ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) คือความท้าทายที่ทั่วโลกจะต้องร่วมกันรับมือ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์เห็นต้องตรงกันว่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจก เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล นำไปสู่ภาวะเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และค่อยๆ พาโลกเราเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทีละก้าว

แต่เมื่อมีคนส่วนใหญ่ ก็ย่อมมีคนส่วนน้อย

คนส่วนน้อยที่ว่า คือกลุ่มผู้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Denier) โดยมีตัวอย่างคนสำคัญที่เราคงคุ้นหูคุ้นชื่อกันดี นั่นคือโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกานั่นเอง โดยล่าสุดกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็น “โกหกคำโต” ที่ประดิษฐ์โดยประเทศจีน ยังไม่นับการระบุว่ากังหันผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และอื่นๆ อีกมากมาย

ผู้เขียนขออำนวยความสะดวกหากต้องพบปะกับผู้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าจะมีแนวทางในการรับมืออย่างไร และโน้มน้าวอย่างไรให้คนเหล่านั้นกลับใจ ในเบื้องต้น เรามาทำความรู้จักกลุ่มคนเหล่านั้นกันก่อนดีกว่าครับ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่ามีการศึกษาเหล่าผู้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ชิ้นหนึ่งที่ศึกษาโดยคณาจารย์จากสองมหาวิทยาลัยในสวีเดน ได้ทบทวนวรรณกรรมด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2533 ถึง 2558 แล้วนำมาสรุปเป็นประเภทของเหล่าผู้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามกรอบคิดซึ่งริเริ่มโดย สตีเฟน ราห์มสตอร์ฟ (Stefan Rahmstorf) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นจริง

สำหรับกลุ่มนี้มองว่าสภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่ได้เกิดขึ้น ส่วนอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการแปรปรวนของสถานีวัดอุณหภูมิ เช่น ตั้งอยู่ในเขตเมืองซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) 

แนวทางการรับมือ: อดทนและอธิบายด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

เราอาจได้ทราบข่าวความร้อนทุบสถิติใหม่ในหลายประเทศ หรือคลื่นความร้อนที่เข้าจู่โจมประเทศเมืองหนาวระลอกแล้วระลอกเล่า แต่เราอาจไม่เคยเห็นแผนภาพแสดง ‘แนวโน้ม’ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ชัดเจนนัก โชคดีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซ่าได้ทำการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ พ.ศ. 2423 จวบจนปัจจุบัน จะเห็นว่าอุณหภูมินั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้น 0.8 องศาเซลเซียส

แผนภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ พ.ศ. 2423 จวบจนปัจจุบัน (จุดสีแดง) ภาพจากองค์การนาซ่า

นอกจากนี้ เรายังมีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ บนผืนโลก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิพื้นผิวมหาสมุทรจนถึงความลึก 700 เมตร ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.4 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ พ.ศ. 2512 การสูญเสียพื้นที่น้ำแข็ง เช่น กรีนแลนด์ ซึ่งน้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้น 2.86 แสนล้านตันต่อปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2536 

แน่นอนว่าทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่าในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นราว 9.3 เซนติเมตร ตัวเลขนี้อาจจะดูไม่มากเท่าไร แต่ลองจินตนาการว่าผ่านไปสักหนึ่งศตวรรษ ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงถึงค่อนเมตรซึ่งทำให้บางพื้นที่ที่ติดทะเลอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้ 

แผนภาพแสดงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลตั้งแต่ พ.ศ. 2538 จวบจนปัจจุบัน (จุดสีแดง) ภาพจากองค์การนาซ่า

2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์

กลุ่มที่สองเชื่อว่าสภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับกิจกรรมของมนุษย์ แต่เป็นภาวะธรรมชาติของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกยุคทุกสมัย บางรายมองว่ามนุษย์ไม่ใช่ตัวการหลักในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีสาเหตุทางธรรมชาติอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว หรือแม้แต่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้โลกร้อน แต่ภาวะดังกล่าวมีที่มาจากสาเหตุทางธรรมชาติอื่นๆ เช่น รังสีจากแสงอาทิตย์ ฯลฯ

แนวทางการรับมือ: อดทนและอธิบายด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

เราอาจคุ้นหูกับภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งถูกค้นพบมานานร่วมศตวรรษ ภาวะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของระบบทำความร้อนของโลก เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องลงมายังผิวโลก พลังงานบางส่วนจะถูกสะท้อนกลับออกไปสู่อวกาศ แต่ความร้อนบางส่วนจะถูกกักเก็บไว้ด้วยแก๊สเรือนกระจก อาทิ ละอองน้ำ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และที่เราคุ้นหูกันในปัจจุบันคือคาร์บอนไดออกไซด์

แน่นอนว่ากระบวนการกักเก็บความร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นบนโลกก่อนมนุษย์ถือกำเนิดมานานนม แต่จุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตพลังงาน กิจกรรมดังกล่าวของมนุษย์ได้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากเกินกว่าระดับปกติตามธรรมชาติ อีกทั้งยังทำลายกระบวนการดูดซับลงสู่พื้นดินโดยทำลายพื้นที่ป่าและทดแทนด้วยเมืองหรือแปลงเกษตร ทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในชั้นบรรยากาศมากกว่าในอดีตและนำไปสู่ภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงขึ้นในท้ายที่สุด

