“คุณไม่มีทางหาศูนย์รับฝากความเสียใจแห่งนี้เจอ เพราะที่แห่งนี้จะเลือกยอมให้คุณเจอเองต่างหาก” 

ศูนย์รับฝากความเสียใจ ผลงานของนักเขียน ซื่ออี เป็นหนังสือขายดีกว่า 5 แสนเล่มในไต้หวัน โดยเปรียบความเสียใจของคนเป็นเหมือนสายฝนโปรยปราย ในชีวิตคนย่อมมีวันที่ฝนตก หากร่มคันเดียวที่ถืออยู่เกิดรั่วซึม ทั้งตัวคงเปียกปอน 

ศูนย์รับฝากความเสียใจ เป็นเรื่องราวของสถานที่แห่งหนึ่ง ที่จะช่วยส่งจดหมายและสิ่งของกลับไปให้คนในอดีต ที่แห่งนี้เสมือนร้านซ่อมร่ม มีเจ้าหน้าที่รับฝากความเสียใจเป็นเหมือนนักซ่อมร่ม คอยช่วยอุดรูรั่วในใจ เยียวยาความรู้สึก เพื่อที่ต่อไป เราจะได้ไม่เปียกปอนในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจอีก 

ถ้ามีโอกาสได้ชดเชยความเสียใจ คุณอยากจะทำอะไรบ้าง? 

“ปกติแล้วคนที่มาส่งจดหมายกลับไปยังอดีตล้วนแต่มีความเสียใจที่อยากจะแก้ไขหรือชดเชยด้วยกันทั้งนั้น” คนที่เดินทางมาศูนย์รับฝากความเสียใจล้วนกอดเก็บคำว่า ‘สายเกินไป’ ไว้ เรื่องราวสั้นๆ จำนวนห้าเรื่องภายในเล่มนี้เกิดจากความเสียใจเมื่อ 19 ปีก่อน ตั้งแต่ไม่อาจรับสายสุดท้ายจากแฟน สายเกินไปที่กล่าวคำว่าขอโทษและเสียใจต่อคนรัก ยังคงติดค้างคำขอโทษต่อใครบางคน รวมถึงความน่าเสียดายในชีวิตที่ไม่อาจแก้ไขได้แล้ว ในชีวิตนี้เคยได้เห็นด้านข้างของพ่อบ้างไหม หรือแม้แต่เราจะหยุดความเสียใจนี้ได้อย่างไร ศูนย์รับฝากความเสียใจจึงเป็นสถานที่เพื่อปลอบประโลม และเยียวยาความเสียใจเหล่านั้น

จุดเชื่อมต่อที่ซ่อนอยู่ระหว่างบนดินกับใต้ดิน มุมหนึ่งของศูนย์การค้าใต้ดินแห่งสถานีรถไฟไทเปที่คดเคี้ยวเหมือนเขาวงกต ในทุกๆ วันพุธ เวลาพลบค่ำตั้งแต่สิบเจ็ดนาฬิกาไปจนถึงหนึ่งทุ่มตรงซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างกลางวัน กับกลางคืน ‘ศูนย์รับฝากความเสียใจ’ จะปรากฏขึ้นอย่างเงียบเชียบ 

กฎของที่นี่คือ ห้ามส่งจดหมายหรือสิ่งของหาตัวเอง คนที่ส่งถึงจะต้องเคยเจอหน้ากันมาก่อน อีกทั้งไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ หรือบอกว่ามาจากอนาคต ทำได้เพียงเยียวยาหัวใจเท่านั้น และศูนย์รับฝากความเสียใจจะไม่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป มีเพียงผู้แบกรับความเสียใจอยู่เต็มอกเท่านั้น จึงจะมองเห็นมัน 

พลวัตไต้หวันยุค 90s

ไม่เพียงชีวิตของ 5 ครอบครัวที่เราจะได้เห็นผ่านตัวหนังสือเท่านั้น แต่เรายังเห็นพลวัตของไต้หวันยุค 90s ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวแอนิเมชั่นและการ์ตูนญี่ปุ่นแพร่หลายเข้าไปในไต้หวัน การ์ตูนยอดฮิตคงหนีไม่พ้น โดราเอมอน ที่มีชื่อภาษาจีนกลางว่า ‘เสียวติงตัง’ ที่เป็นการ์ตูนเรื่องโปรดของตัวละครในเล่มอย่าง หลี จยาถี จากตอน ‘ข้าวกล่อง’ 

หรือแม้แต้กระแสความนิยมของ วงดนตรีร็อคไต้หวันอย่างเมย์เดย์ (Mayday) ที่ปรากฎอยู่ในเนื้อหาตอน ‘แผ่นซีดี’ ที่แสวงหาความหมายของชีวิต ไล่ล่าความฝันด้วยสิ่งที่มอบพลังให้เขาอย่างวงดนตรีโปรด เพลงของเมย์เดย์ที่สะท้อนภาพความสับสนในชีวิตวัยรุ่นทำให้เด็กชายได้รับการปลอบประโลม เป็นยาที่ใช้ต่อสู้กับเงามืดในใจ และวาดหวังสักวันหนึ่งเขาจะกลายเป็นคนที่สามารถมอบพลังให้คนอื่นได้บ้าง

ตลอดจนพลวัตยุครุ่งเรืองของกระแสอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Cultural Industry) งานศิลปะของไต้หวันได้รับความนิยมในไต้หวัน ดังที่ หลัน โหย่วฉี พบรักกับ จาง ซิ่นจื้อ จากตอน ‘แหวน’ ทั้งคู่พบรักกันในแกลเลอรี่ คนสองคนถูกเชื่อมกันด้วยภาพศิลปะหนึ่งใบ ถักทอสายใยรักด้วยรสนิยมที่คล้ายคลึงกัน จะเห็นได้ว่าตลอดการดำเนินเรื่องของตอนดังกล่าว มีภาพแกลเลอรี่เปิดตัวมากมาย การผลิตเชิงศิลปะ ทั้งพิพิธภัณฑ์จัดแสดง ภาพถ่าย ภาพวาด เซรามิก กล่าวได้ว่ายุค 90s ไต้หวันคือตลาดศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียก็ว่าได้ 

ภาพพลวัตทางสังคมต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่องเล่าเหล่านี้เอง ที่อาจยิ่งทำให้ผู้อ่านชาวไต้หวันรู้สึกกลมกลืนไปกับเรื่องเล่าราวกับได้พลอยพาตัวเองย้อนอดีตไปด้วย ขณะที่ผู้อ่านต่างชาติอย่างไรก็ได้ลองมองภาพเทียบเคียงกับประเทศไทยในยุคนั้น ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน

แด่ความเสียใจที่ไม่เคยสิ้นสุดลงอย่างแท้จริง?

แม้ว่า ศูนย์รับฝากความเสียใจ จะเป็นเรื่องสั้นที่จบในบทเดียว แต่ทุกคนล้วนพันเกี่ยวเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากอุบัติเหตุในวันฝนตก ทุกคนต่างสูญเสียจากอุบัติเหตุ ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องทนต่อความเจ็บปวด แม้แต่ตัวตนเหตุก็อาจจะรอคอยการให้อภัยมาตลอด 

ดังประโยคที่ว่า “จริงๆ แล้วน่ะนะ ไม่มีใครให้อภัยหรือไม่ให้อภัยใครได้หรอก เธอทำได้แค่ให้อภัยตัวเองภายในเวลาที่มีอยู่เท่านั้น เพื่อจะได้ไม่เหลือความเสียใจเอาไว้เท่านี้ก็พอแล้วละ ส่วนเรื่องอื่นก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตาเถอะ” เหมือนกับว่าแท้จริงแล้วความเสียใจจากอดีต มีไว้เพื่อให้เรายิ่งทะนุถนอมปัจจุบัน

ศูนย์รับฝากความเสียใจ ไม่ได้เป็นหนังสือที่ทำให้อ่านแล้วรู้สึกโศกเศร้า แต่กลับเป็นหนังสือที่ช่วยเยียวยาอาการบางอย่าง หลังอ่านแล้วเปี่ยมไปด้วยความสุข ประหนึ่งว่าเราเองก็ได้รับการปลอบประโลมด้วย ดังที่ซื่ออี ผู้แต่งกล่าวว่า หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่าโลกยังคงอ่อนโยน เหมือนถูกโอบกอดไว้ด้วยความรัก และแม้ว่าจะร้องไห้ และหัวเราะ แต่อนาคตคุณสามารถเชื่อมั่นในตัวเองได้อีกครั้ง

อาจกล่าวได้ว่า ตัวละครจากทั้ง 5 เรื่องมีชีวิตไม่ได้แตกต่างจากเรามากนัก เคยล้มเหลว เคยผิดหวัง เคยพลั้งพลาด เคยทะเลาะกับคนในครอบครัวแต่ไม่มีโอกาสได้ขอโทษ เคยทำบางอย่างที่ต้องเก็บมาเสียใจตลอดชีวิต หรือแม้แต่บางคนที่บอกกับตัวเองว่า มูฟออนหรือก้าวไปข้างหน้าแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ ‘มูฟออนเป็นวงกลม’ วนซ้ำจุดเดิมที่เสียใจอยู่เรื่อย จนเมื่อมี ศูนย์รับฝากความเสียใจ มาเป็นหนึ่งในความหวัง ที่จะนำพาเรากลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น อย่างอี้ อวี่ลี่ ตัวละครหนึ่งจากตอน ‘แผ่นซีดี’ ที่ลองส่งจดหมายหาตัวเองในอดีต บอกความลับบางอย่างให้แก่คนในอดีตรับรู้ รวมไปถึงสั่งห้ามตัวเองไม่ให้ทำผิดตั้งแต่แรกเริ่ม 

แม้ท้ายที่สุดสิ่งที่อี้ อวี่ลี่ต้องการทำจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะศูนย์รับฝากความเสียใจไม่สามารถส่งจดหมายหาตัวเองได้ อีกทั้งไม่สามารถแก้ไขอดีตที่ผิดพลาดได้ แต่เมื่ออ่านจนถึงส่วนนี้ เราก็ยังคิดไม่ตกว่า หากเราสามารถแก้ไขอดีตได้ เราจะทำแบบนั้นบ้างไหม … ศูนย์รับฝากความเสียใจ ที่ช่วยเยียวยาความรู้สึก แต่ไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ดูเหมือนจะช่วยตอบคำถามในใจแล้ว เพราะความผิดหวัง ความดื้อรั้นในวัยเยาว์ และความเสียใจที่มีในอดีตนั้นทำให้ชีวิตเราจึงเป็นชีวิตอยู่ทุกวันนี้

และในอีกทางหนึ่ง ความนิยมของหนังสือเล่มนี้ก็ยิ่งทำให้เราพบว่ารคงมีคนที่แบกความเสียใจเอาไว้ไม่ต่างจากเราอยู่ไม่น้อยทีเดียว

Fact Box


ศูนย์รับฝากความเสียใจ

ผู้เขียน : ซื่ออี

ผู้แปล : รักสิริ

สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์ ( amarin books )

Tags: , ,