ใครเคยได้ยินเรื่องของวาฬเบลูกา (Beluga Whale) บ้างครับ? เจ้าวาฬชนิดนี้มีสีขาวปลอดตัวขนาดย่อม (ถ้าเทียบกับวาฬทั่วไป) หน้าตาน่ารักคล้ายจะยิ้มแย้มตลอดเวลาเหมือนโลมา วาฬชนิดนี้มีถิ่นอาศัยอยู่ตามทะเลอันหนาวเหน็บทางทิศเหนือของโลกเท่านั้น แต่ก็เช่นเคย ก็ยังมีคนบ้าบิ่นหลายคน (รวมถึงผมด้วย) ที่ไม่เพียงอยากจะไปเห็นเจ้าวาฬขาวในที่ธรรมชาติ แต่ยังอยากลงไปอยู่ในทะเลเย็นเจี๊ยบถ่ายรูปพวกมันในน้ำให้ทรมานกันเล่นๆ
วาฬเบลูกา เป็นสัตว์ตระกูลวาฬชนิด Monodontidae ซึ่งสัตว์ตระกูลนี้ ในโลกมีเหลือแค่พวกมันและญาติสนิทอย่าง นาร์วาฬ (Narwhal) ที่เป็นปลาแต่มีงาคล้ายเขายูนิคอร์นเท่านั้น
วาฬเบลูกา มีสีขาวสนิท พบแค่ในทะเลบริเวณอาร์กติก (Arctic) และซับอาร์กติก (Subarctic) เท่านั้น พวกมันเป็นสัตว์ที่อยู่เป็นฝูง บางครั้งพบเป็นฝูงหลักร้อยถึงหลักพันตัวกันเลยทีเดียว เจ้าพวกนี้ฉลาดมาก เคยมีเบลูกาบางตัวที่สามารถเลียนวิธีการพูดของคน ทำให้นักดำน้ำเข้าใจผิดหลงเชื่อกันมาแล้ว
ก่อนจะไปพูดถึงความหนาวเหน็บในทะเลกัน คนอยากไปดูเบลูกาในทะเลอย่างผมก็ต้องพิสูจน์ตัวเองรอบแรกด้วยการจองตั๋วเครื่องบินข้ามโลกขึ้นเหนือไปถึงเมืองเชอร์ชิล (Churchill) รัฐแมนิโทบา (Manitoba) ริมอ่าวฮัดสันของประเทศแคนาดา บินไปก็ไม่ได้ยากอะไรมากครับ ผมบินตรงจากเชียงใหม่ ไปยังไทเป ประเทศไต้หวัน แล้วบินข้ามน้ำไปที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา นอนค้างหนึ่งคืน เพื่อจะต่อเครื่องบินไปยังเมืองวินนิเพก (Winnipeg ) เมืองหลวงของรัฐแมนิโทบา และต้องนอนค้างที่วินนิเพกอีกหนึ่งคืน ก่อนที่จะบินไปลงที่เชอร์ชิล รวมระยะเวลาจริงๆ ก็ 3 วันกับ 10 ชั่วโมง
เชอร์ชิล เป็นเมืองเล็กๆ ของแคนาดาที่อยู่ติดกับอ่าวฮัดสัน อยู่ห่างไกลความเจริญอื่นๆ ของแคนาดาอย่างมาก ไกลขนาดที่ว่าไม่มีถนนเชื่อมเมืองนี้จากส่วนอื่นๆ ของแคนาดาเลย เมืองนี้เคยเป็นท่าเรือที่สำคัญที่เปิดทางออกไปยังมหาสมุทรอาร์กติก แต่ปัจจุบันท่าเรือนี้ปิดไปแล้ว
ผมเล่ามาแบบนี้ ก็อาจจะฟังดูเป็นเมืองที่ไม่น่าสนใจอะไรมาก แต่เชอร์ชิลมีชื่อเล่นว่าเป็นเมืองหลวงของหมีขาวขั้วโลก เพราะเป็นเมืองที่มีหมีขั้วโลกเดินเพ่นพ่านจนพบเห็นกันเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับชาวเมืองแล้ว เจ้าหมีพวกนี้ถือเป็นเรื่องน่ารำคาญมากกว่าอย่างอื่น เพราะพวกมันชอบคุ้ยขยะ และทำอันตรายมนุษย์ได้ แต่คุณป้าที่โรงแรมเล่าให้ผมฟังว่า กรณีท้ายที่สุดที่มีหมีขาวทำร้ายคนจนถึงแก่ชีวิตก็เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว คนดวงไม่ดีคนสุดท้ายเป็นคนไร้บ้านที่อาจจะเมาด้วย เดินไม่ระมัดระวัง จึงเสร็จเจ้าหมีเอา ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เมืองนี้จะมีหน่วยส่องหมี และจะไล่หมีออกไปเมื่อมันเข้าใกล้ในเขตเมือง และรถทุกคันในเชอร์ชิล จะไม่ล็อคประตูรถ เผื่อใครดวงไม่ดี เจอหมีขาวไล่จะได้กระโดดซ่อนในรถยนต์ใกล้ๆ ได้ แม้แต่เจ้าหมาที่โรงแรมที่ผมพักก็มีประวัติเคยไล่กัดก้นหมีขาวจนทำหมีวิ่งกระเจิงไปแล้ว เจ้าของบอกว่า หมาพวกนี้ตัวเล็กและไวกว่าหมีมาก
ตอนที่ผมไปถึงเชอร์ชิล เป็นหน้าร้อนพอดี แต่อุณหภูมิก็ไม่ได้ร้อนอะไรมากครับ กลางวันสูงสุดสัก 20 องศาเซลเซียส (Celcius) แต่กลางคืน พอพระอาทิตย์ตกไป อุณหภูมิก็หล่นไปเหลือเลขตัวเดียว แต่ที่น่ารำคาญกว่าอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คือเวลาเดินไปไหนมาไหนช่วงเย็นๆ จะมีฝูงยุงยักษ์ (กัดเจ็บมาก) บินตอมเหนือหัวผมเป็นกลุ่มผู้ติดตามตลอด เข้าใจว่าพวกมันจะมาในหน้าร้อนเท่านั้นครับ
และแล้วก็ถึงเวลาของเบลูกา บ่ายวันแรกที่ไปถึง ผมขอชมวาฬแบบแห้งๆ ก่อน ด้วยการพายกระดานชมวาฬ (Paddle Boarding) ซึ่งสนุกสนานมาก เราสามารถลองพายได้ทั้งยืนและนั่ง ถ้าทรงตัวไม่ดีก็ตกน้ำไป แต่ก็ไม่เป็นไร พวกเราต้องใส่ wet suit กับชูชีพไว้อยู่แล้วครับ
จุดพายเรืออยู่บริเวณแม่น้ำเชอร์ชิล (Churchill river) เป็นจุดที่น้ำจืดจากแม่น้ำกับน้ำเค็มจากอ่าวฮัดสันไหลมาปนๆ กันพอดี วันนั้นผมเห็นวาฬหลายสิบตัวว่ายผลุบโผล่ให้เห็น แต่พวกมันดูไม่ค่อยสนใจมนุษย์พายเรือเท่าไร ว่ายน้ำเสียไกล เกินจะเอาพายกวักเรียกมาได้ วันนั้นอากาศสักสิบกว่าองศา แต่พอใส่ wet suit พายกระดานทวนน้ำกลางแดดอยู่สักพักก็เริ่มรู้สึกร้อนอยากจะพลาดตกน้ำไปให้เย็นๆ หน่อย แต่ก็ได้เวลาเข้าฝั่งพอดี
วันถัดมาผมได้ลงไปส่องเจ้าวาฬขาวในน้ำทะเลในที่สุด ผมจองโปรแกรมการว่ายน้ำกับเบลูกาไว้สองวัน เผื่อวันไหนเกิดพลาดไม่เห็นจะได้ไม่เสียดายเพราะอุตส่าห์บินมาตั้งไกลโพ้น แต่ละวัน เราใช้เวลาอยู่ในน้ำประมาณ 2 ชั่วโมง (ซึ่งก็หนาวจะตายอยู่แล้ว) เราต้องใส่เสื้อ Wetsuit อย่างหนา 7 มิลลิเมตร และหมวกคลุมหัวไว้อีก เอาไว้กันความหนาวจากทะเลที่อยู่ไม่ไกลมหาสมุทรอาร์กติกเท่าไรเลย
