เมื่อสุดสัปดาห์ สหรัฐฯ เพิ่งนำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ ‘อินโด-แปซิฟิก’ แก่ที่ประชุมอาเซียน ชูจุดขายการลงทุนด้านสาธารณูปโภค งานนี้จึงถูกมองได้ว่า สหรัฐอเมริกาก็พยายามช่วงชิงอิทธิพลกับจีนในภูมิภาคนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มอาเซียนที่มีขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปีนี้ สหรัฐฯ พกพาวาระมาผลักดัน 2 ประเด็น นอกจากเรื่องเกาหลีเหนือที่เขาเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคร่วมมือกับสหรัฐฯ กดดันเปียงยางให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์ด้วยการคว่ำบาตรต่อไป ปอมเปโอยังหยิบอีกประเด็นมาสาธยายให้ที่ประชุมฟังด้วย นั่นคือ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เรียกด้วยคำย่อว่า เอฟโอไอพี (FOIP – Free and Open Indo-Pacific strategy)

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เอ่ยถึงแนวคิดนี้หลายครั้งแล้ว แต่ดูจะยังเป็นคำที่มีความหมายหลวมๆ อินโด-แปซิฟิก คืออะไร บางครั้งสื่อรายงานว่าเป็นวิสัยทัศน์ (vision) บางครั้งเรียกว่านโยบาย (policy) บางทีเรียกว่า ความริเริ่ม (initiatives)

แวดวงนักการต่างประเทศมองกันว่า สหรัฐฯ เสนอเรื่องอินโด-แปซิฟิกเพื่อประชันขันแข่งกับจีน เจ้าของไอเดีย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road-OBOR) หรือบางทีเรียกว่า แถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives-BRI) หรือเรียกให้มีสีสันว่า เส้นทางสายไหมใหม่

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นอย่างไร เราพอรับรู้บ้างแล้ว เพราะจีนเริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลายประเทศ สรุปอย่างสั้นที่สุดคือเป็นแนวคิดริเริ่มที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียเข้าด้วยกัน และต่อเชื่อมไปถึงยุโรปกับแอฟริกา ผ่านการทำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เกี่ยวเนื่อง

แต่อินโด-แปซิฟิกคืออะไรกันแน่ และอาเซียนจะขานรับแค่ไหน ยังต้องรอดู

‘เอเชีย-แปซิฟิก’ ชื่อนี้ที่คุ้นเคย

แต่ไหนแต่ไร เราเคยคุ้นกับวลี ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เมื่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเสนอคำว่า ‘อินโด-แปซิฟิก’ นั่นย่อมมีจุดต่าง และแฝงนัยทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างไม่ต้องสงสัย

เจตนาของอินโด-แปซิฟิก ก็คือ การสร้างกรอบความร่วมมือที่แยกจีนออกไปนอกวง

ในโลกที่มีการพึ่งพากันอย่างซับซ้อนเช่นทุกวันนี้ เหล่ามหาอำนาจและพี่เบิ้มทั้งหลายแทรกตัวอยู่ในกลไกระหว่างประเทศนานาชนิด ดำรงสถานะ เล่นบทบาทใหญ่น้อย ต่างกันไปในแต่ละกลุ่มภูมิภาค

ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งกินอาณาบริเวณตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือถึงฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชีย เราคุ้นเคยกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation) มีสมาชิก 19 ประเทศกับ 2 เขตเศรษฐกิจ สมาชิกขาใหญ่ก็คือ สหรัฐฯ กับจีน

สหรัฐฯ กับจีนมีความสัมพันธ์กันในหลายมิติ มีทั้งด้านที่เป็นหุ้นส่วน และด้านที่เป็นคู่แข่งที่เรามองเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ต่างฝ่ายต่างต้องการสร้าง รักษา และขยายอิทธิพลในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่เริ่มต้นยุคของประธานาธิบดีทรัมป์

จีนกำลังผลักดันกรอบความร่วมมือขนาดใหญ่ 2 กรอบ คือ เส้นทางสายไหมใหม่ และกลุ่มอาร์เซป (RCEP-Regional Comprehensive Economic Partnership) มีสมาชิกประกอบด้วยจีน ชาติอาเซียน 10 ประเทศ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

คาดกันว่า อาร์เซปจะสรุปผลการเจรจาจัดทำข้อตกลงได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการรวมกลุ่มนี้จงใจกีดกันสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าร่วม

