เริ่มต้นจากการทำลายล้าง เด็กหนุ่มสองคนในอาคารเรียนร้างกำลังเอาไม้ฟาดนู่นนี่ไปเรื่อย พวกเขาร่วมกับเพื่อนๆ กำลังบุกยึดมหาวิทยาลัยเพื่อประท้วงการออกนอกระบบ พวกเขาเป็นนักศึกษา เป็นเด็กบ้านนอกเข้ามาเรียนในเมือง เป็นจอมทำลายล้าง และเป็นคู่หูวงดนตรีพังค์ชื่อ Bamseom Pirates วงดนตรีที่มีสมาชิกแค่สองคนคือ ควอน (Kwon) มือกลองและคนเขียนเนื้อเพลง กับ จาง (Jang) นักร้องนำและมือเบส

เพลงของพวกเขาคือการกู่ตะโกนอันเกรี้ยวกราด การท้าทายขอบเขตของสังคมเกาหลีใต้ เนื้อเพลงของพวกเขาอาจจะสั้นแค่สองสามประโยค บางเพลงก็ยาวไม่ถึงนาที สำรอกความคลั่งแค้นและการเล่นมุกตลกเสียดสีที่สั้นแต่แสบสันถึงทรวง พวกเขาเล่นกันตามข้างถนน หรือ ในห้องใต้ดิน มันเป็นเพลงสำหรับการต่อต้าน การประท้วง ถ้าถามว่าเพลงของเขาเป็นอย่างไรก็ต้องผายมือไปทางชื่ออัลบั้มแรก ‘นรกที่ชื่อโซล’ แหมก็ฟังดูเร่าร้อนดี แต่มันเร่าร้อนกว่านั้น เพราะมันมาจากคำแถลงของเกาหลีเหนือเมื่อครั้งที่ตกลงเจรจากันไม่ได้กับเกาหลีใต้ ตัวแทนเกาหลีเหนือกล่าวว่า ‘โซลนั้นอยู่ใกล้แค่นี้ หากว่าเราประกาศสงครามแล้วล่ะก็ กรุงโซลก็จะกลายเป็นนรกไปในทันที’

มองด้วยสายตาคนนอก เราอาจเห็นว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เกือบจะเป็นโลกที่หนึ่ง เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ความสะดวกสบาย ศิลปะ และเสรีภาพ แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าจะประเทศที่มีเสรีภาพเพียงไหน ก็ยังมีเรื่องต้องห้ามของประเทศอยู่ (ถ้าเป็นโลกที่สามก็มากหน่อย) ในกรณีของเกาหลีใต้ เรื่องที่อันตราย พูดไม่ได้ ห้ามล้อเล่นและมีผลบังคับทางกฏหมาย นั่นคือการพูดเรื่องเกาหลีเหนือ

เพลงของพวกเขาหมิ่นเหม่และบ้าคลั่ง พูดถึง คิมกู วีรบุรุษของชาติที่ฆ่าคนญี่ปุ่นในแมนจูเรีย เพลงยกย่องคิมจองอิลและประณามเกาหลีใต้ เพลงที่ด่าสังคมสมัยใหม่ เพลงต่อต้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยที่บอกว่าให้เราเอาแขนขาออกนอกระบบรัฐเพื่อให้แขนขาทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือเพลงที่ร้องว่า บ้านจะพังก็ให้ทวิตเตอร์ช่วยสิ

ครึ่งแรกหนังติดตามพวกเขาจากการประท้วงหนึ่งไปยังอีกการประท้วงหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยไปตามถนนไปถึงเกาะเจจูที่พวกเขาไปร่วมกับชาวบ้านเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เมื่อรัฐบาลต้องการสร้างฐานทัพบนเกาะโดยไม่สนใจคนในพื้นที่ที่มีชีวิตอยู่มาก่อน หนังเป็นเหมือนสารคดีดนตรีทั่วไปที่ติตตามความห่ามเถื่อนของวง พูดคุยกับคนหนุ่มสองคนที่ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน แต่มีความโกรธแค้นต่อระบบที่เป็นอยู่และต่อต้านมันผ่านทางดนตรี บทกวี การแสดงอันบ้าคลั่ง ไปจนถึงการถ่ายรูปตัวเองสวมหมวก ฆ่าคอมมิวนิสต์ หรือทำ powerpoint เนื้อเพลงของตัวเองไว้ประกอบการแสดงโชว์เพราะมันถูกสำรอกจนฟังไม่ออกอีกต่อไป

หากทุกอย่างพลิกผันในครึ่งหลัง เมื่อโปรดิวเซอร์ของวงซึ่งเป็นทั้งช่างภาพ เจ้าของสตูดิโอ และผู้จัดการวงโดนจับด้วยข้อหาฝ่าฝืนความมั่นคงของรัฐ จากอะไรน่ะหรือ จากการรีทวิตโพสต์ของชาวเกาหลีเหนือ เรื่องการไปกินบะหมี่ที่เปียงยาง เขาโดนจับขึ้นศาล โดนรื้อค้นข้าวของ ศิลปินและนักวิชาการรวมตัวกันช่วยเขาทำแคมเปญต่อต้านการจับกุมที่ไม่เป็นธรรม สงสัยว่าทำไมสังคมจึงขาดไร้อารมณ์ขัน และมองทุกอย่างเป็นเรื่องต้องห้าม จากความกราดเกรี้ยวในดนตรี พวกเขาต้องมาเจอกับของจริง เมื่ออัลบั้มแรกของพวกเขาถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล และควอนต้องเข้าไปให้สืบพยาน เข้าไปให้ศาลซักถามเกี่ยวกับเพลงของเขา บทกวีของเขา เขาต้องอธิบายความหมายนัยยะที่เขาซ่อนไว้ อธิบายอย่างรวดร้าวราวกับการเปลือยต่อฝูงชน แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

นี่คือหนังสารคดีที่ติดตามกันยาวนาน พลิกผันโดยไม่ตั้งใจแล้วนำพาเรื่องราวไปสู่จุดที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมันเริ่มต้นง่ายๆ แค่การตามวงดนตรีสองชิ้นบ้าบอนี้ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย หนังตามโดยที่ไม่ลงมือสัมภาษณ์ แต่ให้เพื่อนกันเองสัมภาษณ์กันเองหนังไม่ได้เชิดชูวงในฐานะขบถ หลายๆ ครั้งการกระทำของพวกเขาก็หมิ่นเหม่ระหว่างการทำเป็นเล่นคะนองห่ามๆ กับความเกรี้ยวกราดที่แท้ ช่วงที่หนังตามไปเจจู ออกนอกเขตปลอดภัยของชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งสองคนก็พบว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ พวกเขารู้สึกแปลกแยก ไร้ประโยชน์และเขียนเพลงไม่ได้ แทคติกเสียดสีอ้างอิงเกาหลีเหนือของพวกเขาก็ดูจะไม่ได้มีพลังอย่างที่พวกเขาเป็น แต่ทั้งหมดนั้นแทบจะเป็นเรื่อง่ายๆ ไปเลยเมื่อครึ่งหลังมาถึง

ครึ่งหลังหนังขยับออกจากเรื่องวงในไปสู่สังคมภายนอก เริ่มจากการวิจารณ์บทกวีของควอนโดยอาจารย์สอนวรรณกรรมซึ่งค่อนข้างพอใจความคลุมเครือ และการซ่อนความหมายนัยยะในถ้อยคำดิบเถื่อนของเขา ตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์ของควอนกับคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อน และต้องเผชิญกับคำถามประเภท คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับโอกาส แต่อันที่จริงแล้วคุณมาจากครอบครัวคนชั้นกลางที่ไม่ได้ขัดสนอะไรมากนักเมื่อเทียบเคียงกับคนอื่นๆ ในสังคม แบบนี้คุณยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนด้อยโอกาสหรือเปล่า หรือคำถามประเภทเรียนจบจะไปทำอะไร มีความฝันหรือไม่ คำถามจากวงในเป็นคล้ายสนามลองมือของการวิพากษ์ต่อตัวตนของวงและสิ่งที่พวกเขานำเสนอ ว่ามันคือการละเล่นของเด็กร่ำรวยที่มีเวลาเหลือเฟือ หรือมันคือการต่อสู้ทางการเมือง หรือเป็นเพียงแรงแค้นไร้เดียงสา

แต่นั่นก็เป็นเพียงต้นทางของปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสิ่งที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้น พวกเขาท้าทายสังคมและสังคมท้าทายพวกเขากลับ ค่าใช้จ่ายของการทำงานศิลปะเพื่อต่อต้านคือการถูกต่อต้าน เมื่อโปรดิวเซอร์ของเขาโดนจับ การละเมิดกติกาของสังคมที่จะไม่เอ่ยถึงเกาหลีเหนือในแง่ชื่นชม เกมเสียดสีเกาหลีใต้ของพวกเขาถูกมองไปอีกทางอย่างรุนแรง โปรดิวเซอร์ของพวกเขาถูกสอบสวนอย่างหนัก ควอนเองก็ต้องขึ้นให้การว่าเพลงเชิดชูคิมจองอิลของเขาหมายความว่ายังไงกันแน่ ชาวเน็ตเสือกไสพวกเขากลับไปอยู่เกาหลีเหนือ พ้นไปจากอกของพื้นที่พิเศษในสังคมปัญญาชน ความขบถของพวกเขาถูกท้าทาย ถูกทำให้เป็นพวกเด็กวัยรุ่นห่ามคะนอง ไร้สาระพอๆ กับพวกขายชาติไม่สำนึกบุญคุณ พวกเขาถูกนำไปเป็นประเด็นดีเบทในรายการโทรทัศน์ และร้ายที่สุดคือต้องขึ้นให้การในศาล อธิบายลูกเล่นที่ศาลไม่เข้าใจ เปลือยให้ศาลฟังว่าพวกเขาไม่ได้นิยมคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ สำหรับพวกเขา ‘ถ้าเกาหลีใต้ที่เป็นเยี่ยว เกาหลีเหนือก็เป็นขี้’

คล้ายๆ กันกับเหตุการณ์ในประเทศอื่นๆ รวมทั้งที่นี่ การวิพากษ์ชาติแบบปัญญาชนเสรีถูกตีความเป็นการชังชาติล้มระบอบ พวกเขากลายเป็นพวกชั่วช้า ที่สมควรต้องได้รับการลงโทษ ไม่มีอารมณ์ขันสำหรับนักชาตินิยม ทุกอย่างคือถ้อยแถลงที่ถ้าตรงกันก็คือคุณธรรม ถ้าตรงกันข้ามก็คือโฆษณาชวนเชื่อ และในสังคมไม่ได้มีนักชาตินิยมอยู่แค่ในพวกคนแก่โง่ๆ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มีคนมากมายเป็นนักชาตินิยมที่พร้อมจะขย้ำเหยื่อเพื่อหนุนส่งศีลธรรมของตัวเองให้บวมพอง แน่นอนว่าวงดนตรีของไอ้บ้าสองคนนี้เป็นเหยื่ออันโอชะ

หนังค่อยๆ เผยว่าความระห่ำของพวกเขา อาจจะไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่แข็งแรงมากกว่าการต่อต้านระบบตามธรรมดาของวัยรุ่น แม้พวกเขาจะกล้าหาญ คมคาย และบ้าบิ่น แต่พวกเขาในที่สุดเพื่อจะมีชีวิตสืบไปก็ต้องยอมตามระบอบที่ดำรงคงอยู่แต่ดั้งเดิม นี่ไม่ใช่เพียงคำถามสำหรับนักดนตรีพังค์สองคนนี้ แต่ยังหมายรวมถึงบรรดาผู้ใช้ศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกทั้งหลาย ผู้ที่งานของตนเรื่อเรือง รุนแรงเพราะยังถูกรับรู้อย่างจำกัด ยังซ่อนตัวอยู่ได้ภายใต้ความคลุมเครือ แต่เมื่อวันหนึ่งบิลล์ค่าใช้จ่ายเดินทางมาถึง เราจะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่เราเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องยอมสูญเสียอะไรเพื่อที่จะมีชีวิตต่อไป สร้างสรรค์ได้เท่าที่เขาให้สร้าง

หนังจึงงดงามในการวิพากษ์การเซนเซอร์ในสังคมเกาหลีใต้ วิพากษ์ขอบเขตของสังคมผู้เจริญแล้วที่อาจจะดูเหมือนมีเสรีภาพและไร้พิษภัยในผิวเปลือก หากที่แท้ยังคงเป็นสัตว์ร้ายป่าเถื่อนที่พร้อมจะเฉือนเนื้อคนคิดต่างโดยไม่สนใจว่าในตัวเนื้อหาใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันมันก็ย้อนกลับไปมองศิลปิน ขบถหัวอ่อนไหวที่อาจจะต้องจ่ายแพงกว่าที่คิดมากนักเพื่อที่จะได้พูดในสิ่งที่อยากพูดจริงๆ เมื่อถึงจุดที่ศิลปะไม่อาจปกป้องอีกต่อไป

 

*4-5 สิงหาคมนี้ รับชมหนังและร่วมฟังเสวนาได้ที่ https://www.facebook.com/events/832004557005070/

Tags: , , , , , ,