ย้อนไปเมื่อวันพุธที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดงานเสวนาและกิจกรรมเรื่อง สิทธิการอยู่กับ ‘ใจแผ่นดิน’ ผืนป่าแก่งกระจานและการเรียกร้องความยุติธรรมแก่ ‘บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ’ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มพี่น้องชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) รวมทั้งบุคคลทั่วไป บรรยากาศโดยรวมดูคึกคัก และเต็มไปด้วยบทสนทนาของผู้คนภายใต้พื้นที่เล็กๆ ของโรงละครหอศิลป์ โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่บ่ายโมงไปจนถึงราวๆ สองทุ่ม
การหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในการอยู่รวมกันกับป่าของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อเดือนเมษายนปี 2557 นั้น ได้กลายมาเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ที่สนใจประเด็นดังกล่าว นั่นเป็นเพราะว่าการหายตัวไปของบิลลี่นั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายปีที่ผ่านมามีการเรียกร้องและติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ ก็มีการค้นพบหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงการหายตัวของบิลลี่ได้ นั่นก็คือถังน้ำมันที่มีกระดูกมนุษย์อยู่ข้างใน และสังคมไทยก็ยิ่งตื่นตัว (ด้วยความเศร้าปนโกรธแค้น) มากขึ้นไปอีก เมื่อผลการชันสูตรจากดีเอ็นเอพบว่ากระดูกเหล่านั้นเป็นของบิลลี่ผู้หายสาบสูญ กลายเป็นบทสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าเขาได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับด้วยวิธีที่แสนจะโหดเหี้ยม ซึ่งจนถึงขณะนี้คดีของบิลลี่ก็กำลังอยู่ในช่วงการสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อทวงคืนความยุติธรรรมให้กับเขา
ความตายของบิลลี่จึงจุดประเด็นให้สังคมกลับมาทบทวนตั้งคำถามเรื่องการอยู่ร่วมกับป่าของชาวกะเหรี่ยงกันอีกครั้ง นับตั้งแต่กรณีปู่คออี้ (ซึ่งเป็นปู่ของบิลลี่) ที่ถูกเผาบ้านและยุ้งฉางในบริเวณหมู่บ้านบางกลอยบน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อปี 2554 อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งกับนโยบายรัฐ ที่พยายามจะพาชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่อุทยานโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของพวกเขา เหตุการณ์สลดเกิดตามมาในปี 2557 เมื่ออาจารย์ป๊อด ทัศน์กมล ผู้เคลื่อนไหวช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงในแก่งกระจานถูกลอบสังหาร และต่อเนื่องด้วยการหายตัวของบิลลี่ในปีเดียวกัน
ปัญหาคือ คนในสังคมที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ก็อาจจะยังไม่เข้าใจถึงที่มาที่ไปว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น และที่สำคัญไปกว่านั้น สังคมควรจะรับรู้ถึงชีวิตของชาวกะเหรี่ยง และเหตุผลว่าทำไมการผลักพวกเขาออกจากป่าจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายยอมรับไม่ได้ ซึ่งการกล่าวเปิดงานสัมมนาโดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่าการจากไปของบิลลี่นั้นทำให้สังคมเกิดคำถามอะไรบ้าง เช่นเรื่องสิทธิ์ในการอยู่ร่วมกับป่าของพี่น้องชนเผ่า การตั้งคำถามกับนโยบายรัฐที่ย้อนแย้งและไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งเราจะทำอย่างไรได้บ้างในวันที่ปัญหายังคงดำรงอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
คำถามเหล่านี้ล้วนแต่ชวนให้กลับมาคิดหนัก เพราะสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวไม่อาจบรรลุได้ด้วยการเคลื่อนไหวของคนเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจของคนในสังคม คุณเคยจำได้ไหมว่าตัวเองได้ยินประโยค “กะเหรี่ยงเผาป่า” ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? ผมคิดว่าความเชื่อเหล่านี้ยังไม่หายไปจากสังคมไทยเลย ไม่ใช่เพราะว่าเสียงของพวกเขาไม่ดังพอ แต่มันมีเสียงอื่นที่ดังกว่าคอยกลบเกลื่อนสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารต่างหาก
จึงนับเป็นโอกาสดีที่เกิดงานสัมมนาครั้งนี้ เพราะอย่างน้อยก็ได้มีพื้นที่ให้พี่น้องชาวปกาเกอะญอได้ส่งเสียงพวกเขาออกมาสู่สังคมได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าคนเริ่มให้ความสนใจกับกรณีบิลลี่ เริ่มมีการตั้งคำถามถึงความโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับเขาและชาวกะเหรี่ยงคนอื่นๆ ในบ้านบางกลอยบน ภาพของโรงละครที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน ไม่มีที่นั่งเหลือว่างให้คนที่เข้ามาทีหลังอย่างเช่นตัวผมเอง ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งถึงความตื่นตัวของสังคม
คลิปวิดีโอขนาดสั้นที่ปรากฏภาพของบิลลี่ขณะยังมีชีวิตอยู่ ดึงความสนใจจากผมที่กำลังมองหาที่นั่งให้หันไปที่เวที ผมยืนฟังสิ่งที่เขาพูดด้วยภาษาไทยปนสำเนียงพื้นถิ่น บิลลี่เป็นชาวกะเหรี่ยงไม่กี่คนที่สามารถพูดภาษาไทยได้ในระดับดี จึงทำให้เขามีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือและเคลื่อนไหวเรื่องการอยู่ร่วมกับป่าของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ซึ่งนำจุดจบอันน่าเศร้ามาสู่ชีวิต
ในคลิปวิดีโอเราจะเห็นว่าเขาไม่ได้ย่อท้อกับสิ่งที่ตัวเองทำ ยังคงเชื่อมั่นว่าชาวกะเหรี่ยงสมควรได้อยู่กับป่าที่พวกเขาอยู่มาเนิ่นนาน จนวิถีชีวิตไม่สามารถแยกออกจากพื้นที่ป่าได้ ‘พฤ โอ่โดเชา’ ชาวกะเหรี่ยงจาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้บันทึกภาพเหล่านี้ได้พูดไว้ในวิดีโอว่า “มันเหมือนกับว่าเสียงของบิลลี่ในตอนนั้น ก็ยังเหมาะที่จะบอกกับสังคมตอนนี้ ว่าบิลลี่ต้องการอะไร” นอกจากนี้ยังได้ย้อนพาไปดูเหตุการณ์เผาบ้านและยุ้งฉางที่เกิดขึ้นในปี 2554 ที่ทำให้เห็นว่าการทำงานของบิลลี่ที่พยายามช่วยเหลือพี่น้องบ้านบางกลอยบนนั้นมีอะไรบ้าง และเขาคิดเห็นต่อนโยบายคืนผืนป่าของรัฐอย่างไร บิลลี่เข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี และรู้ว่าอุปสรรคในการต่อสู้คืออะไร ดังคำที่เขาพูดต่อไปนี้
“ทางหมู่บ้านผม ดูเหมือนกับว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการอย่างเต็มที่ สู้คนในเมืองไม่ได้ คนในเมืองใช้การที่เขามีความรู้มาบีบพวกเรา พวกเจ้าหน้าที่อุทยาน เขาบีบชาวบ้านให้อพยพลงมาอยู่ข้างล่างเมื่อปี 2539 แล้วเขาบอกว่าจะจัดสรรที่ดินให้เท่านั้น แต่เขาไม่ทำตามที่พูด เช่นที่ดินที่ให้มา ก็ไม่ได้ดูเลยว่าทำกินได้ไหม” นี่คือคำพูดของบิลลี่ที่ผมคิดว่าสำคัญมาก “สิ่งจำเป็นที่สุดคือ ขอเป็นที่ทำกินดีกว่า ถ้ามีที่ทำกินอะไรๆ ก็จะตามมา”
กิจกรรมช่วงต่อมาถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งกิจกรรม ก็คือการเสวนา ‘ร่วมกันเรียกหาความจริงและความยุติธรรมให้แก่คนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ ซึ่งเริ่มต้นด้วยคุณ พฤ โอ่โดเชา ที่มาเล่าถึงประสบการณ์การต่อสู้เรื่องการอยู่ร่วมกับป่าของชาวกะเหรี่ยงตั้งแต่เขาอายุยังน้อย “เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็ก เราอยู่ในป่า เขาบอกว่าเราผิดกฎหมาย เราก็ผิดกฎหมายเพราะเขามีอาวุธ มีคุก มีความรู้ มีกฎหมายอยู่ในมือ เขาจะทำอะไรกับเราก็ได้” เพราะไม่ใช่แค่กะเหรี่ยงแก่งกระจานเท่านั้นที่โดนบีบให้ลงมา แต่รวมไปถึงเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ก็ล้วนแต่เจอปัญหาแบบเดียวกัน คนกะเหรี่ยงไม่รู้กฎหมายจึงเสียเปรียบรัฐทุกทาง
ในด้านของผู้ร่วมเสวนาอีกคนคือ พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ ‘มึนอ’ ภรรยาของบิลลี่ ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองครั้งอยู่ร่วมกับป่า การทำกินในที่ดินที่ไม่ต้องใช้เงิน มีเพียงอุปกรณ์การเกษตรก็อยู่ได้ แต่พอถูกบีบให้ออกจากพื้นที่ก็ลำบากเพราะทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด ส่วนเรื่องบิลลี่ก็ถือว่าหนักสำหรับเธอมากนับตั้งแต่ที่เขาหายตัวไป ลูกมักจะถามว่า “พ่อเขาทำความดี แต่ทำไมตอบแทนความดีด้วยการเอาชีวิตพ่อเขาไป” ซึ่งมึนอก็อยากให้สังคมเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้