ถ้าก่อตั้งสำเร็จ อาร์เซพจะเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วงชิงตำแหน่งนี้จากกลุ่มทีพีพี (Trans-Pacific Partnership) ที่สหรัฐฯ ยุคโอบามาเคยผลักดันแบบจงใจไม่เอาจีนเข้าร่วม แต่ทรัมป์ก็นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากทีพีพีเมื่อเดือนมกราคม 2017

ด้วยเหตุที่เอเชียมีจีนยืนตระหง่านเป็นยักษ์ใหญ่ กระแสกีดกันจีนหรือกระทั่งสกัดกั้นจีน ที่เริ่มก่อตัวในภูมิภาค จึงนำไปสู่การคิดค้นแนวคิดใหม่ๆ ที่จะสร้างกรอบความร่วมมือที่เป็นเอกเทศจากแดนมังกร

‘อินโด-แปซิฟิก’ ชื่อนี้มีที่มา

ท่ามกลางกลไกความร่วมมือน้อยใหญ่ในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีจีนนั่งร่วมโต๊ะหรือนั่งหัวโต๊ะอยู่ในหลายเวที พวกพี่เบิ้มในภูมิภาค ตั้งแต่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จนถึงอินเดีย เริ่มตระหนกกับการผงาดของจีน ขณะเดียวกัน เริ่มตระหนักในความเติบโตของอินเดีย และความสำคัญของมหาสมุทรอินเดีย จึงเป็นที่มาของการเสนอแนวคิด ‘อินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งให้น้ำหนักกับแดนภารตะ ครอบคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก จรดชายฝั่งอเมริกา”

คนแรกที่เสนอคำว่า อินโด-แปซิฟิก คือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ ซึ่งเริ่มใช้คำนี้เมื่อปี 2007 ตอนที่เสนอจัดตั้งเวทีหารือความมั่นคงสี่ฝ่าย ที่เรียกกันว่า “ควอด” (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

เวทีดังกล่าวใช้คำนี้เรื่อยมา แต่ไม่ติดตลาด ระยะหลัง ทรัมป์หยิบมาพูดหลายครั้ง แม้เริ่มเป็นที่คุ้นหู แต่ความหมายจริงๆ ยังไม่ชัดเจนนัก จนกระทั่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แจกแจงเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว

ภูมิภาคที่ ‘เสรีและเปิดกว้าง’

ท่าทีหยิกกัดจีนดูจะเก็บงำไม่มิดชิดเท่าไรตอนที่ปอมเปโออธิบายแนวคิดอินโด-แปซิฟิกให้ที่ประชุมของหอการค้าอเมริกันรับฟังเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม

เขาบอกว่า วอชิงตันต้องการเห็นเอเชียที่ “เสรีและเปิดกว้าง” ไม่ถูกครอบงำโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง

“เมื่อเราพูดว่า อินโด-แปซิฟิกที่เสรี หมายความว่า เราต้องการให้ทุกชาติสามารถปกป้องอธิปไตยของตนจากการข่มขู่บังคับโดยประเทศอื่น รวมทั้งหมายความถึงการมีธรรมาภิบาล เพื่อปกป้องสิทธิของพลเมือง” ปอมเปโอกล่าว

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (คนที่ 5 จากซ้าย) ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน (ภาพเมื่อ 4 สิงหาคม 2018 โดย Edgar Su/REUTERS)

“เมื่อเราพูดว่า อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง หมายความว่า เราต้องการให้ทุกชาติเข้าถึงน่านน้ำและน่านฟ้าได้ทุกแห่ง เราต้องการการแก้ไขข้อพิพาทเขตแดนทางบกและทางทะเลโดยสันติ”

ปอมเอโอพูดตบท้ายว่า “ประเทศของเราเคยต่อสู้เพื่อให้เป็นเอกราชจากจักรวรรดิซึ่งคาดหมายให้เราหมอบราบคาบแก้ว เช่นเดียวกับที่พันธมิตรและมิตรประเทศของเราในเอเชียเคยต่อสู้ ดังนั้น เราไม่เคยและจะไม่พยายามครอบงำประเทศอินโด-แปซิฟิก และเราจะต่อต้านประเทศที่ทำเช่นนั้น”

ประโยคซึ่งเป็นวรรคทองของแนวคิดข้างต้น แม้ไม่เอ่ยถึงจีนโดยตรง แต่นักสังเกตการณ์บอกว่า ปอมเปโอวิจารณ์โดยนัยถึงการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และท่าทีแข็งกร้าวของปักกิ่งต่อปมพิพาททะเลจีนใต้

