จากตอนที่แล้วที่เกริ่นถึงรถอัจฉริยะ ความเป็นมา และผลกระทบที่จะมีต่อตัวบุคคล จากการคิดเล่นๆ และตอบคำถามง่ายๆ ว่าเรายังต้องซื้อรถอัจฉริยะหรือไม่ คราวนี้ขอไปต่อกันด้วยภาพที่ใหญ่ขึ้น เพราะเมื่อคิดตามแล้ว ย่อมพบว่ารถอัจฉริยะจะมีบทบาทมากมายกว่าที่เราคิดเลยทีเดียว
โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมรถยนต์
จากยุคของเฮนรี ฟอร์ด ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ฟอร์ดผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ ด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาลดงาน ตั้งสายพานการผลิต แยกงานเป็นขั้นตอน ทำให้ผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิด ecosystem ของธุรกิจรถยนต์ตามมา เริ่มจากทางต้นน้ำ คือโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีประมาณ 30,000 กว่าชิ้นต่อคัน โรงงานเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วโลก หลังจากนั้นส่งมาประกอบที่โรงงานของบริษัทรถยนต์ตามศูนย์กลางการผลิตต่างๆ ปริมาณและรายละเอียดรุ่นรถ รวมถึงอุปกรณ์พิเศษ ขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อหรือการคาดการณ์ล่วงหน้าจากความต้องการของลูกค้าในภูมิภาค หลังผลิตเสร็จ บริษัทรถยนต์มีการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการกระจายรถยนต์ เพื่อนำไปขายยังหัวเมืองต่างๆ อีกทั้งยังเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอีกด้วย หากมีรถยนต์รุ่นใหม่ก็มักมีการจัดงานเปิดตัวตามงานมอเตอร์โชว์ พร้อมข้อเสนอส่วนลดและโปรโมชันมากมาย เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ซื้อรถใหม่ กลายเป็นวงจรของการธุรกิจนี้ไป
จากงานมอเตอร์โชว์ที่เราชินตา ตัดภาพมาที่รถยนต์อัจฉริยะซึ่งเกริ่นไปคราวก่อนว่าในโลกอนาคตอันใกล้ รถยนต์เหล่านี้จะให้ความสะดวกสบายกับผู้โดยสาร คนนั่งรู้สึกมีความเป็นส่วนตัว ปลอดภัย และไร้ภาระ จนอาจไม่มีความต้องการเป็นเจ้าของรถอีกเลย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทที่ผลิตรถยนต์
โดยทั่วไป บริษัทรถยนต์มีรายได้หลักมาจากการขายรถและบริการหลังการขายให้กับลูกค้ารายย่อย หากความต้องการซื้อรถของลูกค้าหดหายไป บริษัทเหล่านี้ต้องหารายได้จากทางอื่น ในปัจจุบันมีการพูดถึง subscription model โดยลูกค้าไม่ต้องซื้อรถลงเงินเป็นก้อนหรือต้องกู้เงินเพื่อมาผ่อนซื้อรถเหมือนแต่ก่อน แต่อาจซื้อ ‘แพ็กเกจ’ พร้อมบริการเดินทางผ่านเครือข่ายของรถยนต์อัจฉริยะได้ในระยะทางจำกัด คล้ายๆ กับการซื้ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นกิกะไบต์ หรือเวลาคุยทางโทรศัพท์ที่คิดเป็นนาทีแล้วจ่ายรายเดือน บทบาทของบริษัทที่ให้บริการรถยนต์อัจฉริยะจะเพิ่มมากขึ้น เสมือนเป็น ‘เลเยอร์’ ที่เพิ่มขึ้นมาคั่นกลางระหว่างลูกค้ากับบริษัทผลิตรถยนต์ คล้ายๆ กับธุรกิจสายการบิน โดยที่เวลาเราจองตั๋วเครื่องบิน เราจองผ่านสายการบินที่เป็น operator หรือบริษัทที่ให้บริการในฐานะลูกค้า เราไม่ต้องติดต่อบริษัทผลิตเครื่องบินอย่างโบอิงหรือแอร์บัส ตัวเต็งของบริษัทที่ทำหน้าที่เหล่านี้ ได้แก่ บริษัทจำพวก Ride-Hailing อย่างอูเบอร์ (UBER) นั่นเอง (นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมอูเบอร์จึงระดมทุนได้มาก และมีมูลค่าของบริษัทสูงหลักล้านล้านบาท เพราะโอกาสที่อูเบอร์จะโตและกินส่วนแบ่งของตลาดมีสูง)
