ตอนมาถึงบาอิคบาอิค ร้านอาหารไทยสไตล์บาหลี ย่านดอนเมือง โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินนักวาดภาพประกอบ นักเขียน กำลังยืนคุมงานทาสีอยู่กับช่าง รูปร่างสูงโปร่งในชุดเสื้อยืดธรรมดา กางเกงขาสั้น ต่างจากภาพที่ผมมักเห็นเขาตามสื่อ ตามงานอีเวนต์ต่างๆ
โอ๊ตเชื้อเชิญผมและช่างภาพเข้าไปนั่งรอในร้านกาแฟแอร์เย็นฉ่ำภายในบริเวณเดียวกัน ก่อนจะขอตัวไปคุยงานกับช่างอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นไม่นานก็กลับเข้ามาทักทายพวกเราอีกครั้งในร้านกาแฟ หย่อนร่างลงบนเก้าอี้ พิงพนักลงไปเต็มหลัง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นไขว่ห้าง ดูมีความเหนื่อยล้าเล็กน้อยในดวงหน้าและแววตา ก่อนเล่าว่า กำลังเตรียมร้านเพื่อจัดงานฉลองครบรอบ 14 ปี ของร้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นร้านของครอบครัวเขาเอง
หลังสนทนากันเล็กน้อย เขาพาเราเดินชมบริเวณรอบๆ ร้านอาหารบนพื้นที่ขนาด 1 ไร่ เส้นแสงยามบ่ายส่องผ่านแมกไม้อันร่มรื่น ตกกระทบบนสถาปัตยกรรมแบบบาหลี ให้ความรู้สึกที่อ่อนโยนกว่ารูปลักษณ์อันแข็งกระด้าง ผมรู้สึกสงบอย่างประหลาด เสียงน้ำกระเซ็นจากบ่อน้ำพุเล็กๆ ผสานกับเสียงดนตรีแจ๊ซที่แว่วแผ่วเบา ราวกับจะชำระล้างจิตใจให้สะอาด
เขาพาเรามาหยุดที่แกลเลอรีโพธิสัตวา บริเวณด้านหลังที่เป็นพื้นที่ของบ้านพักอาศัย ภายในสถานที่ที่เขาตั้งใจให้เป็นแกลเลอรี LGBT ขนาดย่อมแห่งนี้ จัดแสดงผลงานจากนิทรรศการล่าสุดของเขาอย่าง ‘สรงประภา Reclining Queer Nude’ ภาพวาดนู้ดเกย์คนไทยด้วยสีพาสเทล 22 คนตามไพ่ทาโรต์ 22 ใบ แขวนประดับอยู่รอบห้องอย่างเงียบงัน เขาแนะนำผลงานให้ฟังเล็กน้อย ก่อนที่จะขอปลีกตัวไปอาบน้ำ
คล้อยหลังไม่นาน เขาเดินกลับมาอีกครั้ง คราวนี้มาในชุดเสื้อสีดำผ้าเรียบลื่นพร้อมลวดลายที่มีสีสัน กางเกงขายาวสีขาว และตุ้มหูเม็ดโตประดับที่ใบหูด้านขวา
“มา เดี๋ยวพาขึ้นไปดูชั้นสอง” เขากล่าว
1
โอ๊ตพาเราเดินขึ้นบันไดที่มีแสงส่องสลัวๆ ไปชั้นบนของบ้าน ตามรายทางมีของประดับเป็นของสะสมมากมาย เขาเคยเดินทางไปศึกษาต่อและใช้ชีวิตที่ลอนดอน เมืองที่เขาบอกว่าเต็มไปด้วยตลาดขายของเก่า สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกเล่าอยู่ในหนังสือที่เขาเขียน
“เราชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่อยู่ในของเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรียนพิพิธภัณฑ์ เพราะเราชอบการเล่าเรื่องและแรงบันดาลใจที่มาจากของเก่า”
เขาพาเราเดินออกไปยังระเบียงด้านนอก มีสำรับไพ่ทาโรต์วางอยู่ใกล้ๆ มีตู้เก็บของสะสมเก่าของคุณพ่อ เรานั่งกันอยู่ท่ามกลางบรรยากาศยามบ่ายใต้ชายคา และลมเอื่อยๆ จากพัดลมเก่า
“เปิดร้านอาหารมา 14 ปี เราเพิ่งเคยไปบาหลีเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วนี่เอง” เขาเอื้อมมือไปรินน้ำเปล่าลงแก้วยื่นมาให้ผม
“แต่ไปแล้วเราชอบมาก มันมีจิตวิญญาณ มีความมูเตลู พลังงานมันดีมาก เราเป็นคนเชื่อเรื่องพลังงานอยู่แล้ว ก็เลยตกหลุมรัก พอกลับมาก็จริงจังเลย มีการตั้งศาลพระพิฆเนศด้านหน้า ที่นี่เลยมีอิทธิพลความเป็นเอเชียนและความเป็นของเก่ารวมๆ กัน”
ผมถามไปว่า ของสะสมชิ้นแรกของเขาคืออะไร?
