โตขึ้นอยากเป็นอะไร? ทหาร ตำรวจ ครู พยาบาล วิศวกร หมอ คำตอบคงไม่พ้นอาชีพเหล่านี้

หากแต่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ล้วนมีความต้องการประกอบอาชีพที่หลากหลายและเฉพาะด้านมากขึ้น เพราะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและโอกาสในการประกอบอาชีพใหม่ๆ

สถาบันการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเปรียบเสมือนความหวังและจุดเริ่มต้นของเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำในสิ่งที่รักและอยากเป็นเมื่อเรียนจบออกไป

แล้วใครจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภายใต้การนำของอาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ ได้เปิดตัวหลักสูตรใหม่ถึง 4 หลักสูตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่แปลกแหวกแนวจากไปจากแบบเดิมๆ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา สมกับเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ (Creative University)

เราคุยกับอาจารย์ผู้อยู่เบื้องหลังสูตรใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงความสำคัญ และเหตุผลว่าทำไมต้องเป็น 4 หลักสูตรนี้ พร้อมกับเป้าหมายในการสร้างนักศึกษาเพื่อตอบโจทย์อนาคตที่กำลังจะมาถึง

ผศ.ศุภเจตน์ จันทร์สาส์น อนาคตทางการเงินอยู่ในมือคุณ

“ไม่ว่าคุณจะอยากประกอบอาชีพอะไรก็ตาม เป้าหมายปลายทางของทุกคนคือความมั่งคั่งและมั่นคง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภเจตน์  จันทร์สาส์น หรืออาจารย์ปอนด์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้สำรวจอินไซต์นักเรียนนักศึกษามาจนได้ข้อสรุปดังกล่าว

“ไม่ว่าจะเป็นเชฟ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ หรืออาชีพอะไรก็ตาม คุณสามารถกำหนดเป้าหมายได้ว่า เมื่อคุณเกษียณจะมีเงินเท่าไหร่เพื่อใช้ต่อไปได้อย่างสบาย ๆ ในอีก 20-30 ปี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเมื่อรู้แล้วว่าต้องมีเงินเท่าไหร่ จะวางแผนหาเงินก้อนนั้นได้อย่างไร? ไม่เพียงแค่เป้าหมายของตัวเองเท่านั้น ในภาคธุรกิจการเงินการธนาคารซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพันธมิตรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สะท้อนปัญหาและความต้องการคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่”

‘นักวางแผนการเงินและการลงทุน’ จึงเป็นอาชีพที่ยังคงขาดแคลนและจะมีความต้องการสูงขึ้นในอนาคต นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดหลักสูตร ‘สาขาวิชาการวางแผนการเงินและการลงทุน’ ขึ้นในคณะบริหารธุรกิจ โดยให้อาจารย์ปอนด์ซึ่งเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และมีคุณวุฒิวิชาชีพด้านการวางแผนการเงินที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร

“ที่ผ่านมาหลักสูตรด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การทำงานในองค์กร บริษัท หรือเป็นนักวิเคราะห์ แต่หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่สอนให้คุณวางแผนอนาคตการเงินการลงทุนด้วยตัวคุณเอง”

ที่สำคัญหลักสูตรนี้ยังเป็นการร่วมมือกับภาคธุรกิจการเงินชั้นนำของไทย อย่างสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ช่วยปูทางสู่การสอบคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน (Certified Financial Planner) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล สามารถทำงานเป็นทั้งวิชาชีพอิสระ และยังเป็นที่ต้องการของสถาบันการเงิน เพราะในไทยยังมีผู้สอบผ่านคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ไม่ถึง 200 คน

อาจารย์ปอนด์ให้ความมั่นใจว่า “เรียนหลักสูตรนี้ ไม่จน ไม่ตกงานแน่นอน”

ดร.ถิรพล วงศ์สอาดสกุล เปลี่ยนการเล่นให้เป็นอาชีพ

เด็กชอบเล่นเกม แต่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ช่างสวนทางกับตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยปี พ.ศ. 2559 ที่มีมูลค่าสูงถึง 13,000 ล้านบาท และน่าจะเติบโตอีกเป็นสิบเปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือการเติบโตของเทคโนโลยีสมาร์ตโฟน ที่ทำลายการผูกขาดเกมของบริษัทยักษ์ใหญ่ เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถพัฒนาเกมได้อย่างเสรี พร้อมกับการแข่งขันอี-สปอร์ตได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้เกิดธุรกิจและอาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งล่าสุดอี-สปอร์ตถูกบรรจุอยู่ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ที่กรุงจาการ์ตา โดยจะเริ่มแข่งขันเป็นกีฬาสาธิตก่อนจะแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบในปี 2022 ที่หางโจว ประเทศจีน นับเป็นการตอกย้ำว่าเกมได้กลายเป็นกีฬาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดร.ถิรพล วงศ์สอาดสกุล หรือ อาจารย์กิม คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ได้มองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาโดยตลอด ในฐานะที่เคยเป็นเด็กติดเกมมาก่อน จึงอยากจะสร้างเด็กไทยที่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักเล่นเกม ให้กลายเป็นผู้ผลิตเกมระดับโลกในอนาคตได้ จึงเป็นที่มาของสาขาวิชาเกมและสื่อเชิงตอบโต้ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม

“เรามีศูนย์บ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ โมบายล์แอปพลิเคชัน เรียนรู้และออกแบบเกมร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างการีน่า ที่คอเกมรู้จักกันดีว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดเกมเอเชีย เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมเกม ไม่ว่าจะเป็น นักพัฒนาเกม นักออกแบบเกม แคสเตอร์ นักจัดอีเวนต์เกม นักเล่นเกม โค้ช และอื่น ๆ ที่เป็นอาชีพในอนาคตสำหรับคนรุ่นดิจิทัล”

แล้วถ้ามีเด็กถามว่าอาจารย์เล่นเกมเป็นหรือ สู้พวกผมได้หรือเปล่า อาจารย์กิมบอกว่า “อาจารย์ที่นี่ไม่ธรรมดานะน้อง!”

อ.เศรษฐา วีระธรรมานนท์ ฉีกกรอบคิด สร้างคนยกระดับภาพยนตร์ไทย

ด้วยความมุ่งมั่นของอาจารย์เศรษฐา วีระธรรมานนท์ หรืออาจารย์ฐา คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ต้องการสร้างบุคลากรชั้นนำป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล บนพื้นฐานสำคัญสามประการคือ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะวิชาชีพ และความสามารถด้านการจัดการ โดยออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างครบวงจรตั้งแต่เริ่มต้นคิด ผลิตผลงาน และนำไปสู่การขาย พร้อมปรับปรุงหลักสูตรเป็นประจำ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ดีที่สุด

“หากเราหยุดอยู่กับที่ ไม่พัฒนาหลักสูตรของเราให้ทันสมัยตลอดเวลา เราจะปั้นคนให้ตอบโจทย์อนาคตได้อย่างไร” อาจารย์ฐาอธิบาย

นอกจากนี้ไม่ได้แค่หนังไทยอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสื่อโฆษณา ละคร ซีรีย์ แม้กระทั่งการให้บริการกองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ และสื่อดิจิทัลต่าง ๆ เช่น แอนิเมชันและการสร้างเทคนิคพิเศษทางภาพ (visual effect) ซึ่งกำลังมาแรงมาก และเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

