“เราขึ้นรสบัสรอบสุดท้าย จะได้ไม่มีใครเห็นเรา”
นี่คือประโยคขึ้นต้นของนิยายเรื่อง Beside the Sea โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส Véronique Olmi ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูนักอ่านชาวไทยนัก เพราะงานของเธอยังไม่เคยถูกแปลเป็นภาษาไทย และเธอมักจะเขียนบทละครเสียเป็นส่วนใหญ่
Beside the Sea เป็นนวนิยายขนาดสั้น 120 หน้า เล่าเรื่องถึงครอบครัวที่ประกอบไปด้วยแม่กับลูกชายอีกสองคน (5 ขวบ กับ 9 ขวบ) พวกเขาออกเดินทางจากบ้านไปยังเมืองชายทะเลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีฝนตกอยู่ตลอดเวลา เข้าพักในโรงแรมที่ดูวังเวง ห้องแคบๆ และห้องน้ำรวม และเราก็รู้ (หรือพอเดาออก) ตั้งแต่ต้นเลยว่า นี่เป็นการเดินทางที่พวกเขาจะไม่ได้กลับมาบ้านอีก
ใช่ครับ เหตุการณ์สุดสะเทือนใจเกิดขึ้นในบทสุดท้ายเมื่อแม่ตัดสินใจปลิดชีวิตลูกๆ ของเธอด้วยการเอาหมอนปิดหน้าจนขาดอากาศหายใจในห้องที่โรงแรม มาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเกลียดชังผมที่บังอาจเฉลยจุดสำคัญ เพราะเชื่อเถอะครับว่า ต่อให้เรารู้เรื่องราวตอนจบอยู่แล้ว เราก็ยังอ่านนิยายเรื่องนี้ได้อย่างครบรส เพราะคุณค่าของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ความรู้สึกขณะอ่าน ความรู้สึกที่ทำให้เราต้องท้องไส้ปั่นป่วนจนต้องวางหนังสือลง และพักสูดลมหายใจลึกๆ
ความรู้สึกแรกๆ ของผมในขณะที่อ่านนิยายเรื่องนี้ก็คือ ความรำคาญ เหมือนที่ใครสักคนรำคาญแม่เวลาที่บ่นจุกจิก ทั้งๆ ที่เราก็รู้นั่นแหละว่าเป็นห่วงลูก และด้วยความที่นิยายเรื่องนี้ถูกเล่าจากมุมมองของตัวละครที่เป็นแม่ เราจึงรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าสภาวะของการเป็นแม่นั้นส่งผลต่ออารมณ์และความคิดของคนๆ หนึ่งได้อย่างไรบ้าง
ประเด็นหลักของนิยายเรื่องนี้จึงเห็นได้ชัดมาก ว่ามันกำลังพูดถึงความกลัวของคนเป็นแม่ ความวิตกกังวล ความเศร้าซึม กับความโหดร้ายของโลก เหมือนเธอตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าโลกภายนอกนั้นสามารถทำร้ายลูกของเธอได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นจากคนด้วยกันเองหรือจากธรรมชาติก็ตาม มีฉากหนึ่งที่ทั้งสามคนเข้าไปนั่งดื่มเครื่องดื่มในคาเฟ่ แล้วต้องเผชิญกับกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เข้ามาแซวเด็กน้อยทั้งสองคน เราจะเห็นได้ชัดว่าคนเป็นแม่นั้นสติแตกแค่ไหน เธอกลัว กลัวทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว กลัวว่าจะเกิดเรื่องไม่ดี ทั้งที่จริงแล้วมันอาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้
ในขณะที่เรารับรู้ว่าตัวละครแม่ (ที่ไม่มีชื่อ) เป็นห่วงและกังวลเกี่ยวกับลูกทั้งสองของเธอมากแค่ไหน แต่บางช่วงบางตอนเธอก็พร่ำบ่นเกี่ยวกับลูกตัวเองอย่างหนักใจ โดยเฉพาะลูกคนโตที่ชื่อสแตน (9 ขวบ) เพราะเธอมองว่าสแตนมีความเป็นผู้ใหญ่เกินวัย เขามักจะแสดงออกในท่าทีที่ทำให้เธอไม่พอใจนัก เป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด และมักจะเหม่อลอยโดยไร้สาเหตุ ราวกับว่าเขามีโลกอีกใบเป็นของตัวเอง ด้วยความเป็นพี่คนโต จึงทำให้เขาเป็นแบบนั้น ถ้าคิดดีๆ แล้ว สแตนดูแลน้องได้ดีกว่าแม่เสียอีก ส่วนลูกคนเล็ก เควิน (5 ขวบ) กลับแตกต่างจากพี่ชายโดยสิ้นเชิง เขาขี้แย ติดตุ๊กตา โวยวายเมื่อหิวข้าว แต่คนเป็นแม่กลับไม่เคยพูดถึงเควินในแง่ลบเลย เธอยังคงพอใจความเป็นเด็กของลูกคนเล็กมากกว่าความเป็นผู้ใหญ่ของลูกคนโต
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสะเทือนใจไม่แพ้การฆาตกรรมเด็ก ก็คือสภาพการใช้ชีวิตของครอบครัวนี้ แม้ว่าจะไม่มีฉากใดที่เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขา แต่เราก็จะเริ่มเข้าใจขึ้นทีละนิดว่าพวกเขายากลำยากกันพอสมควร อย่างแรกเลยคือไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีฐานะดี เราไม่รู้ว่าคนเป็นแม่ทำงานอะไร แต่เราจะรู้ว่าเธอมีเงินอยู่ไม่มากนัก เพราะเงินที่เธอพกไปนั้นล้วนมีแต่เศษเหรียญที่ใส่เอาไว้ในกระป๋องสังกะสี ที่ต้องเอาออกมานั่งนับเวลาจะซื้อของ ต้องใส่ชุดเดิมซ้ำๆ ตลอดเวลาประมาณสองคืนในโรงแรมแม้ว่ามันจะเปื้อนโคลน และสุดท้ายเงินก็หมดลงจากการพาลูกของเธอไปเที่ยวงานเทศกาลในค่ำคืนก่อนตาย จึงจะเห็นได้ว่า ครอบครัวนี้ไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์นัก ลูกของเธอเกิดจากความไม่ตั้งใจ (เควิน) และเธอก็เลี้ยงพวกเขาด้วยตัวคนเดียวมาโดยตลอด
เราจึงได้เห็นความอ่อนแอของคนเป็นแม่ตลอดทั้งเรื่อง เธอมักจะอุปมาสิ่งต่างๆ ให้ดูเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นทะเล สายฝน บันไดหกชั้นของโรงแรม โคลน ความหนาวเหน็บ และผู้คนที่เธอพบเจอ ความเย็นชาของพวกเขาที่แสดงออกมา ทำให้เธอรู้สึกแปลกแยกกับทุกสิ่งรอบตัว เธอบอกว่าท้องฟ้ามืดและฝนตกตลอดเวลา โรงแรมไร้ผู้คน ทะเลเป็นสีเทา ราวกับว่าโลกของเธอแตกต่างจากคนอื่นโดยสิ้นเชิง แม้แต่ตอนที่อยู่ในงานเทศกาลเธอยังไม่รู้สึกถึงความสนุกสนาน ทำได้เพียงครุ่นคิดถึงชีวิตในวันวานที่แสนรางเลือน และความโสมมของโลกรอบๆ ตัว
ผมยอมรับว่าช่วงแรกของเรื่องนั้นออกจะยืดยาดไปสักนิด แต่พอเข้าสู่ตอนท้ายมันทำให้ผมวางไม่ลง ฉากที่ตัวเอกตัดสินใจจบชีวิตลูกทั้งสองนั้น ผู้เขียนบรรยายออกมาได้อย่างน่ากระอักกระอ่วนใจ ปนเปกับความเศร้าโศกของคนเป็นแม่ที่ต้องฆ่าลูกของตัวเอง บนเตียงนอนที่ถูกสาดไปด้วยแสงจันทร์ แม้แต่ลำดับการฆ่าก็มีนัยสำคัญ เราจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวเอกอย่างหมดเปลือกก็ตอนนี้นี่เอง จุดประสงค์ที่แท้จริงก็น่าเศร้าพอแล้ว ผู้เขียนยังปล่อยหมัดสุดท้ายในตอนจบให้เราน็อคไปอีกหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง ท้องไส้ปั่นป่วน และจุกอยู่ในอก
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตีความว่า ตัวละครแม่ฆ่าลูกของเธอเพราะว่าเธอไม่อยากให้พวกเขาต้องเติบโต เพื่อเผชิญกับโลกที่โหดร้าย เราอาจจะมองว่าเธอทำเกินไป และเลี้ยงลูกไม่เป็น แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เด็กทั้งสองนั้นเป็นเด็กดี ไม่ได้ดื้อรั้นเกินงาม พวกเขาก็เหมือนกับเด็กทั่วไปที่ยังมีความไร้เดียงสา โดยเฉพาะเควินที่อายุยังน้อย แต่สภาพแวดล้อม ความกลัว ความกังวล ที่ทำให้เธอต้องทำแบบนั้นลงไป ภาระอันหนักอึ้งเกินจะรับไหวได้กลายมาเป็นชนวนสำคัญของการฆาตกรรม แต่เราปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเธอรักลูกทั้งสองมากเหลือเกิน
นี่แหละครับ สิ่งที่เห็นชัดที่สุดในนิยายเรื่องนี้คือความรักของแม่ ที่ในทางหนึ่งมันอันตรายเสียยิ่งกว่าโลกภายนอก ถ้ามีคนเปรียบว่าความรักเหมือนกับยาพิษ ก็คงจะจริงในกรณีนี้แหละ เราคงต้องกลับมาถามถึงความเป็นแม่กันเสียใหม่ ว่าแม่มีบทบาทอะไรในชีวิตของลูกบ้าง ซึ่งบทบาทของแม่ในเรื่องนี้ได้ถูกพาไปจนสุดทาง ผมรู้สึกน้ำตาคลอตอนอ่านช่วงที่เธอกำลังจะฆ่าลูก เพราะเธอบรรยายอย่างสุดซึ้งเกี่ยวกับความรักที่มีให้กับแก้วตาดวงใจทั้งสองคน มิหนำซ้ำเธอยังหวังว่าถ้าพวกเขาตายไป จะได้เจอกันและคอยดูแลกันในโลกหลังความตายอีกด้วย
สุดท้าย ผมคิดว่านิยายเรื่องนี้ดีมาก มันท้าทายความรู้สึกและความเชื่อของคน อีกทั้งยังมีความงดงามในด้านการเขียนและการเล่าเรื่อง แต่ผมยังสงสัยอยู่หนึ่งอย่าง ก็คือเพศของคนอ่านมีผลต่อความรู้สึกหรือเปล่า? ถ้าผู้หญิงหรือคนที่เป็นแม่อ่าน ก็อาจจะรู้สึกแตกต่างออกไปก็ได้ ถ้าใครเคยอ่านก็ช่วยแชร์ความเห็นกันหน่อยนะครับ ผมอยากรู้ตรงนี้จริงๆ
Tags: Book Review, Beside the Sea