ก่อนหน้านี้ ได้เกิดความสับสนกรณีข่าวผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ประกาศสั่งปิดห้างและสกานให้บริการต่างๆ โดยแท้จริงแล้ว ไล่เรียงไทม์ไลน์ได้ดังนี้
- สำนักข่าวได้ออกข่าวการปิดสถานที่ใน กทม. ตามหมายข่าวที่ส่งเข้ากรุ๊ปของนักข่าว
- แต่ต่อมา นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และให้หยุดแพร่ข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป
- ทางกรุงเทพมหานครก็ได้ขอยกเลิกข่าวดังกล่าวเช่นเดียวกัน
- ก่อนที่เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้ว่ากทม. จะทำการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันการปิดสถานที่อีกครั้ง
ทั้งนี้ มติชนรายงานว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ของ นฤมล เกิดขึ้นก่อนการประชุมของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ประมาณ 10 นาที โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาประมาณ 12.12 น. และผู้ว่ากรุงเทพมหานครแถลงข่าวในเวลา 12.23 น.
ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวจากรายการข่าว 3 มิติ และ The Reporter ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นต่อการสื่อสารของรัฐบาลในช่วงวิกฤต “มีข่าวจะปิดห้าง โฆษกรัฐบาลบอก ข่าวปลอม แล้วก็มีแถลงจาก กทม. มาว่าปิดจริงนะ แล้วในห้องข่าว กทม. บอกขอยกเลิกข่าวนั้นก่อน แต่นักข่าวออกข่าวกันไปหมดแล้ว ทีนี้ผู้ว่าฯ กทม. จะแถลงผ่านเฟซบุ๊ก เอาไงก็บอกประชาชนให้ชัด นี่วิกฤตกว่าโควิด-19 ก็การสื่อสารของรัฐบาลนี่แหละ นักข่าวก็ออกไปตามที่ท่านแถลงนะคะ”
ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันแล้วว่าการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 เวลาประมาณ 14.00 ของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ว่าด้วยคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 26 ประเภทเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวงกว้าง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที้ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 มีผลบังคับใช้จริง
ทั้งนี้ อาศัยอํานาจตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติ ที่ประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 จึงให้ สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยมีประเภทสถานที่ต้องปิด ดังนี้
- ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหาร ในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)
- ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการ ดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น)
- พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ
- ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสําเร็จ เพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต)
- ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม
- สถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
- สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
- สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม
- ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต
- สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
- สระว่ายน้ํา หรือกิจการอื่นๆ ในทํานองเดียวกัน
- สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
- ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา
- ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ
- สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา
- สถานที่ให้บริการควบคุมน้ําหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม
- สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)
- สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ํา ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์
- สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
- สถานประกอบกิจการอาบน้ํา อบไอน้ํา อบสมุนไพร
- โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)
- สถานที่ออกกําลังกาย
- สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
- สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย
- สนามกีฬา
- สนามม้า
อ้างอิง:
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3795473
https://www.matichon.co.th/politics/news_2075898
Tags: โควิด19, อัศวิน ขวัญเมือง, กรุงเทพมหานคร