“เธอๆ ดูนี่สิ พอเราขับรถผ่านป้าย speed limit รถมันอ่านได้เลยว่า

ถนนช่วงนี้ให้ขับได้เร็วเท่าไหร่”
“จริงดิ ทำไมมันฉลาดจัง มันทำได้ยังไงเหรอเธอ” แฟนผมถามด้วยความสงสัย ขณะชมวิวเทือกเขาในยุโรป

“นั่นสิ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน สงสัยเป็นเรื่องของรถยนต์อัจฉริยะแน่เลย”

เหตุการณ์เล็กๆ เมื่อกลางเดือนก่อนย้ำเตือนผมอีกครั้งถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี ซึ่งมีหลายศาสตร์หลายแขนงเหลือเกิน จนไม่สามารถเรียนรู้ติดตามได้หมด และแต่ละศาสตร์ก็พร้อมจะเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของเรา เรียกได้ว่าจาก ‘หลังเท้า’ เป็น ‘หน้ามือ’ เลยทีเดียว

รถยนต์อัจฉริยะก็เช่นกัน (ถ้าหากแปลตรงตัว Autonomous Vehicle หมายถึงยานพาหนะไร้คนขับ แต่ผมขออนุญาตใช้ ‘รถยนต์อัจฉริยะ’ เพื่อให้สมกับความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนมัน) เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยรถสามารถขับเคลื่อนตัวมันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งคน เป็นอีกเรื่องราวที่เราได้ยินกันมากในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วขององค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งความสามารถในการเรียนรู้จากข้อมูลเพิ่มขึ้นมากมาย สร้างโมเดลคาดการณ์ได้แม่นยำมากกว่าสมัยก่อน และในบางครั้งมีประสิทธิภาพในการตัดสินใจมากกว่าการตัดสินใจของมนุษย์เราด้วยซ้ำ อย่าง AI ชื่อ AlphaGo ที่เอาชนะแชมป์โกะของโลกอย่างเค่อเจี๋ย (Ke Jie) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เกมโกะบนกระดานตาราง 19×19 เส้น กับการขับรถบนท้องถนน มันซับซ้อนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Autonomous Vehicle หมายถึงยานพาหนะไร้คนขับ แต่ผมขออนุญาตใช้ ‘รถยนต์อัจฉริยะ’ เพื่อให้สมกับความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนมัน

 

รถยนต์อัจฉริยะมาถึงแล้วจริงหรือ?

ตามคำจำกัดความของ SAE International (Society of Automotive Engineers) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลมาตรฐานด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับการขนส่ง จำแนกแจกแจงความอัจฉริยะของรถยนต์เป็น 6 ระดับ โดยเริ่มจากระดับ 0 คือระดับที่รถยนต์ไม่ฉลาดเลย คือไม่มีอุปกรณ์หรือฟังก์ชันการทำงานที่ช่วยในการขับรถ ไปจนถึงระดับ 5 ที่เรียกว่า Full Automation แบบว่าคน (ที่ไม่ต้อง) ขับสามารถนอนหลับระหว่างการเดินทางได้เลย รถยนต์จะตอบสนองต่อยานพาหนะอื่นๆ บนท้องถนน จนไปถึงจุดหมายได้เอง

ในปัจจุบัน หนึ่งในบริษัทที่ลงทุนศึกษาเรื่องนี้อย่างมากคือเทสลา (Tesla) ระบบช่วยขับรถของเทสลาที่อยู่ในท้องตลาดนั้นอยู่ในระดับ 2 คือรถสามารถควบคุมพวงมาลัยเพื่อเลี้ยว บังคับการเร่งและเบรกเมื่อเข้าใกล้รถคันหน้าหรือมีสิ่งกีดขวางได้เอง แต่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของเทสลา ประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ต่อจากนี้ รถยนต์ที่เทสลาผลิตจะมีฮาร์ดแวร์ เซนเซอร์ต่างๆ พร้อมทั้งหน่วยประมวลผลที่ทำให้รถมีความสามารถถึงระดับ 5 เหลือแต่ซอฟต์แวร์เท่านั้นที่หากผ่านการพัฒนา ทดสอบ และพร้อมเมื่อไร ก็สามารถอัพเกรดระบบของรถให้ขับได้เองแบบอัตโนมัติ

ระบบรถอัจริยะของเทสลา

นอกจากเทสลา ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่กำลังพัฒนารถยนต์อัจฉริยะและน่าจับตา โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น อูเบอร์ (UBER) และเวย์โม (Waymo) (บริษัทใหม่ที่แยกออกมาจาก Google เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเดินหน้าเรื่องรถยนต์อัจฉริยะโดยเฉพาะ)

อูเบอร์มีต้นกำเนิดจากบริการเรียกรถรับ-ส่งคล้ายแท็กซี่ (ride-hailing) แต่เปิดโอกาสให้รถบ้านรับส่งลูกค้าได้ผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท ส่วนลูกค้าก็เรียกบริการรถรับ-ส่งและชำระค่าบริการได้ง่าย ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ การให้บริการนี้ทำให้อูเบอร์เข้าถึงข้อมูลหลายด้าน อย่างเส้นทางการเดินทางของลูกค้ารายคน ซึ่งหากผนวกรวมกับเทคโนโลยีรถอัจฉริยะ ธุรกิจของอูเบอร์ย่อมขยายตัวได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพะวงกับการรับสมัครคนขับรถเพิ่มและการควบคุมคุณภาพของคนขับรถเหมือนในปัจจุบัน

ด้านกูเกิลที่เพิ่งเปิดบริษัทใหม่ คือเวย์โม สนใจเรื่องรถยนต์อัจฉริยะมานานก่อนใครเพื่อน เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2009 ที่กูเกิลเริ่มให้รถต้นแบบอัจฉริยะวิ่งเก็บข้อมูลและทดสอบอัลกอริทึมในการขับรถ ถ้าบวกรวมเวลาที่รถต้นแบบของกูเกิลวิ่งอยู่บนท้องถนน ก็เป็นเวลากว่า 300 ปีเลยทีเดียว ที่น่าสนใจคือหนึ่งในรถต้นแบบของเวย์โมที่ออกมาวิ่งบนถนนรอบๆ ออฟฟิศของกูเกิลที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรถที่ไม่มีแม้แต่พวงมาลัย ไม่ต้องมีคนขับ มีแต่ผู้โดยสารเท่านั้น รถยนต์อัจฉริยะเป็นหนึ่งในโครงการลับของกูเกิลภายใต้ทีม Google X เมื่อถึงเวลาอันสมควร กูเกิลเลยตั้งบริษัทแยกออกไปเพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร และหาโมเดลของธุรกิจที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้

รถต้นแบบของเวย์โมเป็นรถที่ไม่มีแม้แต่พวงมาลัย มีแต่ผู้โดยสารเท่านั้น

 

ส่วนบริษัทอื่นๆ (ทั้งบริษัทรถยนต์และบริษัทเทคโนโลยี) เริ่มตื่นตัวมาร่วมวงแข่งขันสร้างรถยนต์อัจฉริยะกันมากขึ้น มีมากหน้าหลายตา ทั้งหน้าเก่า เช่น Apple, Audi, BMW, Mercedez และหน้าใหม่อย่าง nuTonomy และ Cruise Automation โดยรายหลังถูก GM ซื้อกิจการด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

เก็บเงินซื้อรถอัจฉริยะดีไหม

เมื่อพูดถึงอนาคตอันสะดวกสบาย เดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์อัจฉริยะโดยที่เราไม่ต้องขับ มีเวลาทำกิจกรรมอื่น ไม่ว่าจะนอนพัก ประชุม ทำงาน หรือเล่นกับลูก หลายคนอาจเริ่มอยากมีรถอัจฉริยะเป็นของตัวเอง

คำถามที่อยากชวนคิดต่อก็คือ เราต้องเป็นเจ้าของรถอัจฉริยะหรือไม่ สมมติว่าถ้าไม่ต้องซื้อรถอัจฉริยะ แต่ใช้บริการรถแบบนี้เป็นรายเดือนหรือตามระยะทาง โลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะหากคนไม่ซื้อรถกันแล้ว คนที่อยู่ในวงการรถยนต์จะได้รับผลกระทบแน่นอน

จริงๆ แล้วเราอาจไม่ต้องรอให้เกิดรถอัจฉริยะเพื่อตอบคำถามนี้ เพราะทุกวันนี้เราทดลองใช้ชีวิตแบบนั้นได้แล้วโดยการนั่งแท็กซี่!

ลองสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ได้ กว่าเราจะเรียกแท็กซี่หรือบริการ ride-hailing อื่นๆ อาจใช้เวลาสัก 5-10 นาทีในการรอ ในชั่วโมงเร่งด่วนก็จะรอนานขึ้น แถมต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม หากระบบรู้ว่ามีความต้องการใช้รถสูงขึ้น การมีรถ (หรือรถอัจฉริยะ) เป็นของตัวเองก็ดูมีน้ำหนัก เพราะตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย และช่วยคลายความหงุดหงิดของเราได้ แต่ถ้ารถอัจฉริยะที่ให้บริการรับ-ส่งมีมากขึ้นจนลดเวลาการรอเหลือเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ ระบบรู้ทันทีว่าเราต้องการให้ไปรับไปส่งที่ไหน ด้วยราคาที่ไม่แพงมากนัก การมีรถอัจฉริยะของตัวเองก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น

