ในงานประชุมอาเซียนเมื่อสัปดาห์ก่อน มีความเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งแทบไม่เป็นข่าว นั่นคือ การที่รัฐบาลทรัมป์เปิดตัวความริเริ่มใหม่ ด้วยความร่วมมือกับญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยชูจุดขาย ‘ความยั่งยืน’ เกทับโครงข่ายสาธารณูปโภคของจีน
ความริเริ่มใหม่ที่ว่านี้ เรียกว่า Blue Dot Network ชื่อนี้มีแรงบันดาลใจจากชื่อหนังสือ Pale Blue Dot ของนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน คาร์ล ซาแกน ซึ่งพรรณนาว่า โลกดูคล้ายจุดสีฟ้าจางๆ เมื่อมองจากตำแหน่งไกลโพ้นในอวกาศ
ความร่วมมือที่ตั้งใจจะสร้าง global network ดังกล่าว โฆษณาสรรพคุณว่า เงินทุนที่ปล่อยกู้เพื่อสร้างถนน สะพาน สนามบิน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า และอื่นๆ ภายใต้ยี่ห้อ ‘บลูดอท’ จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างกับดักหนี้
พูดอย่างนี้ ถึงแม้ไม่ได้ประกาศตัวท้าชนกับโครงการ One Belt One Road หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีนโดยเปิดเผย แต่ใครๆ ย่อมมองออกในเจตนา
‘มิชลินไกด์’
เหตุที่ความเคลื่อนไหวนี้แทบไม่ปรากฏตามหน้าสื่อ คงเป็นเพราะคนประกาศข่าว ‘ตัวเล็ก’ ไปหน่อย ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนแกะกล่อง ข่าวการเปิดตัว ‘โครงข่ายจุดสีฟ้า’ คงดังกว่านี้มาก
ตัวแทนของทรัมป์ที่ออกมาเผยแนวคิดนี้ระหว่างเข้าร่วมการประชุมอาเซียนในกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (4 พ.ย.) คือ รัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอส โดยพูดบนเวที Indo-Pacific Business Forum ที่สหรัฐฯ เป็นโต้โผจัดงาน
ถ้าถามว่า บลูดอท เน็ตเวิร์ก คืออะไร ตัวแทนอีกคนที่ร่วมคณะมาด้วยกัน คือ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว โรเบิร์ต โอไบรอัน ให้คำอธิบายด้วยการเทียบเคียงกับ ‘มิชลินไกด์’
ในการประกาศความริเริ่มนี้ สหรัฐฯ หยิบจุดอ่อนของหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่ถูกวิจารณ์ว่า โครงการที่จีนปล่อยเงินกู้ให้ประเทศต่างๆ ทำนั้น มักเป็นอภิมหาโปรเจกต์ ทำแล้วเกิดความเสี่ยงว่า ได้คุ้มเสียหรือไม่ ก่อให้เกิดหนี้ล้นพ้นตัวหรือไม่ ทำลายสภาพแวดล้อมหรือเปล่า ขึ้นมาเป็นจุดขาย
บลูดอท เน็ตเวิร์ก มีจุดแตกต่างจากแผนการของจีนอย่างสำคัญตรงที่ว่า โครงข่ายที่นำโดยอเมริกันจะไม่ใช่แหล่งเงินกู้ แต่ทำหน้าที่เสมือน ‘นักชิม’ ที่จะประเมินและให้คำรับรองแก่บรรดาแหล่งทุนว่า โครงการไหนคุ้มค่าแก่การปล่อยกู้บ้าง
หน่วยงานที่ร่วมมือกันภายใต้ความริเริ่มนี้ ในเบื้องต้นมี 3 องค์กรเป็นกลไกหลัก คือ US Overseas Private Investment Corporation (OPIC) ของสหรัฐฯ, Japan Bank for International Cooperation (JBIC) ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) ของออสเตรเลีย
