วันหนึ่งฉันเคยอายุ 16 ปี แต่ไม่ใช่อีกต่อไป ทุกอย่างถึงจุดสิ้นสุดมานานเกินกว่าจะเอามาใส่ใจ แต่ต่อให้หลายอย่างสิ้นสุดลงไป ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกลืม ฉันไม่เคยลืมสัจธรรมที่ว่า “ถ้าเราไม่ข่มเหงคนอื่น เราก็จะต้องเป็นคนที่ถูกข่มเหง” ฉันไม่เคยลืมความเจ็บปวดที่ได้รับในฐานะคนกลุ่มหลัง และฉันไม่เคยลืมคำที่คนคนนั้นประกาศเอาไว้ เพราะมันคือคำที่ทำให้คนทั้งชั้นไม่เอ่ยปากพูดอะไรกับฉันไปอีกเกือบปี 

ในตอนนั้นฉันเคยคิดว่าคนที่แพ้ย่อมต้องปกป้องดูแลตัวเอง ฉันคิดว่าฉันไม่ต้องมีเพื่อนก็อยู่ในโรงเรียนได้ ขอแค่ได้อยู่อย่างสงบ ไม่มีใครข่มเหงรังแกเป็นพอ ในตอนนั้นฉันเป็นอย่างนั้น อาจฟังดูน่าขัน แต่ภาระของเด็กอายุ 16 มันหนักบ่าเกินกว่าจะรับได้ไหว ฉันต้องเข้าชั้นเรียนเฉพาะทางหลังเลิกเรียน ฉันต้องเตรียมตัวสอบเข้าโครงการแลกเปลี่ยน ฉันต้องกลับบ้านไปเขียนเรียงความสมัครเข้าค่ายเตรียมความพร้อม ฉันต้องได้รับเลือกเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ฉันเอาภาระหนักบ่าเหล่านี้มาห่มคลุมความคับแค้นไว้ และอะไรที่เลี่ยงได้ ฉันเลือกที่จะเลี่ยง 

ไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยงต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความพ่ายแพ้ซ้ำสอง และไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องให้ผู้ใหญ่หรือใครคอยประคอง เพราะต่อให้เดินเข้าไปขอร้อง ฉันก็เชื่อใจพวกเขาไม่ได้อยู่ดี

เฉินเนี่ยนอายุมากกว่าฉันปีสองปีในตอนที่ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น มันเริ่มต้นขึ้นด้วยการจากไปอย่างฉับพลันของเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งของเธอในช่วงเตรียมสอบเกาเข่าหรือการสอบเอนทรานซ์ของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีผู้เข้าสอบกว่า 9 ล้านคนในปีนั้น ตามมาด้วยการเปิดเผยสภาพความเป็นอยู่ของเธอที่ไม่น่าอภิรมย์นัก ทั้งจากความยากแค้นของที่บ้าน การที่แม่ของเธอขายแผ่นมาสก์หน้าผิดกฎหมายและมีเจ้าหนี้มากมาย และการที่เธอตกเป็นเป้าหมายหลักในการข่มเหงกันในโรงเรียนของกลุ่มสาวควีนบีฐานะดีกลุ่มหนึ่ง

ไม่นานหลังจากเราได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับเฉินเนี่ยน สถานการณ์เฉพาะหน้าก็พาชายแปลกหน้ารุ่นราวคราวเดียวกันคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตเธอ นักเลงวัยรุ่นคนนั้นมองว่าเธอไร้เดียงสาที่เชื่อว่า “ถึงเราจะอยู่ในที่ที่เลวร้าย เราก็ยังแหงนหน้ามองดวงดาวได้” ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังทำ ‘ทุกอย่าง’ เพื่อช่วยให้เธอไปถึงเป้าหมาย ด้วยไร้เดียงสาเกินกว่าจะรู้ว่าการทำ ‘ทุกอย่าง’ ที่ว่านั้น มันจะไม่มีวันพอ หากเป้าหมายนั้นใหญ่เกินกว่าที่ปัจเจกชนคนหรือสองคนจะรับมือ

เรื่องราวเดินทางเข้าใกล้จุดสิ้นสุดในช่วงโค้งสุดท้ายของการสอบเกาเข่าที่ฝนตกฟ้าถล่มตลอดทั้งสองวัน พร้อมกับการเติบโตของพวกเขาทั้งสอง โดยที่พวกเขาไม่รู้แม้แต่น้อยว่าความเป็นผู้ใหญ่ที่ใครต่อใครพูดถึงกัน มันมีหน้าตาแบบไหน และ ‘วันที่ดีกว่า’ หลังการสอบเกาเข่าที่ผู้ใหญ่ทั้งครูและผู้ปกครองพร่ำพูดพร่ำพรรณากันตลอดทั้งเรื่อง มันมีอยู่จริงไหม และมีไว้สำหรับใครบ้าง

หนังหยิบจับประเด็นสังคมสองประเด็นใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นมัธยมฯ ปลายในประเทศจีนมาเชื่อมโยงกันได้อย่างแนบเนียน นั่นคือเรื่องการกลั่นแกล้ง ข่มเหงทางจิตใจ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายผู้อื่นทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ในระบบและนอกระบบ ในบ้านและนอกบ้าน มาพันเกี่ยวกับเรื่องการสอบเกาเข่าที่การแข่งขัน ความกดดัน และความคาดหวังนั้นสูงยิ่งเช่นเดียวกับในไทยและประเทศอื่นในเอเชียในดีกรีที่ต่างกันไปอย่างที่ทราบกันดี และที่หนังนำเสนอว่า สำหรับสังคมชนชั้นกลางของจีน การได้เข้าปักกิ่งแทบจะเป็นตัวชี้วัดเดียวว่าวัยรุ่นคนนั้น ‘เอาไหน’ หรือไม่ ‘มีประโยชน์’ แค่ไหน และมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากน้อยเพียงใด

ทั้งสองปัญหานำไปสู่ความจริงที่ว่าวัยรุ่นจำนวนมากรวมถึงตัวร้ายในหนังไม่สามารถนิยาม ออกแบบ และเฝ้าสังเกตการณ์การเติบโตของตัวเองได้ แต่คนที่นิยาม ออกแบบ และเฝ้าสังเกตการณ์พวกเขากลับเป็นระบบการศึกษาและสายพานการผลิต โครงสร้างสังคมและการเมือง ระบอบที่จ้องมองพวกเขาผ่านกล้องวงจรปิดและการสะกดรอยตาม และรัฐที่มองว่าพวกเขา ‘โง่’ จึงไม่ควรปล่อยให้เติบโต ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ใหญ่โตโอฬารกว่าตัวพวกเขา การพยายามต่อสู้กับมันเพื่อที่จะปกป้องตัวเองและคนรอบข้างจึงแทบเป็นไปไม่ได้ภายใต้ข้อจำกัดที่พวกเขามี

ทั้งนั้นยังอิหลักอิเหลือยิ่งที่รัฐซึ่งกระสันจะนิยาม ออกแบบ และเฝ้าสังเกตการณ์พวกเขา กลับไม่สามารถทำให้พวกเขามีชีวิตที่สงบสุขและปลอดภัยได้ แต่กลับต้องร้อนรุ่มร้อนรนที่จะตอบแทนบุญคุณของรัฐซึ่งเป็นเพียงฉากหน้า ด้วยการสยบยอมกับมันโดยการทำตัวเป็นเด็กที่ดี นักเรียนที่ดี และประชาชนที่ดีและรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง ผ่านการสอบที่แทบจะทำให้พวกเขามองหาชีวิตในแง่มุมอื่นไม่เจอ เพราะถูกกองหนังสือสูงท่วมหัวบดบังเอาไว้

การมีห้วงเวลาโรแมนติกกับคนที่เรารู้สึกดี ปลอดภัย และเชื่อใจได้เมื่ออยู่ด้วย จึงอาจเป็นเพียงแง่มุมเดียวที่วัยรุ่นอย่างเฉินเนี่ยนมองเห็นนอกเหนือจากการสอบเกาเข่า และด้วยเหตุนั้นเองจึงให้คุณค่ากับมันอย่างมหาศาลอย่างที่หนังขีดเส้นใต้ไว้ในช่วงที่สถานการณ์บีบคั้นหัวใจด้วยพล็อตพอยท์ที่เศร้าสลด การตัดต่อเรียบเรียงที่บดขยี้อารมณ์ และรวมไปถึงฉากจบที่เป็นไปได้ว่าคือภาพสะท้อนความต้องการลึกๆ ของเธอที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง

การสอบเกาเข่าทำให้เด็กวัยรุ่นในหนังกลายเป็นหุ่นยนต์ ความสัมพันธ์กับคนที่พร้อมจะปกป้องเธอจากสงครามภายนอกอย่างเขาและตำรวจหนุ่มที่สอบสวนทั้งสองในตอนท้ายจึงทำให้เธอมีหัวใจ ก่อนจะเรียนรู้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ว่าหัวใจดวงนั้นได้ถูกบดขยี้ไปนานแล้ว

วันหนึ่งฉันเคยอายุ 16 ปี แต่ไม่ใช่อีกต่อไป ฉันเริ่มเรียนรู้ว่าหากเราใช้ชีวิตอยู่ในที่บางที่ การต่อสู้เพื่อปกป้องโลกจากความรุนแรงด้วยมือของคนสองคน ไม่ว่าจะด้วยสันติวิธีหรือการเผชิญหน้า ไม่มีทางเป็นไปได้ สถานที่บางแห่งไม่ได้อนุญาตให้เราทำเช่นนั้น และหากเราทำจะต้องเจอกับผลลัพธ์บางอย่างที่เราและคนรอบข้างไม่อาจรับไหว แต่การไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าในยามที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นมันสั่นสะเทือนชีวิตและจิตวิญญาณของเรา

Tags: