นั่งมองต้นไม้นอกหน้าต่าง มองสายลมพัดใบสั่นระริก เสียงชอล์กขูดขีดกระดาน รอเสียงกริ่งเลิกเรียน ชีวิตวัยเรียนหลายคนอาจอืดเอื่อยแบบนั้น แต่บางคนก็อาจมีสีสันขึ้นมาหน่อย หากเป็นหัวโจกทำเรื่องให้ครูปวดหัว อย่างเรื่องราวในหนังสือเด็กชื่อ หนูน้อยนิโกลา หนังสือที่แบ่งเป็นเรื่องเล่าตอนละสั้นๆ แทรกภาพประกอบน่ารักเกือบทุกหน้า

หนูน้อยนิโกลา (ชื่อตามการพิมพ์ครั้งก่อนๆ สะกดว่า ‘นิโคลา’) วรรณกรรมเยาวชนยอดฮิตที่เด็กไทยหลายคนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วได้อ่านจนติดใจ ทั้งตลกและเล่าด้วยมุมมองของเด็กตัวน้อยซึ่งมองไปยังครอบครัว โรงเรียน สังคม และโลก จนเราต้องยอมรับในความเก่งของเรอเน กอสซินนี (René Goscinny) ผู้เขียน ที่สามารถ ‘ถอดสายตา’ ของผู้ใหญ่วัย 20 ปลายๆ ที่ผ่านโลกมามากกว่าออกไปชั่วครู่ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก!) แล้วมองลอดแว่นของเด็กแก่น ดูว่าพวกเขาน่าจะคิดอะไรต่อสถานการณ์ชีวิตประจำวันที่ได้เจอ

ผลลัพธ์คือความตลกแบบอมยิ้มไปจนถึงขั้นฮาก๊าก บนฉากและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งมีฉากหลังเป็นบรรยากาศประเทศฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1950s (หนังสือตีพิมพ์ปี 1959) ห้วงเวลาที่เวลาว่างของเด็กๆ คือการเล่นบอล วิ่งไล่จับ เล่นบทบาทสมมติจากหนัง หรือปั่นจักรยาน โดยมีอุปสรรคสำคัญในชีวิตคือการเรียน

บ่ายวันนี้ ขณะที่ผมเดินไปโรงเรียน ก็บังเอิญเจออัลแซสต์ระหว่างทาง “โดดเรียนกันมั้ย” เขาชวน ผมตอบเขาไปว่าคงไม่ดีหรอก ถ้าเราไม่ไปโรงเรียน ครูจะต้องโกรธแน่ๆ และพ่อของผมเคยบอกว่าถ้าผมอยากประสบความสำเร็จในชีวิตและอยากเป็นนักบินก็ต้องตั้งใจเรียน ส่วนแม่ก็คงไม่สบายใจ อีกอย่างหนึ่ง การโกหกเป็นสิ่งไม่ดีเลย แต่พออัลแซสต์บอกว่าบ่ายนี้ต้องเรียนวิชาเลข ผมก็ตอบตกลงทันที “ได้เลย” แล้วเราทั้งคู่ก็ไม่ไปโรงเรียน (เรื่อง ‘สนุกกันจริง’ หน้า 125)

ถ้าอ่านแบบคนมองโลกในแง่ร้ายก็คงรู้สึกแอบสงสารบรรดาเด็กแก่นเหล่านี้ เพราะเด็กๆ มีบุคลิกหลากหลาย ความสนใจแตกต่าง แต่กลับต้องมาแออัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมห้องเดียวกันใต้การศึกษาในระบบ แล้วฝืนทนทำเรื่องที่ผู้ใหญ่เห็นว่าเหมาะสมอย่างการนั่งนิ่งๆ แล้วตั้งใจเรียน ภายใต้การจับจ้องอันเข้มงวดของครู การออกไปเจอสายลมแสงแดดกลายเป็นสิ่งสงวนไว้ให้กับเวลาว่างนอกจากตารางเรียนในวันนั้น

แต่อ่านไปอ่านมา คนที่น่าสงสารไม่แพ้กันคือครูและพ่อแม่ที่ต้องรับมือกับเด็กๆ เพราะสารพัดกิจกรรมแสนสนุกมักจะเลยเถิดจนควบคุมไม่อยู่ อย่างการต่อยตี ข้าวของพัง หรือเนื้อตัวเลอะเทอะ

ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกเขาเองจะหันกลับมามองด้วยตาใสๆ ด้วยความไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมพวกผู้ใหญ่ต้องเครียดขนาดนั้น แล้วออกไปวิ่งเล่นไล่จับกันต่อ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องสนุกที่ตัวเองทำนั้นเป็นเรื่องน่าปวดหัว