“Wow, Very good question” เขายกมือมาเกยคาง ครุ่นคิดเล็กน้อย ก่อนรำพึงกับตัวเองเบาๆ “ตอบว่าไพ่ได้ไหมนะ…”
โอ๊ตเล่าว่าเขาอินกับสิ่งพิมพ์ที่เป็นไพ่ รูปบนไพ่ และความหมายที่ซ่อนอยู่มาตั้งแต่เด็ก จึงเลือกสะสมไพ่ และเคยทำสำรับไพ่ทาโรต์ของตัวเอง ทุกวันนี้เขายังคงสะสมไพ่ทาโรต์อยู่ ในรูปแบบที่ศิลปินนักวาดภาพเป็นผู้ทำ หรือแบบที่นำภาพของศิลปินระดับโลกมาทำเป็นไพ่ทาโรต์
“ด้วยความที่เราชอบเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วย พอมาผนวกกับระบบความหมายของไพ่ เราก็เลยสนใจไพ่มาตลอด เมื่อก่อนเล่นไพ่ซัมมอนเนอร์ด้วยนะ รู้จักไหม” เขาหัวเราะ ขณะหันมาถามผม
ซัมมอนเนอร์ มาสเตอร์ (Summonner Master) คือการ์ดเกมที่ผลิตในประเทศไทย เน้นการวางแผน สร้างกลยุทธ์ ตัวละครหลายๆ ตัว และศัพท์ต่างๆ ในการ์ดล้วนมีที่มาจากตำนาน เทพนิยาย ตลอดจนเรื่องเล่าของหลากหลายชาติ เกมการ์ดชนิดนี้โด่งดังมากเมื่อสิบกว่าปีก่อน บางชนิดมีการสะสมและซื้อขายกันในราคาสูง โอ๊ตเคยใฝ่ฝันอยากเป็นนักวาดภาพบนการ์ดซัมมอนเนอร์มาก ปัจจุบันเขามีโอกาสวาดไปแล้ว 5 ใบ
คนที่รู้จักโอ๊ตจะรู้ว่าเขาชอบเรื่องโหราศาสตร์และการดูดวง เขาเป็นสมาชิกชมรมโหราศาสตร์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ 10 ขวบ เป็นสมาชิกชมรมดูดวงตอนที่ยังเรียนอยู่ และดูดวงให้กับเพื่อนฝูงรวมถึงคนรู้จักมาตลอด จนกระทั่งช่วงหนึ่งที่เขาเลือกหยุดดูไปพักใหญ่ เพราะเคยดูดวงให้คนรู้จักเรื่องอุบัติเหตุแล้วเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นจริง
“เราเลยมาตั้งคำถามว่า ดูไปแล้วได้อะไรวะ เราช่วยคนได้จริงหรือเปล่า”
หลังจากนั้นโอ๊ตเลือกไปบวชปฏิบัติธรรม และทำให้เขาได้ค้นพบความหมายของการดูดวงที่เขาคิดว่าสามารถช่วยคนได้
“ถ้าเราดูแล้วแผ่เมตตา ไม่ใช่ดูเพื่อให้แม่น แต่ดูเพื่อชีวิตเขาจริงๆ เราเห็นอะไรก็แนะนำ ด้วยวิธีการพูดที่มีวุฒิภาวะมันช่วยคนได้ระดับหนึ่งจริงๆ เราเลยกลับมาดูใหม่ แต่ดูให้คนรู้จัก ไม่ได้ดูเป็นอาชีพหาเงิน”
เขายกแก้วจิบน้ำเปล่า ก่อนพูดถึงความชอบไพ่ทาโรต์กับวิธีทำงานศิลปะของเขาที่เชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นงานนิทรรศการภาพนู้ดเกย์ไทยอย่าง ‘สรงประภา’ หรือ Eros หนังสือรวมภาพนู้ดและบทกวีที่มีเรื่องของไพ่ทาโรต์มาเกี่ยวข้อง
เมื่อเขาพูดถึงนิทรรศการสรงประภา ผมจึงเริ่มถามถึงความเป็นมาของงานล่าสุดที่แสนโดดเด่น และท้าทายขนบของเขา
เขาวางแก้วน้ำเปล่าในมือลงบนโต๊ะเสียงดังกึก สูดหายใจลึก ตั้งท่าเตรียมเล่า บรรยากาศแปลกพิลึก เหมือนเรากำลังจะเข้าสู่พิธีการอะไรบางอย่าง ผมคิดเช่นนั้น
