‘ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ’

          นั่นคือเหตุผลที่ สมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2561 ภายหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติด้วยคะแนนเสียง 18 ต่อ 6 ว่า ‘ไม่ยกเลิก’ การใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ควร ‘จำกัดการใช้’ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาตรการควบคุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า การซื้อ การใช้งาน ไปจนถึงการอบรมให้ความรู้เกษตรกร เพื่อนำเสนอคณะกรรมการอีกครั้งภายใน 2 เดือนข้างหน้า

          เหตุผลดังกล่าวนำมาซึ่งข้อกังขา…ข้อมูลผลกระทบยังไม่เพียงพอจริงๆ หรือ

          เพราะเมื่อพิจารณาเอกสารเผยแพร่อย่างน้อย 2 ฉบับของฝ่ายที่เรียกร้องให้ยุติการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว ทั้ง “เหตุผลสนับสนุนการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต” โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN และ “สมุดปกขาวเรื่อง ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม : พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” โดยประชาคมวิชาการและเครือข่ายนักวิชาการ ก็พบว่า อธิบายประเด็นคำถามต่างๆ ได้ชัดเจนโดยอ้างอิงงานวิจัยทั้งของต่างประเทศและในประเทศ สามารถคัดง้างกับฝ่ายสนับสนุนการอนุญาตใช้สารเคมีอันตรายได้ด้วยเหตุผลที่ฟังขึ้น จึงหยิบเนื้อหาสำคัญมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

          ‘พาราควอต’ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชประเภทเผาไหม้ ออกฤทธิ์เร็ว ความเป็นพิษเฉียบพลันสูงแม้สัมผัสในปริมาณน้อยๆ แต่ฝ่ายสนับสนุนการใช้งานมักอ้างความเป็นสารอันตรายปานกลางตามการจัดแบ่งขององค์การอนามัยโลก โดยเลี่ยงจะกล่าวถึงข้อความประกอบหมายเหตุที่ระบุว่า “หากดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลกระทบร้ายแรง แม้จะอันตรายน้อยเมื่อใช้งานตามคำแนะนำ แต่มันก็เป็นอันตรายแก่ถึงชีวิตหากรับพาราควอตเข้มข้นเข้าสู่ร่างกายทางปากหรือสัมผัสผิวหนัง”

          ส่วนการยืนกรานของฝ่ายสนับสนุนว่า ไม่เคยมีรายงานพบพาราควอตทำให้คนเป็นโรคพาร์กินสัน เพราะยึดมั่นกับหลักการทางเภสัชวิทยา-พิษวิทยาที่ว่า โมเลกุลมีประจุอย่างพาราควอตจะไม่สามารถผ่านผนังเซลล์สมองได้ ก็สวนทางกับรายงานการวิจัยเมื่อปี 2017 ซึ่งค้นพบกลไกที่พาราควอตทำลายเซลล์ประสาทจากการสร้างอนุมูลอิสระพิษ และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศที่ชี้ว่า พาราควอตเพิ่มโอกาสการเป็นพาร์กินสันร้อยละ 67-470 เลยทีเดียว

          รายงานของสหภาพยุโรประบุว่า การใช้เครื่องพ่นแบบสะพายหลังและสวมอุปกรณ์ป้องกัน ผู้ฉีดพ่นก็ยังมีโอกาสสัมผัสพาราควอตในปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 60 เท่า โดยจะเพิ่มขึ้นจนเกิน 100 เท่าในกรณีปราศจากอุปกรณ์ป้องกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศบราซิลจะกำหนดให้ฉีดพ่นพาราควอตด้วยรถแทรคเตอร์ที่มีห้องโดยสารปิดมิดชิดเท่านั้น และกำลังจะยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 2020

          …เช่นเดียวกับอีก 52 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศแบนไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการห้ามใช้พาราควอต

          หันกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เกษตรกรนิยมใช้เครื่องฉีดพ่นสารเคมีแบบสะพายหลังและมักไม่ป้องกันตัวเองมากเพียงพอ จึงมีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสพาราควอตระหว่างใช้งาน แม้มันจะละลายในไขมันได้ไม่ดีนัก ทำให้ไม่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่บาดแผลอักเสบหรือไหม้จากการสัมผัสพาราควอตเอง รวมถึงบาดแผลอื่นๆ บนผิวหนัง ก็เอื้อให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว

          หนำซ้ำยังมีผลวิจัยในประเทศรายงานว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับพาราควอตมากกว่าคนทั่วไป 1.3 เท่า ยิ่งถ้ามีประวัติเคยขุดดินในพื้นที่การเกษตรด้วยแล้ว ยิ่งเสี่ยงตรวจพบพาราควอตมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยขุดดินถึง 6 เท่า การตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิดคือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า พาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้องด้วย

          เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมจึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากสารเคมีอันตรายตัวนี้

          ลองพิจารณาประเด็นการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมที่สั่นสะเทือนถึงผู้บริโภคกันบ้าง…

          โดยธรรมชาติแล้วดินสามารถดูดซับพาราควอตได้ดี แต่หากฉีดพ่นต่อเนื่องหลายปีหรือในปริมาณมากจนเกินสภาวะที่สารอินทรีย์ในดินจะดูดซับได้ มันจะถูกชะล้างออกจากดินและไหลลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบตามมาอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก…เกิดการดูดซึมพาราควอตผ่านรากไปสะสมไว้ในพืชชนิดต่างๆ

          รองศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายเรื่องนี้เชื่อมโยงถึงผู้บริโภคได้ชัดเจนว่า การสะสมของพาราควอตในผักผลไม้ไม่สามารถล้างออกได้ ต่อให้เอาผักไปต้มก็กำจัดไม่ได้เช่นกัน เพราะจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เราทุกคนจึงมีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคพืชผักผลไม้เหล่านั้น

          แม้แต่อาหารแปรรูปที่มีพืชเป็นวัตถุดิบต้นทาง เช่น แป้ง เบียร์ และอาหารเด็ก ก็มีงานวิจัยในต่างประเทศที่ตรวจพบการตกค้างของพาราควอตเช่นกัน

ประการที่สอง…ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ

          มีงานวิจัยที่ตรวจพบการปนเปื้อนของพาราควอตในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมถึงน้ำประปาและน้ำดื่มบรรจุขวดในจังหวัดน่าน เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มปนเปื้อนด้วยสารเคมีดังกล่าวนั่นเอง

          ใช่ว่าอยู่นอกพื้นที่จังหวัดน่านแล้วจะรอดปลอดภัย เพราะปรากฏข้อมูลการปนเปื้อนของพาราควอตในแม่น้ำอีกหลายสาย อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสงคราม แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำจันทบุรี เป็นต้น

          และประการสุดท้าย…ตกค้างในห่วงโซ่อาหาร

          เมื่อพาราควอตปนเปื้อนสู่ดินและน้ำ ย่อมต้องตกค้างในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศนั้นด้วย ซึ่งตรวจพบแล้วว่า กบ ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมังที่อาศัยอยู่ในไร่นาหรือแหล่งน้ำใกล้พื้นที่เกษตรกรรมมีปริมาณสารพาราควอตปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกำหนด

          แม้แต่น้ำปูหรือน้ำปู๋ อาหารดั้งเดิมของภาคเหนือซึ่งมีปูนาเป็นส่วนประกอบหลัก ก็ยังมีพาราควอตปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 200 เท่าในบางตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบ

          …สิทธิในการเข้าถึงอาหารปลอดภัยดูจะเป็นเรื่องเกินเอื้อมของพวกเรามากขึ้นทุกที

          ในมุมของผู้บริโภค แม้ยังไม่นับรวมมูลค่าความเจ็บป่วยจากพิษพาราควอต ข้อมูลผลกระทบเหล่านี้ก็สะท้อนปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญได้อย่างมีน้ำหนักเพียงพอแล้วสำหรับการ ‘แบน’ พาราควอตตามหลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle)

          เว้นเสียแต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีประเด็นอื่นใดต้องให้ความสำคัญมากกว่าสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทย จึงเลือกทางออกที่ถนอมน้ำใจกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์การเกษตรถึงเพียงนี้

Fact Box

  • “เหตุผลสนับสนุนการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต” โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN  ดาวน์โหลดได้จาก http://thaipan.org/sites/default/files/file/pesticide_doc35.pdf
  • “สมุดปกขาวเรื่อง ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม : พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” โดยประชาคมวิชาการและเครือข่ายนักวิชาการ ดาวน์โหลดได้จาก http://www.thaipan.org/sites/default/files/file/pesticide_doc44.pdf
Tags: , ,