วันนี้ (30 กันยายน 2564) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดสัมนาทางวิชาการประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ หรือ BOT Symposium 2021 ภายใต้หัวข้อ สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย’ (Building a Resilient Thailand)  เพื่ออธิบายถึงองค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยในโลกยุคใหม่ อาทิ เงินโลกอนาคต: การพัฒนาเงินดิจิทัลของไทย, คนรุ่นใหม่: การเปลี่ยนผ่านและทางออกประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

ช่วงต้นของการสัมนา เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทย ณ เวลานี้ไว้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงแห่ง ความท้าทายด้วยพิษเศรษฐกิจโควิด -19 รวมถึงยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับบริบทโลก ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด, การเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย, การปรับเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  ซึ่งปัญหาต่างๆดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรงพร้อมซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจ และสังคมไทยที่สะสมมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นแล้วเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง ยั่งยืน ได้ภายใต้ความไม่แน่นอนจำเป็นต้องมี ภูมิคุ้มกันทางการเงิน 

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ระบบเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยมักถูกกล่าวถึง ความยั่งยืนทางการคลัง, ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และความเข้มแข็งของดุลการชำระเงิน ซึ่งถือได้ว่า ประเทศไทยมีมิติเสถียรภาพต่างๆ เหล่านี้ในระดับค่อนข้างดี ทว่าภายใต้เศรษฐกิจมหภาคที่ดูมั่นคงนั้นยังขาด ‘ภูมิคุ้มกันทางการเงิน’ สะท้อนได้ชัดจากการมาของวิกฤตโควิด – 19 ตอกย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมุมมองระบบเสถียรภาพทางการเงินให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม และครอบคลุมปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงปัจจัย ทั้ง 3 ประการ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในยุคที่บริบทโลกมีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือ

 1.ความสามารถในการหลีกเลี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ (Avoid Shock) – เนื่องด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังปราศจากการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอ ยังมีการพึ่งพาต่างชาติสูง เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว เทคโนโลยี รวมถึงแรงงาน  จึงทำให้ประเทศไทยหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมืองโลก และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรง สร้างผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญ

2.ความสามารถในการรับมือกับปัญหา (Withstand Shock) – เศรษฐกิจไทยมีขีดความสามารถในการรับมือต่อปัญหาได้จำกัด และมักขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ข้อ คือ 

2.1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินมากพอให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤต

2.2. ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพของแรงงาน การปรับเปลี่ยนวิถีการตลาดและการผลิตของภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยไม่เอื้อให้สามารถรับมือต่อข้อปัจจัยนี้ได้ ด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง เนื่องด้วยภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ค่อนข้างใหญ่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง หลายครอบครัวยังมีฐานะยากจน แรงงานอิสระไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนตามความเหมาะสม และมีเด็กจบใหม่หางานเพิ่มขึ้นมากในสังคม การออมเงิน หรือกู้ยืมเงินให้เกิดสภาพคล่องในกลุ่มคนเหล่านี้จึงทำได้ยาก แม้แต่การปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีหรือความแตกแยกทางความคิดของสังคมก็เช่นกัน

3.ความสามารถในการฟื้นตัวจากปัญหา (Recover Shock) เมื่อขีดความสามารถในการรับมือต่อปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวจากปัญหาด้วยรายได้ที่ขาดหายจากช่วงวิกฤต ทำให้ครัวเรือนหรือภาคธุรกิจใช้เวลานานกว่าเดิมต่อการฟื้นกลับมาเป็นปกติ ปัจจัยนี้สร้างแผลเป็นให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยรวม อาทิ สินทรัพย์ของธุรกิจและครัวเรือนลดน้อยลง ทักษะของแรงงานขาดหายไป ส่งผลให้เกิดหนี้สินพอกพูนล้นพ้นตัว ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นไปกว่าเดิม เมื่อกลุ่มคนที่ว่าฟื้นตัวได้ยากกว่ากลุ่มอื่นๆ

สุดท้าย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนะถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าจำเป็นต้องนำปัญหาทั้ง 3 ข้อ ในข้างต้นมาเร่งวิเคราะห์ปรับปรุงแก้ไข จะต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้และวิเคราะห์ภาพสถานการณ์หากต้องประสบกับวิกฤตปัญหานั้นๆ แม้จะเป็นปัญหาเล็กน้อยก็ตาม โดยทุกภาคส่วนต้องให้ข้อมูลผ่านการอำนวยความสะดวกของภาครัฐด้วยแพลตฟอร์ม หรือเครื่องมืออะไรก็ตาม

พร้อมกันนี้ ยังต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความท้าทายในด้านเทคโนโลยีและสังคมผู้สูงอายุ โจทย์สำคัญของภาครัฐจึงเป็นการออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ภาคครัวเรือน – ภาคธุรกิจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางเดียวกัน และต้องกระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง กระจายความเจริญไปทั่วทุกภูมิภาคผ่านการทำงานของเอกชนเป็นหลัก โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน

 

ภาพ: AFP, ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

 

Tags: , ,