สายแถบและเส้นทาง หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI- Belt and Road Initiative) เป็นคำยอดฮิตในข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนระยะนี้ มีทั้งที่แสดงความกระตือรือร้นต่อยุทธศาสตร์ระดับโลกนี้ของจีน อยากจะผลักดันให้ประเทศไทยร่วมขบวนไปกับเขาด้วย และที่แสดงความกังวลถึงขั้นว่า จีนกำลังคิดการใหญ่ แผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านการขุดหลุมพรางแห่งหนี้สินให้ประเทศอื่นต้องถูกมัดมือยอมตามใต้โครงการชื่อสวยหรูดูดี 

ไม่ว่าจะมีความเชื่ออย่างไร จะมองจีนด้วยสายชื่อชื่นชมหรือระแวงภัย เวทีเสวนา The OAR ASEAN Plus Talk ครั้งที่ 2 ได้เชิญนักวิชาการจีนและนักวิชาการไทยมาแสดงความเห็นกับเรื่องดังกล่าว ในประเด็น ‘ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) สู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งเป็นการบรรยายผ่านเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทั่วโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-GDLN) ที่ถ่ายทอดในอีกสามประเทศ ได้แก่ แทนซาเนีย อินโดนีเซีย และจีน

มุมมองของนักวิชาการที่เข้าร่วมเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมอง BRI ในแง่มุมที่ดี ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป พร้อมทั้งขจัดความเข้าใจผิดที่มีต่อ BRI 

อย่างไรก็ตาม ผู้ฟังบางส่วนก็ยังแสดงความกังวลในบางประเด็นหลังจากจบการบรรยาย ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว เพราะธรรมชาติของโครงการ BRI ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์และพื้นที่ของประเทศคู่เจรจา

มอง BRI ผ่านสายตานักวิชาการจีน

ศาสตราจารย์หวัง อี้เหวย (Wang Yiwei) มหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Renmin University of China) ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสหภาพยุโรปศึกษา มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ได้นำเสนอการบรรยายเรื่อง ‘แถบและเส้นทาง (BRI) การเชื่อมต่อร่วมกันของโลก ค้นพบทวีปเก่า พัฒนาทวีปใหม่’

ศาสตราจารย์หวัง ตั้งคำถาม 4 ข้อ เพื่อเป็นพื้นฐานระดับ 101 ของคนที่ไม่รู้จัก BRI ได้แก่ ทำไมต้องเป็นทางสายไหม ทำไมต้องเป็นจีน ทำไมต้องเป็นตอนนี้ และเหตุใด BRI ถึงเป็นเรื่องดีของโลก

เริ่มจากทำไมต้องสร้างเส้นทางสายไหม ศาสตราจารย์หวังอธิบายว่า การเชื่อมโยงนี้สมัยก่อนอาจจะเน้นไปที่เส้นทางรถไฟ เช่นในฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่ปัจจุบันการเชื่อมโยงมีหลายระบบ ได้แก่

  • ระบบโครงกระดูก คือการคมนาคม ได้แก่ ทางหลวง ทางรถไฟ สะพาน อุโมงค์ สนามบิน ท่าเรือ 
  • ระบบเส้นเลือด คือพลังงาน ได้แก่ ท่อขนส่งน้ำมันและแก๊ส กริดไฟฟ้า โรงงานผลิตไฟฟ้า
  • ระบบประสาท คือการสื่อสาร ได้แก่ สายเคเบิลอินเทอร์เน็ต ดาวเทียม ศูนย์ข้อมูล 

ปัจจุบัน การมองแผนที่โลกเปลี่ยนจากการมองเชิงภูมิศาสตร์มาสู่ภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจุบันคือภูมิศาสตร์เชิงฟังก์ชัน ที่ประกอบไปด้วยการเชื่อมโยงหลายรูปแบบ เขายกคำพูดของ Santiago Calatrava ว่า “สิ่งที่เราสร้างวันนี้จะอยู่ยืนยาวนับร้อยๆ ปี” เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมต่อที่จะเกิดใน BRI

การสร้างความเชื่อมโยงร่วมกันผ่าน 5 เสาหลัก ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านการเชื่อมต่อเครื่องมือเครื่องใช้ ด้านการค้าที่ไม่มีข้อกีดขวาง การร่วมผสานโครงสร้างด้านการเงิน และการเชื่อมโยงระดับคนกับคน

ศาสตราจารย์หวัง เน้นย้ำให้เห็นข้อแตกต่างของ BRI กับการแผ่อำนาจของตะวันตกว่า โครงการ BRI มีเจตนาเข้าไปหาผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อผสานเข้ากับนโยบายในพื้นที่นั้นๆ ต่างจากวิถีทางปกติที่นโยบายถูกกำหนดจากมหาอำนาจให้ประเทศอื่นยอมตาม 

เขายกตัวอย่างคำตอบของ แจ็ก หม่า ที่ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์สเปนว่า แม้จะเป็นอีคอมเมิร์สเหมือนกัน อาลีบาบาต่างจากแอมะซอนตรงที่แอมะซอนมุ่งสร้าง ‘จักรวรรดิอีคอมเมิร์ส’ ของตน เพื่อควบคุมยอดขายและการจับจ่ายของผู้คนได้แบบเบ็ดเสร็จ ในขณะที่อาลีบาบามุ่งสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ของการค้าขาย เปิดกว้างและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกคนมากกว่า ตั้งใจกระจายศูนย์รวมไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

ศาสตราจารย์หวังเปรียบเทียบว่า อาลีบาบาก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความตั้งใจของ BRI ซึ่งมีลักษณะเป็นการร่วมมือกันระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ไม่ใช่แนวทางควบคุมโดยตรงอย่างสหรัฐอเมริกา แต่จใช้วิธีสร้างอิทธิพลผ่านการลงทุนในโครงการพัฒนาต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนในประเทศต่างๆ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการสร้างความเชื่อมโยงทั้งคมนาคมและการสื่อสารหลากมิติ

มาที่คำถามที่สอง คือ ทำไมต้องเป็นจีน ศาสตราจารย์หวัง กล่าวว่า หากคุณอยากร่ำรวย ให้สร้างถนน หากอยากรวยขึ้น ให้สร้างทางมอเตอร์เวย์ อยากรวยที่สุด ให้สร้างถนนอินเทอร์เน็ต และถ้าอยากรวยไปด้วยกัน ให้เชื่อมต่อถนนเหล่านี้เข้ากับจีนและโลก ผ่านโครงการแถบและเส้นทาง ถึงขั้นฟันธงว่า การพัฒนาคือกุญแจหลักของการแก้ปัญหาทุกอย่างเขายกจุดเด่นประเทศตนว่า และจีนมีประสบการณ์การพัฒนาคมนาคมและการสื่อสารที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ จีนยังมีจุดแข็งสำคัญที่นำมาใช้กับ BRI ได้แก่ โมเดลรัฐบาลและตลาดของจีน การเงินการคลังที่มั่นคง และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สมบูรณ์และเป็นอิสระ มีบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์จบมาปีละหลายอัตรา และมีวัฒนธรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคน

จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือ จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของ 130 ประเทศทั่วโลก มากกว่าสหรัฐฯ ถึงสองเท่า ทั้งยังมีประสบการณ์การสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ปรากฏผลลัพธ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม และมีเส้นทางการค้าทางทะเลที่ครอบคลุม ลงทุนในท่าเรือต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ในจำนวนท่าเรือ 10 แห่งที่มีเรือคับคั่งที่สุดในโลก 7 แห่งในนั้นอยู่ในประเทศจีน

แม้ใครจะคิดว่าจีนแผ่อิทธิพลด้วยการลงทุนเทเงินลงไป แต่เงินที่นำมาลงทุนใน BRI ไม่ได้มาจากจีนเพียงแหล่งเดียว แต่มาจากทั้งการกู้ยืมธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กองทุนเส้นทางสายไหมซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ซึ่งร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ลักษณะดียวกับธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป

แต่แล้ว ทำไมต้องเป็นตอนนี้ ศาสตราจารย์หวังกล่าวว่า เพราะจีนได้ผ่านประสบการณ์การพัฒนาประเทศตัวเองอย่างก้าวกระโดด จึงพร้อมแล้วที่จะให้คำแนะนำแก่ประเทศอื่นต่อไป และหากประเทศต่างๆ มุ่งสร้างเมืองอัจฉริยะหรือระบบส่งจ่ายพลังงานอัจฉริยะ หัวใจสำคัญก็คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 

ประการที่สอง การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนจากระบบหนึ่งวงจรห่วงโซ่คุณค่า มาสู่สองวงจรห่วงโซ่คุณค่า (Double Loop Value Chain System) ที่จีนกลายเป็นตัวกลางเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของเอเชีย แอฟริกา และยุโรปตะวันออก วงจรที่หนึ่ง เข้ากับสหรัฐฯ ยุโรตะวันตก และญี่ปุ่น วงจรที่สอง (ตามแผนผัง)

สองวงจรห่วงโซ่คุณค่า (Double Loop Value Chain System)

ศาสตราจารย์หวังยังได้ยกเหตุผลสนับสนุนจากหนังสือ Connetography โดย Parag Khana ที่ได้คาดการณ์ว่า จากเดิมที่โลกาภิวัตน์ในแนวทางเก่าๆ เช่นการลดภาษีสินค้านำเข้าหรือการค้าเสรีช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพียง 5% เป็นอย่างมาก แต่โลกาภิวัตน์ใหม่ที่มีโครงข่ายการเชื่อมต่อกันอย่างเหนียวแน่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมโตได้มากถึง 10-15% ส่วนบริษัทแมคคินซีย์ ทำนายอนาคตไว้ว่า BRI จะช่วยมีส่วนถึง 80% ในการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และช่วยเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางอีก 3 พันล้านคนภายในปี 2050 

ศาสตราจารย์หวังกล่าวปิดท้ายว่า ภารกิจของ BRI คือการสร้างความมั่งคั่งให้โลกในยุคหลังวิกฤต โดยนำเสนอผลิตภาพ เทคโนโลยี ทุนสนับสนุน ประสบการณ์ รวมเข้าเป็นแพ็คเกจเพื่อไปนำเสนอประเทศต่างๆ ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือจะทำให้คน 34 ล้านคนสามารถหลุดพ้นจากความยากจน โดย 24.9 ล้านในนั้นเป็นประชากรในประเทศที่ร่วมใน BRI

BRI จะทำให้เกิดการสมดุลในการพัฒนา ต่างจากในอดีตที่มีเพียงแค่ประเทศติดชายฝั่งทะเลเท่านั้นที่ได้พัฒนานำหน้าไปก่อน แต่การเชื่อมโยงหลากมิติจะส่งเสริมให้ประเทศที่อยู่ลึกเข้าไปในทวีปก็ได้ร่วมพัฒนาได้ไปด้วย ภารกิจยิ่งใหญ่ของ BRI ไม่ใช่แค่การแผ่อิทธิพลของจีน แต่มากับพันธกิจ เปลี่ยนจาก ‘โลกาภิวัตน์เฉพาะส่วน’ ไปสู่ ‘โลกาภิวัตน์แบบครอบคลุม’ 

ดีต่อโลก? ดีต่อไทย?

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายความร่วมมือระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์ของจีนในมุมมองกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ภาพที่เห็นเมื่อพูดถึง BRI คือเส้นสองเส้นแบ่งสองสีบนแผนที่โลก คือ เส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 

 

แต่ BRI เป็นมากกว่าเส้นสองเส้น เพราะหากดูแผนที่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะพบว่าแผ่ไปไกลกว่าสองเส้นดังกล่าว และ BRI ไม่ได้มีเพียงเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่รวมทั้งความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและโครงสร้างดิจิทัล

นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จีนต้องเปลี่ยนชื่อโครงการ จาก One Belt, One Road ซึ่งเป็นชื่อที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ชวนให้คิดว่ามีแค่สองเส้น กลายมาเป็น Belt and Road ในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศอื่นสนใจเข้าร่วม แม้ไม่อยู่ในเส้นสองเส้นที่พาดผ่าน 

เราฟังความเห็นที่เชียร์จีนอย่างแข็งขันจากนักวิชาการจีนไปแล้ว ต่อไปนี้คือความน่าสนใจของ BRI ในสายตาของนักวิชาการไทยอย่าง ดร.อาร์ม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น

BRI ในมุมยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ 

ดร. อาร์ม เปิดภาพแผนที่สามก๊กที่มีการแบ่งพื้นที่ประเทศจีนออกเป็นสามแผ่นดิน วรรณกรรมที่ชาวไทยและชาวจีนต่างคุ้นเคยกันดี เกี่ยวกับภาวะที่เอกภาพของอำนาจถูกแบ่งออกเป็นสาม แล้วเปรียบว่าตอนนี้โลกก็เหมือนถูกแบ่งออกเป็นสามก๊กใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และยุโรป ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึงแง่มุมภูมิรัฐศาสตร์ นักวิชาการตะวันตกมักเปรียบ BRI กับแผนมาร์แชลของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าได้รับแรงบันดาลใจมาไม่มากก็น้อย แต่ ดร.อาร์มมองว่าความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ BRI เป็นโครงการที่ยืดหยุ่นในขั้นตอนการทำข้อตกลงรายประเทศมากกว่า สามารถเจรจาต่อรองได้ตามความต้องการของประเทศนั้นๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สมประโยชน์สองฝ่าย และได้เงินทุนมาจากแหล่งทุนหลากหลาย ในขณะที่แผนมาร์แชลของสหรัฐฯ ในยุคนั้น แม้จะลงทุนเพื่อการพัฒนาเหมือนกัน แต่มีการกำหนดรายละเอียดที่ตายตัว เจาะจงรายประเทศ และงบประมาณต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส 

BRI ในฐานะการส่งออกโมเดลทางธุรกิจแบบจีน

อาจารย์อาร์มพาย้อนไปดูแผนที่โลกสมัยอังกฤษสร้างอาณานิคมไปทั่วโลก ชี้ว่าอาณานิคมในอดีตเป็นการควบคุมทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วยกำลังทางทหาร แต่จีนปัจจุบันใช้วิธีสร้างแรงบันดาลใจจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจของตนส่งต่อให้กับประเทศอื่นๆ เช่น ภาพของเสินเจิ้นที่พัฒนาจากทุ่งร้างกลายเป็นซิลิคอนแวลลีย์เวอร์ชันจีน ซึ่งสามปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างน่าอัศจรรย์นี้ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน เมือง และการเชื่อมต่อ 

จากแผนที่จีน เราจะเห็นกลุ่มก้อนของเมืองใหญ่กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศ (economic clusters) เช่น กลุ่มเมือง Jing-Jin-Ji กลุ่มเมืองลุ่มแม่น้ำแยงซี ฯลฯ เมื่อจีนตัดสินใจสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงเมืองเหล่านี้ ก็สามารถนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภค แทนที่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกอย่างในอดีต กระตุ้นให้ผู้คนในเมืองใหญ่เหล่านี้ได้ถ่ายเทถ่านทอดสินค้าและการสื่อสารระหว่างกัน จะเห็นได้ว่าคมนาคมมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรฐกิจจีน

สำหรับคำครหาว่าจีนจงใจไปลงทุนให้กู้ยืมเพื่อสร้างกับดักหนี้ให้ประเทศคู่เจรจา ดร.อาร์มมองว่าควรดูเป็นรายกรณีไป เช่น บริบทของประเทศนั้นๆ มีความสามารถหรือความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง เพราะจีนเองก็คงไม่อยากลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับ BRI ในภาพรวม