2
“ปี 2563 เป็นปีที่ดาวเสาร์ ดาวพฤหัส และดาวพลูโตโคจรตรงกัน ตื่นมาวันแรกของปี เรารู้สึกได้เลยว่าปีนี้ต้องหนักมากๆ”
เขาเริ่มลากเส้นเรื่องเล่าด้วยการย้อนเรื่องราวกลับไปก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด โรคร้ายที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนทั้งโลก รวมถึงตัวเขาเอง
“ด้วยความเป็นคนดูดวง เราจึงพอจะเตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง พอโควิดเริ่มปุ๊บ มันเปลี่ยนอย่างรุนแรงมากจริงๆ ตามที่เราคาดไว้”
โอ๊ตเล่าว่าการมาถึงของโควิด ส่งผลให้เขาต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ร้านอาหารที่บ้านก็ต้องประสบปัญหาเพราะไม่สามารถเปิดให้เข้ามานั่งกินในร้านได้ งานที่กำลังทำอยู่ก็ไม่สามารถดำเนินต่อได้ หรือโปรเจ็กต์ใหญ่ที่คิดไว้ว่าจะทำก็ต้องเปลี่ยนไป
“แต่ในแง่หนึ่งมันก็ดี เหมือนเป็นโอกาสให้เรามาทบทวนว่าจริงๆ แล้วชีวิตเราอยากได้อะไร ชีวิตแบบไหนที่เราคิดว่าคือความสุข เพราะก่อนหน้าเราเหมือนหนูถีบจักร ทำงานไปเรื่อยๆ เขียนคอลัมน์ รวมเล่มหนังสือ เขียนชิ้นต่อไป”
เขานิ่งเว้นระยะครู่เล็กๆ และเริ่มเล่าต่อ
“ตอนปี 2562 เราเริ่มทำนิทรรศการที่หอสมุดแห่งชาติ ที่จุฬาฯ พอปี 2563 ต้องหยุดทุกอย่าง มันไม่มีที่ไหนทำโชว์ได้ เราก็คิดว่าแล้วเราจะไปต่ออย่างไร แล้วที่ทำๆ มา อะไรที่มันใช่สำหรับเรา”
โควิดจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจว่าจะเลือกทำสิ่งที่เป็นแพสชันและเป็นความเชื่อมั่นของตนเอง นั่นคือการพูดเรื่อง LGBT
ในความเป็นจริง โอ๊ตนับเป็นศิลปินที่เป็นกระบอกเสียงเรื่องนี้มาแต่ไหนแต่ไร หนังสือ Paris Souvenir ด้วยรัก, จากปารีส ของเขาก็มีการพูดถึงความสัมพันธ์ชายกับชายอย่างเปิดเผย หรือแม้กระทั่งในคอลัมน์งานที่เขาเขียน
“เราไม่เคยปิดบังอะไร” เขายักไหล่ “เรารู้สึกว่า I want to talk about this ประจวบกับช่วงนั้นแกลเลอรีต่างๆ ก็ปิด เราเองอยากทำแกลเลอรีมานานแล้ว อยากจะมีพื้นที่เล็กๆ ที่โชว์งานเราและงานศิลปินที่เราชอบ ทุกอย่างเหมือนเป็นขั้นบันไดให้มาสู่ตรงนี้ เราเลยเปิดแกลเลอรีขึ้นมาที่บ้านของเราเอง”
แกลเลอรีโพธิสัตวาจึงเริ่มเปิดมาตั้งแต่ปี 2563 โดยชื่อแกลเลอรีได้แรงบันดาลใจมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือกวนอิม โอ๊ตอธิบายว่ากวนอิมไม่มีเพศ แต่คนชอบวาดเป็นผู้หญิงเพราะเป็นตัวแทนของความเมตตา
“แต่สำหรับเรา ความเมตตามันไม่มีเพศ” เขาอธิบาย “เราอยากให้สิ่งนี้เป็นปรัชญาหลักของเราที่เราทำด้วยความใส่ใจ ความเห็นใจ ความเมตตา
“แกลเลอรีทาสีเขียวเหมือนเขียวสำริด เรามองแล้วคิดถึงภาพยนตร์เรื่อง Call me by your name ที่เป็นความสวยงามของกรีก แต่นี่คือความสวยงามจากโบราณวัตถุ จากรากเหง้าของสิ่งที่อยู่พื้นที่นี้ ซึ่งสำหรับเรามันคือบอดี้ฟอร์มของผู้ชาย”
หลังจากเปิดแกลเลอรีโพธิสัตวา สิ่งที่โอ๊ตต้องครุ่นคิดคือ โชว์แรกในการเปิดแกลเลอรีจะเป็นงานอะไร เมื่อคิดถึงคอนเซ็ปต์การเป็นแกลเลอรี LGBT ประกอบกับเขากำลังทำงานในซีรีส์ชื่อ ‘สรงประภา’ ที่เป็นการแสดงภาพนู้ดเกย์ผู้ชายไทย 22 คน ที่เขาเป็นผู้วาดเอง เขาจึงเลือกงานนี้เป็นการเปิดประเดิมพื้นที่แห่งใหม่นี้
“สรงคืออาบ ประภาคือแสง รวมกันคือการอาบแสง เราเลือกนายแบบช่วงอายุปลายยี่สิบถึงต้นสามสิบ เพราะมันเป็นการพูดถึงอัตลักษณ์ของเราด้วยไปในตัวว่า เวลาเราวาดรูปนู้ด เราพยายามหาตัวเราในตัวนายแบบหรือเปล่า นายแบบทุกคนจะต้องเลือกไพ่ทาโรต์ที่ชอบ พูดคุยกัน เพื่อจัดแสงในการวาดที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเขา”
โอ๊ตยกตัวอย่างนายแบบคนหนึ่งที่เป็นดาราหนังโป๊ พวกเขามีบทสนทนาร่วมกันถึงเรื่องความขาวดำของวงการหนังผู้ใหญ่ แสงในการวาดจึงถูกจัดให้เป็นสีขาวดำ หรือนายแบบอีกคนที่เป็นหมอดู แสงที่ถูกจัดจึงเป็นแสงสีม่วง ให้รู้สึกถึงความลึกลับ
“เราค่อนข้างคิดว่า หากไม่ใช่ปีที่แล้ว เราคงไม่ได้เปิดแกลเลอรีและทำนิทรรศการแน่ๆ เพราะบ้านเราก็ไกลมาก ไม่รู้ว่าคนจะมาหรือเปล่า แต่ด้วยความที่ทุกอย่างมันมาถึงจุดนี้ เราเลยคิดว่าลองสักตั้งก็ได้
“ในความฉิบหาย ในภาวะไม่ปกติ ก็ทำให้เรามีความกล้าบ้าบิ่นเหมือนกัน
“มันทำให้เรารู้ว่าเรามีกัลยาณมิตรเยอะมากที่เมืองไทย ทั้งวงการศิลปะ นักเขียน ทุกคนมาซัพพอร์ตในระดับที่เราตกใจ ทำให้เห็นว่าความเป็นได้มันมีอยู่” เขายกน้ำเปล่าขึ้นจิบ มีรอยยิ้มผุดบางเบา
“เดี๋ยว” เขาเบรก “เพราะความเหี้ยของปี 2563 ยังไม่จบ”
3
วันเปิดโชว์นิทรรศการสรงประภามีผู้มาเข้าร่วมงาน 200 คน แต่หลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ คุณพ่อของโอ๊ตต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดสมอง
“เราช็อกมาก แต่ก็เตรียมใจระดับหนึ่งว่าปีนี้ต้องเหี้ยได้อีก แล้วมันก็เหี้ยลงจริงๆ” เขาค่อนหัวเราะ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา
หลังเปิดโชว์ในเดือนพฤศจิกายน คุณพ่อของเขาเริ่มพูดไม่ชัด มีอาการพูดซ้ำ พอไปเช็กปรากฏว่าเป็นเนื้องอกในสมอง “ก้อนเท่านี้เลย” เขากำมือและยกขึ้นมาตรงหน้า “เศษหนึ่งส่วนสี่ของสมองเลยนะ มันไปกดตรงฟังก์ชันของการพูด”
“มันยิ่งตอกย้ำไปอีกว่า ชีวิตเรามันสั้นนะ เราอยู่กับคนที่เรารักมากน้อยขนาดไหน งานที่เราทำทุกวันมันเอื้อให้เรามีชีวิตแบบที่อยากมีไหม เราต้องการพิสูจน์อะไรอยู่ มันทำให้เราคิดเยอะมาก กลายเป็นว่าต้องแบ่งเวลาไปดูแลคุณพ่อค่อนข้างเยอะ โชคดีที่เรามีแฟนคอยซัพพอร์ต เขาคอยขับรถพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลตลอด
“แต่ทั้งหมดทั้งปวง เรียกได้ว่าเป็นปีที่เปลี่ยนชีวิตเลยแหละ พอเข้าปี 2564 มันถึงค่อยๆ ปรับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อปีที่แล้ว” เขาสรุป
โอ๊ตเล่าว่าไม่ใช่แค่เรื่องคุณพ่อ แต่การเปิดแกลเลอรีที่บ้านทำให้ช่วงเสาร์อาทิตย์เขาต้องคอยพาคนเข้าชม ซึ่งมีติดต่อมาทุกอาทิตย์ รวมไปถึงเรื่องที่ว่า เขาต้องคิดแล้วว่าสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสารผ่านแกลเลอรี งานแสดง หรือแม้กระทั่งตัวเขาเองในฐานะศิลปินและนักเขียนคืออะไร
“เราโตขึ้น มองเห็นหลายมิติมากขึ้น จุดยืนเราคืออะไร ถ้าเราจะเขียนแนวเดิมอีกจะเขียนประมาณไหน คือคิดเยอะมาก ตอนนี้บทความก็ค่อนข้างเลือกว่าจะเขียนเพื่ออะไร เวลาทุกชั่วโมงมันมีความหมายหมดเลย เราต้องบริหารให้ดี”
เขาถอนหายใจยาว ขยับเลื่อนตัวพิงพนักเก้าอี้
“ชีวิตไม่ได้สนุกลดลง แต่เหนื่อยขึ้น มันเป็นความสนุกคนละแบบ เมื่อก่อนจะคิดว่าเราได้รับการยอมรับไหมนะ เราอยู่เป็นศิลปินเต็มตัวได้ไหมนะ เรากลับมาจากลอนดอน เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม เราต้องการพิสูจน์ตัวเอง แต่พอถึงจุดนี้ เหมือนกดปุ่มสปีดเลย เราจะคิดว่างานนี้ได้เงินเท่าไหร่ ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ไหนจะต้องดูแลตัวเอง ต้องพักผ่อน ต้องแบ่งเวลาอยู่กับคุณพ่อ มันคนละแบบเลย แค่ปีเดียวเอง” พูดจบเขาก็หัวเราะออกมา
เขาหันมาถามผมเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศว่า ผมเจอความเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตบ้างไหม ผมเล่าให้เขาฟังคร่าวๆ เขาตั้งใจฟัง และพยักหน้าตาม
“มันกระทบทุกคน ด้วยความที่ดาวที่โคจรมาตรงกันมันเป็นดาวใหญ่มาก ดาวพฤหัสคือความมั่นคง ดาวเสาร์เป็นกฎระเบียบ แล้วมาเจอดาวพลูโตซึ่งเป็นดาวแห่งความตายและความเปลี่ยนแปลงอีก แล้วเราเป็นคนที่มีดาวเสาร์อยู่ในเรือนที่ 10 ดังนั้นค่อนข้างส่งผลกับเรามากปีที่แล้ว ก็เลย…” เขาถอนหายใจ “แต่ปีนี้ก็ค่อยๆ ดีขึ้น ต้องทำได้แหละ”
4
ผมชวนเขาขยับมาคุยเรื่องศิลปะแบบ Queer art ที่เขาทำ ผมสงสัยว่านอกจากเขาแล้ว ยังมีศิลปินคนอื่นในประเทศไทยที่ทำงานในแนวทางเดียวกันนี้อีกมากน้อยขนาดไหน เขาตอบทันทีว่า “เยอะมาก”
