ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) กล่าวถึงนวนิยายเรื่อง บีเลิฟด์ (Beloved) ของเธอว่า

มันพูดถึงเรื่องที่ตัวละครไม่ต้องการจะจดจำ ฉันเองก็ไม่อยากจะจดจำ คนดำทั่วไปก็ไม่อยากจดจำ คนขาวก็ไม่ต้องการจะจำ หมายความว่านี่คือเรื่องความทรงจำเสื่อมแห่งชาติ

การนำเสนอเรื่องราวที่ไม่มีใครอยากจะจดจำ การชำระสะสางความทรงจำ ไปพร้อมๆ กับการแสดงสภาวะกระอักกระอ่วนที่ทำให้ความทรงจำนั้นถูกปฏิเสธที่จะจดจำ คือสิ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ท้าทายทั้งวิธีเขียนและวิธีอ่าน การเล่าเรื่องอย่างไม่ประนีประนอมของผู้เขียนทำให้ผู้อ่านถูกจู่โจมและถูกพุ่งชนตั้งแต่บรรทัดแรกที่ได้อ่าน คล้ายกับการเดินเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งแล้วถูกพลังบางอย่างในบ้านหลังนั้นพุ่งชนเข้าอย่างจัง 

ประสบการณ์การอ่านดังกล่าวนี้สอดคล้องกับความมุ่งหมายของโทนี มอร์ริสัน (ดังที่เธอเขียนไว้ในบทนำของนวนิยาย) ที่ต้องการให้ผู้อ่านถูกฉุดกระชากลากถูเข้าไปยังที่ใดที่หนึ่ง คล้ายกับที่บรรดาทาสผิวดำทั้งหลายต้องประสบ เมื่อถูกนายทาสฉุดกระชากลากถูไปจนสิ้นไร้อิสรภาพ

บีเลิฟด์ ถูกเขียนขึ้นโดยนำเค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การค้าทาสของอเมริกา ในปี .. 1856 เมื่อ มาร์กาเร็ต การ์เนอร์ ทาสหญิงผิวดำที่พยายามจะหลบหนีนายทาสจากรัฐทางใต้ (ซึ่งสนับสนุนระบบทาส) ขึ้นไปยังรัฐทางเหนือ (ซึ่งต่อต้านระบบทาส) แต่ถูกนายทาสตามมาจับได้เสียก่อน เธอจึงตัดสินใจกระทำสิ่งที่เรียกว่าทารกฆาตนั่นคือการฆ่าลูกในไส้คนหนึ่งของตัวเอง (และพยายามฆ่าลูกคนอื่นๆ อีก แต่ไม่สำเร็จ) เพื่อไม่ให้ลูกของเธอถูกจับกลับไปเป็นทาส เหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าวกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทั้งผู้ต่อต้านระบบทาสและผู้สนับสนุนระบบทาสนำมาเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองของตัวเอง

โทนี มอร์ริสัน นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเขียนเป็นนวนิยายด้วยการสร้างตัวละคร เซเธอ อิงตามชะตากรรมของมาร์กาเร็ต การ์เนอร์ และเพิ่มตัวละครสำคัญอย่าง เดนเวอร์ ลูกสาวคนสุดท้องที่รอดจากการกระทำทารกฆาต พอล ดี อดีตทาสหนุ่มผิวดำที่เคยเป็นทาสอยู่ในไร่เดียวกันกับเซเธอ และแน่นอน ตัวละครสำคัญอันเป็นศูนย์กลางของเรื่องคือ บีเลิฟด์ หญิงสาวปริศนาที่โผล่ขึ้นมาจากน้ำมาอยู่อาศัยในบ้านของเซเธอ ซึ่งมีเค้าเงื่อนหลายอย่างที่ทำให้เซเธอเชื่อว่าคือลูกสาวที่ถูกเธอเชือดคอเมื่อ 18 ปีก่อน

เรื่องราวในนวนิยายเริ่มต้นขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบันของตัวละคร นั่นคือ 18 ปีต่อมาหลังจากเหตุการณ์ทารกฆาตครั้งนั้น ทั้งเซเธอและเดนเวอร์อาศัยอยู่ในบ้านที่ชื่อ 124 อันเป็นบ้านที่ชุมชนคนผิวดำในย่านนั้นต่างหวาดกลัวไม่อยากเข้าใกล้ ด้วยเกรงกลัวอาถรรพ์ของบ้านหลังนั้นที่สามารถเปล่งเสียงคับแค้นของมันออกมาข่มขวัญผู้คน บ้านที่ทั้งเซเธอและเดนเวอร์อยู่ร่วมกับผีทารกที่สำแดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ก่อกวนจนกระทั่งทำให้ลูกชายอีกสองคนของเซเธอต้องหนีออกจากบ้านไป 