รายงานการประเมินผลฉบับที่ 5 ซึ่งเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2557 โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กว่า 1,300 ชีวิตจากแทบทุกประเทศทั่วโลกสรุปว่ามีโอกาสมากกว่าร้อยละ 95 ที่กิจกรรมของมนุษย์ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น โดยมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มจาก 280 ส่วนในล้านส่วน (Parts Per Million: PPM) เป็น 400 ส่วนในล้านส่วนในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา

มีการศึกษางานวิชาการซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกว่า 12,000 ชิ้นที่ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2534 ถึง 2554 พบว่าร้อยละ 97 ของนักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นตรงกันว่าภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์ ล่าสุด ผู้นำการวิจัยชิ้นดังกล่าวได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian ว่า อัตราส่วนในปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 99 แล้ว

ถึงตรงนี้ เหล่าผู้ปฏิเสธว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์อาจยักไหล่ แล้วเถียงคอเป็นเอ็นว่านี่ไง “ก็ยังไม่ได้ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่หรอว่าเกิดจากมนุษย์” ก่อนจะยิ้มมุมปาก

อย่าโกรธนะครับ ทำใจให้นิ่งไว้ ยักไหล่ แล้วอธิบายถึงพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer) ที่ยับยั้งการปล่อยสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC ที่เป็นสาเหตุในการทำลายชั้นโอโซน โดยประเทศทั่วโลกต่างลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวใน พ.ศ. 2530 และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมที่ร่วมผลักดันให้การยับยั้งสาร CFC ประสบความสำเร็จ 

หลายคนอาจไม่ทราบว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันถึงความเสี่ยงจากการที่สาร CFC ทำลายชั้นโอโซนในขณะนั้นไม่ได้หนักแน่นเท่าไรนัก หากเปรียบเทียบกับผลงานวิจัยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน แต่ในมิติของความเสี่ยงและผลกระทบ เราไม่จำเป็นต้องมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว เพราะหากเรามัวแต่รอหลักฐานที่สมบูรณ์แบบ ก็อาจจะสายเกินแก้ไข

อ้อ ผมลืมบอกไปเลยว่า แนวคิดที่โทษความผิดปกติจากดวงอาทิตย์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นนั้น ทางองค์การนาซ่าได้ศึกษาแล้วพบว่าความผันผวนของรังสีไม่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนพื้นผิวโลก ดังนั้นสมมติฐานนี้ถือว่าตกไป

แผนภาพแสดงปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ (เส้นสีเหลือง) กับอุณหภูมิ (เส้นสีแดง) ตั้งแต่ พ.ศ. 2423 จวบจนปัจจุบันจะเห็นว่าแทบไม่มีความสัมพันธ์กัน ภาพจากองค์การนาซ่า

3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เลวร้ายอะไร และอาจเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำ

อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นประโยชน์กับกลุ่มประเทศที่หนาวเย็น เช่น สามารถเพาะปลูกได้มากขึ้น หรือมีสภาพอากาศที่สบายขึ้น แต่นี่เป็นเพียงมุมมองแคบๆ เท่านั้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ไม่ได้มีเพียงอุณหภูมิที่สูงขึ้นเท่านั้น

แนวทางการรับมือ: อดทนและอธิบายด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

หากมองในมิติของทั่วโลกแล้ว สภาวะโลกร้อนเป็นปัญหามากกว่าสร้างประโยชน์ เนื่องจากประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรจะร้อนเกินกว่าจะเพาะปลูกหรืออยู่อาศัยได้ อีกทั้งน้ำแข็งที่ละลายยังทำให้หลายเมืองใหญ่ หรือแม้แต่บางประเทศไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ที่สั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลก 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังทำให้แนวโน้มภัยธรรมชาติเกิดบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม พายุเฮอร์ริเคนและไต้ฝุ่น หรือกระทั่งแผ่นดินไหว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่าการละลายของน้ำแข็ง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่างมีผลให้เกิดภัยธรรมชาติทั้งสิ้น

จำนวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก แยกตามประเภทต่างๆ ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง ดินถล่ม แผ่นดินไหว และสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ภาพจาก Our World in Data

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นเพียงการคาดทำนาย เพราะปัจจุบัน ระดับอุณหภูมิยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจนสร้างผลกระทบรุนแรงมากนัก แต่หากเรายังไม่หยุดยั้งการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉกเช่นในปัจจุบัน และเดินหน้าปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไปโดยไม่รู้สึกรู้สา ปัญหาอาจไม่ได้แสดงตัวในยุคสมัยของเรา แต่ลูกหลานอาจตราหน้าว่าเราได้ทิ้งมรดกคือวิกฤติธรรมชาติให้ไว้ ทั้งที่มีทางแก้ไขกองอยู่ตรงหน้า

นี่คือแนวทางเบื้องต้นในการรับมือ และพยายามเปลี่ยนความคิดของกลุ่มผู้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากใครเจอคำถามแปลกๆ จากคนกลุ่มนี้ ก็นำมาแชร์กันได้นะครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Climate and environmental science denial: A review of the scientific literature published in 1990-2015

Sean Davis: What Can We Learn From The Global Effort To Save The Ozone Layer?

Global Climate Change – Vital Signs of the Planet

Wait, Why Is Climate Change A Bad Thing?

What the World Would Look Like if All the Ice Melted

Weather-related disasters are increasing

Tags: