แกฆ่าได้ก็แค่คนคนหนึ่ง
บรรทัดแรกของบทกวีชื่อ เช เกวารา ของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ซึ่งน่าจะเป็นคำพูดของเช
ผมอ่านบทนี้ระหว่าง ‘ยืน หยุด ขัง’ เป็นเวลา 112 นาที เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 แค่บรรทัดแรกก็ทำให้ผมเปลี่ยนความตั้งใจที่จะอ่านบทนี้แทนบทเดิมที่เตรียมมาเพื่อรำลึกถึงการจากไปของไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎร
ระหว่างยืนหยุดขัง 1 ชั่วโมง 12 นาที ผมอ่านบทกวีบทนี้ซ้ำไปซ้ำมาเพื่อค้นหา ‘เสียง’ ในบทกวี และผมก็เห็นฉากการตายของคนสองคน หนึ่งในนั้นคือกวีคนสำคัญของประเทศ
คุณจำเชได้ไหม?
ภายหลังที่เชถูกยิงที่ขาแล้วถูกจับมารอการสอบสวนที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง แรกทีเดียวเขาไม่คิดว่าตัวเองจะถูกยิงตาย
เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นขัดแย้งกันระหว่างผู้นำโบลิเวียและซีไอเอ ฝ่ายแรกต้องการประหารชีวิตเช เพราะถ้านำเขามาเมืองหลวงแบบยังมีลมหายใจ ก็เกรงว่านักเรียน นักศึกษา และประชาชนจะลุกฮือขึ้นก่อจลาจล แต่ฝ่ายหลังมองว่า การได้เชเป็นๆ จะมีประโยชน์ระยะยาว
แต่สุดท้าย ผู้นำโบลิเวียก็สั่งยิงเป้าเช
และเมื่อเชรู้ว่าตัวเองจะต้องตาย ไปป์ที่คาบอยู่ก็หล่นจากปาก แต่เมื่อได้สติก็ยืนขึ้นอย่างขึงขังและขอยาเส้นมาบรรจุใหม่ แม้ว่ารอยแผลที่ขาของเขาจะใหญ่มากและก็คงอักเสบด้วย แต่ดูเหมือนเชจะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรอีกในตอนนั้น เชยอมรับชะตากรรมอย่างสุขุมและสง่า โดยไม่ร้องขออะไรเป็นพิเศษก่อนตาย
แกฆ่าได้ก็แค่คนคนหนึ่ง
ผมอ่านกวีบทนี้อีกรอบ และไม่รู้ว่าอะไรทำให้ผมรู้สึกว่า ไม้หนึ่ง ก.กุนที เขียนกวีบทนี้ให้ตัวเขาเอง
กระสุนปืนหลายนัดที่ยิงไม้หนึ่ง ก.กุนที ส่งเสียงดังกึกก้องกลางเมืองหลวงในวันที่ 23 เมษายน 2557 ส่งให้ร่างของเขาทรุดฮวบตายลงกับพื้นข้างๆ รถที่เขานั่งมา กลบเสียงคนในวงการหนังสือคล้ายกับเป็นการยืนยันว่า ถ้านักเขียนกวีคนใดยืนอยู่ข้างอุดมการณ์นอกเหนือจากอนุรักษนิยมแล้ว เขาจะไม่ถูกนับอีกต่อไป และอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นเสมือนกระสุนเบิกทางให้การรัฐประหารในอีกหนึ่งเดือนต่อมา
บางทีผมก็อยากถาม เช เกวารา ว่า ‘เขาฆ่าได้แค่คนคนหนึ่ง’ จริงหรือ
แล้วฉากการตายของกวีคนหนึ่งก็ผ่านเข้ามา
5 พฤษภาคม 2509 เมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ปั้นข้าวจากหญิงเจ้าของเฮือนหลังหนึ่งที่บ้านหนองกุง ก็เดินหันหลังกลับไปทางที่มา และมุ่งไปทางชายป่าที่เพื่อนทหารป่าอีกสองคนรออยู่ ไม่นานก็มีเสียงกลุ่มคนวิ่งกรูตามมา พร้อมกับเสียงปืนระดมยิงไล่หลัง วิถีกระสุนพุ่งไปยังจุดที่เพื่อนทหารป่าของจิตรซ่อนรออยู่ ทั้งสองก็ถอยหาแนวปลอดภัย โดยไม่รู้ว่า จิตรได้พาร่างโชกเลือดมาล้มฟุบลงตรงนั้น
ศพนั้นนอนหงายอยู่กับดิน หน้าอกเลอะโชกไปด้วยเลือด กระสุนสังหารจุดสำคัญบริเวณอก ใบหน้าเจ้าของร่างนั้นมีแผลเป็น ร่องรอยแห่งความกังวลปรากฏบนใบหน้า
ที่ บก.ฝึก พัน.ร.สพ. 017 เจ้าหน้าที่ทำการรายงานอย่างเร่งรีบ ส่งภาพและเอกสารที่ยึดได้จากการปะทะเมื่อตอนบ่ายไปตามสายงาน นายตำรวจหนุ่มผู้หนึ่งที่เคยศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์แห่งเดียวกับที่จิตร ภูมิศักดิ์จบการศึกษา ซึ่งตอนนี้ประจำอยู่ที่ศูนย์ข่าวร่วมพลเรือน-ตำรวจ-ทหาร ทำการพิสูจน์รายงาน เขาเอาภาพศพมาดูอย่างพินิจ แล้วเขียนลงไปว่านี่คือจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์ และได้รับการปลดปล่อยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2507
วิทยุด่วนรายงานจากศูนย์แห่งนี้ไปยังศูนย์รักษาความปลอดภัยที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพอดีผู้ที่ประจำเวรรับวิทยุก็เป็นอดีตนิสิตจากรั้วอักษรจุฬาฯ เช่นเดียวกัน เขาอ่านข่าวด้วยความตกตะลึง แล้วเขาก็หวนคิดถึงเพื่อน และจินตนาการไปถึงฉากสุดท้ายนั้น เป็นไปได้ไหมที่เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ถูกกระสุนปืนนัดวิกฤตและก่อนสิ้นลมนั้น เขาอยากจะบอกกับใครๆ ว่า
“ใช่ ผมเอง ผมคือจิตร ภูมิศักดิ์ ผมมีค่าต่อคุณในการจับเป็นมากกว่าจับตาย”
ภายหลังการยืนหยุดขัง กลุ่มผู้ทำกิจกรรมในวันนั้นเดินมาชุมนุมกันที่ป้ายรูปของกวีไม้หนึ่ง ก.กุนที เพื่อจะทำการรำลึกไว้อาลัย ผมเดินไปยืนข้างๆ แผ่นรูปนั้นต่อหน้าผู้คนแล้วก็อ่านบทกวี เช เกวารา
แกฆ่าได้ก็แค่คนคนหนึ่ง
แต่ความตายตกลงซึ่งไร่นาสวน
ไม่จำเป็นอีกแล้วการไถพรวน
ผลิมิหยุดขบวนการอภิวัฒน์
แพร่ไปเถอะเผ่าพันธุ์อันบรรเจิด
จิตที่เทิดสัจจะแจ่มจรัส
ทุกกดขี่ต้องหักโค่นอัตคัด
อำนาจรัฐการปกครองของปวงชน
ทหารป่าปลูกพลรบจรยุทธ์
ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดโคนดินโดนฝน
เชื้อขมขื่นของคนทุกข์ทั้งสากล
ปลิวสปอร์ในสายลมไร้เขตแดน
เพิ่มกองทัพประชาชน พลเมือง
รบต่อเนื่องไปพ้นรูปแบบแผน
อุทิศเพื่อสังคมคือแก่นแกน
ตายแค่หนึ่ง เกิดแสนล้านล้นแผ่นดิน
คนธรรมดาเดินทางมาเป็นจีซัส
คมกระสุนไม่อาจตัดธารถวิล
สีแดงเลือดชโลมเช ชุ่มโชกริน
ปุ๋ยบำรุงปัถพินคนขบถ
ในระหว่างเสียงปรบมือ ผมผละเดินออกมาเงียบๆ มองเข้าไปในดวงตาของพี่ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎรผู้ล่วงลับ แล้วก็รู้สึกสะท้อนใจขึ้นว่า ประเทศแบบไหนกันนะ ที่ยิงกวีทิ้งกลางเมืองหลวง
พร้อมกับคำถามนั้นก็พุ่งขึ้นในใจอีก ‘เขาฆ่าได้แค่คนคนหนึ่ง’ จริงหรือ
อ้างอิง
ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎร, ไม้หนึ่ง ก.กุนที
เมื่อเชไปตายที่โบลิเวีย (ซีไอเอ ลับสุดยอด), สุทธิชัย หยุ่น แปล
ถนนหนังสือ ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 พฤษภาคม 2529
วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์, แคน สาริกา
Fact Box
กิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ เป็นกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวเป็นเวลา 1.12 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 17.30-18.42 น. โดยกิจกรรมนี้ได้เริ่มต้นขึ้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และได้ขยายตัวไปทั่วประเทศ