ก่อนอื่น ข้อเสียของการเป็นบุรุษล่องหนในนิยายเรื่องนี้ก็คือ

  1. คุณจะต้องล่อนจ้อนเปลือยเปล่า ทานทนความหนาวให้ได้ เพราะการใส่เสื้อผ้าก็เท่ากับเป็นการเปิดเผยตัวตน ลองนึกถึงหน้าหนาวในยุโรปสิ มันคงไม่ขำเท่าไร
  2. เมื่อไหร่ที่จะกิน ก็ต้องกินอย่างลับๆ เสมอ เพราะอาหารที่ยังไม่ย่อยจะลอยค้างเป็นภาพไม่น่าดูอยู่กลางอากาศ
  3. แรกๆ คุณอาจเดินสะดุดเท้าตัวเอง เพราะมองไม่ออกจริงๆ ว่ามันอยู่ตรงไหน
  4. ไม่มีใครเห็นหัวคุณ พวกเขาจะไม่หลบ เดินชน หรือเอาบางสิ่งกระแทกใส่
  5. แต่ขณะเดียวกัน หากคนรอบข้างรู้ว่าคุณมีตัวตนแบบบุคคลล่องหน พวกเขาจะหวาดกลัว เพราะสิ่งที่มองไม่เห็นมักน่าสะพรึงและไม่น่าวางใจสำหรับคนทั่วไป
  6. ถ้าดีหน่อย พวกเขาก็จะพาคุณไปออกงานวัดเพื่อหารายได้

บุรุษล่องหน (The Invisible Man) เขียนโดยเอช. จี. เวลส์ นักเขียนชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1897 (ถ้าให้นึกภาพว่ายุคไหน ก็คือไม่กี่ทศวรรษหลังจากมีการใช้หลอดไฟให้แสงสว่างอย่างแพร่หลาย)

ทั้งฉากที่อยู่ในอดีตไกลโพ้นและอยู่ในแถบชนบทของอังกฤษ ซึ่งในด้านวัฒนธรรมดูห่างไกลตัวเราออกไปก็จริง แต่วิธีเล่าเรื่อง ‘มนุษย์ที่ล่องหน’ ซึ่งเป็นแนวคิดแสนครึสำหรับยุคนี้ กลับตื่นตาตื่นใจและสุดระทึก สมกับที่มันถูกแปะป้ายทางวรรณกรรมให้เป็นทั้งนิยายไซไฟและเขย่าขวัญ

บุรุษล่องหน และ แหวนของไกกีส

เมื่อพูดถึงมนุษย์ล่องหนในโลกวรรณกรรม หลายคนอาจนึกถึงบทสนทนาในหนังสือปรัชญาเล่มเขื่องของเพลโตที่ชื่อ รีพับลิก ในบทตอนที่ว่าด้วยเรื่องราวของแหวนของไกกีส แหวนวิเศษซึ่งเพียงหมุนหัวแหวนเข้าหาตัว ผู้สวมก็จะได้พลังอำนาจแห่งการหายตัวไป

คราวนั้นแลที่ผู้สวมแหวนอยากจะทำอะไร ดีหรือชั่วแค่ไหน ก็ลงมือได้ทันที ผู้สนทนาพาดพิงถึงแหวนในตำนานวงนี้ขึ้นมา เพื่อสอดรับกับความคิดว่าด้วยความเที่ยงธรรมที่ว่า “ไม่มีใครนำความเที่ยงธรรมมาปฏิบัติด้วยความสมัครใจหรอก ต่างคนต่างก็ทำไปด้วยมิอาจก่อการไม่เที่ยงธรรมด้วยตนเองทั้งนั้น” (รีพับลิก ฉบับประชาชน แปลโดยเวธัส โพธารามิก)

หมายความว่า ถ้าทำชั่วแล้วไม่มีใครล่วงรู้ ร้อยทั้งร้อยก็คงลงมือทำ ไม่มีหรอกคนดีบริสุทธิ์ที่น่าไว้วางใจ

แต่อำนาจในการหายตัวไปในเรื่อง บุรุษล่องหน เล่มนี้ ไม่ใช่พลังมนตรา แต่เป็นพลังอำนาจของวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ซึ่งเป็นความหมกมุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 19

“ผมล่องหนอยู่ และเพิ่งจะเริ่มเห็นความได้เปรียบของการหายตัวนี่เอง หัวสมองเริ่มคิดไปถึงแผนการที่จะทำอะไรบ้าๆ และมหัศจรรย์ ซึ่งทำไปแล้วก็ไม่มีใครจับได้” บุรุษล่องหนคิด หลังจากที่ความมหัศจรรย์ของเคมีและฟิสิกส์ได้ทำให้เขาหายไปจากสายตาผู้คน

แต่อำนาจนี้ ก็ไม่ใช่อำนาจเด็ดขาดแบบที่เราคิดว่า หายตัวแล้ว จะทำอะไรก็ได้ อย่างผู้สวมแหวนไกกีส เพราะเรื่องนี้เป็นนิยายไซไฟ ซึ่งเวลส์ใช้ความสมเหตุสมผลมาตีหัวปลุกเราจากฝัน

“ผมไม่มีที่ซุกหัว ไม่มีเสื้อผ้าจะให้ความอบอุ่น เพราะการที่จะหาเสื้อผ้ามาใส่ก็เท่ากับเปิดโปงตัวเองให้คนอื่นเห็น” บุรุษล่องหนกล่าวกับเพื่อนที่เขาไว้ใจ

ล่องหน: เหตุผลหรือเครื่องมือ

เอช. จี. เวลส์ เปิดเรื่องด้วยการปรากฏตัวของชายลึกลับที่มาพักในโรงแรมแถบชนบทชื่อเมืองอิพพิง ท่ามกลางหิมะที่ตกหนัก ความพิลึกพิกลของเขาไม่คลาดสายตาผู้คนในแถบนั้น ปริศนาก้อนใหญ่ปะทะผู้อ่านอย่างเราให้พลิกหน้าต่อไปและต่อไป ว่าเขาเป็นอะไรทำไมต้องทำตัวลับๆ ล่อๆ แม้จะรู้จากชื่อเรื่องแล้วว่าเขาเป็นมนุษย์ล่องหนแน่ๆ

แต่คำถามที่เวลส์ยังไม่เฉลยจนกระทั่งเกือบครึ่งเรื่องเข้าไปแล้วก็คือ เหตุใดชายคนนี้ถึงต้องใช้ชีวิตแสนอนาถาและมีลักษณะเจ้าอารมณ์ขนาดนี้ ทั้งที่เขามีพลังหายตัวได้ และเป็นความสามารถที่ใครหลายคนปรารถนา

เรื่องราวสมจริงตรงที่ว่า ความผิดมนุษย์มนาไม่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ชาวบ้านหวาดกลัว รังเกียจ และไล่ล่า

แรกเริ่ม เราในฐานะผู้อ่าน อาจจะรู้สึกเวทนาบุรุษล่องหน แต่เรื่องราวที่ดำเนินไปพร้อมกับคลี่คลายให้เห็นอุปนิสัยของชายไร้ตัวตนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง อาจทำให้เรารังเกียจตัวละครหลักตัวนี้แบบเข้าไส้ อย่างกับที่รังเกียจรอยยิ้มร้ายๆ และเสียงหัวเราะกวนประสาทของผู้ร้ายในละครหลังข่าว

เพราะเขาร้ายแบบมนุษย์น่าขยะแขยงคนหนึ่ง ที่อาศัย ‘เหตุผล’ แสนดูดีว่าทำไมชีวิตตนจึงน่าสงสาร มาให้สิทธิ์ตัวเองในการเอาเปรียบชีวิตคนอื่นๆ อย่างไม่ต้องรู้สึกละอาย ซึ่งเป็นนิสัยที่มีมาก่อนสารเคมีจะให้อำนาจล่องหนหายตัวกับเขาด้วยซ้ำ

และการล่องหนได้ก็เป็นเพียงเครื่องมือให้เขาทำสิ่งเลวร้ายให้บรรลุผล

แม้เวลส์จะเขียนไซไฟและแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง แต่ทัศนคติของเวลส์ที่มีต่อวงการวิทยาศาสตร์อาจจะปนเปกันระหว่างรักและชัง ตั้งแต่การกำหนดให้ชายหนุ่มผู้หลงใหลวิทยาศาสตร์มีความคิดน่าขยาดอย่างไม่น่าเชื่อ และหลายครั้งเราพบว่าตัวละคร ‘ผู้ดี’ ทั้งหมอและนักฟิสิกส์หัวแหลม พากันสบถด่าชาวบ้านชนบทเป็นเรื่องปกติว่า ‘พวกบ้องตื้น’ พร้อมกันนั้น เวลส์ก็ได้ทำการ ‘แซะ’ ทัศนคติของสังคมในยุคนั้นที่มีต่อคนมีการศึกษา (และแปลได้อย่างไหลลื่นออกรสโดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล)

“เมื่อมีคนถาม หล่อนจะตอบอย่างระมัดระวังว่าเขาเป็น “นักค้นคว้าทดลอง” เน้นอย่างชัดถ้อยชัดคำเหมือนกลัวจะพูดผิด ครั้นพอถามว่าคืออะไร หล่อนจะบอกอย่างยกตนข่มท่านว่าคนที่มีการศึกษาทุกคนเขารู้กันทั้งนั้น” (หน้า 41)

“พอดีได้ยินเสียงใกล้ๆ ตัวเหมือนผู้ชายไอ จามและเสียงสบถ เขามองไปก็ไม่เห็นอะไร แต่เสียงนั้นมีแน่ เสียงสบถต่อไปด้วยการสรรหาถ้อยคำมาใช้ ทำให้รู้ว่าเป็นคนมีการศึกษา” (หน้า 75)

หายตัวได้ก็เรื่องหนึ่ง แต่การเป็นคนมีการศึกษาสามารถหาเหตุผลและวรรณศิลป์มาโน้มน้าวตัวเองและผู้อื่นเชื่อได้ว่าตนมีสิทธิ์ที่จะฉ้อฉล ฉกชิง หรือเข่นฆ่าใครก็ได้ตามสถานการณ์ต่างๆ อาจเป็นเรื่องที่เราเห็นได้ชัดจาก บุรุษล่องหน เพราะต่อให้คนอื่นมองเห็นและถูกจับได้ ก็ยังเอาตัวรอดมาได้เสมอ และนั่นทำให้นิยายจากศตวรรษที่ 19 นี้ อ่านได้เมามันแบบไม่ตกยุคเลย

Fact Box

บุรุษล่องหน ฉบับภาษาไทย แปลโดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล ตีพิมพ์ในปี 2558 โดยสำนักหนังสือไต้ฝุ่น

Tags: , , ,