การเดินทางของหนังสือบางเล่มก็ละม้ายชะตากรรมของมนุษย์ นับตั้งแต่การถูกปฏิเสธจากใครบางคน จากงานบางงาน หรือแม้กระทั่งจากสังคมบางแห่ง

แน่ล่ะ มันย่อมเป็นความเจ็บปวด เป็นบาดแผล

แต่ในแง่หนึ่งก็คล้ายว่าชะตากรรมแค่คัดกรองให้ ว่านั่นยังไม่ใช่ใครบางคน งานสักอย่าง และที่สักแห่งที่แท้จริงของชีวิต

ลองนึกถึงการเดินทางของหนังสืออย่าง Dubliners ของ เจมส์ จอยซ์ กว่าจะได้รับการตีพิมพ์ต้องใช้เวลายาวนานขนาดไหน ถึงขนาดมีบางจังหวะที่แทบจะขึ้นแท่นพิมพ์อยู่แล้ว เพียงแต่เรียงเรื่องผิดจากเจตจำนงของคนเขียน การพิมพ์ก็ถูกยกเลิก หรือแม้แต่ Ulysses ผลงานชิ้นเอกอุลือลั่นของเขา สุดท้ายก็ต้องอาศัยร้านหนังสืออิสระในกรุงปารีส นาม Shakespeare and Company เป็นผู้พิมพ์ให้ ก่อนที่โลกจะขานรับอย่างกึกก้องและส่งแรงสะเทือนมาถึงทุกวันนี้

แล้วลองเหลียวแลดูชะตากรรมของบุคคลในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติบ้าง กับการเดินทางออกตามหาดินแดนที่พระเจ้าสัญญาของคนอย่างโมเสส หรือแม้แต่ที่ถูกจำลองลงในรูปของตัวละครอันตรึงใจอย่างซานติอาโกใน ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน หรือ เจ้าชายน้อย ของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี

ใกล้เข้ามากว่านั้น ลองย้อนมองชีวิตของตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัว แล้วเพ่งพินิจดูว่า มีบ้างไหม กว่าที่เราจะพบคนที่ใช่ งานสักอย่าง หรือว่าที่สักแห่งที่เหมาะเจาะลงตัวกับเรามากที่สุด

และไม่ว่าจะพบหรือไม่พบ แต่ผมเชื่อลึกๆ ว่า คนเราเกิดมามีชีวิตก็เพื่อจะตามหา ‘บ้าน’ ที่แท้จริงของชีวิตในมิติต่างๆ ซึ่งเราเรียกสิ่งนั้นว่าความฝัน เหมือนอย่างที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เขียนสะท้อนเรื่องนี้ไว้ได้อย่างตรงประเด็นและลึกซึ้งที่สุดในข้อเขียนชื่อ มหาวิทยาลัยชีวิต ว่า “คนเราน่าจะมีที่สักแห่งและงานสักอย่างที่เขารักและมีความสุขกับมัน”

งานเขียนชุด บ้านที่กลับไม่ได้ นี้ก็เช่นกัน ปรารถนาและความฝันอันแสนถ่อมนี้ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ผู้เขียน เขียนมันขึ้นมาก็เพียงหวังให้มันได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในรูปแบบงานวรรณกรรม (เรื่องสั้น) ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ลึกๆ แล้ว เพราะเขาเห็นว่าเวทีสำหรับงานประเภทนี้เปิดรับกว้างกว่างานประเภทอื่น หรือเพราะเขาอยากให้คนไร้บ้านที่เขาไปพบเจอ และสร้างแรงสั่นสะเทือนความรู้สึกและชีวิตของเขาคงอยู่เป็นละครชีวิตอมตะ หรือเพราะว่าเขาอยากท้าทายตัวเอง ด้วยการพัฒนางานมานุษยวิทยาภาคสนามที่เปี่ยมด้วยเลือดเนื้อชีวิตให้เป็นงานวรรณกรรมจริงๆ

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ในยุคนี้ ชื่อของบุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่นำเสนอผลงานวิชาการด้านมานุษยวิทยาออกมาได้อย่างมีรสชาติของวรรณศิลป์ไม่ใช่งานวิชาการหรือรายงานภาคสนามแบบแห้งๆ ผลงานหนังสือของเขาอย่าง โลกของคนไร้บ้าน สายสตรีท และ อยู่กับบาดแผล สามารถยืนยันในสิ่งที่กล่าวได้เป็นอย่างดี

นั่นทำให้เขาส่งงานชุดนี้ไปประกวดในเวทีหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีมาตรฐานระดับประเทศ ในชื่อเล่มที่ใช้ตอนนั้นว่า แววโศกในรอยยิ้ม เป็นเรื่องเล่าชีวิตข้างถนนในมะนิลา และสามารถผ่านเข้ารอบสุดท้าย แม้จะไม่ได้รางวัลชนะเลิศ ก็เหมือนว่าจะถูกพิจารณาให้ได้รับพิมพ์ แต่สุดท้ายก็เงียบ

แต่ก็นั่นแหละ บางทีชีวิตแม้มีเพียงปรารถนาอันน้อยนิดแสนถ่อม แต่บางทีมันก็ยาก ถึงขั้นยากมากกว่าที่ฝันและปรารถนานั้นจะมาบรรจบจริงๆ

ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่า มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งหรือหนังสือเล่มหนึ่ง หรือว่าผลงานหนึ่งใดที่สามารถเป็นตำนานได้ (ไม่ว่าตำนานนั้นจะถูกเล่าขานและเป็นแรงบันดาลใจของกลุ่มคนเล็กๆ ก็ตาม เราก็ไม่อาจประเมินค่ามันต่ำได้) เราจะพบว่าคนๆ นั้นมีความพากเพียรพยายามอย่างมหาศาล

ตอนที่พี่จรัญ มาลัยกุล (เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา หัวหน้าโครงการอ่านสร้างชาติ) คุยกับผมหลังแก้วกาแฟในห้องสมุดมูลนิธิกระจกเงาว่า แกได้อ่านต้นฉบับเรื่องนี้แล้ว และอยากจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม พร้อมขอให้ผมเป็นบรรณาธิการร่วมกับแกนั้น แรกๆ ผมยังลังเล และจำได้ว่าคำถามแรกที่ผมถามพี่จรัญที่ผมเคารพมากคือ

“จะทำให้เป็นงานเขียนประเภทไหน”

“ตามเจตนาของนักเขียนเลย” เป็นคำตอบของพี่จรัญ และนั่นหมายถึง ‘เรื่องสั้น’

เมื่อผมเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่จรัญที่จะพิมพ์ สิ่งแรกที่ผมคิดคืองานแบบนี้ต้องให้คนระดับ ‘พี่เวียง’ – วชิระ บัวสนธ์ แห่งสำนักพิมพ์สามัญชน จัดการ

“คุณอ่านที่อาจารย์แกแก้ใหม่หรือยัง นี่ผมอ่านแล้ว มันโอเคนะ”

พี่จรัญคะยั้นคะยอเมื่อเห็นผมนิ่งเงียบมาสักพัก

ผมได้อ่านต้นฉบับที่อาจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชาส่งไปประกวดแล้ว ในความเห็นของผม ความเข้มข้นของตัวละครและตัวเรื่องน่าจะโดดเด่นที่สุดกว่าบรรดาเรื่องที่ส่งเข้าประกวด แต่เมื่อเงื่อนไขมันคืองานวรรณกรรม (นิยาย/เรื่องสั้น) รายละเอียดตรงนี้แหละ ที่อาจทำให้งานเขียนของเขาไม่ได้รับรางวัล

สำหรับคนที่เขียนหรือคร่ำเคร่งกับงานวรรณกรรมอย่างเข้มข้นมาระดับหนึ่ง ก็จะสามารถมองออกว่าเรื่องไหนที่รูปคำ รูปประโยค หรือโครงสร้างเป็นวรรณกรรมหรือไม่ ผมเห็นว่าอาจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา มีทักษะทางวรรณกรรมในสองเรื่องแรกนั้นค่อนข้างน้อย

ถามว่าผมชอบงานร่างแรก (แววโศกในรอยยิ้ม) ของเขาไหม ผมชอบ คือตอนที่อ่านแล้วย้อนมองคนเขียนและวิธีที่เขียนมันขึ้นมา มันทำให้ผมนึกถึงนักเขียนที่ผมชื่นชอบอย่าง จอร์จ ออร์เวลล์ โดยเฉพาะเรื่อง ความจนกับคนจร ในปารีสและลอนดอน

“เบื้องต้นผมรับปากพี่นะ” ผมบอกกับพี่จรัญ “แต่ผมขออ่านอันที่แก้ใหม่นี้ก่อน ผมถึงจะยืนยันกับพี่ได้”