ด้วยความโชคดีของผม หลังจากออกเรือไปตามแม่น้ำเชอร์ชิลไม่กี่นาทีก็เห็นวาฬเบลูกาน่าจะหลักหลายร้อยตัวอย่างต่ำว่ายผลุบๆ โผล่ๆ กันเต็มผิวน้ำ มองดูเหมือนปลานิลในบ่อน้ำตามวัดของไทยกันเลย แถมมีเจ้าตัวขี้เล่น 3-4 ตัวมาว่ายเล่นกระแสน้ำจากท้ายเรือของเราไม่ไกลอีกด้วย แล้วเรือก็หยุดลงให้พวกเราได้หย่อนตัวลงไปในน้ำ ปรากฎว่าเจ้า wet suit 7 มม. ไม่ใช่แค่หนาอย่างเดียว แต่ชุดยังพยุงให้ผมลอยฟ่องในน้ำทะเลจนเคลื่อนไหวลำบาก คิดๆ หรืออาจจะเป็นความตั้งใจของคนดูแล ที่ให้พวกเราจะขยับตัวในน้ำได้ลำบากก็ได้
ตอนลงทะเล แม้ว่าอุณหภูมิในอากาศในช่วงกลางวันจะอยู่ประมาณ 10 องศาเซลเซียส แต่ในน้ำก็หนาวกว่ามาก โดยเฉพาะเวลาที่น้ำเย็นๆ ไหลเข้ามาในช่องว่างของ wet suit ช่วงแรกๆ แต่ที่หนักกว่าคือส่วนของร่างกายที่ไม่มีอะไรคลุม อย่างใบหน้า ที่ต้องจุ่มไปในน้ำตลอดเวลาเพื่อจะได้ส่องหาวาฬ ทำเอาหนาวจนหน้าชาเหมือนกัน และเจ้ากรรมก็คงจะมา เพราะเมื่อสองวันก่อนฝนเพิ่งตก ทำเอาตะกอนเต็มแม่น้ำ แถมเจ้าวาฬที่ว่ายกันเป็นร้อยเป็นพันตัวตามที่เห็นก่อนลงน้ำ ก็ดูจะไม่มีอารมณ์สนใจคนลอยในน้ำเท่าไร ว่ายห่างผมเสียไกลโพ้น ตลอดสองชั่วโมงวันแรกผมจึงได้ภาพถ่ายเบลูกาในน้ำเขียวๆ อยู่ไม่กี่ใบ แถมยังเบลออีกด้วย
วันที่สอง เรือพาเราออกไปไกลถึงปากอ่าวฮัดสัน แม้จะดูจากเหนือน้ำแล้วเห็นวาฬไม่หนาตาเท่าวันแรก แต่ผมก็พบกับการทดลองสมรรถภาพร่างกายครั้งใหญ่ หลังจากได้หย่อนตัวลงน้ำ ในอ่าวฮัดสันน้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่าในแม่น้ำเชอร์ชิล (ที่หนาวอยู่แล้ว) เหมือนเป็นน้ำที่ผ่านการแช่น้ำแข็งมาใหม่ๆ ทุกครั้งที่ผมต้องก้มหน้าจุ่มน้ำดูวาฬนี่มีความรู้สึกเหมือนหน้าถูกเข็มเล็กๆ จำนวนมากแทงจากความหนาวตลอดเวลา พอพลิกตัวเปลี่ยนท่าในน้ำทีหนึ่ง ก็จะมีน้ำเย็นเจี๊ยบสอดแทรก wet suit เข้ามาใหม่ตลอด ประหนึ่งการเล่น Ice Bucket Challenge ติดกันสองชั่วโมง
แต่เจ้าวาฬในอ่าวฮัดสันวันนั้นดูเหมือนจะผ่อนคลายและสนใจมนุษย์มากกว่า ก่อนลงน้ำครั้งนี้ คนดูแลเรือแนะนำให้เราร้องเพลงในน้ำ ซึ่งคงจะได้ผลจริง เพราะมีเบลูกาหลายตัวที่ว่ายเข้ามาเฉี่ยวใกล้ๆ หรือบางตัวที่เข้ามาเกือบถึงตัวเรา แต่ก็สะบัดหัวเชิดหนีไปหลังจากเห็นแล้วว่าผมเป็นแค่มนุษย์ไม่มีอาหารหรืออะไรเป็นประโยชน์กับมัน วันนี้ แม้น้ำจะเขียวเหมือนเดิม แต่ก็ได้รูปวาฬเบลูกาขาวๆ รางๆ แห่งอ่าวฮัดสันชัดๆ เก็บไว้บ้าง
ก่อนขึ้นจากน้ำกลับโรงแรมไปสนามบิน เพื่อนลงน้ำคนแคนาดาเล่าให้ฟังว่า เห็นหมีขั้วโลกวันก่อนหน้านี้เดินอยู่ไม่ไกลเมือง ระหว่างเดินทางไปสนามบินผมก็พยายามเฮือกสุดท้ายที่จะมองหาหมีขั้วโลก จะได้สมกับการมาเยือนเมืองหลวงของหมีขั้วโลก อันโด่งดัง แต่ปรากฎว่าดวงดีๆ คงหมดไปกับการดูวาฬแล้ว ได้แต่มองหนังเจ้าหมีขั้วโลกตัวเบ้อเริ่มที่สนามบินเป็นการอำลา