“ตอนนี้ครูเริ่มเบื่อระอากับบรรดาเด็กทโมนอย่างพวกเราแล้ว ครูบอกว่าสงสารพ่อๆ แม่ๆ ของเราเหลือเกินที่ต้องทนเลี้ยงลูกอย่างเรา ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป อนาคตเราคงต้องไปอยู่ในคุกแน่ๆ แล้วคนที่น่าเห็นใจก็หนีไม่พ้นผู้คุมนั่นเอง”  (เรื่อง ‘เจ้าหนูนิ้วโป้ง’ หน้า 106)

แต่ละบทมักจะบรรยายคาแรกเตอร์ตัวละครแต่ละตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับเด็กๆ ที่เพิ่งอ่านหนังสือ จะได้นึกออกว่าชื่อแต่ละคนเป็นใคร) อย่างนิโกลา เด็กเจ้าของเรื่อง ผู้มีความป่วนอยู่พอประมาณ หรือเพื่อนสนิทของเขาอย่างอัลแซสต์ ที่กินอะไรอยู่ตลอดเวลาจนเป็นเรื่อง หรืออาญอง เด็กเนิร์ดที่หนึ่งของห้องและเป็นคนโปรดของครูแต่เพื่อนๆ ไม่ค่อยชอบหน้า และเด็กอื่นๆ อย่างเด็กรวยที่มีไอเท็มหรือเสื้อผ้าเวอร์ๆ มาเล่นกับเพื่อนตลอดเวลา หรือเด็กหลังห้องที่ไม่เคยตอบคำถามอะไรได้ จนหากเจอแจ็กพ็อตโดนเรียกชื่อ เพื่อนๆ ก็เตรียมขำเย้ย

เพราะเราเป็นใครบางคนในเด็กเหล่านี้เสมอ เมื่อนึกย้อนไปสมัยเรียน ความขำนี้จึงเข้าถึงง่าย เพราะนึกได้ถึงหน้าเพื่อนคนหนึ่งที่นั่งอยู่ตรงมุมนั้นในความทรงจำ

แม้ว่าหนังสือจะทำให้เราขำขื่นไปกับระบบการศึกษา การสร้างภาพในโรงเรียน และการตรวจคุณภาพโรงเรียนที่ทำไปอย่างแกนๆ และการเล่นละครตบตากันและกันของผู้ใหญ่มีตำแหน่งอย่างรู้กันดีอยู่ แต่ดูเหมือนเรอเน กอสซินนี ผู้เขียน และฌอง ฌากส์ ซ็องเป้ (Jean-Jacques Sempé) ผู้วาดภาพประกอบ ต่างถ่ายทอดเรื่องเล่าของตัวเองมาด้วยท่าทีสบายๆ และออกจะตลกหน้าตายเสียมากกว่า ประมาณว่า โถ…คุณ อย่าไปคิดมาก เด็กๆ พวกนี้เขายังไม่เครียดกันเลย (อาจจะมีร้องไห้วอแวในบางครั้ง อย่างวันที่ต้องถือใบผลคะแนนสอบไปให้พ่อแม่)

สำหรับใครที่เคยซึ้ง หัวเราะ และอบอุ่นไปกับหนังสือเล่มนี้มาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ข่าวดีคือ หนูน้อยนิโกลา จะกลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งเร็วๆ นี้ โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน แปลโดย อามิกาล ซึ่งเป็นนามแฝงของผู้แปลสองคน คราวนี้ออกมาทีเดียวสามเล่มเลยนะ

Fact Box

  • หนูน้อยนิโกลา แปลจาก Le petit Nicolas ซีรีส์เรื่องเด็กที่จบในตอน เป็นการร่วมมือกันสร้างสรรค์ของเรอเน กอสซินนี และ ฌอง ฌากส์ ซ็องเป้ เริ่มแรกเขียนออกมาเป็นการ์ตูนช่อง แต่ต่อมาซ็องเป้ต้องการวาดเพียงภาพประกอบ เลยกลายเป็นนิยายประกอบภาพ
  • สืบค้นจากฐานข้อมูลหอสมุดแห่งชาติ เคยมีการแปลจากภาษาฝรั่งเศส และตีพิมพ์ในฉบับภาษาไทยมาแล้ว 3 ครั้ง (แต่อาจมีที่ครั้งอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล)
    • หนูน้อยนิโคลา แปลโดย ภิญญศักดิ์ กลิ่นขจาย และวิภา รัตโนดม สำนักพิมพ์ต้นหมาก ปี พ.ศ. 2525
    • หนูน้อยนิโคลา แปลโดย ภิญญศักดิ์ กลิ่นขจาย สำนักพิมพ์สุริยบรรณ ปี พ.ศ. 2529
    • นิโคลากับเพื่อนจอมยุ่ง (น่าจะเป็นเล่ม 2 เพราะแปลจาก Les reeves du petit Nicolas) แปลโดย ภิญญศักดิ์ กลิ่นขจาย โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ปี พ.ศ. 2531

 

Tags: , , ,