมด้วยความตั้งใจทำ
“ต่อให้ใครเลียนแบบจนเหมือน ศิลปะก็ยังคงเป็นของเรา”
ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ แต่กลับสัมผัสได้ถึงคุณค่าความเป็นตัวเองนั้นเป็นคำพูดของ ‘ทอม’ – ชัยวัฒน์ เดชเกิด หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ ETHNICA ร่วมกับ ยุจเรศ สมนา และ เขมิยา สิงห์ลอ ที่ถึงแม้ทั้งสามจะจบการศึกษามาในสายที่แทบจะห่างไกลจากคำว่า ‘ศิลปะ’ มีเพียงยุจเรศเท่านั้นที่จบมากจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่พวกเขากลับมีความสนใจในเรื่องการพัฒนาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเหมือนกัน
ย้อนความกลับไปราว 7 ปีก่อนจะมาทำแบรนด์ ETHNICA ชัยวัฒน์ยังง่วนอยู่กับการขายผลิตภัณฑ์เครื่องเงินชาวเขา ผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง eBay ก่อนที่ทางพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่จะชวนเขาเข้าไปสอนผู้ประกอบการรายอื่นเรื่องการตลาดออนไลน์สินค้า OTOP แต่การไปครั้งนั้นทำให้เขาตั้งคำถามขึ้นมาได้ว่า จะทำอย่างไรให้ศิลปวัฒนธรรมทางเหนือ ‘แมส’ หากหยิบนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์ เพราะที่ผ่านมาเขาสวมบทบาทเป็นเพียงพ่อค้าหน้าร้านเท่านั้น
ว่าแล้วชัยวัฒน์จึงไม่รอช้า ตัดสินใจลงมือคิดวางแผน หาข้อมูลศิลปะความเป็นล้านนาจากแต่ละกลุ่มเผ่าชาติพันธ์ุที่ขึ้นชื่อเรื่องการถักทอผ้าพื้นเมือง ก่อนจะค่อยๆ ตัดตัวเลือกว่าจะแปรรูปเป็นอะไรดี จนมาลงเอยที่ ‘กระเป๋าผ้า’ ซึ่งจัดการได้ง่ายและไม่ยุ่งยากเท่าการออกแบบเสื้อผ้าที่ต้องมีหลายไซส์หลายขนาด
ถึงตรงนี้ คงคิดว่ากระบวนการทุกอย่างน่าจะราบรื่น แต่พอเอาเข้าจริงชัยวัฒน์กลับต้องประสบปัญหาหลายอย่างระหว่างทาง ตั้งแต่เรื่องแรงงานฝีมือชาวกะเหรี่ยงมีไม่มากพอ ส่วนใหญ่ที่เหลือในหมู่บ้านคือแรงงานระดับอาวุโส เพราะรุ่นลูกที่เรี่ยวแรงกำลังดีกลับมุ่งหน้าเข้ากรุงเพื่อทำงานตามนิคมอุตสาหกรรม ปัญหาต่อมาคือสเปกผลผลิต ที่เมื่อทอออกมาลายผ้าอาจผิดเพี้ยนไปบ้างจากสเปก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเท่าการสร้างความเชื่อใจกับแหล่งผลิตว่าจะไม่ยกเลิกสัญญาจ้างง่ายๆ เหมือนกับที่พวกเขาเคยโดนนายจ้างรายอื่นๆ ทำมาก่อน ส่วนเรื่องงาน ถ้าร่วมมือกันย่อมออกมาดีแน่
“ชาวกะเหรี่ยงจะถนัดการทอผ้าแบบใช้กี่เอว แต่ละคนก็จะชำนาญไปคนละแบบ เนื่องจากเขาทอผ้าเพื่อทำชุดใส่เอง ก็เลยใช้ท่อนแขนวัดหน้ากว้างของผ้า ซึ่งจะพอดีกับแบบเสื้อที่เขาใส่ ไม่มีการนับการวัดอะไรชัดเจน ผมก็นำประสบการณ์จากการเป็น Process engineer ดูแลการผลิตมาปรับใช้กับงาน ต้องเปลี่ยนวิถีให้เป็นวิธี ต้องมีการชั่ง ตวง วัดอย่างมีมาตรฐาน ถึงจะขยายงานได้
“วิถีชาวกะเหรี่ยงทอผ้าด้วยวิธีคล้ายกัน แต่ไม่นับเส้นพุ่ง ไม่วัดขนาดหน้าผ้าเป็นระบบ ทอมาจากสามบ้านก็ได้มาสามขนาด แล้วแต่ว่าบ้านไหนแขนยาวเท่าไร ก็ทำการตกลงกันปรับวิธีวัดขนาด กำหนดจำนวนเส้นด้าย เพื่อเวลาไปสั่งทอที่หมู่บ้านไหนๆ จะได้ชิ้นงานที่มาตรฐานเดียวกัน บางครั้งยังต้องตัดแผ่นใสเป็นขนาดผ้าไปไว้ให้เขาทาบวัดขนาดกันเลย” ชัยวัฒน์เล่าถึงการทำงานทอผ้ากับคนจากหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง
เป็นเวลา 2 ปี ในการตระเวนเข้าออกหมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกๆ สัปดาห์ ชัยวัฒน์ได้เรียนรู้กรรมวิธีการผลิตผ้าจากทั้งเผ่าอาข่า ม้ง และมูเซอ ซึมซับรายละเอียดตั้งแต่การทอ ย้อมสี เย็บกระดุม และปักลวดลายออกมาในสไตล์ นิว-โบโฮ (New-Boho) ขณะเดียวกันก็ต้องหาวัสดุอื่นๆ เช่นซิปกับหนังควบคู่ไปด้วย จนท้ายสุดความพยามยามนั้นได้ผลิดอกออกผลเป็น ‘คอลเลกชันกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์’ ราคาใบละ 3,000 บาท โดยมีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนมาอุดหนุน สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ แถมกลายเป็นอาชีพอันมั่นคงแก่ชาวกะเหรี่ยงได้ทำกินตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนที่สูงจนเกินไป ทำให้ปีต่อมาแบรนด์ ETHNICA ต้องปรับลดความซับซ้อนของต้นทุนลง เลิกใช้วัสดุหนังในการทำลวดลาย และหันมาใช้การทอทั้งหมด โดยเว้นลวดลายเหลือเฉพาะด้านล่าง ที่เหลือเป็นสีพื้นตามปกติ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้มีราคาถูกลง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนไทยสามารถจับต้องได้มากกว่าเดิม ทว่าก็ไม่ได้ลดคุณค่าลง เพราะกระเป๋าแต่ละใบทอออกมาแบบแฮนด์เมด จึงมีความพิเศษแบบลิมิเต็ดอิดิชันในตัว ดังนั้นหากใครแวะเวียนผ่านช็อปของศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ตามโรงแรม หรือศูนย์การค้า คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เชื่อว่าน่าจะได้เห็นกระเป๋าทอผ้าของ ETHNICA วางขายอยู่ อีกทั้งล่าสุด ETHNICA ยังพยายามเจาะช่องทางตลาดออนไลน์ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักอีกด้วย
ปัจจุบัน นอกจากการบริหารธุรกิจแบรนด์ ETHNICA ชัยวัฒน์ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากร ครู และที่ปรึกษาให้กับผู้สนใจอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ที่ต้องการหยิบเอาศิลปวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาความเป็นไทยใส่ลงไป ยกตัวอย่างเช่น โครงการอบรมผู้ประกอบการของทาง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการ Lanna Essence Showcase ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีกระบวนการคิด นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาใช้ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ และยังมีการสอนในสาขาการตลาดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงลงพื้นที่ไปสอนผู้ประกอบการเป็นแบบตัวต่อตัวชนิดไม่มีหมกเม็ด เพราะผลลัพธ์ต่างเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ไทยสู่ตลาดโลก และพิสูจน์ให้เห็นว่าทรัพยากรในบ้านเราต่างมีมูลค่ามากนัก
“มีโอกาสสอนผมก็จะสอน ใครอยากพัฒนาโปรดักต์ อยากรู้ว่าควรจะทำอะไร อยากได้ความรู้ อยากเข้าใจวิธีการทำงานกับชุมชน มาถามได้ อยากได้ที่ติดต่อหาวัตถุดิบ หาแหล่งช่างฝีมือ ก็ถามมาได้ ผมพยายามให้คนอื่นเดินตามมา อยากให้มาเลียนแบบวิธีการทำงานที่ผมไปทดลองมาแล้ว” ชัยวัฒน์ทิ้งท้าย
Horoscarf แบรนด์ผ้าพันคอ 12 นักษัตร เอาใจสายมูเตลู
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องราวความเชื่อโชคลาง หรือที่คนสมัยนี้นิยมเรียกว่า ‘มูเตลู’ คือ สิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและเชื่อถือไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับ ‘แนท’ – ดร.ณัฐธิดา ภู่จีบ อาจารย์สอนศิลปะ ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเจ้าของแบรนด์ ‘Horoscarf’ ผู้หยิบยกหลักความเชื่อโหราศาสตร์เกี่ยวกับปีนักษัตรมาละเลงผ่านปลายพู่กันลงบนผ้าผันคอ จนกลายเป็นงานศิลปะและผลิตภัณฑ์ชั้นยอดที่วางขายอยู่ในศูนย์การค้า คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ท่ามกลางความสนใจจากทั้งคนไทยและต่างชาติ
ดร.แนทเล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจด้านสายงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โดยเธอมุ่งมั่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา (Art Education) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ตอนแรกครอบครัวจะตั้งใจให้ทำงานในสายราชการ หลังจากเรียนจบ ได้เริ่มต้นการเป็นครูสอนศิลปะ ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งควบคู่ไปกับเรียนปริญญาโทด้านการบริหารพร้อมกัน ทว่าชีวิตการทำงานในวัย 35 ปี ของเธอกลับไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เมื่อระบบโครงสร้างวิชาชีพครูไม่เอื้อต่อคนผลิตงานศิลปะ ทำให้สุดท้ายเธอตัดสินใจลาออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองหลงรักด้วยการเป็นครีเอทีฟอาร์ต