และแล้วชีวิตอันลุ่มๆ ดอนๆ ของทั้งสองแม่ลูก (หรือจะเรียกว่าสามแม่ลูกก็ไม่ผิดนัก หากจะนับรวมผีทารกเข้าไปด้วย) ก็ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พอล ดี อดีตทาสหนุ่มจากไร่สวีทโฮม เดินทางมาถึง 124 และจัดการขับไล่ผีทารกออกไป  พอล ดี ตั้งใจว่าจะเริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่กับเซเธอ แต่ทว่าในความรู้สึกของเดนเวอร์ กลับรู้สึกว่าเขากำลังแย่งความรักของแม่ไปจากเธอ มิหนำซ้ำเขายังขับไล่ผีทารกซึ่งเป็นทั้งพี่สาวและเพื่อนเพียงคนเดียวของเธอออกไปอีก เดนเวอร์จึงรู้สึกต่อต้านทั้งพอล ดี และต่อต้านแม่ของเธอด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน หญิงสาวปริศนาคนหนึ่งก็โผล่ขึ้นจากธารน้ำใกล้ๆ บ้าน 124 เธอเข้ามาอยู่อาศัยกับทั้งสามคน ไม่มีใครรู้ที่ไปที่มาของเธอ เธอเองก็บอกไม่ได้ว่าตัวเองมาจากไหนและจะไปที่ไหน เธอบอกเพียงว่าตัวเองชื่อ บีเลิฟด์ อันเป็นถ้อยคำเดียวกับที่เซเธอสลักไว้บนหลุมศพทารกไร้ชื่อของเธอ บีเลิฟด์มีลักษณะท่าทางแปลกประหลาดชวนสงสัยหลายอย่าง พอล ดี มองเธอด้วยสายตาหวาดระแวง ขณะที่เซเธอกับเดนเวอร์ต่างต้อนรับเธอราวกับคนคุ้นเคย

โทนี มอร์ริสัน เขียนนวนิยายเรื่องนี้ด้วยชั้นเชิงของวรรณกรรมแนวกระแสสำนึก (stream of conciousness) เรื่องราวในนวนิยายจึงแตกกระจายออกไปตามสภาวะการระลึกรู้ของตัวละคร เส้นเรื่องและเส้นเวลาถูกตัดสลับและซ้อนทับกันไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ในแง่นี้การเล่าเรื่องไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการเล่าถึงความทรงจำหรือเล่าจากความทรงจำเท่านั้น แต่นวนิยายทะเยอทะยานถึงขั้นที่เล่าด้วยความทรงจำด้วยการใช้ลักษณะเฉพาะของสิ่งที่เรียกว่าความทรงจำ”  มาเป็นผู้เล่าเรื่องเสียเอง กล่าวคือ เรื่องเล่ามีลักษณะแบบผุดขึ้นเป็นห้วงๆ ทั้งในเชิงเหตุการณ์และความหมายที่กำกับตัวเหตุการณ์  ผนวกกับเสียงรำพึงรำพันที่เกิดขึ้นในความคิดของตัวละครซึ่งปะปนกันทั้งห้วงเวลาในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงถ้อยคำพึมพำไร้ที่มาจนยากจะบอกได้ว่าเป็นเสียงของใคร จึงอาจกล่าวได้ว่าเสียงเหล่านี้คือเสียงของความทรงจำ ความทรงจำที่ยังไม่ถูกชำระสะสางและยังไม่ถูกจัดระเบียบ ลักษณะดังกล่าวนี้จึงคล้ายกับสิ่งที่เซเธอเรียกมันว่าความจำซ้ำใหม่” (rememory) ที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นความทรงจำของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ล่องลอยอึงอลอยู่รอบๆ ตัวของแต่ละคน