BRI ในฐานะยุทธศาสตร์ภายในประเทศจีน

เหตุผลที่สาม น่าจะเป็นเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาภายในประเทศ เพราะหลังจากการขับเคี่ยวพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอัตราเร็วสูง ในที่สุดจีนก็มีความสามารถและศักยภาพในการผลิตล้นเกินจนต้องระบายออกมานอกประเทศ 

ความล้นเกินที่ว่านี้ มาจากทั้งจากอุปสงค์ของโลกที่มีต่อสินค้าจีนลดลงอย่างมาก และวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ที่จีนต้องเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาเศรษฐกิจในประเทศเอาไว้ ความสามารถและศักยภาพที่ผลิตออกมาจนเหลือล้นในประเทศนี้ สามารถระบายออกมาให้กับประเทศคู่ค้าใน BRI ซึ่งยัง ‘ขาดแคลน’ ได้ 

การส่งออกนี้ไม่ได้จำกัดเพียงการส่งออกวัสดุอย่างสมัยก่อน แต่รวมทั้งส่งออกความสามารถของบุคลากรและความเชี่ยวชาญของจีน เพิ่มโอกาสสร้างคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในเมืองใหญ่ของประเทศอื่นๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจเมืองชายแดนของจีนให้ไปรวมกลุ่มกับคลัสเตอร์ใหม่หรือกลุ่มเมืองใหม่นี้ได้ด้วย

BRI จะยิ่งสำคัญท่ามกลางสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน

เมื่อเราเห็นสงครามการค้าดุเดือด อาจมองว่าจีนเจ็บหนัก และอิทธิพลที่มีคงลดถอยลง แต่ ดร.อาร์มมองเห็นภาพตรงกันข้าม คือเห็นว่า ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสหรัฐฯ และนโยบายคุ้มครองตัวเองของมหาอำนาจที่กระทบประเทศอื่นๆ ไปทั่ว มีแต่จะทำให้ประเทศอื่นสูญเสียความเชื่อมั่น กดดันให้ประเทศเหล่านี้ต้องตัดสินใจมาร่วมโต๊ะกันเพื่อออกแบบระบบห่วงโซ่อุปทานโลกแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อให้เป็นอิสระจากทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานนี้ BRI ก็เข้ามาได้จังหวะ ตอบโจทย์ภารกิจนี้พอดี 

ก่อนจะจบงาน ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายจากประเทศต่างๆ ได้ตั้งคำถามแสดงความกังวลต่อการเข้าร่วม BRI เช่น ผู้ฟังจากอินโดนีเซียตั้งคำถามว่า หากประเทศใดก็ตามตัดสินใจเข้าร่วม BRI แล้วสุดท้ายต้องติดกับดักหนี้ ประเทศนั้นควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อหลุดจากปัญหาดังกล่าว หรือข้อตกลงที่รัฐบาลประเทศนั้นทำกับจีนจะเป็นโครงการที่ยั่งยืนแน่หรือ 

อีกประเด็นหนึ่งจากผู้ฟังไทยก็คือ หากปล่อยให้ประเทศต่างๆ ตกลงกับจีนได้อย่างเป็นเอกเทศ ความเหนียวแน่นในอาเซียนหรือผลประโยชน์ที่ตั้งไว้ร่วมกันจะได้รับการคุ้มครองไหม เป็นต้น ซึ่ง ดร. อาร์ม ให้ความเห็นเพียงว่า คงต้องดูตามบริบทและข้อตกลงแต่ละฉบับไป เพราะอย่างที่บอกว่า BRI มีวิถีการเจรจาต่อรองที่ยืดหยุ่นและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ก็เป็นข้อสังเกตที่ดีและเป็นข้อควรระวังสำหรับกระบวนการทำข้อตกลงและศึกษาข้อมูลต่อไป

Fact Box

โครงการแถบและเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) คือยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับโลกที่รัฐบาลจีนเชิญชวนในรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมมือกันในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่และการลงทุน ครอบคลุม 68 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเกี่ยวพันกับประชากร 65% ทั่วโลก หรือมีมูลค่าคิดเป็น 40% ของจีดีพีทั่วโลกในปี 2017

Tags: , , , , ,