ย้อนกลับมาที่สายการบิน โดยทั่วไป สายการบินเหล่านี้อาจมีเครื่องบินเป็นของตัวเองที่ซื้อมาให้บริการและดูแลซ่อมบำรุง หรืออาจมีบริษัทที่มารับงานนี้ไปดูแล บริษัทสายการบินเป็นเพียงผู้ดูแลคุณภาพของการให้บริการ ถ้าเปรียบเทียบกับธุรกิจยานยนต์ บริษัทรถยนต์อาจจะปรับตัวมาทำหน้าที่นี้เพื่อให้บริษัทยังคงอยู่ แต่ก็ต้องแข่งขันกับผู้เล่นที่อยู่ในตลาดนี้อยู่ก่อน นั่นก็คือบริษัทให้บริการรถเช่า ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดูแลรถอยู่แล้ว จึงน่าสนใจว่าการแข่งขันในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ล่าสุด เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของเวย์โม (Waymo) ที่จับมือกับบริษัทรถเช่าอย่างเอวิส (Avis) และแอปเปิล (Apple) กับบริษัทรถเช่าคู่แข่งอย่างเฮิร์ตซ์ (Hertz) โดยทั้งเวย์โมและแอปเปิลหวังว่าตัวเองจะไม่ต้องดูแลฮาร์ดแวร์หรือรถยนต์ แต่ดูแลส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์การประมวลผลหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
ตลาดงานที่เปลี่ยนไป
จากเรื่องเล่าหรือข่าวลือที่ว่าซอฟต์แวร์หรือเครื่องจักรอัตโนมัติจะมาทำงานแทนบุคลากรในหลายอุตสาหกรรม ในภาคขนส่งและการเดินทางก็คงจะได้รับผลกระทบเช่นกัน อาชีพขับรถรับจ้างจะประจำทางหรือไม่ประจำทางอาจไม่มีอีกต่อไป เพราะรถยนต์อัจฉริยะมีความสามารถที่ลึกซึ้ง แยกแยะ สังเกต และตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนได้อย่างปลอดภัย เมื่องานขับรถหายไป พนักงานที่ทำหน้าที่นี้อาจต้องพัฒนาศักยภาพด้านอื่นให้สอดคล้องกับตลาดงานที่เปลี่ยนไป
สมมติว่าผู้โดยสารไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์แล้ว หน้าที่ภาระการดูแลทำความสะอาดและซ่อมบำรุงย่อมหายไป เจ้าของรถคนใหม่ที่เป็นผู้ให้บริการรถเช่าต้องทำหน้าที่นี้แทน ถ้าเป็นแบบนี้จริง บริษัทเหล่านี้จะต้องการผู้คนอย่างมากในการดูแลรถแทบจะทุกคันในเมืองเมืองหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าจะให้บริการผู้โดยสารได้อย่างเรียบร้อยปลอดภัย ส่วนพนักงานขายรถแก่ลูกค้ารายย่อย อาจต้องผันตัวไปขาย ‘ผลิตภัณฑ์’ ใหม่ คือ subscription การนั่งรถโดยสารที่มีแพ็กเกจโปรโมชันต่างๆ กันไป หรืออาจผันตัวไปสู่งานบริการลูกค้า รองรับคำถาม คำร้องเรียนที่ลูกค้าผู้โดยสารมีต่อการบริการรถอัจฉริยะก็เป็นได้ (ถ้า AI ไม่แย่งงานด้านบริการลูกค้าไปหมดเสียก่อน)
เมืองในยุครถยนต์อัจฉริยะ
จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้รถและเทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาถาโถมมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อธุรกิจยานยนต์และบทบาทของแต่ละบริษัทในปัจจุบันอย่างมาก แต่ผลกระทบไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ลองนึกภาพตามนะครับว่าถ้ากรุงเทพฯ หรืออำเภอเมืองในจังหวัดต่างๆ มีรถอัจฉริยะให้บริการเต็มไปหมด นอกจากชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองและปริมณฑลจะเปลี่ยนไปแล้ว ‘เมือง’ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?
ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือบรรดาที่จอดรถทั้งหลาย ทั้งบนอาคาร ชั้นใต้ดิน หรือริมถนน พื้นที่เหล่านี้จะว่างเปล่า ไม่มีรถมาจอดทิ้งไว้เหมือนตอนเราขับรถไปจอดที่ที่ทำงานหรือช็อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า เพราะเมื่อรถอัจฉริยะส่งลูกค้ารายหนึ่งถึงที่หมาย รถยนต์เหล่านี้จะวนไปให้บริการลูกค้ารายอื่นต่อไปจากคำสั่งที่ได้รับการประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ หรือหากระบบตรวจจับได้ว่าพลังงานของรถใกล้หมด รถจะถูกหมุนเวียนไปชาร์จยังจุดชาร์จที่ใกล้ที่สุด (ทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์อีกด้านหนึ่งคือรถยนต์ไม่ต้องใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซล แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งชาร์จได้ตามจุดชาร์จต่างๆ ตามบ้านหรือ ‘ปั๊มชาร์จไฟฟ้า’ ในอนาคต) เมื่อรถยนต์อัจฉริยะถูกใช้ตามเวลาหรือระยะทางที่กำหนด รถก็สามารถเข้าสู่ศูนย์ซ่อมบำรุงเพื่อตรวจเช็กสภาพรถยนต์ได้เอง
สำหรับที่จอดรถที่อยู่ในอาคารอาจถูกดัดแปลงไปทำประโยชน์ด้านอื่น เช่น ทำเป็นสำนักงานให้เช่า ร้านค้า โกดังเก็บของ หรือแม้แต่โรงแรม พื้นที่ริมถนนที่เคยถูกครอบครองโดยรถยนต์ที่จอดทำธุระ จะไม่มีรถจอดอีกต่อไป ถนนจะเหมือนมีเลนเพิ่มมาอีกหนึ่งเลนโดยไม่ต้องลงทุนขยายถนน! การเดินทางจะสะดวกสบายเป็นระเบียบมากขึ้น ประชาชนสามารถกะเกณฑ์เวลาเดินทางได้อย่างถูกต้อง (แต่อาจไม่ได้ทำให้รถวิ่งได้เร็วขึ้นหรือรถติดน้อยลง เพราะถ้ารถทุกคันเป็นรถอัจฉริยะและมีความสะดวกสบาย คนอาจหันมาใช้บริการรถอัจฉริยะกันตลอดเวลา ทำให้ปริมาณรถที่วิ่งบนถนน ณ เวลาหนึ่งๆ อาจเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ) เมืองจะเริ่มมีการกระจายตัว เช่น ในกรุงเทพฯ ออฟฟิศดีๆ อาจไม่ต้องอยู่ใกล้กับแนวรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะเดินทางด้วยรถอัจฉริยะก็สะดวกปลอดภัยไม่แพ้กัน ออฟฟิศใหม่ๆ รอบเมืองก็อาจผุดขึ้น โดยดัดแปลงจากที่จอดรถเดิมก็เป็นได้
จากสมัยก่อนที่วิธีการเดินทางของคนพัฒนาจากเกวียนเทียมวัว รถม้า มาเป็นรถยนต์ รถไฟ รถบัส รถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการวางผังเมือง การพัฒนาที่ดิน และเศรษฐกิจของเมืองนั้นๆ การเกิดขึ้นของรถยนต์อัจฉริยะ (และเครือข่ายของมัน) จะทำให้เมืองมีการพัฒนาไปอีกขั้น
นี่เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับใครที่ทำงานเกี่ยวกับผังเมืองและอสังหาริมทรัพย์
จาก Flying Cars สู่ Autonomous Cars
“เราอยากเห็นรถบินได้ แต่ดูเหมือนเราทำได้เพียงคิดค้นการคุยกันที่มีข้อจำกัดแค่ 140 ตัวอักษร” ปีเตอร์ ธีล ผู้ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่งในโลกสตาร์ตอัพที่ซิลิคอน แวลลีย์ กล่าวไว้ในปี 2011 เพื่อกระตุ้นหลายคนในวงการ ทั้งคนทำธุรกิจและนักลงทุนในสตาร์ตอัพ ว่าควรจะคิดใหญ่ทำใหญ่ (บริการข้อความ 140 ตัวอักษรที่ธีลอ้างถึงคือ Twitter)
หกปีผ่านไป เราก็ยังไม่เห็นใครทำรถบินได้ออกมาขาย แต่เราอาจได้เห็นรถอัจฉริยะ (ซึ่งอาจตอบโจทย์มากกว่ารถบินได้ด้วยซ้ำ) ในเร็ววัน อุปสรรคหรือความท้าทายที่มีอยู่ในปัจจุบันยังทำให้รถอัจฉริยะไม่ได้เก่งสมชื่อสักเท่าไร ทั้งเรื่องความสามารถของเซนเซอร์ กล้องจับภาพ ชิปประมวลผล ราคาของอุปกรณ์เหล่านี้มีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังผลิตได้จำนวนจำกัด ไม่สามารถนำไปติดรถทุกคันได้ก่อนที่รถทุกคันจะ ‘อัจฉริยะ’ เต็มขั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ววันนี้ คือการกำหนดบางเขตของถนนให้รถอัจฉริยะวิ่งเท่านั้น เช่น ในไฮเวย์ หรือให้รถเหล่านี้วิ่งในความเร็วไม่สูงมากในสถานที่ที่เหมาะสม เช่น รับส่งบุคลากรในมหาวิทยาลัย
เร็วๆ นี้ เราอาจได้เห็นป้ายเตือน ‘ห้ามรถใช้คนขับ’ บนถนนบางสายหรือบางพื้นที่ของเมืองก็เป็นได้
Tags: Hertz, Avis, Ride-hailing, autonomousvehicle, Apple, Waymo