ซึ่งภายใต้การดูแลของอาจารย์ฐาและคณาจารย์ได้ดำเนินการสอนอย่างจริงจัง เพื่อปั้นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะรอบด้าน และมีมาตราฐานสูง เพื่อให้นักศึกษาไปสู่โอกาสที่ดีกว่าในอนาคต เพราะจากประสบการณ์ของอาจารย์ฐามักพบว่าการศึกษาไทยมี ‘กรอบ’ ทั้งกรอบที่เป็นทางการและไม่ทางการ ทั้งที่เป็นกรอบจากระบบหรือตัวบุคคล ทำหน้าที่กำหนดอะไรบางอย่างอยู่ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัล มีอาชีพใหม่ ๆ มากมาย แต่กรอบเหล่านั้นกลับเป็นตัวปิดกั้นอนาคตของนักศึกษา โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่นักศึกษาต้องใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์อย่างสื่อและภาพยนตร์  

“การได้มาสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ผู้บริหารเปิดโอกาสให้ฉีกกรอบ สร้างสรรค์คำตอบใหม่ ๆ ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ โดยมีอนาคตนักศึกษาเป็นตัวตั้ง มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อที่จะรู้ความต้องการ และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาในการประกอบอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางและความต้องใจของเรา ผมจึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถปั้นนักศึกษาและนำพวกเขาไปสู่มาตรฐานสากลได้”

“หากต้องการอยู่รอดในโลกอนาคต ต้องทลายกรอบแล้วออกไปไขว่คว้าความฝันของตัวเอง” อาจารย์ฐากล่าวทิ้งท้าย

อ.อาทิตยา อรุณศรีโสภณ เชฟไทยต้องได้ดาวระดับโลก

อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ ควบคู่ไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ

จากการทำงานร่วมมือกับภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาหลักสูตรและขัดเกลาทักษะของนักศึกษา ทำให้คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวทราบถึงความต้องการบุคลากรด้านอาหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้เปิดสาขาวิชาศิลปะการประกอบและออกแบบอาหาร (Culinary Arts & Design) ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ เพื่อตอบโจทย์การทำงานในอนาคตของนักศึกษา

สำหรับสาขาวิชาศิลปะการประกอบและออกแบบอาหาร นอกจากจะผลิตเชฟแล้ว ยังรวมถึงการสร้างอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น ฟู้ดสไตลิสต์ ที่ปรึกษาด้านอาหาร และผู้บริหารร้านอาหาร เป็นต้น

อาจารย์อาทิตยา อรุณศรีโสภณ หรืออาจารย์โอ๋ หนึ่งในผู้รับผิดชอบและผู้สอนสาขาวิชานี้เล่าว่า “ทุกวันนี้ภาคธุรกิจไม่ว่าจะโรงแรม หรือเชนร้านอาหารใหญ่ ๆ ที่เปิดสาขาในต่างประเทศ เขาบอกเลยว่าต้องการนักศึกษาแบบไหน เช่น ต้องการเชฟที่ทำอาหารเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ บริหารร้านได้ ภาษาดี เราก็จับเอาความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมาเป็นโจทย์ของสาขาวิชาใหม่นี้”

ไม่เพียงแค่การปั้นนักศึกษาให้มีทักษะที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ มีความสามารถที่ทำงานได้จริงในอนาคตเท่านั้น ถ้านักศึกษาต้องการสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง สาขาวิชานี้ก็ตอบโจทย์ เพราะออกแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและลงมือฏิบัติจริง ตั้งแต่พื้นฐานการทำอาหาร ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ ไปจนถึงการบริหารจัดการร้านอาหาร และที่สำคัญหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติที่เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถออกไปโลดแล่นในเวทีระหว่างประเทศได้

“การจะเป็นเชฟที่ประสบความสำเร็จ ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มข้นยาวนาน ไม่มีทางลัด หากน้องๆ มีความพร้อมและมีเป้าหมายชัดเจน มาขอคำแนะนำจากอาจารย์ได้ตลอดเวลา”

ทั้งหมดนี้คือสี่หลักสูตรใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่อาจารย์ผู้ดูแลหลักสูตรแต่ละท่าน มั่นใจว่าเป็นหลักสูตรที่พร้อมจะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในวันนี้ และตอบโจทย์อนาคตของนักศึกษาอย่างแท้จริง

Tags: , , ,