นอกจากให้อธิบายแล้ว เขายังประกาศด้วยว่า สหรัฐฯ จะจัดสรรเงินไว้เป็นจำนวน 113 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อใช้ในกิจกรรมชักชวนให้เอกชนอเมริกันเข้าไปลงทุนในเอเชียในภาคธุรกิจต่างๆ คือ เทคโนโลยีใหม่ พลังงาน และสาธารณูปโภค  

นักสังเกตการณ์บอกว่า เงินแค่ร้อยกว่าล้านของรัฐบาลทรัมป์ เทียบกันไม่ติดกับงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่รัฐบาลจีนตั้งไว้สำหรับเข้าไปลงทุนในเอเชียภายใต้แนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

อย่างไรก็ดี ฝ่ายอเมริกันเน้นว่า อินโด-แปซิฟิกจะดำเนินการโดยภาคเอกชน เงินลงทุนในโครงการต่างๆ จะมาจากเอกชน เป็นการขยายการลงทุนของสหรัฐฯ ในต่างแดน ด้วยเป้าหมายเพิ่มการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ

วันรุ่งขึ้น ออสเตรเลียกับญี่ปุ่นออกโรงหนุนทันที โดยบอกว่าประเทศทั้งสองจะร่วมมือกับสหรัฐฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์นี้

งานนี้ แต่ละประเทศจะมีหน่วยงานหลักเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วย บรรษัทส่งเสริมการลงทุนโพ้นทะเลของภาคเอกชนของสหรัฐฯ กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

นักสังเกตการณ์บอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แคนเบอร์รากับโตเกียวขานรับทันควัน ญี่ปุ่นต้องการกระชับมิตรกับประเทศแถบเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ เพื่อถ่วงดุลกับจีน ส่วนออสเตรเลียนั้นต้องการแสวงหาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดีย

ท่าทีของอาเซียน

อาเซียนตระเตรียมจุดยืนเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิกไว้แล้ว ใจความสำคัญคือ ขอพูดคุยซักถามให้กระจ่างเสียก่อนว่า อินโด-แปซิฟิกหมายถึงอะไร

ถึงแม้ยังไม่รู้ชัดในความหมาย แต่ร่างถ้อยแถลงซึ่งจัดทำโดยอินโดนีเซียย้ำท่าทีของอาเซียนว่า ไม่ว่ากลไกอะไรก็ตามในย่านนี้ อาเซียนต้องเป็นศูนย์กลาง หรือที่พูดเป็นสำนวนว่า อาเซียนต้องเป็นคนขับ ไม่ใช่ผู้โดยสาร

หลักในเรื่อง ความเป็นศูนย์กลางของสารพัดกลไกแบบหลายฝ่ายในภูมิภาค ไม่ว่าเวทีความมั่นคง (ASEAN Regional Forum)  อีสต์เอเชียซัมมิต อาเซียนบวกสาม อาเซียนบวกหก แทบเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมของอาเซียนไปแล้ว ดังนั้น ถ้ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกคาดหวังการตอบรับจากอาเซียน คงต้องยอมรับหลักการที่ว่านี้

สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีไมตรีถี่ห่างกับจีนไม่เท่ากัน ในระยะหลัง ผู้นำฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา ดูจะยกย่องจีนมากกว่าเพื่อน ความข้อนี้จะส่งผลให้ชาติสมาชิกมีน้ำเสียงต่ออินโด-แปซิฟิกผิดแผกกันหรือไม่ ยังต้องรอชม แต่ที่แน่ๆ อาเซียนขานรับการจัดตั้งกลุ่มอาร์เซปแล้วอย่างหนักแน่น แถลงการณ์ร่วมจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่สิงคโปร์เมื่อสุดสัปดาห์ ให้คำมั่นต่อพันธะที่จะทำตามกฎกติกาการค้าของอาร์เซป

“อาร์เซปจะเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงเวลาที่การค้าโลกประสบความไม่แน่นอนสูงขึ้นเรื่อยๆ”

รัฐบาลทรัมป์ซึ่งกำลังก่อศึกการค้ากับจีนได้ฟังอย่างนี้แล้ว คงต้องเร่งขายไอเดีย ‘อินโด-แปซิฟิก’ เป็นการใหญ่

 

อ้างอิง:

บรรยายภาพเปิด: ไมค์ ปอมเปโอ (ภาพเมื่อ 30 กรกฎาคม 2018 โดย NICHOLAS KAMM / AFP)

Tags: , ,