ด้านต่อไปคือเรื่องความปลอดภัย การนั่งรถแท็กซี่หรือบริการรถรับ-ส่งต่างๆ ตราบใดที่รถยังใช้คนขับก็อาจมีความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ หรือที่เรียกว่า human error อุบัติเหตุเฉี่ยวชน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ก็ยังมีความเป็นไปได้ พูดง่ายๆ คือเราไว้ใจฝีมือการขับรถของเรามากกว่าคนอื่น แต่ถ้าเป็นรถอัจฉริยะ ความปลอดภัยในการขับขี่ก็น่าจะพอๆ กัน ไม่ว่าเราจะมีรถอัจฉริยะเป็นของตัวเองหรือไม่ เพราะถ้าถึงตอนนั้น ระบบควบคุมการขับขี่ก็สามารถอัพเดตได้ตลอดเวลา เหมือนที่เราอัพเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือผ่านอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

ในด้านความเป็นส่วนตัว การขึ้นรถแท็กซี่หรือรถจากบริการ ride-hailing ก็ไม่เหมือนรถของเรา หากเป็นรถอัจฉริยะของเรา เราจะรู้สึกคุ้นเคย หยิบจับใช้สอยสิ่งของได้ถนัดกว่าเป็นรถของคนอื่นที่หมุนเวียนกันมารับ-ส่งเรา ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน หากมีการจัดการแบบใหม่หรือเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่ารถที่มารับ-ส่งเป็นรถของเราจริงๆ ก็อาจทำให้ผู้ใช้สบายใจและอยากใช้มากขึ้น

อุปกรณ์ VR (Virtual Reality) หรือ AR (Augmented Reality) รวมถึงซอฟต์แวร์พิเศษที่มากับอุปกรณ์เหล่านี้ จะช่วยให้ความรู้สึกหรือประสบการณ์การนั่งรถมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น กราฟิกหรือ interface ที่อยู่ในรถอัจฉริยะจะถูกปรับแต่งตามความต้องการของเรา เช่น ผู้ให้บริการรถอัจฉริยะอาจวิเคราะห์ข้อมูลจากโลกโซเชียล แล้วพบว่าเรากำลังติดตามรายการทีวี หรือ video streaming รายการหนึ่ง พอขึ้นรถมาก็อาจมีตัวเลือกให้ติดตามรายการตอนล่าสุดโดยที่เราไม่ต้องหาเลย หรืออาจเปิดเพลงที่เราเคยชอบในปีที่แล้ว เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญในวันนั้นๆ หากบรรยากาศในรถสามารถควบคุมเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้โดยสาร โอกาสในการคิดค้นบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ก็ย่อมมีมากเช่นกัน

ถ้าไม่ต้องซื้อรถอัจฉริยะ แต่ใช้บริการรถแบบนี้เป็นรายเดือนหรือตามระยะทาง โลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

นอกจากเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งาน ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว เหตุผลที่เราเลือกซื้อรถในปัจจุบันยังเกี่ยวเนื่องกับภาพลักษณ์ที่เราอยากสื่อสารกับคนภายนอกอีกด้วย พูดง่ายๆ คือเพิ่มเติมอัตลักษณ์ของตน และให้คนที่มองเห็นมีภาพจำในแบบที่เราต้องการ การมาถึงของรถยนต์อัจฉริยะอาจทำให้เราไม่สามารถขับรถฉวัดเฉวียนตามใจได้เหมือนเก่า เพราะรถต้องสื่อสารกับระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าการเดินรถปลอดภัย ไม่กระทบกับการเดินทางของรถอัจฉริยะคันอื่น ความสุขใจจากการได้เหยียบคันเร่ง เห็นเข็มความเร็วรอบที่หมุนขึ้นพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์แผดร้อง ก็จะจางหายไป

แต่อีกด้านหนึ่งคือผู้โดยสารก็จะได้ความสะดวกสบายมาทดแทน ไม่ต้องคอยเหยียบเบรกเวลารถติดจนเมื่อย บริษัทผู้ผลิตหรือให้บริการรถอัจฉริยะอาจต้องคิดวิธีหรือโมเดลใหม่ให้กับลูกค้า เพื่อตอบโจทย์เรื่องอัตลักษณ์ของแต่ละคนด้วยวิธีอื่น ตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการตอบโจทย์นี้คือค่ายรถหรูชื่อ Cadillac ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทดลองบริการใหม่ คือให้ลูกค้าเช่ารถโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือน ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาหรือประกันต่างๆ สามารถเลือกรถรุ่นไหนก็ได้ ทั้งรถเก๋ง รถ SUV เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานและ ‘แบรนด์’ ของลูกค้าในแต่ละวัน

จากคำถามเล่นๆ ที่ว่า เราต้องซื้อรถยนต์อัจฉริยะหรือไม่ ในตอนหน้าจะเป็นการขยายความว่าถ้าเราไม่ต้องซื้อรถยนต์อัจฉริยะ มันจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร

Tags: , , , , , , , , , , , , ,