และเมื่อได้อ่านต้นฉบับใหม่จบ

ผมนึกถึงเรื่องราวของงานเขียนชุดนี้ ที่อาจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชาเล่าให้ฟัง (ก่อนที่ต้นฉบับจะมาถึงมูลนิธิกระจกเงา) เขาเพียรเอาต้นฉบับไปให้คนนั้นคนนี้อ่าน ขอคำแนะนำแล้วก็แก้ไข เสนอต้นฉบับกับสำนักพิมพ์ เมื่อได้คำแนะนำมาก็เอามาขัดเกลาแก้ไข ถึงขนาดไปเข้าเวิร์กช็อปการเขียนวรรณกรรมเพื่อเอามาพัฒนางาน

บางทีปรารถนาของชีวิตอันน้อยนิดและแสนถ่อม ก็ยากมากกว่าจะบรรลุถึง

แต่ต้องยอมรับว่ามีสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งหรือหนังสือเล่มหนึ่ง หรือว่าผลงานหนึ่งใดที่สามารถเป็นตำนานได้ (ไม่ว่าตำนานนั้นจะถูกเล่าขานและเป็นแรงบันดาลใจของกลุ่มคนเล็กๆ ก็ตาม เราก็ไม่อาจประเมินค่ามันต่ำได้) เราจะพบว่าคนๆ นั้นมีความพากเพียรพยายามอย่างมหาศาล

บุญเลิศ วิเศษปรีชาเป็นคนประเภทนั้น

บุญเลิศ วิเศษปรีชาไม่ใช่คนที่มีพรสวรรค์ด้านวรรณกรรม งานชิ้นนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์ อย่างน้อยก็ในเรื่องรูปคำและโครงสร้างประโยค แต่ด้วยความพากเพียรพยายามทำให้เขาไปไกลกว่าจุดเริ่มมาก

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรับรองได้คือ เมื่อคุณอ่านตั้งแต่เรื่องแรกไปจนจบเรื่องสุดท้าย (แน่นอนว่าตัวเรื่องจะดึงคุณอยู่จนรู้สึกว่าอ่านจบเร็วด้วยซ้ำ) แล้วเมื่อคุณถอนตัวออกมามองกลับไปยังภาพรวมของเรื่องราวทั้งหมด คุณจะลืมข้ออ่อนข้อบกพร่องในรายละเอียดที่ผมกล่าว แล้วคุณจะเห็นนาฏกรรมชีวิตอันเป็นสากลของคนไร้บ้าน

และคุณจะยอมรับว่าเรื่องเล่าของบุญเลิศ วิเศษปรีชาสั่นสะเทือนคุณ

สำหรับผม บ้านที่กลับไม่ได้ ได้เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางคือบ้านของมันแล้ว

ภาพ: มูลนิธิกระจกเงา

จริงๆ แล้ว ผมรู้สึกแบบนี้กับหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่พี่จรัญ มาลัยกุลบอกว่าจะพิมพ์มันให้เป็นเล่มปฐมฤกษ์ของสำนักพิมพ์มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทุนที่จัดพิมพ์ก็คือรายได้จากการขายกระดาษที่คนบริจาคสมุดหนังสือที่ใช้การไม่ได้มายังโครงการอ่านสร้างชาตินี่แหละ (ส่วนหนังสือที่ใช้ได้ก็จัดประเภทอย่างดีเพื่อกระจายไปให้กับคนที่อยากอ่านอย่างเหมาะสมกับวัย กับความต้องการตามโรงเรียน หน่วยงานต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) นอกจากนี้ยังเอารายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ให้กับกิจกรรมของมูลนิธิกระจกเงาในส่วนของคนไร้บ้าน

และสิ่งที่ยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้ได้เดินทางมาถึงบ้านที่แท้จริงของมันแล้ว นั่นก็เพราะว่าคนที่เขียนมันขึ้นมานั้นเป็น ‘ของจริง’ ในเรื่องคนไร้บ้าน

และก็จะไม่เป็นเรื่องแปลก ถ้าหนังสือเล่มนี้จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากคนที่มีหัวใจรักความเพื่อนมนุษย์ซึ่งมีอยู่มากมายเหลือเกิน

Fact Box

บ้านที่กลับไม่ได้, บุญเลิศ วิเศษปรีชา เขียน, จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิกระจกเงา , รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดมอบให้ ‘โครงการจ้างวานข้า’ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานคนไร้บ้าน และคนไร้บ้านที่เดือดร้อนเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19

Tags: , ,