Moody’s Analytics ทีมวิเคราะห์ของบริษัทจัดอันดับเครดิตได้ประมาณการว่าไฟป่าออสเตรเลียที่โหมกระหน่ำอยู่ในตอนนี้และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงนั้น คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขมูลค่าความเสียหายจากไฟป่าครั้งใหญ่ในชื่อเหตุการณ์ ‘วันเสาร์สีดำ (Black Saturday)’ เมื่อปี 2009 โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 173 ราย

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างไฟป่าเมื่อวันเสาร์สีดำและไฟป่าในปัจจุบัน คือการกระจายตัวของไฟซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่มีประชากรหนาแน่นต่ำแต่กินพื้นที่กว้างถึง 64.5 ล้านไร่ หรือเทียบเท่ากับประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำลายอุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยว รวมถึงผลักให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรสดใหม่พุ่งสูงขึ้นซึ่งจะสะท้อนในดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวชี้วัดค่าครองชีพ

มลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นอาจกระทบประชากรถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในออสเตรเลีย ส่งผลต่อผลิตภาพในการทำงาน เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ลดผลผลิตทางการเกษตร ยังไม่นับความเสียหายที่ยากจะประเมินมูลค่าจากชีวิตสัตว์ป่าน้อยใหญ่จำนวนมหาศาลที่ตายในกองเพลิง

กราฟแสดงความผิดปกติทางภูมิอากาศ เปรียบเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง ค.ศ. 1961–1990 ภาพจากรายงาน State of The Climate 2018

หลายสำนักข่าวหยิบแผนภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 100 ปีจากกรมอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่น้อยผิดปกติในปีนี้ สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งมากขึ้น ทำให้นักสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือ ‘บทเรียน’ ของมนุษยชาติว่าด้วยราคาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่สาเหตุเดียวของไฟป่า และไฟป่าแทบจะเป็นเรื่องปกติในฤดูร้อนของออสเตรเลีย แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นคำอธิบายเดียวที่มีน้ำหนัก โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีโอกาสเกิดไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น และคาดว่าจะมีเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่เช่นนี้อีกหลายครั้งก่อนจะสิ้นศตวรรษ

ขณะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไฟป่าออสเตรเลียเป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังในโลกออนไลน์ เมื่อราวต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรื่องเล่าใหม่ก็แพร่กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต โดยกล่าวโทษว่าสาเหตุของไฟป่านั้นเกิดจากการวางเพลิง ส่วนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือเรื่องลวงโลก ภายใต้แฮชแท็ก #ArsonEmergency

เรื่องเล่าดังกล่าวได้สะพัดไปโดยไม่ได้จำกัดวงอยู่ในออสเตรเลีย โดยมีคนดังฝั่งขวาจากต่างแดนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (Donald Trump Jr) รีทวีตข้อความ กระทั่งในประเทศไทย การโจมตีมือวางเพลิงดูจะกลายเป็นเรื่องเล่าที่ได้รับความนิยมและเข้าใจง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นทุนเดิม (อ่านเรื่องสภาวะโลกร้อนเพิ่มเติมได้ที่ จับเข่าคุยกับคนไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน)

สรุปแล้วอะไรคือความจริง? ผู้เขียนชวนมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันครับ

#ArsonEmergency ไฟป่าเกิดจากมือเพลิง 183 คน?

กระแส ‘มือเพลิง’ ที่สะพัดทั่วอินเทอร์เน็ตระบุว่า ตำรวจได้เข้าดำเนินคดีกับมือเพลิง 183 คน บางสำนักข่าวระบุโดยใช้คำว่า ‘มือเพลิงถูกจับกุมเกือบ 200 คน’ โดยอ้างถึงแถลงการณ์โดยรัฐนิวเซาธ์เวลส์ (New South Wales) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2020 แม้ตัวเลขดังกล่าวจะถูกต้องแม่นยำ แต่คำว่ามือเพลิงนั้นเป็นการกล่าวเกินจริง

ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่ามีเพียง 24 คนเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาจงใจเผาป่า 53 รายโดนข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎห้ามจุดไฟเด็ดขาด (เช่น มีหญิงคนหนึ่งถูกจับเนื่องจากจุดไฟเพื่อชงชา) ส่วนอีก 47 รายโดนข้อหาทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังติดไฟ จะเห็นว่ารายละเอียดในแถลงการณ์นั้นดูห่างไกลจากข่าวออนไลน์ที่สะพัดไปราวกับว่ามีเครือข่ายมือเพลิงร่วมกันก่อการร้าย

ทั้งหมดคงเป็นเพียงความเข้าใจผิดจากชื่อแถลงการณ์โดยหน่วยงานภาครัฐ แต่การวิเคราะห์โดย ดร.ทิโมธี เกรแฮม (Dr. Timothy Graham) อาจารย์ด้านการวิเคราะห์โซเชียลเน็ตเวิร์ก จากบัญชีทวิตเตอร์ 315 บัญชีที่ทวีตโดยใช้แฮชแท็ก #arsonemergency จำนวน 1,340 ทวีต พบว่ามีแนวโน้มที่บัญชีเหล่านั้นอาจเป็นบอตหรือโทรลในโลกออนไลน์ โดยบางข้อความกล่าวหาฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสภาฯ ว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้ายสิ่งแวดล้อม’ และอยู่เบื้องหลังการวางเพลิงดังกล่าว

โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ หนึ่งในคนดังที่รีทวีตข่าวลวงเรื่องการจับกุมมือวางเพลิง 183 ชีวิต ภาพจาก Twitter

กระแสดังกล่าวถูกกระพือโดยนิวส์คอร์ป (News Corp) สื่อยักษ์ใหญ่ฝั่งขวาที่พยายามผลักปัญหาออกจากสก็อตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) นายกรัฐมนตรีอนุรักษนิยม รวมถึงเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยชูประเด็น ‘มือเพลิง’ ว่าเป็นสาเหตุของไฟไหม้ครั้งใหญ่ แม้ว่าทางการจะได้ออกมาแถลงแล้วว่าไฟไหม้ส่วนใหญ่นั้นมีสาเหตุจากฟ้าผ่า ส่วนเพลิงไหม้ที่เกิดจากการจุดไฟโดยมนุษย์ถือว่าเป็นส่วนน้อย

ภายหลังข่าวลวงดังกล่าวแพร่สะพัด ก็มีสำนักข่าวหลายแห่งออกมาตอบโต้และตีแผ่ข้อเท็จจริงเรื่องมือเพลิงและทฤษฎีสมคบคิดเรื่องผู้ก่อการร้ายสิ่งแวดล้อม แต่หลายคนก็เลือกที่จะเชื่อข่าวดังกล่าวมากกว่าข้อเท็จจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่ค่อนข้างแข็งกร้าวโดยยืนกรานจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมถ่านหิน สินค้าส่งออกหลักของออสเตรเลีย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับวิกฤติไฟป่าออสเตรเลีย

รายงานสภาพภูมิอากาศประจำปี 2018 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียฉายภาพที่ชัดเจนว่า นับตั้งแต่ปี 1910 อุณหภูมิเฉลี่ยของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส และเผชิญกับคลื่นความร้อนที่บ่อยครั้งขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยายังได้กล่าวเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นส่งอิทธิพลต่ออุณหภูมิ ระดับความชื้นในสภาพแวดล้อม รูปแบบภูมิอากาศ และสภาพเชื้อไฟ ซึ่งมีผลต่อความถี่และความรุนแรงของไฟป่าในออสเตรเลีย

ในฤดูไฟป่าครั้งที่ผ่านมา ออสเตรเลียเผชิญกับภาวะฝนแล้งโดยเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวไปมาสองด้านของน้ำอุ่นในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Dipole หรือ IOD) แบบบวก (Positive) มีการศึกษาพบว่าภาวะบวกแบบสุดขั้วของ IOD จะเกิดบ่อยครั้งยิ่งขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งใช้ข้อมูลการเกิดไฟป่าในรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี 2018 โดยได้ข้อสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์จะทำให้โอกาสเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว เช่นเดียวกับรายงานโดยโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2018 ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่สภาพอากาศที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า อีกทั้งพบแนวโน้มการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อนหรือเร็วกว่านั้นโดยเฉพาะฝั่งทางตอนใต้และตะวันออกของออสเตรเลีย

คงไม่ถูกต้องนักหากจะบอกว่าวิกฤติไฟป่าออสเตรเลีย ‘เกิดจาก’ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยมากมายหลายหลากเป็นองค์ประกอบ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า อุทกภัย หรือภัยแล้ง เกิดบ่อยครั้งขึ้นโดยความถี่ในปัจจุบันคือ ‘มาตรฐานใหม่’ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต หากเรายังไม่ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

คำอธิบายทางฝั่งวิทยาศาสตร์อาจจะ ‘เคี้ยวยาก’ หากเทียบกับข่าวลวงซึ่งตรงไปตรงมาว่าไฟป่าเกิดจากเครือข่ายนักวางเพลิง ผู้เขียนคงไม่ตำหนิหากใครจะตั้งคำถามอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไฟป่า แต่ในทางกลับกัน เราก็ควรตั้งคำถามอย่างถี่ถ้วนเช่นกันว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ที่เราจะเชื่อว่านักวางเพลิง (ที่ถูกจับกุม) จำนวน 23 คนจะเป็นสาเหตุของไฟป่าขนาดเท่าประเทศเกาหลีใต้ 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Bots and trolls spread false arson claims in Australian fires ‘disinformation campaign’

Police contradict claims spread online exaggerating arson’s role in Australian bushfires

How Rupert Murdoch Is Influencing Australia’s Bushfire Debate

Australia’s Wildfires Spark Disinformation Battle As They Take A Tragic Toll

Climate change: Australia fires will be ‘normal’ in warmer world

The Crucial Lessons From Australia’s Wildfires

Explainer: what are the underlying causes of Australia’s shocking bushfire season?

As Fires Rage, Australia Sees Its Leader as Missing in Action

Why Australia in Burning?

 

Fact Box

Tags: ,