แฟชั่นไอคอนที่มีอิทธิพลต่อผู้คนอาจไม่ใช่มนุษย์จริงๆ แต่เป็นตัวละครมังงะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของ ยาซาว่า ไอ (Yazawa Ai) นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นที่สร้างตัวละครสไตล์จี๊ดๆ เอาไว้มากมาย ลิสต์ของผลงานของ อ.ยาซาว่ามียาวเหยียด แต่ที่คุ้นหน้าคุ้นตานักอ่านชาวไทยที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง นานะ นอกจากนั้นก็ยังมี พาราไดซ์ คิส และ เก็บหัวใจไว้ให้คนข้างบ้าน งานของ อ.ยาซาว่าอยู่ภายใต้ genre ที่เรียกว่า josei manga มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่นตอนปลายจนถึงวัยทำงาน และมีธีมที่เป็นผู้ใหญ่กว่าการ์ตูนแนว shoujo หรือที่ชอบเรียกติดปากว่า ‘การ์ตูนตาหวาน’ นั่นเอง
มังงะของ อ.ยาซาว่าโดดเด่นเรื่องการออกแบบแฟชั่นเป็นอย่างมาก ตัวอาจารย์เองก็เคยเรียนโรงเรียนแฟชั่นด้วย ตัวละครในโลกของยาซาว่ามักจะใช้แฟชั่นเป็นตัวบอกนิสัยและรสนิยมของตัวละคร และยังเป็นมังงะที่ใส่ใจกับสิ่งที่ตัวละครเลือกใส่ในแต่ละตอนอย่างมาก ด้วยความไร้ขอบเขตของมังงะที่เป็นภาพเขียน ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ต้องคำนึงถึงเนื้อผ้าและความเป็นจริงเมื่อสวมใส่ อิสระในการแสดงตัวตนของตัวละครในโลกของ อ.ยาซาว่าจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย สะท้อนภาพแฟชั่นในโตเกียวยุค 90s-00s ได้เป็นอย่างดี
เราขออนุญาตละเรื่องนานะเอาไว้ เพราะแค่นานะทั้งสองคนก็เขียนได้ไม่รู้จบแล้ว วันนี้เราจะมาชวนไปดูแฟชั่นของสาวๆ ตัวเอกของ ยาซาว่า ไอ ในแบบต่างๆ กัน
Tenshi Nanka Ja Nai! (1991-1994) หรือ ฉันไม่ใช่นางฟ้านะ เป็นการ์ตูนแปดเล่มจบของ อ.ยาซาว่าที่หายากมากแล้วตอนนี้ และอาจจะไม่ได้คุ้นตามากเท่าไหร่ เป็นเรื่องของมิโดริ สาว ม.ปลายที่คนในโรงเรียนเรียกว่า ‘แองเจิ้ลซาเอจิม่า’ มิโดริเป็นเด็กร่าเริงสดใสและเป็นที่รักของเพื่อนๆ จนถูกส่งไปเป็นตัวแทนคณะกรรมการนักเรียน และเจอกับ สุโด อากิระ
นี่เป็นการ์ตูนยุค ’90s ที่แท้จริง แฟชั่นของมิโดริดูน่ารักและมีความเป็นวินเทจ ทั้งทรงผมและเครื่องประดับ เธอเป็นตัวละครที่สนุกกับการเปลี่ยนทรงผมเอามากๆ และแม้เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะใส่ชุดนักเรียน แต่แฟชั่นของมิโดริก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย ดูมีความ ’60s-’70s เหมาะกับพระเอกอากิระที่มีลุคแบบเทดดี้บอยส์และซิ่งมอเตอร์ไซค์
Gokinjo Monogatari (1995-1997) ชื่อภาษาไทยว่า เก็บหัวใจไว้ให้คนข้างบ้าน เป็นเรื่องของนักเรียนโรงเรียนเฉพาะทางยาซาว่า โดยมีตัวเองคือ โคดะ มิคาโกะ นักเรียนฝีมือดีผู้ตั้งใจว่าจะเป็นดีไซเนอร์ในอนาคตให้ได้ สไตล์ของนักเรียนในเรื่องจะต่างกันไปตามบุคลิกและผลงานที่โดดเด่นในฐานะนักเรียนศิลปะ ส่วนตัวมิคาโกะเองจะมีความเป็นเด็กและความเฟมินีนสูงมาก
จุดที่น่าสนใจคือการแสดงออกที่ไม่เหมือนใครของมิคาโกะ เวลามีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจมักจะแสดงออกด้วยการเปลี่ยนสีผมอย่างดรามาติก เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการก้าวผ่านเรื่องในจิตใจ เทียบได้กับการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกจะตัดผมตอนอกหักก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นผมสีทอง ผมสีชมพู หรือริมฝีปากสีสดที่อวบอิ่มอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลาง struggle ต่างๆ ที่เด็กมัธยมปลายต้องเจอ ไม่ว่าจะเรื่องเพื่อน หัวใจ ครอบครัว และเส้นทางอนาคต เราจะเห็นภาพความยุ่งเหยิงในจิตใจสะท้อนผ่านแฟชั่นในตัวของมิคาโกะได้ตลอดเวลา