เดวิด โบฮีเจียน รองประธานฝ่ายบริหารของ OPIC ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอเมริกันในตลาดเกิดใหม่ บอกว่า การพัฒนาที่ดีต้องทำแบบเดียวกับแผนการมาร์แชล ที่สหรัฐฯ เคยให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง “ความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ดำเนินการคนละแบบกับแผนการมาร์แชล”
บลูดอท เน็ตเวิร์ก มีเป้าหมายที่จะ “ส่งเสริมการพัฒนาสาธารณูปโภคที่มีความยั่งยืนในทางการเงิน มีความโปร่งใส และสอดคล้องกับสภาพตลาด” ทั้งในเอเชียและทั่วโลก
รอสบอกว่า “จุดสีฟ้าแต่ละจุดหมายถึงจุดบนแผนที่ ซึ่งจะเป็นแหล่งลงทุนอันปลอดภัยหากว่าบริษัทเหล่านั้นสนใจที่จะทำโครงการสาธารณูปโภคที่มีความยั่งยืน”
โอไบรอันบอกว่า หน่วยงานทั้งสามจะร่วมกันออกคำรับรองว่า โครงการไหนมีความน่าลงทุน เมื่อพิจารณาทั้งในแง่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการเคารพสิทธิแรงงาน ตามมาตรฐานสากล
ความคิดริเริ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนใหญ่ที่เรียกว่า Free and Open Indo-Pacific Strategy ที่รัฐบาลทรัมป์จุดพลุไว้ตั้งแต่เมื่อราวกลางปี 2018
สู้จีนได้แน่หรือ
ทำไมทรัมป์ไม่ประกาศแผนบลูดอทด้วยตนเอง นักสังเกตการณ์บางรายอธิบายโดยโยงเข้ากับการเจรจาในสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ว่า ตอนนี้ทรัมป์ไม่อยากเผชิญหน้ากับปักกิ่งนัก เขาต้องการบรรลุข้อตกลงระยะที่หนึ่ง (‘phase one deal’) โดยเร็ว
นั่นเป็นเพราะหลังจากขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมาแล้วหลายระลอก ผลปรากฏว่า ต่างฝ่ายต่างเจ็บ เศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในสหรัฐฯ ในจีน แล้วลามเป็นลูกโซ่ไปทั่ว ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับมาฉุดจีดีพีของสหรัฐฯ เองในท้ายที่สุด
ดังนั้น ทรัมป์อยากลงนามข้อตกลงนี้เต็มแก่ แล้วเลิกราหย่าศึกกันไป จากนั้น เอามาเป็นผลงานประกาศชัยชนะ หยิบไปโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า
ถ้าถามว่า บลูดอทของอเมริกาจะท้าประชันหนึ่งแถบของจีนได้จริงหรือ นักสังเกตการณ์บางรายฟันธงว่า สู้ไม่ได้แน่นอน
เหตุเพราะว่า แผนของสหรัฐฯ นี้ รับหน้าเสื่อเป็นแค่ผู้ประเมินความคุ้มค่าของโครงการ เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุน ในขณะที่จีนเดินหน้าทำโครงการด้วยเงินปล่อยกู้จากจีนเอง ผ่านทางธนาคารและบรรษัทของรัฐบาลจีน ด้วยทุนหลายพันล้านดอลลาร์ฯ
ในทศวรรษหน้า เมื่อกางแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจออกดู เราคงเห็นได้ไม่ยาก เส้นทางสายไหมใหม่ กับเส้นโยงจุดสีฟ้า อย่างไหนแผ่สาขาเป็นเครือข่ายได้กว้างขวางกว่ากัน.
อ้างอิง:
Financial Times, 4 November 2019
ABC News (Australia), 6 November 2019
Nikkei Asian Review, 7 November 2019
ภาพปก: REUTERS/Jason Lee/Illustration
Tags: ออสเตรเลีย, แถบและทาง, Belt and Road, Blue Dot Network, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, จีน