สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทุกคนแล้วว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นสำคัญต่อโลกอย่างไร ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้มนุษย์พัฒนาวัคซีนได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่เทคโนโลยีหลายอย่างก็เข้ามาช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้คนสามารถดำเนินต่อไปบนโลกออนไลน์ได้
เมื่อพูดถึงแหล่งบ่มเพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทย สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC น่าจะเป็นรายชื่ออันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง
ขับเคลื่อนประเทศผ่านการผลิตนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและงานวิจัยชั้นเลิศ
VISTEC ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่ม ปตท. ซึ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติผ่านการพัฒนาด้านการศึกษา โดยเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งเน้นงานวิจัยชั้นแนวหน้า เพื่อสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นเลิศในระดับโลก ให้สามารถสร้างและใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีศูนย์กลางการบ่มเพาะอยู่ที่ วังจันทร์ วัลเลย์ (Wangchan Valley) ตำบลป่ายุบ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
เป็นระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว ที่ VISTEC ได้ผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ออกมา พร้อมกับการเกิดขึ้นของงานวิจัยหลายชิ้นที่ทาง VISTEC คิดค้นหรือพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เช่น การพัฒนาระบบอัจฉริยะของหุ่นยนต์โครงกระดูกภายนอก ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเคลื่อนที่ของผู้ใช้ได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อช่วยเหลือและเสริมสร้างการเดินของผู้ป่วยที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย
ตามมาด้วยงานวิจัยการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดลิเธียม-ซัลเฟอร์ ให้กักเก็บประจุไฟฟ้าได้สูงถึง 300–500 Wh/Kg สามารถยืดอายุแบตเตอรี่ได้ต่อการชาร์จ 3,000 รอบ หรือประมาณ 15 ปี ขณะควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่าปัจจุบันได้ถึง 2 เท่า หากวิทยาการนี้เข้าสู่ตลาด คาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในสายงานผลิตและส่งออกด้านเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้ในอนาคต รวมถึงการคิดค้นเทคโนโลยีขยะเพิ่มทรัพย์ โดยทีมนักวิจัย C–ROS ของ VISTEC ที่คัดสรรเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพสูง และดำเนินกระบวนการชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากครัวเรือนให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์
ความสำเร็จของ VISTEC วัดได้จากการจัดอันดับของเว็บไซต์การศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสากลอย่าง Nature Index ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับการค้นหาผลงานวิจัยลำดับต้นๆ ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของไทยด้านเคมี และอันดับสามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ส่วนในภาพรวมของทุกสาขาวิชา (ชีววิทยา, ฟิสิกส์,วิทยาศาสตร์, เคมี, โลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) VISTEC อยู่อันดับที่ 2 ของไทย
บทบาทของ VISTEC ช่วงวิกฤตโควิด-19
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ช่วงการตรวจเชื้อโควิด-19 ยังคงเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ทาง VISTEC ในฐานะพันธมิตรนอกประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียวขององค์กร ‘STOPCOVID’ ก็ได้วิจัยและพัฒนาชุดตรวจ COVID–19 (Rapid Genetic Detection Kit for COVID–19) ด้วยเทคนิคการตรวจแบบ CRISPR ผ่านการร่วมกับสถาบัน Broad Institute of MIT and Harvard สหรัฐอเมริกา, ภาควิชาจุลชีวะ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ได้ชุดตรวจ COVID–19 ที่รู้ผลภายใน 30–45 นาที
สำหรับปี 2564 ไทยต้องเผชิญกับการระบาดหนัก มียอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทะลุหมื่นรายต่อวัน ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่มีเตียงเพียงพอจะรองรับผู้ป่วยได้ทุกคน ดังนั้น การรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation จึงเข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ยังคงเป็นเรื่องใหม่ไม่แพ้โควิด-19 บางแห่งอาจเลือกใช้แอปพลิเคชัน LINE ที่ทุกคนต้องมีติดเครื่องอยู่แล้ว ในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างแพทย์กับคนไข้ หรือบางแห่งสร้างแอปพลิเคชันของตัวเองขึ้นมาใหม่เลย ซึ่งไม่ว่าจะใช้รูปแบบใด กว่าจะรู้ว่าระบบนี้มีช่องโหว่ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว
คนไข้ตกหล่นไม่สามารถเข้าระบบได้ ความล่าช้าในการประสานงาน ทีมแพทย์ไม่เพียงพอ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นเรื่องพบเห็นได้ตลอดช่วงที่ผ่านมา และเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขทันที ทางสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ Medensy บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ จึงร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID ซึ่งมีชื่อเต็มว่า AI-Driven Community/Home Isolation-Based Electronic Health Record during COVID-19 pandemics เพื่อสร้างความเบาแรงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามอาการและดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวแบบ Home Isolation, อยู่ในศูนย์แยกกักตัวชุมชน (Community Isolation) และในโรงพยาบาลสนาม ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการให้แก่ผู้ป่วย โดยเบื้องหลังมีทีมนักวิจัยและพัฒนาทุ่มเททำงาน เพื่อสร้างต้นแบบระบบการแพทย์ทางไกลให้ตลอดกระบวนการเป็นไปอย่างสะดวก ราบรื่น และรวดเร็วยิ่งขึ้น
ขั้นตอนแรก ทางทีมเริ่มสำรวจก่อนว่า แพลตฟอร์มให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีอะไรที่ยังขาดไป และอะไรที่ควรคงเอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบปัญหาดังต่อไปนี้
1. บางระบบผู้ป่วยที่มีลิงก์สามารถกดเข้าระบบด้วยตนเองได้เลย ไม่มีระบบยืนยันการรับผู้ป่วยเข้ามารักษาจากเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการจัดการและดูแลผู้ป่วย ซึ่งส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่ภายในระบบ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล
2. การรายงานอาการรายวันของผู้ป่วย ผู้ป่วยต้องพิจารณาอาการและพิมพ์รายงานด้วยตัวเอง
3.ไม่มีระบบช่วยเหลือการตัดสินใจทางการแพทย์ (Clinical decision support system)
4. หนึ่งครอบครัวมักจะใช้ Line ID เดียวในการสื่อสาร แต่ขาดการลงทะเบียนพร้อมกันทีเดียว
5. ไม่มีระบบตอบกลับอัตโนมัติ (Chatbot) เพื่อลดปริมาณงาน กรณีเจอคำถามที่พบบ่อย
6. ไม่มีระบบแนะนำการรักษาหรือแจ้งเตือนเมื่อจำเป็น
7. ไม่มีการสร้างฐานข้อมูลเพื่อใช้นำไปต่อยอดในการวิจัยได้ภายหลัง
8. ไม่มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการคัดกรองกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อช่วยลดภาระงานให้แก่ทีมบุคลากรทางการแพทย์
จากปัญหาดังกล่าว ทีมนักวิจัยและพัฒนาจึงออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่ออุดช่องโหว่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เริ่มด้วยการเพิ่มระบบยืนยันการรับผู้ป่วยเข้าระบบขึ้นมา ทำให้สามารถตรวจสอบประวัติเบื้องต้น คัดกรอง และอนุมัติผู้ป่วยเข้าระบบ โดยเลือกเตียงและวอร์ดได้สะดวก พร้อมนำ AI–base feature ชื่อ PACMAN ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาดูแลในส่วนการจัดการข้อมูลผู้ป่วยก่อนการวินิจฉัยโดยแพทย์
วิธีง่ายๆ เพียงถ่ายรูปค่าจากหน้าจอเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วรุ่นอะไรก็ได้ ระบบจะแปลผลภาพถ่ายเป็นตัวเลขให้อัตโนมัติ ทำให้ง่ายต่อการติดตามอาการป่วยรายวันของแพทย์วันละอย่างน้อย 2–3 รอบ และตอบโจทย์ผู้ป่วยหลายรายที่อาจไม่เข้าใจว่าเลขค่าความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจคืออะไร ทั้งยังมีระบบช่วยเหลือการตัดสินใจทางการแพทย์ (Clinical decision support system) ที่เมื่ออาการผู้ป่วยแย่ลง ระบบจะเปลี่ยนสถานะจากสีเขียว เป็นสีเหลืองหรือสีแดง และแจ้งเตือนไปยังแพทย์โดยอัตโนมัติ แน่นอนว่าต้องมีระบบพิมพ์เอกสารเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วย
ในส่วนการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์เอง นอกจากจะมีระบบให้ยืนยันการรับผู้ป่วยใหม่เข้าระบบแล้ว แพทย์ยังสามารถเรียกดูรายการผู้ป่วยปัจจุบันทั้งหมดในระบบ โดยแบ่งตามค่าความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิ ค่าความดันโลหิต และอัตราการหายใจ หรือเข้าดูข้อมูลผู้ป่วยเฉพาะรายบุคคลเฉพาะค่าที่สนใจได้ และอีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ เมื่อทำการสั่งจ่ายยาเรียบร้อย จะมีระบบสำหรับติดตามสถานะการส่งยาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยเพิ่มเข้ามา
ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน CHIVID ถูกนำไปใช้ติดตามและดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลกระทุ่มแบน โรงพยาบาลบางปะกง โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมีอีกหลายโรงพยาบาลที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ แต่ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นแอปพลิเคชัน CHIVID เวอร์ชันอัพเกรดที่สามารถเพิ่มวิธีอัพโหลดข้อมูลต่างๆ จากผู้ป่วยให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะภาพวีดีโอจากท่านั่ง ท่านอน เสียงไอ รวมถึงดึงข้อมูลจากอุปกรณ์สำหรับการดูแลสุขภาพอย่าง Smart Watch มาให้ AI สร้างโมเดลทำนายการวินิจฉัยโรค และอาจมีการพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ภายในประเทศ เช่น Health Link, SI–VISTEC sandbox, VISAI ตลอดจนนำต่อยอดเป็นระบบการติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งหากโรงพยาบาลไหนสนใจอยากใช้งานระบบ CHIVID ก็สามารถติดต่อได้ที่ LINE: @medensy หรือ Facebook Fanpage: Interfaces
ปัจจุบัน มีการคาดการณ์กันว่า แม้โควิด-19 จะหมดลง แต่การแพทย์บนโลกดิจิทัล (Digital Health) จะเป็นเทรนด์การดูแลสุขภาพยุคใหม่ เพราะโควิด-19 เป็นเหมือน ‘ใบเบิกทาง’ ให้เห็นว่า การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปในโรงพยาบาลเสมอไป และแอปพลิเคชัน CHIVID ก็เปรียบเหมือนอีกก้าวหนึ่งในการร่วมพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อต่อยอดการทำงานให้มีประโยชน์ต่อระบบการดูแลสุขภาพของประเทศในอนาคต
Tags: สถาบันวิทยสิริเมธี, โควิด-19, ปตท., VISTEC, CHIVID, Telemedicine, Medensy, Branded Content