“ศิลปิน LGBT เยอะ แต่ค่อนข้างกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่เป็นเกย์ แต่เลสเบี้ยนหรือทรานส์ยังไม่เห็นประเด็นนี้เยอะเท่าที่ควร อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราอยากจะทำแกลเลอรีโพธิสัตวา และอยากจะซัพพอร์ตศิลปินแนวนี้ ล่าสุดเราไปงาน Bangkok Illustration Fair ที่ happening จัดที่ BACC เราไปเลือกศิลปินมาคนหนึ่ง เป็นเด็กที่ทำ Drag และด้วยความที่เขาเป็นคนต่างจังหวัด เขาก็ไม่ได้มีพื้นที่ที่จะโชว์งาน เขาก็วาดลงโซเชียลฯ เพราะเขาชอบการแต่งหญิง แต่เขาอยู่ต่างจังหวัด เราอยากรู้ว่ามันยากกว่ากรุงเทพฯ ไหม มันเป็นเมสเสจที่เราสนใจ อยากให้เขาเล่าเรื่องพวกนี้”
โอ๊ตเล่าว่าปัจจุบัน Queer art ถือเป็นคลื่นที่น่าสนใจ เขาเชื่อมโยงมันกับเรื่องการโคจรของดวงดาวเมื่อปีที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า ปีก่อนมีการเรียกร้อง การรื้อระบบ หลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมใกล้ตัวและสังคมโลก สำหรับโอ๊ต Queer คือการขบถ การดึงรากบางอย่าง เขาอธิบายว่า หากพูดถึงพื้นเพของเรื่องเพศสภาพ เราจะคิดถึงชายและหญิง แต่ Queer คือเป็นอะไรก็ได้ ต่างจาก LGBT เพราะ Q ไม่ตายตัว วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้อาจเป็นอีกอย่าง
“ความเป็นมนุษย์คือความลื่นไหล มันคือการถอดระบบจาก binary หรือการคิดแบบสองขั้ว” เขาว่า
“ปีที่แล้วเราเห็นว่า Queer art มีการเรียกร้องสิทธิขึ้นมาเยอะมาก แล้วสังเกตว่าคนที่เป็นชาวสีรุ้งจะเป็นแกนนำในการประท้วงทุกอย่าง ม็อบประท้วงรัฐบาล ม็อบสีรุ้งก็โคตรปัง Black Lives Matter พวกเราก็ Stand with Black community เพราะเราถูกกดทุกอย่าง และถูกกดมาตลอด”
“เราพูดตลอดว่า เราเชื่อว่าคนที่เกิดมาเป็น LGBT ซึ่งเราไม่ใช้คำว่าเพศทางเลือก เพราะเราคิดว่า กูไม่ได้เลือกนะ กูเกิดมาเป็นแบบนี้” เขายกมือทาบอก
“เราคิดเสมอว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่พิเศษ มีพลังเหนือธรรมชาติ ถ้าดูในประวัติศาสตร์ ทุกวัฒนธรรม ทางเหนือก็มี อีสานก็มี ใต้ก็มี อินโดฯ ก็มี หรือคนอินเดียนแดง ใครที่เกิดมาเป็นคนสองเพศจะถูกเตรียมให้เป็นหมอผีทันที เพราะเขามีการบาลานซ์พลังงานที่ไม่เหมือนกับคนอื่น แล้วก็ถูกเชิดชูบูชา เป็นที่กราบไหว้ ขอหวย กะเทยจะดูดวงแม่น” พูดจบเขาก็หัวเราะออกมาเต็มเสียง
โอ๊ตบอกว่าในยุคที่ผ่านมา ความเจริญกดคนกลุ่มนี้ตลอด บ้างก็ว่าผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ไม่ถูกต้อง และผลักคนกลุ่มนี้ไปเป็นคนชายขอบ
“เราคิดว่าสังคมชายเป็นใหญ่ค่อนข้างกลัวเพศสภาพหลากหลายที่มีอำนาจมากกว่า หรือแม้แต่ผู้หญิงเขาก็กลัว เขาถึงต้องกดผู้หญิง เพราะผู้หญิงก็เป็นเพศแม่ที่มีอำนาจมากๆ ในการ Run the world”
“ดังนั้นการทำงานที่นี่เราอินมาก เรารู้สึกว่า I’m gonna give back the power ผ่านศิลปะ ผ่านการเล่าเรื่อง ให้เป็นพื้นที่ที่เพศสภาพที่หลากหลายได้เฉลิมฉลองกับมัน”
ผมถามเขาว่า การเป็นศิลปินนักเคลื่อนไหว LGBT ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้และเรียกร้องทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวบ้างไหม ในขณะที่ศิลปิน LGBT คนอื่นอาจเลือกทางที่เสี่ยงน้อยกว่าในการสร้างงานศิลปะเพียงอย่างเดียว เขาผุดรอยยิ้มขึ้นมาทันที และตอบว่า “ไม่โดดเดี่ยว”
“มีหลายคนที่ทำร่วมกับเรา มีคนที่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรและคอยซัพพอร์ต ส่วนคนที่ไม่พูดเรื่องเพศสภาพตัวเองเราก็เคารพเขานะ เพราะแต่ละคนก็มีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน”
เขาเว้นคำพูดเล็กน้อย ก่อนเริ่มพูดอีกครั้งด้วยน้ำเสียงและแววตาที่จริงจังขึ้น
“แต่ถ้าถามเรา ศิลปะที่ดีคือต้องซื่อสัตย์ ยิ่งถ้าคุณเป็นเพศที่หลากหลาย เราแม่งต้องเจอกับแรงกดดันทุกวัน เราออกไปนอกบ้านมีเด็กเดินมาถามว่าผู้ชายหรือผู้หญิง จะเข้าห้องน้ำ จะไปฉี่ก็ต้องคิด บางคนตื่นมาที่บ้าน พ่อแม่ก็ถามเมื่อไหร่จะแต่งงาน คือความอึดอัดมันมีอยู่ตลอดในคนกลุ่มนี้ ฉะนั้น เวลาคุณสร้างศิลปะ คุณไม่ได้สร้างในสุญญากาศ มันเป็นไปไม่ได้ที่เพศสภาพคุณจะไม่ส่งผลกระทบกับคุณเลย ถ้างานคุณซื่อสัตย์นะ
“ถ้าสังคมมันถึงจุดที่ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน มองข้ามเพศไป แม่งไม่ต้องมีหรอก Queer art ไม่ต้องมีหรอกแกลเลอรี LGBT เพราะทุกคนเท่าเทียมกันหมด แต่ตอนนี้ยังไม่เท่าไง”
เขาผุดยิ้มอ่อนๆ อีกครั้ง
“พอคุณเป็นเกย์ พ่อแม่คุณยังไม่เชื่อว่าคุณมีความสุขได้จริงๆ เลย คนก็มองเป็นแค่สีสัน แต่ในใจลึกๆ ยากมากที่เขาจะเชื่อว่าพวกเราจะมีความสุข เพราะเขาไม่ชิน มันไม่เคยมีภาพหรือศิลปะที่เสนอว่า ชีวิตเกย์ เลสเบี้ยน หรือทรานส์มีความสุขได้นะ ในระยะยาว มันมีคนที่เขาอยู่ด้วยกันจนแก่ตัวจริงๆ แต่แน่นอนกฎหมายก็ไม่รองรับอีก
“เราคิดว่ายังผลักดันไปต่อได้อีก ยังไม่ยอมแพ้ สู้กันไป”
5
เรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยในยุคที่ทุกคนต้องการความตรงไปตรงมา ศิลปะแบบการซ่อนนัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และในอนาคตมันจะหายไปหรือไม่
โอ๊ตเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง เขาบอกว่าศิลปะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับคนเสพ ดังนั้น หากสังคมเปลี่ยน ศิลปะก็ต้องเปลี่ยน
“เราจะแช่แข็งอยู่กับรูปพระ รูปนางรำไปตลอดก็ไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบนะ เราชอบมาก หนึ่งในแรงบันดาลใจหลักเราคืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต หรือศศิวิมล ซึ่งวาดผู้ชายสวยมาก” เขาเน้นคำพูด ผมสัมผัสได้ว่าเขาหลงใหลอย่างแท้จริง
“งานแบบนี้ก็จะมีที่ทางของตัวเอง เช่นเดียวกับงานร่วมสมัยที่ตอบรับเพื่อสังคม ดังนั้นถ้าคนเปลี่ยน ศิลปะก็ต้องเปลี่ยนแน่นอน วิธีคิดวิธีพูดอาจจะเข้าถึงง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้เรามีห้างเยอะ งานก็อาจไปอยู่ห้างแทนที่จะอยู่แค่ในหอศิลป์ หรือรัฐบาลเปลี่ยน ระบบเปลี่ยน ศิลปะก็เปลี่ยน เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงออก พอคนเราต้องการแสดงออก อะไรก็ต้องเปลี่ยนไปตามนั้น”
“แล้วงานของคุณจะเปลี่ยนอีกไหมในอนาคต” ผมลองถาม
“แน่นอน เปลี่ยนตลอด” เขายิ้ม “การไม่เปลี่ยนแปลงคือการตาย เราคิดว่า ในเรื่องดีของการดูดวงคือเราได้เข้าใจถึงระบบของจักรวาลว่าทุกอย่างเป็นโคจร ไม่มีอะไรตลอดกาล อจีรังวัฏสังขารา มันก็อนิจจา ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน ทุกอย่างเคลื่อนที่ตลอด ดังนั้นเราไม่ยึดติดกับงานเรานะ แค่รู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากพูดวันนี้ แต่ในอนาคตก็แล้วแต่ว่าเราอยากจะพูดอะไร”
“ไม่แน่นะ วันหนึ่งอาจจะถึงวันที่ไม่ต้องพูดเรื่องเพศสภาพแล้ว ไปวาดต้นไม้แทน”
6
“ถ้ามีใครถามว่าช่วงนี้ชีวิตเป็นอย่างไร จะตอบว่าอย่างไร” ผมถามคู่สนทนาเบื้องหน้า ศิลปินผู้ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนประเด็น LGBT ในสังคม
เขาชะงักทันที สูดลมหายใจลึก เอามือเท้าคาง สลับกับเอนร่างพิงพนัก สายตามองเลื่อนไปช่องว่างอากาศตรงหน้า เสียงพัดลมยังดังสม่ำเสมอ มันพัดลมยามบ่ายฤดูร้อนมาเอื่อยๆ เขาใช้เวลาครุ่นคิดนานทีเดียว คล้ายจะขุดลึกลงไปเก็บรวบรวมความทรงจำขึ้นมาประกอบร่างช้าๆ
“เป็นสายรุ้งล่ะมั้ง” เขาเปิดปากในที่สุด “มันคือความสวยงามหลังการผ่านมาของเมฆฝน มันเป็นสีของความภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง อาจจะจับต้องไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี”
เขาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่แข็งแกร่ง แต่แฝงด้วยความอ่อนโยน ซึ่งมันทำให้ผมนึกถึงสถาปัตยกรรมสไตล์บาหลีที่ร้านอาหารของเขาขึ้นมาทันที
Tags: Queer Art, LGBT, โอ๊ต มณเฑียร, at the Moment