เมื่อการเสวนามาถึงจุดนี้ ผมเริ่มมีความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้นในใจ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาผมไม่ได้ติดตามข่าวสารของบิลลี่มากนัก ข้อมูลที่ได้ก็มักจะมาจากคนรอบข้างหรือข่าวบนอินเทอร์เน็ต นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนทั่วไปจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลจากชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานโดยตรง อย่างนี้แล้ว จะเป็นไปได้ไหมที่สังคมจะตื่นตัวกับประเด็นปัญหาดังกล่าวมากกว่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องการเมืองและเรื่องสิทธิที่จะทำกินในพื้นที่ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต ถ้าพูดให้มากกว่านี้ก็คือ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การทำมาหากินไม่ได้จึงหมายความว่าชีวิตของพวกเขาจะกลายเป็นชีวิตที่ยากลำบาก ไม่ต่างอะไรกับการไม่มีชีวิตอยู่เลย
ต่อมาที่วงเสวนา ‘สิทธิคนอยู่กับป่า: มองผ่านการตายของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ’ ที่มีเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาเข้าร่วมเสวนาด้วย ช่วยให้เราเห็นถึงกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่การรับคดีจนถึงตอนที่เจอกระดูกบิลลี่ ว่ามีการดำเนินการอะไรไปบ้าง ในส่วนของวิทยากรคนอื่นๆ ก็พูดเรื่องการต่อสู้ของบิลลี่ที่ให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ และการที่รัฐไทยมองว่าชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่คนไทย ทั้งที่พวกเขามีบัตรประชาชน เป็นความเหลื่อมล้ำที่มองกลุ่มชาติพันธ์ุต่างจากคนในเมือง และการใช้อำนาจรัฐเข้าไปปราบปรามโดยมีผลประโยชน์เรื่องทรัพยากรเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงดนตรี ละครใบ้ และนิทรรศการศิลปะ โดยนิทรรศการ ‘รักจงเจริญ’ เป็นการแสดงผลงานศิลปะของบุคคลทั่วไปที่อยากสื่อสารเรื่องราวของบิลลี่และกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งงานแต่ละชิ้นก็ยังเปิดประมูลเพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปสมทบช่วยเหลือครอบครัวของบิลลี่ในอีกทางหนึ่ง และมีข่าวแว่วมาว่าจะมีนิทรรศการลักษณะเดียวกันที่หอศิลป์กรุงเทพ ในช่วงปลายปีนี้ด้วย อย่างไรก็ลองติดตามกันดูนะครับ
สุดท้ายนี้เราก็ยังคงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไปจนกว่าจะได้บทสรุปที่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ความตายของบิลลี่ แต่เป็นเรื่องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ถ้าคิดดีๆ แล้วนี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพียงแค่เราลองนึกดูว่าถ้าเราไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เราอาจจะโชคดีที่วิถีชีวิตนั้นเป็นคนเมือง ไม่ต้องปลูกข้าวทำสวน เพียงทำงานหาเงินและซื้อปัจจัยที่ต้องการ แต่อย่าลืมว่ายังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่แตกต่างจากเรา เพียงแค่เขาไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทยไม่ได้หมายความว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตในแบบของเขา เพราะในความเห็นของผมไม่มีใครควรถูกขับไล่ออกไปจากแผ่นดินที่พวกเขารักและอาศัยอยู่มาเนิ่นนานหลายชั่วคน
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/cesdcmu.2009 (ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.)
https://www.facebook.com/join.forestbook (forestbook)
Tags: billy porlaje, บิลลี่, แก่งกระจาน, พอละจี รักจงเจริญ, กะเหรี่ยง