“นายกฯ” ฟุ้งจีดีพี” โต 4.7% ชวน “ฝรั่งเศส” ลงทุน
สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาสแรกโต 4.8% สูงสุดรอบ 5 ปี
‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้เป็นขยายตัว 4.5%
ฯลฯ
จีดีพี ดูจะเป็นตัวเลขฮอตฮิตติดพาดหัวข่าวเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ตัวเลขอันแสนทรงพลังนี้ย่นย่อระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนให้กลายเป็นตัวเลขจำนวนเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อย่างเป็นที่แพร่หลาย และหลายครั้ง มักถูกตีความอย่างตรงไปตรงมาว่าการเติบโตของจีดีพี = เศรษฐกิจดี และจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น แต่ความจริงแล้ว การสรุปเช่นนั้นอาจไม่ถูกต้องนัก
จีดีพี มาจากภาษาอังกฤษเต็มๆ ว่า Gross Domestic Products หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หากแปลแบบกำปั้นทุบดินก็จะประมาณว่าผลผลิต (ในรูปแบบสินค้าและบริการ) ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง ส่วนจะพิจารณาว่าประเทศใดประเทศหนึ่งร่ำรวยมากแค่ไหน ก็จะใช้จีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) ซึ่งคำนวณจากการนำตัวเลขจีดีพีนี่แหละมาหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นตัวเลขกลางๆ ที่จะบอกว่าคนในชาตินั้นโดยเฉลี่ยแล้วผลิตสินค้าหรือบริการมูลค่าเท่าไหร่ต่อปี
เมื่อ พ.ศ. 2559 ไทยมีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 5,910 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 10,192 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนประเทศเจริญแล้วอย่างสวีเดน มีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 51,844 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยเจ้าจีดีพีต่อหัวนี่แหละครับ ที่เอามาใช้ตัดสินว่าประเทศใดอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำ-กลาง-สูง และทำให้เหล่าประเทศกำลังพัฒนาต่างตั้งเป้าผลัก % การเติบโตของจีดีพีเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ขึ้นไปมี ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ แบบกลุ่มประเทศรายได้สูงกับเขาบ้าง
ก่อนจะลงลึกเกี่ยวกับจีดีพี ผู้เขียนชวนมาทำความเข้าใจเสียก่อนว่าระบบเศรษฐกิจทำงานอย่างไร
จีดีพีมักถูกตีความอย่างตรงไปตรงมาว่าการเติบโตของจีดีพี = เศรษฐกิจดี แต่ความจริงแล้ว การสรุปเช่นนั้นอาจไม่ถูกต้องนัก
ในชีวิตประจำวันของพนักงานเงินเดือนอย่างผม อาหารกลางวันหนีไม่พ้นข้าวผัดกระเพราหมูสับโปะไข่ดาว หลังจากยื่นธนบัตร 50 บาทให้ป้าแก้ว แม่ค้าและแม่ครัวร้านอาหารตามสั่งเจ้าประจำ แน่นอนครับว่าเงินไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ป้าแก้ว แต่จะสะพัดไปถึงน้าต่ายเจ้าของเขียงหมู ลุงชินพ่อค้าข้าวสาร รวมถึงบริษัทผลิตซอสและเครื่องปรุงต่างๆ และเหล่าบุคคล (รวมถึงนิติบุคคล) เหล่านี้เองก็จะนำเงินไปจับจ่ายซื้อวัตถุดิบจากต้นทางอย่างเกษตรกร และเกษตรกรเหล่านี้เองก็ต้องกินต้องใช้ โดยกลับมาซื้อสินค้าหรือบริการจากตลาด บางครั้ง บุคคลเหล่านั้นอาจมาใช้บริการบริษัทที่ผมเป็นลูกจ้าง ซึ่งจะจ่ายเงินเดือนกลับมาให้ผมอีกที วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด
ยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักมากเท่าไหร่ ตัวเลขจีดีพีก็จะงอกเงยเป็นเงาตามตัว โดยจีดีพีจะวัดเฉพาะ ‘ผลผลิตขั้นสุดท้าย’ คือสินค้าหรือบริการที่ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ในที่นี้คือกระเพราะหมูสับไข่ดาว โดยไม่ได้สนใจว่าป้าแก้วจะซื้อไข่มากี่บาท หรือน้าต่ายจะซื้อหมูมากิโลกรัมละเท่าไหร่ เพื่อป้องกันการนับซ้ำ โดยใช้สมมติฐานว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนเพิ่มทั้งหมดทั้งมวลตลอดห่วงโซ่อุปทานจะสะท้อนอยู่ในตัวเลขสุดท้าย ณ ปลายทาง
จีดีพีประกอบด้วยเครื่องจักร 5 ตัวคือ การบริโภคของเราๆ ท่านๆ (Consumption) การลงทุนจากภาคเอกชน (Investment) ค่าใช้จ่ายของรัฐ (Government Spending) มูลค่าสินค้านำเข้า (Import) และ มูลค่าสินค้าส่งออก (Export) สรุปออกมาเป็นสมการว่า GDP = C + I + G + (Export – Import)
แต่จีดีพีที่เติบโต ก็ใช่ว่าชีวิตเราจะดีขึ้นเสมอไป เพราะหลายครั้งที่สินค้าหรือบริการจะจำหน่ายได้ ก็มาจากการที่เรามีคุณภาพชีวิตแย่ๆ หรือผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ หรือการตัดไม้และล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย
การจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ เป็นตัวเร่งการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันบนท้องถนน ค่ารักษาพยาบาลของโรคที่เกิดจากมลภาวะในอากาศ สารพัดรายได้ที่ข้องเกี่ยวกับอุบัติเหตุ หรือในกรณีที่นายพรานเข้าป่าไปล่าสัตว์หรือตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย แล้วหาทางทำให้ทรัพย์สินเหล่านั้นถูกกฎหมายเพื่อส่งออกเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ หรือจำหน่ายภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะสั้น กรณีที่สร้างผลลบต่อสังคมเหล่านี้ต่างก็ทำให้จีดีพีพุ่งกระฉูด
ยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักมากเท่าไหร่ ตัวเลขจีดีพีก็จะงอกเงยเป็นเงาตามตัว โดยจีดีพีจะวัดเฉพาะ ‘ผลผลิตขั้นสุดท้าย’ คือสินค้าหรือบริการที่ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค
นอกจากนี้ การเติบโตของจีดีพีต่อหัวไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือ ตัวเลขจีดีพีที่เติบโตขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์อาจจะถูกแบ่งสรรปันส่วนให้กับคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย 6 ล้านคนแรกไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็แบ่งๆ กันในหมู่คนไทย 60 ล้านคนที่เหลือ เพราะตัวเลขจีดีพี ไม่ได้แคร์เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างไรก็ดี เหล่าชนชั้นนำที่หมกมุ่นและภูมิใจกับตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มสูงขึ้น มักมีสมมติฐานในใจว่าหากเศรษฐกิจดี รัฐก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะความเป็นอยู่ที่ดีจะ ‘ไหล’ จากนายทุนสู่ชนชั้นแรงงานอัตโนมัติ ตามแนวคิดของทฤษฎีไหลริน (Trickle Down Economic)
อาจารย์พงษ์ธร วราศัย นำเสนอภาพความเหลื่อมล้ำของไทยในงาน ‘เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจสังคมไทย ในวาระ ๑๐๐ ปีอาจารย์ป๋วย’ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้อย่างน่าสนใจ โดยพบว่าปริมาณคนจนในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณดีตามทฤษฎีไหลริน แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีแนวโน้มแย่ลงเกือบสองเท่า พิจารณาจากอัตราส่วนของรายได้ประชากรที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ และประชากรที่ยากจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่าสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มจาก 20.91 เท่าเมื่อ พ.ศ. 2531 เป็น 34.9 เท่าใน พ.ศ. 2556
หากสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ให้ได้ใจความคือ “คนจนและคนรวยต่างก็รวยขึ้น แต่รายได้ของคนรวยเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามาก”
ข้อด้อยของจีดีพีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะตัวเลขดังกล่าวมักถูกนำไปตีความอย่างไม่ถูกต้องนัก มีความพยายามหลายต่อหลายครั้งของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเลขจีดีพีในการเสนอดัชนีชี้วัดที่วัดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ เช่น มาตรวัดสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจ (Measure of Economic Welfare) โดยวิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (William Nordhaus) และเจมส์ โทบิน (James Tobin) ดัชนีสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Index of Sustainable Economic Welfare: ISEW) โดย เฮอร์แมน ดาลี (Herman Daly) และ จอห์น คอบบ์ (John Cobb) ซึ่งต่อมาถูกปรับปรุงเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าอันเที่ยงแท้ (Genuine Progress Indicator: GPI) ดัชนีเหล่านี้จะทำการปรับปรุงตัวเลขจีดีพี หรือจีเอ็นพี (Gross National Product: GNP) โดยหักต้นทุนที่เป็นค่าแทนผลกระทบทางลบต่อสังคมออกไป เช่น ค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศ และความเสื่อมโทรมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
“คนจนและคนรวยต่างก็รวยขึ้น แต่รายได้ของคนรวยเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามาก”
นอกจากดัชนีชี้วัดที่ปรับปรุงจากตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ เราก็มีทางเลือกเป็นดัชนีใหม่เอี่ยมที่เน้นวัดความก้าวหน้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) โดยองค์การสหประชาชาติ ดัชนีโลกมีสุข (Happy Planet Index) โดย New Economics Foundation ในขณะที่บางประเทศก็เลือกที่จะพัฒนาดัชนีชี้วัดของตนเองขึ้นมา เช่น ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของประเทศภูฏาน และดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีส่วนบุคคลของออสเตรเลีย (Wellbeing Index – Australian Unity)
สำหรับในประเทศไทย แม้จะมีเสียงเบาๆ เสนอให้สร้าง ‘ดัชนีทางเลือกแบบไทยๆ’ แต่ก็ยังไม่ได้มีเสียงตอบรับมากนัก โดยเฉพาะรัฐบาลที่ยังคงมั่นคงกับการใช้จีดีพีชี้วัดการพัฒนาอย่างเหนียวแน่น ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามน้อมนำปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ มาปรับใช้ แถมยังระบุว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็น ‘แกนกลาง’ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12
ก็จะไม่ให้สวนทางกันได้อย่างไรล่ะครับ ในเมื่อจีดีพีคือตัวชี้วัดที่ยิ่งใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเติบโตถึงใจมากเท่านั้น ต่างกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่บอกเราว่าควรใช้จ่ายอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล รวมทั้งมีภูมิคุ้มกันในตัว ชวนให้สงสัยว่าประเทศไทยแบบ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ในมุมมองของรัฐบาลชุดปัจจุบันมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่?
เอกสารประกอบการเขียน
- จีดีพี ประวัติศาสตร์เบื้องหลังตัวเลขเปลี่ยนโลก โดย Diane Coyle แปลโดย ฐณฐ จินดานนท์
- เอกสารประกอบการนำเสนอหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กรณีศึกษาประเทศไทย” โดยอาจารย์พงษ์ธร วราศัย ในงาน “เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจสังคมไทย ในวาระ ๑๐๐ ปีอาจารย์ป๋วย” วันที่ 29 ตุลาคม 2558
- ภาวะเศรษฐกิจในประเทศรายไตรมาส สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- Why Trickle Down Economic Works in Theory but Not in Fact
- Genuine Progress Indicator (GPI)
- Beyond GDP: are there better ways to measure well-being?
- Top income shares and inequality: Evidences from Thailand
Fact Box
ตัวเลขจีดีพีทุกประเทศเป็นตัวเลขประมาณการนะครับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีใบเสร็จ เมื่อภาครัฐไม่มีข้อมูลชั้นต้นก็ต้องอาศัยการคาดเดาโดยอาศัยสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ ทำให้ในหน้าประวัติศาสตร์ บางประเทศอาจมีตัวเลขจีดีพีกระโดดเพิ่มขึ้นแบบชั่วข้ามคืน เนื่องจากการเปลี่ยนสมมติฐานหรือนิยามว่าเศรษฐกิจนอกระบบครอบคลุมกิจกรรมใดบ้าง
การคำนวณจีดีพียังไม่รวมถึงกิจกรรมภายในบ้าน เช่น การทำงานบ้าน หรือการเลี้ยงดูบุตรหลาน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สตรีนิยมมองว่าจีดีพีเป็นตัวเลขที่มองข้ามและไม่ให้คุณค่าผู้หญิง แถมบางคนยังแซวแรงๆ ว่า “ถ้าวันหนึ่งคุณแต่งงานกับแม่บ้านที่คุณเคยจ่ายค่าจ้างให้ นั่นเป็นการทำร้ายเศรษฐกิจในประเทศ เพราะจีดีพีจะลดลง”