“เพราะว่าปีต่อไปจะเป็นปีแพะ เราเลยตัดสินใจทำลายผ้าพันคอปีมะแมออกมา ตามคอนเซ็ปต์ที่เราอยากให้มันเป็นผ้าพันคอเสริมดวงด้วย สวยด้วย”
หลังตัดสินใจมุ่งสู่สายงานครีเอทีฟอาร์ต เวลาได้ล่วงเลยถึงปี 2557 ที่ตรงกับปีนักษัตรมะเมีย ขณะเดียวกันยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ผ้าพันคอ Horoscarf เมื่อดร.แนทต้องการหาของขวัญสักชิ้นให้กับญาติผู้ใหญ่และอาจารย์ที่นับถือ ก่อนจะมาลงเอยกับผ้าพันคอที่เธอใช้จินตนาการวาด ‘แพะ’ สัตว์ประจำปีนักษัตรมะเมียตามปีลงไป แต่ด้วยความบังเอิญที่โรงงานผลิตผ้าพันคอไม่สามารถผลิตได้ปริมาณน้อย ทำให้เธอตัดสินใจนำผ้าพันคอที่เหลือโพสต์ขายลงบนเฟซบุ๊ก ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีและขายหมดเพียงแค่สองวัน สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ผ้าพันคอ โดยความแตกต่างของเธอกับงานผ้าพันคอเจ้าอื่น คือทุกชิ้นใช้วิธีการวาดแฮนด์เมดอย่างประณีต
อย่างไรก็ดี เธอเผยเพิ่มเติมถึงจุดเริ่มต้นของการนำลายนักกษัตรมาใส่บนผ้าพันคอ Horoscarf ว่าเอาเข้าจริงเธอฉุกคิดได้มาสักพักก่อนจะเริ่มโปรเจ็กต์ลายมะเมียแล้ว
“ไอเดียที่เกิดขึ้น ตอนเราไปแก้ชงแล้วได้รับคำแนะนำให้ใส่สร้อยคอที่เป็นปีฮะกับเรา (ปีนักษัตรที่เกื้อหนุนกับปีเกิด) ตามความเชื่อของคนจีน แต่พอเราซื้อสร้อยเส้นนั้นมาเรากลับไม่หยิบมาใส่เลยเพราะว่ามันไม่แฟชั่น เราเลยฉุกคิดไอเดียว่าถ้ามันจะใส่แก้ชงมันก็ต้องใส่แล้วสวยควบคู่ด้วยสิ เราเลยลงมืออ่านหนังสือหาเคล็ดลับสีมงคลของแต่ละปี โดยทุกอย่างเราอิงตามหลักโหราศาสตร์ ส่วนลายสัตว์อื่นๆ ที่วาด นอกจะเป็นสัตว์มงคล เรายังอิงเรื่องของหลักฮวงจุ้ยทั้งหมด”
ล่าสุดนอกจากออกแบบลาย 12 นักษัตรลงบนผ้าพันคอ ดร.แนทยังมีสินค้าใหม่ เช่น เสื้อคลุม และหน้ากากอนามัยมาวางขาย ซึ่งยังคงยืนยันคอนเซ็ปต์สายมู นับได้ว่าเป็นสินค้ายอดฮิตของชาวต่างชาติที่เข้ามายัง คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี แถมความนิยมยังถึงขั้นส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ จีน และไต้หวัน
สุดท้ายเรื่องราวของทั้ง 3 แบรนด์ อาจสะท้อนได้เป็นนัยๆ ว่า ความชอบ ความมุ่งมั่น และความเชื่อในสิ่งที่ทำ คือจุดเริ่มต้นที่ส่งไปถึงความสำเร็จในอนาคต ท่ามกลางโลกที่หมุนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความชอบของผู้คนที่มักให้ความสนใจกับการนำสิ่งรอบข้างมาประยุกต์ผสมผสาน ขณะเดียวกันเรื่องของการสนับสนุนชุมชน และส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นไทยผ่านแบรนด์ธุรกิจ ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้แก่ประเทศไทยในระดับโลก เฉกเช่นเดียวกับที่ King Power ให้ความตั้งใจเสมอมา รวมถึงทำให้รับรู้ได้ว่า ฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ ถ้าตั้งใจ
Fact Box
- โครงการ ‘KING POWER THAI POWER พลังคนไทย’ คือโครงการที่ King Power Group ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมเยาวชนไทยและคนไทยให้มีโอกาสได้ไปแสดงศักยภาพบนเวทีระดับโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านกีฬา (Sport Power) ด้านดนตรี (Music Power) และด้านชุมชน (Community Power)
- สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ของผู้ประกอบการท่านอื่นในโครงการ KING POWER THAI POWER พลังคนไทย ได้ทาง www.thaipower.co (https://bit.ly/3J95v9X)