พาราไดซ์ คิส Paradise Kiss (1999-2003) เป็นผลงานสั้นๆ ห้าเล่มจบ เรื่องของนางเอกที่ชื่อ ฮายาซากะ ยูคาริ นักเรียนมัธยมปลายผู้ติดอยู่ในวังวนความคาดหวังอันน่าเบื่อ จับพลัดจับผลูมาเป็นนางแบบให้กลุ่มนักเรียนแฟชั่นดีไซน์ นำโดยจอร์จผู้เป็นพระเอก
ที่เราชอบสุดๆ นอกจากการนำเสนอเนื้อเรื่องของเด็กมัธยมได้อย่างมีความเป็นผู้ใหญ่ ก็คือแฟชั่นของยูคาริ ที่ส่วนมากจะออกแบบโดยจอร์จนั่นเอง ความยาวของกระโปรงและรายละเอียดมีความแฟนซีเพ้อๆ ตามสไตล์ส่วนตัวของจอร์จที่ชอบเสื้อผ้าแนวโอต์กูตูร์ ผสมความเฟมินีนแต่ไม่หวานจ๋อย เรียกได้ว่าสวยจนอยากให้มีขายจริง
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วกับเรื่องอื่นๆ ผลตอบรับของ พาราไดซ์ คิส ถือว่าดีมาก เรื่องนี้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารแฟชั่นของญี่ปุ่นชื่อ Zipper และได้ทำเป็นแอนิเมชั่นในปี 2005 มีเพลงจบเป็น ‘Do You Want To’ ของฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ (Franz Ferdinand) ผู้มีสไตล์เปรี้ยวปี๊ด แล้วก็ได้ถูกนำมาสร้างเป็นหนัง live action รับบทนำโดย คิตากาว่า เคย์โกะ นักแสดงสาวผู้หุ่นดีมีสไตล์
ทั้งสามเรื่องที่หยิบยกมานี้ อ.ยาซาว่าได้วางให้ให้อยู่ในจักรวาลเดียวกัน โดยเราจะเห็นตัวละครในทั้งสามเรื่องมีบทบาทส่งถึงกันอยู่เสมอ ในจักรวาลนี้เรื่องของมิโดริเกิดขึ้นก่อน จนมาถึงรุ่นของมิคาโกะก็จะมีการพูดถึงเคนจังเพื่อนสมัยเด็กของมิโดริที่กลายเป็นนักร้องชื่อดัง ที่ดันหน้าตาเหมือนซึโตมุคุง พระเอกของมิคาโกะอย่างกับแกะ
ตัวมิโดริและอากิระเองก็แอบโผล่มาเป็นลูกค้าตอนที่มิคาโกะออกร้านขายของในตลาดด้วย ส่วนในเรื่อง พาราไดซ์ คิส น้องสาวของมิคาโกะนี่เองที่เป็นหนึ่งในทีมแฟชั่นดีไซน์ของจอร์จและกลายมาเป็นเพื่อนสนิทของยูคาริ การผูกกันของตัวละครทำให้ผู้อ่านซึมซับลักษณะนิสัยได้มากขึ้นเมื่ออ่านทั้งหมดด้วยกัน
นิตยสารที่เลือกตีพิมพ์ลงก็มีผลต่อแฟชั่น เช่น Paradise Kiss ลงใน Zipper ซึ่งเป็นแฟชั่นแมกกาซีน แต่ Tenshi และ Gokinjo ลงในนิตยสารการ์ตูนเด็กผู้หญิงชื่อ Ribon ซึ่งไม่ใช่ผู้เสพแฟชั่นโดยตรง เนื้อเรื่องของ Tenshi ก็เลยจะแตะส่วนที่เป็นแฟชั่นน้อยกว่า และในเรื่อง Gokinjo ก็จะมีแฟชั่นที่ผสมความเหนือจริงมากกว่าเช่นกัน
เราอยากหยิบยกเรื่องราวของแฟชั่นที่มีสีสันของมังงะในยุค ’90s ไปผูกกับสตรีตแฟชั่นบนถนนของโตเกียวในยุคเดียวกันนั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดพีคของสตรีตสไตล์ ที่ผสมผสานความเป็นแฟชั่นและสีสันของป็อปคัลเจอร์ญี่ปุ่นเอาไว้อย่างเต็มที่ ซับคัลเจอร์ที่เบ่งบานตามพื้นที่ต่างๆ และเด็กวัยรุ่นที่เลือกใช้เสื้อผ้าแสดงความเป็นอัตลักษณ์ท่ามกลางสังคมญี่ปุ่นในชุดเครื่องแบบที่ดูเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสีสันสดใสแบบ เดโคระ หรือแฟชั่นแบบ โกธิคโลลิต้า รวมทั้งความตื่นตัวของแบรนด์โลคอลต่างๆ ในยุคนั้น
ตัวละครของ อ.ยาซาว่าเองก็เป็นเด็กในยุคที่ว่า เป็นเด็กมัธยมปลายที่โดนกฎของสังคมและเครื่องแบบบีบบังคับเอาไว้ ด้วยการนั้นจึงแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองผ่านเครื่องแต่งกาย อาจจะโดนติเตียนเรื่องความไม่เรียบร้อย หรือโดนกลั่นแกล้งเพราะความไม่เหมือนใคร แต่ตัวละครก็ยังคงใช้การแต่งกายเพื่อแสดงถึงสภาพภายในของตัวเองอยู่เรื่อยๆ
ที่เคยพูดกันว่าอย่าตัดสินหนังสือจากปก จริงๆ แล้วบางครั้ง ตัวหนังสือเองก็มีอิสระในการเลือกปกของตัวเอง บางทีการตัดสินจากภายนอกอาจจะไม่ผิดเท่าไหร่นัก เพราะสิ่งที่เราเลือกจะสวมใส่บนร่างกายเราก็สามารถสะท้อนนิสัย ความสนใจ และความสับสนภายในออกมาได้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน
Tags: Tenshi Nanka Ja Nai!, Gokinjo Monogatari, Paradise Kiss, Fashion, แฟชั่น, การแต่งกาย, การ์ตูน, มังงะ, josei manga, Yazawa Ai