ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จิตใจของมนุษย์คนหนึ่งจะต้องพบกับความแหลกสลาย ไม่ว่าจะเกิดจากการสูญเสีย หรือเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบภายในจิตใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ยากมากกว่าว่ามนุษย์คนนี้จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับสภาพจิตใจที่แหลกสลายนั้นอย่างไร ทั้งการทนฝืนใช้ชีวิตในแต่ละวัน หรือการยอมฝืนหายใจ เพียงเพื่อให้ร่างกายยังคงมีชีวิตต่อไปได้ เพราะหากจะเลือกการตายเพื่อหลีกหนีบทลงโทษของชีวิต ก็ดูจะเป็นทางออกที่ไม่ถูกต้อง

เราทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อเผชิญกับความเจ็บปวด จะมากหรือจะน้อยก็คงแล้วแต่โชคชะตาจะเล่นตลกหรือให้แต้มต่อกับชีวิตของเรา และคงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเลือกได้ว่าจะไม่ใช้ชีวิตที่ขื่นขม ในเมื่อครั้งหนึ่งรอยร้าวของชีวิตเกิดขึ้นแล้ว ก็คงไม่มีอะไรจะสามารถแก้ไขให้มันกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ และในเมื่อมนุษย์อย่างเรานั้น ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะส่งกลับเข้าไปซ่อมแซมหรือหาอะไหล่มาทดแทนได้ หากข้างในของเราแตกหักหรือแหลกสลาย เราก็คงต้องฝืนทนอยู่กับชีวิตที่ไม่ต่างอะไรกับซากมนุษย์ และไม่มีวันที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ตลอดไป ไม่ต่างอะไรกับ ลี แชนด์เลอร์ (Lee Chandler) ที่มีร่างกายไว้เพียงเพื่อแค่หายใจให้อยู่รอดพ้นไปได้อีกสักหนึ่งวัน

ลี แชนด์เลอร์ (เคซีย์ แอฟเฟลกต์) เป็นชายวัยกลางคนที่ไม่มีใครสนใจถึงการมีตัวตนของเขา เขามีอาชีพเป็นภารโรง และต้องทำหน้าที่ซ่อมแซมอาคารอพาร์ตเมนต์ทั้งหมด 4 หลังด้วยตัวคนเดียว เพื่อแลกกับค่าแรงเพียงเล็กน้อย และห้องพักแคบๆ 1 ห้องเพื่อพักอาศัย และในทุกวันของการทำงานของเขา ก็ไม่มีใครให้ความเคารพในศักดิ์ศรี หรือใส่ใจกับความสำคัญในอาชีพของเขาใดๆ ทั้งนั้น

มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรสักเท่าไร ในเมื่อตัวเขาเองก็ดูเหมือนจะไม่ได้แยแสกับคำว่าศักดิ์ศรีด้วยเช่นกัน ในทุกๆ วันเขาจะทำงานไป เพื่อให้หน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบนั้นจบลง แล้วก็เอาเงินและเวลาที่เหลือไปใช้ดื่มเหล้าจนเมามาย แล้วปิดท้ายด้วยการมีเรื่องชกต่อย ทะเลาะวิวาท เพียงเพื่อระบายความอัดอั้นในอารมณ์

ไม่มีใครรู้ว่าทำไม ลี แชนด์เลอร์ ถึงได้ใช้ชีวิตในแต่ละวันของเขาอย่างไร้ความหมาย จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับข่าวแจ้งการตายของพี่ชายของเขา หรือ โจ แชนด์เลอร์ (ไคล์ แชนด์เลอร์) ทำให้เขาต้องเดินทางกลับไปที่เมืองแมนเชสเตอร์ เมืองบ้านเกิดของเขา ที่เป็นเมืองเล็กๆ ติดทะล อยู่ทางตอนเหนือของรัฐแมสซาชูเซตส์ และที่นั่นก็ได้ซ่อนเรื่องราวอันแสนปวดร้าวในชีวิตของเขาอยู่นอกเหนือจากนี้ เขายังต้องพบกับข้อเรียกร้องที่ไม่คาดคิด เมื่อพี่ชายของเขาได้ทิ้งพินัยกรรมเอาไว้ โดยให้เขาเป็นคนดูแลลูกชายเพียงคนเดียวของพี่ชาย ที่ชื่อว่า แพทริก (ลูคัส เฮดจ์ส) ซึ่งแม้ว่าทั้งแชนด์เลอร์ และแพทริก หลานชายของเขา จะเคยมีความผูกพันกันมาก่อนในสมัยที่แพทริกยังเด็กอยู่ แต่การที่เขาจะต้องมาแบกรับภาระหน้าที่ดูแลหลานไปพร้อมๆ กับการแบกรับความโศกเศร้าจากการสูญเสียภายในเมืองที่เต็มไปด้วยความทรงจำนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขามากๆ

ความเศร้าที่อัดแน่นอยู่ภายในของ ลี แชนด์เลอร์ ถูกถ่ายทอดความซับซ้อนทางอารมณ์ออกมาได้อย่างมีชีวิตโดย เคซีย์ แอฟเฟล็ก ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดารานำชายในปีนี้ บวกกับการเขียนบทและการกำกับของ เคนเน็ท โลเนอร์แกน (Kenneth Lonergan) ที่ใช้วิธีการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยการค่อยๆ เล่าถึงความจริงอันรวดร้าว และความแหลกสลายของอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในตัวละครต่างๆ โดยเฉพาะการเล่าถึงชีวิตของครอบครัวอเมริกันที่แตกแยก ไปพร้อมๆ กับความรู้สึกผิดที่เป็นตราบาปของชีวิต ที่บอกเล่ามาได้อย่างลงตัว

ตัวภาพยนตร์ยังไม่ต้องการเน้นย้ำใดๆ เพื่อจะสร้างความเศร้าไว้ข้างในจิตใจของคนดู หากใช้แค่เพียงแววตาที่เฉยชาต่อการมีชีวิตของ ลี แชนด์เลอร์ ก็สามารถทำให้เข้าใจได้แล้วว่า ตัวละครต้องผ่านความทุกข์ระทมของชีวิตอะไรมามากมายแค่ไหน และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Manchester by the Sea เป็นภาพยนตร์ดราม่า ที่ได้เข้าชิงถึง 6 รางวัลออสการ์ในปีนี้ ที่รวมสาขารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม

แม้ว่าในชีวิตของเราจะมีอะไรๆ หลายอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงและแก้ไขมันได้ ไม่ต่างอะไรกับชื่อเมืองแมนเชสเตอร์ ชื่อที่ไปซ้ำกับเมืองในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ของประเทศสหรัฐอเมริกา จนทำให้ในปี 1989 ชาวบ้านในเมืองนี้ได้ลงมติร่วมกันให้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น Manchester-by-the-Sea เพื่อไม่ให้ผู้คนสับสนหรือเข้าใจผิด

แต่สำหรับชีวิตของมนุษย์แล้วนั้น มันกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเปลี่ยนแปลงเรื่องราวในอดีต หรือสายตาของผู้คนที่มองมาด้วยความไม่เข้าใจ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิต และพยายามทำความเข้าใจกับความโศกเศร้า ไปพร้อมๆ กับการสูดลมหายใจ แล้วทำความคุ้นชินกับมันแค่นั้นเอง

Tags: ,