นอกจากนี้ ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือ การใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) มาเพิ่มมิติให้กับเรื่องราวและตัวละคร การที่เซเธอและเดนเวอร์เชื่อว่าบีเลิฟด์คือร่างจำแลงของผีทารกที่ถูกฆ่าตายเมื่อ 18 ปีก่อน (และก่อนหน้านี้ก็สิงอยู่ในบ้าน ก่อนจะถูกพอล ดี ไล่ออกไป) นับว่าสวมทับกันแนบสนิทพอดีกับความขาดหายในชีวิตของทั้งคู่ เซเธอยังติดอยู่กับตราบาปในอดีตที่รอคอยการไถ่โทษ ในขณะที่เดนเวอร์เองก็ต้องการใครสักคนที่จะเข้ามาเติมเต็มความโดดเดี่ยวของตัวเอง การมีตัวตนของบีเลิฟด์จึงแนบแน่นอยู่กับความขาดหายในชีวิตและบาดแผลส่วนตัวของแต่ละคนที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับให้ความมหัศจรรย์ดังกล่าวนี้สามารถเป็นไปได้ 

แต่สำหรับพอลดี ซึ่งเป็นคนนอกและไม่ได้มีบาดแผลร่วมกันกับทั้งสามแม่ลูก เขาจึงค่อยๆ ถูกผลักออกไป  บ้าน 124 กลายเป็นพื้นที่ที่ความเป็นชายถูกเบียดขับออกไป และกลายเป็นพื้นที่ที่อำนาจของความเป็นหญิง/ความเป็นแม่แผ่ขยายกลืนกินทั้งบ้าน เมื่อมองในแง่นี้ ความรักของแม่จึงเฮี้ยนกว่าผี เพราะความรักอันเข้มข้นรุนแรงของแม่ทั้งฆ่าลูกและสร้างผีของลูกขึ้นมา ฉะนั้น การดำรงอยู่ของผีจึงกลายเป็นเครื่องยืนยันความรักอันเข้มข้นรุนแรงของแม่ ผีจึงวนเวียนไม่ไปไหน เพราะผีก็ต้องการความรัก และความรักก็ต้องการผี

กระนั้นก็ตาม แม้ว่าการกระทำทารกฆาตของเซเธอจะเป็นสิ่งที่ชุมชนคนผิวดำแห่งนั้นเข้าใจและเห็นใจ แต่ทว่าเธอก็ยังกลายเป็นคนนอกสำหรับชุมชนคนผิวดำแห่งนั้นอยู่ดี เหตุการณ์นั้นไม่ได้เป็นเพียงบาดแผลส่วนตัวเซเธอคนเดียว แต่ยังถือได้ว่าเป็นบาดแผลร่วมกันของชุมชนด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะผลักบาดแผลดังกล่าวให้เซเธอต้องแบกรับเพียงคนเดียว และการชำระสะสางความทรงจำก็ไม่ใช่สิ่งที่เซเธอจะทำเพียงคนเดียวได้ แต่สิ่งที่ยากยิ่งไปกว่านั้น คือคำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินการกระทำของเซเธอได้ ? ศาลและระบบยุติธรรมของคนผิวขาว ? หรือว่าชุมชนคนผิวดำแห่งนั้นที่ทอดทิ้งเซเธอ ? ต่อคำถามข้อนี้ โทนี มอร์ริสัน สามารถแก้เงื่อนตายในนวนิยายของเธอได้อย่างแหลมคม ดังคำให้สัมภาษณ์ของเธอที่ว่า

ฉันมาถึงจุดที่เริ่มถามตัวเองว่าใครจะตัดสินเซเธอได้อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ฉันแน่ๆ และจริงๆ แล้วทุกคนที่รู้จักเธอก็ทำไม่ได้เช่นกัน ฉันรู้สึกว่าคนที่สามารถทำได้ก็คือลูกสาวที่เธอฆ่า” 

*หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ของโทนี มอร์ริสัน และข้อมูลบางส่วนของนวนิยายเรื่องนี้ อ้างอิงจากหนังสือ สัจนิยมมหัศจรรย์ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และวรรณกรรมไทย โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน

นวนิยายอีกเรื่องหนึ่งของโทนี มอร์ริสัน ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วคือ ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye) ผมเคยเขียนถึงไว้แล้ว สามารถอ่านได้ที่:  https://themomentum.co/the-bluest-eye-toni-morrison/

Fact Box

  • บีเลิฟด์ (Beloved)  โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) เขียน รังสิมา ตันสกุล แปล สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์
Tags: