พลันที่เธอก้าวฉับผ่านประตูลูกกรงหน้าร้านที่เปิดแง้มไว้เข้ามาอย่างรวดเร็วพร้อมเสียงทักทาย บรรยากาศของร้าน Bamsha Café ที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกเล็กๆ ริมถนนพระสุเมรุอันสงบเงียบก็ดูมีชีวิตขึ้นทันที ราวกับถูกสะกิดให้ตื่นจากอาการเหม่อลอยเซื่องซึมยามบ่าย
‘เอ้’ – กุลจิรา คงทอง ปรากฏตัวในชุดเสื้อยืดสีขาวที่มีตัวหนังสือสไตล์เรโทรพิมพ์ว่า BOOGIE NIGHTS กางเกงยีนส์ขายาวพับปลาย รองเท้าผ้าใบสีดำ ผมดำขลับที่หั่นสั้นเท่าต้นคอทำให้เธอดูทะมัดทะแมง มือข้างหนึ่งหอบกระเป๋า อีกข้างถือสเก็ตบอร์ด เธอเอ่ยทักทายผมง่ายๆ ก่อนวางข้าวของที่เก้าอี้ และเดินเข้าไปทักทายเพื่อนๆ นักดนตรีที่มารวมตัวซ้อมดนตรีกันที่นี่ ซึ่งเป็นร้านของเพื่อนร่วมวง Beagle Hug วงดนตรีที่เธอเล่นอยู่
เธอย้อนกลับมาที่ผมอีกครั้ง หย่อนร่างลงบนเก้าอี้ไม้ติดกับผนังปูนเปลือยฝั่งตรงข้ามของเคาน์เตอร์บาร์ที่มีภาพสเก็ตช์ของเหล่าศิลปินแจ๊ซมีชื่อผู้ล่วงลับหลายคนแขวนห้อยอยู่ในกรอบรูป รอบๆ ร้านทุกพื้นที่ถูกจับจองด้วยเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่ง มีตู้ไม้ที่มีแผ่นเพลงบรรจุเต็มชั้น หนังสือ นิตยสาร กองพะเนิน ท่าทางเป็นกันเองของเธอเข้ากับบรรยากาศร้านอย่างลงตัว
“ขอแต่งหน้าไปด้วยได้ไหม” เธอถามและหัวเราะ ไม่มีปัญหา ผมบอก เธอจัดแจงเอากระจกเล็ก ลิปสติก และที่เขียนคิ้วขึ้นมาวางบนโต๊ะไม้ ก่อนบรรจงหยิบขึ้นมาแต้มแต่งใบหน้า แล้วบทสนทนาของเราก็เริ่มต้นขึ้น
1
เหลือเชื่อที่ได้ยินเธอบอกว่าเป็นคนเงียบและขี้อาย
ผมสนใจบุคลิกของเธอที่อยู่เบื้องหน้า เธอจึงเล่าให้ผมฟัง ในอดีตเธอเป็นคนที่ไม่กล้าร้องเพลงหรือเล่นดนตรีต่อหน้าคนอื่น อยู่บ้านฟังแต่เพลง อ่านหนังสือการ์ตูน แม้กลุ่มเพื่อนของค่อนข้างเฮ้ว แต่คนจะมองว่าเธอเป็นเด็กเรียน เพียงเพราะใส่แว่น “แต่จริงๆ ไม่ได้เรียน เรียนแทบไม่จบ ไม่ได้ส่งงาน ไม่ได้ทำการบ้าน อ่านแต่หนังสือ ฟังเพลง วาดรูป”
เธอเลือกเข้าเรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะความชอบในการร้องเพลง และคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ดีที่สุด ก่อนจะได้เริ่มร้องเพลงกลางคืนจากการชักชวนของรุ่นพี่ ตัดสินใจไปประกวดรายการ The Voice เพราะคำพูดเพื่อนที่ว่าอยากให้ไปร้องเพลงให้คนอื่นเห็น เพื่อโอกาสต่อยอดในการทำงานด้านดนตรี
“พอได้ประกวดก็คิดว่าเวทีน่ากลัวมาก ประมาณว่าถ้าเป็นลมก็เป็นลมออกทีวีเลย” เธอชะงักเล็กน้อยและหัวเราะ “เราขาสั่นมากๆ แต่ต้องกัดฟัน วันนั้นเกือบตาย” พูดจบ เธอก็ยกที่ปัดขนตาขึ้นมาแต่งหน้าต่อ
เธอเล่าเรื่องที่ตัวเองเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยน้ำเสียงราบเรียบ เพราะในช่วงเวลานั้นเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการร้องเพลงกลางคืน ไปขลุกฟังเพลงอยู่ที่ร้าน แฮงก์เอาท์อย่างหนัก จนขาดเรียนในที่สุด “ตอนนั้นเพื่อนๆ เริ่มเป็นห่วงว่าเราไปไหน ทำไมไม่มาเรียน ทุกคนก็จะมองว่า เรานอกคอกหรือเปล่า ไปติดผู้ชาย ติดเหล้ายา หรือเปล่า เราก็บอกว่าเปล่า แค่ชอบกินเหล้า ชอบฟังเพลงเฉยๆ” เธอย่นคิ้วและหัวเราะร่า “เราไม่เสียดายที่ออกจากมหาวิทยาลัยเลย โล่งใจด้วยซ้ำ แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปก็จะเรียนที่เดิม เพราะได้เจอเพื่อน ได้เจอสังคม ได้แจมดนตรี ได้ประสบการณ์ ได้ออกไปเล่นดนตรีข้างนอกกับเพื่อนที่มหาลัย”
เธอเลือกเล่นดนตรีกลางคืนเป็นอาชีพนับตั้งแต่ออกจากมหาวิทยาลัย เคยมีช่วงเวลาที่รับมือกับชื่อเสียงที่เริ่มถาโถมเข้ามาหลังประกวด The Voice ไม่ไหว เพราะหลายคนเริ่มอยากเห็นเธอร้องเพลงแนวอื่น จนกลายเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึก แต่ในตอนนี้เธอบอกผมว่า การเติบโตขึ้นทำให้เธอตัดสินใจเลือกสิ่งที่ต้องการมากกว่า แม้จะแลกมากับชื่อเสียงที่อาจหายไปก็ตาม
“เราไม่ได้ติสต์มากหรืออะไรหรอก แต่พอเราไปทำสิ่งที่เราไม่ถนัดมันก็จะออกมาแบบฝืนๆ” เธอพูดโดยไม่ได้มองหน้าผม แต่จ้องหน้าตัวเองผ่านกระจกเล็กสีเงินวาววับในมือ “อย่างการเรียนมหาวิทยาลัย สุดท้ายเราก็ฝืนไปไม่รอด วันที่เดินไปให้อาจารย์เซ็นออกมานี่รู้สึกเบาและมีความสุขมาก แต่ช่วงเวลาที่ได้เล่นดนตรีกับเพื่อนก็สนุกนะ เพียงแต่ว่าตอนเข้าเรียนเราไม่ไหวจริงๆ มันเครียดและรู้สึกว่าไม่เหมาะกับเรา เราไม่ได้ฉลาดขนาดนั้นในเรื่องภาคทฤษฎี”
เธอสำรวจใบหน้าตัวเองที่สะท้อนกระจกเล็กในมืออีกรอบก่อนจะเล่าต่อ “เราเป็นศิลปินเดี่ยวไม่ได้ แต่เราอยากมีวง เพราะสมมติเรามีความสามารถตรงนี้ แต่ตรงนี้เราขาด เราก็มีเพื่อนมาช่วยเติมเต็ม หรืออยากฝึกตรงไหนก็ถามเพื่อนได้ เราสบายใจกว่าที่ต้องซ้อมทุกสัปดาห์สมัยเรียน ช่วงนั้นเลิกฟังเพลงไปหนึ่งปีเลย เพราะต้องฟังเฉพาะแต่เพลงที่ต้องแกะสอบ เราไม่มีความสุขสักนิด”
พูดจบ เธอวางอุปกรณ์แต่งหน้าลงบนโต๊ะ ยกขาสองข้างขึ้นรวบบนเก้าอี้ ใบหน้าหลังแต่งแต้มเสร็จฉายให้ดวงตาเธอดูคมขึ้นเล็กน้อย ความชอบและหลงใหลในดนตรียุคเก่า รวมถึงทัศนะของเธอที่มีต่อชีวิตค่อยๆ ซึมเข้ามาหาผมอย่างช้าๆ ในตอนเริ่มต้น ก่อนจะทำงานอย่างหนักเมื่อถึงตอนนี้
ผมนึกถึงวงดนตรี Beagle Hug ของเธอกับเพื่อนสมาชิก และการเป็นนักร้องในยุคแห่งความอลหม่าน นั่นเป็นเหตุผลที่นำผมให้มาเจอเธอในวันนี้
2
เธอเล่าว่า ก่อนโควิดระลอกแรกในช่วงต้นปีก่อนจะมาถึง วง Beagle Hug และเธอกำลังไปได้ดี มีเงินเก็บให้เลี้ยงตัวเองได้ มีเพลงพร้อมปล่อย มีคนพร้อมฟัง แต่เมื่อสถานการณ์วิกฤติ ทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ เธอไม่ต่างจากศิลปินคนอื่นๆ ที่ต้องขยับหาหาลู่ทางในการเอาตัวรอด จนตัดสินใจขายขนมปังกับเพื่อนด้วยเงินทุนที่ยังพอมี กระทั่งสถานการณ์เริ่มดีขึ้นช่วงกลางปี ก่อนเข้าสู่ช่วงปลายปีที่นักดนตรีต่างรอคอย เพราะเป็นช่วงที่งานจะเข้ามา และส่วนใหญ่จะเป็นรายได้ที่มากขึ้นหลายเท่า
ที่สำคัญ ปลายปี 2020 เป็นช่วงที่ Beagle Hug เพิ่งปล่อยอัลบั้มไป
“ปลายปีมีงานเยอะมาก อัลบั้มก็มีคนซื้อ ได้เล่นดนตรีก่อนที่โควิดจะกลับมาระลอกใหม่” เธอเล่า “Beagle Hug อาจจะไม่ได้เล่นเยอะขนาดนั้น เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เป็นนักร้องแมส ปลายปีที่ผ่านมา วันที่ 31 ธันวาคม เรามี 4 งาน แต่ละงานคือได้เงินเยอะขึ้นสองสามเท่า สุดท้ายไม่ได้เล่นสักงานเลย”
“รอบนี้เรียกว่าน้ำตาตกในจริงๆ แล้ว” เธอหัวเราะเล็กๆ “เงินเก็บแทบไม่เหลือ ร่อยหรอ แล้วเรามีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะมีโปรเจ็กต์ที่อยากทำ ก็ต้องพับไปบ้าง ทำต่อบ้างเท่าที่ได้”
ผมถามเธอว่าพอเจอระลอกใหม่ เธอมีจุดที่รับมือได้ดีขึ้นบ้างไหม หลังเคยผ่านรอบแรกมาก่อนแล้ว เธอครุ่นคิดเล็กน้อย “ไม่ๆๆ” เธอพูดย้ำๆ “แย่กว่าเดิม รอบแรกเราตั้งหลักได้เพราะมีเงินเก็บ แต่ตอนนี้เงินเก็บเราค่อยๆ run out ออกไปแล้ว จะให้กลับไปขายขนมปังตอนนี้ มันก็…เหนื่อยจริงๆ นะ เลยกะว่าเดี๋ยวทำแยมส้มขายออนไลน์แล้วกัน”
เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกตั้งใจจะไปอยู่ขอนแก่นในช่วงสั้นๆ เพราะความเครียดเรื่องงาน และปัญหามรสุมชีวิตที่เข้ามาในเวลาเดียวกัน “ไปอยู่ที่นู่นอาจจะได้งานผู้ช่วย ไปเสิร์ฟของ หรืออะไรก็ได้ ที่แบบว่าทำให้ลืมๆ ตรงนี้ไปก่อน” เธอลดน้ำเสียงลงเล็กน้อย “เรามีเพื่อนอยู่ที่นั่น แต่ว่ายังไม่ได้ไป ที่บ้านก็รั้งๆ ไว้นิดหนึ่ง แต่ก็คิดว่าใกล้แล้ว”
เมื่อผมถามถึงประเด็นที่นักดนตรี รวมถึงเจ้าของร้านอาหารที่มีดนตรี ผับ บาร์ ต้องประสบพบเจอจากการสั่งปิดของรัฐ ทำให้งานต้องชะงัก รายได้หดหาย ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เธอมีดวงตาแข็งกร้าวขึ้นทันที “เราโกรธ โกรธมาก” เธอพูด ก่อนเริ่มพรั่งพรูความรู้สึกออกมา “คือเข้าใจว่าทุกที่มีล็อกดาวน์ ต่างประเทศก็มี แต่เขามีเงินเยียวยาให้ พอเป็นของประเทศเรา รัฐบอกไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่ขอความร่วมมือ เพราะไม่อย่างนั้นจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ กระทบการกู้เพิ่ม หรือการให้เงินห้าพัน ใครมันจะไปพอ หรือการพักชำระหนี้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันไม่มีอะไรที่รัฐเยียวยาได้”
“คนไทยพารานอยด์มาก หวาดระแวง ทั้งล้างมือ ใส่หน้ากาก ทำดีที่สุดแล้ว แต่มันก็ยังมีเรื่องคนลักลอบเข้ามา มีเรื่องสนามมวย มีเรื่องบ่อน ที่เกิดจากโครงสร้างรัฐ มันเหนื่อยนะที่พวกมึงไม่ระวังตัวพวกมึงเองเลย เราเป็นนักดนตรี มีเพื่อนที่ไปเล่นดนตรี private party ให้คนใหญ่คนโต รู้ไหม พวกเขาจัดปาร์ตี้กันเละเทะเลย”
“คนรู้จักของเราบางคนก็มีลูก เขาย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด คิดว่าจะดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเลย เขาบ่นอยากตายตั้งแต่รอบแรกแล้ว แล้วรอบนี้ก็ดู…” เธออึกอักเล็กน้อย “เขาไม่ไหวแล้ว เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”
“ทุกวันนี้มีแต่เรื่องอิหยังวะเยอะแยะจนไม่รู้จะโกรธเรื่องอะไรก่อน”
3
นานๆ ทีจะมีคนเดินผ่านหน้าร้าน สลับกับเสียงรถราเป็นระยะ บางคนเหลือบมองเข้ามาในร้านเห็นเธอที่นั่งอยู่ใกล้ๆ กับทางเข้าร้าน ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะจำเธอได้หรือไม่
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ โควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน หรืออาจจะต้องอยู่กับมันตลอดไป ณ เวลานี้ทุกอาชีพต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ปลายปีที่แล้ว ธปท. ออกมากล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ส่งผลให้มีตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ราว 7-8 แสนคน แต่หากดูจำนวนคนทำงานที่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมีกว่า 2 ล้านคน เบ็ดเสร็จแล้ว จะมีคนว่างงานรวมถึงกว่า 3 ล้านคนเลยทีเดียว
ผมถามเธอว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ มีวิธีรักษาสมดุลในจิตใจอย่างไรไม่ให้เครียดเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่นิ่งเฉยจนไม่คิดหาทางขยับตัว คำตอบเธอคือ “ทุกวันนี้ไม่มีสมดุลแล้ว จะเป็นบ้าอยู่แล้ว” เธอว่าทีเล่นทีจริงและหัวเราะ “ก็เครียด แต่ว่าก็ทำอะไรไม่ได้ นอนดูเน็ตฟลิกซ์ไป ชวนเพื่อนหาอะไรทำ เล่นสเก็ตบอร์ด หรือคุยกันว่า เดี๋ยวถ้าไปขอนแก่นแล้วยังมีร้านเปิดอยู่ จะลองไปทำค็อกเทลกัน”
“คือเราต้องดูไปเรื่อยๆ ว่าอะไรที่หาเงินได้ หรือวันนี้มีใครให้ช่วยอะไรไหม มีใครออกกองหรือเปล่า เราไม่มีอาชีพที่เป็นหลักแหล่ง เพราะเล่นดนตรีมาตั้งแต่อายุ 19 จนตอนนี้ 30 แล้ว”
เธอเว้นจังหวะ เปลี่ยนท่านั่ง ยกขาสองข้างขึ้นชันเข่าบนเก้าอี้ รวบแขนสองข้างกอดไว้หลวมๆ ก่อนเริ่มพูดต่อด้วยน้ำเสียงที่ลดลงเล็กน้อย “ไม่ได้หมายความว่าเราไม่คิดจะไปทำทางอื่น หรือรอความช่วยเหลือนะ เพราะมันรอไม่ได้อยู่แล้ว” เธอว่า “แต่สิ่งที่เราโมโหที่สุดคือ การช่วยเหลือจากรัฐมันควรจะมีด้วยไง แต่นี่ไม่มี แล้วก็ชอบออกมาพูดว่าเราเป็นประเทศดีที่สุดแล้ว เคลมเก่งมาก โคตรเฮงซวย กล้าพูดออกมาได้ยังไง”
“บางคนที่ไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ต หรือคนต่างจังหวัดเขาดูคุณพูดแบบนี้ ก็เหมือนกับคุณแม่งกดให้เรารู้สึกว่ามันดีแล้ว หลายคนก็เชื่อจริงๆ และคิดว่าเราต้องทำใจนะ หรือบางคนอาจจะคิดว่าเป็นความผิดตัวเองเลยด้วยซ้ำ”
คำตอบของเธอลากบทสนทนาของเราทั้งคู่ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้านี้ที่กระแสม็อบเยาวชนกำลังมาแรง เธอเป็นหนึ่งในคนที่ออกไปร่วมการชุมนุม เพราะมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างชนชั้นนำ และชนชั้นล่าง “ทำไมคนจนจะต้องโดนบอกว่า อยู่กินอย่างประหยัดนะ พอเพียงนะ แต่คนพูดแม่งเป็นโลกทุนนิยมสวยงาม สวยหรู” เธอตั้งคำถามตรงๆ “พวกอีลีทที่ออกมาพูดเนี่ยน่ารำคาญ คือบางคนไม่พูดดีกว่า คุณจะอยู่แบบอีลีทก็อยู่ไปเถอะ เราอยากให้คนที่ออกมาเรียกร้องสู้เพื่อตัวเองไป แต่เราก็จะสู้กับพวกเขาด้วย เพราะตัวเราเองก็ได้รับผลกระทบ คืออาจจะน้อยกว่าคนอื่น เพราะเหมือนยังล้มลงบนฟูก แต่เราก็รู้สึกว่า ถ้าได้มันได้กันหมด”
“บางคนบอกว่า จะตายอยู่แล้ว ขอไม่ออกไปแล้วกัน ก็เรื่องของเขาเลย แต่เรารู้สึกว่าเรายังมีหวังอยู่ ยิ่งเราเห็นเด็กๆ เห็นหลาน เห็นลูกเพื่อน เรารู้สึกว่า มันยังไปต่อได้ แล้วในช่วงชีวิตเราอาจจะมีอะไรดีๆ งอกเงยขึ้นมาก็ได้ คือถ้าแก่แล้ว ไม่เอาแล้ว ลำบาก มันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรืออาจจะเลวร้ายกว่านี้”
ผมคิดว่าเธอคล้ายกับคนหนุ่มสาววัยเดียวกันหลายคนที่ผมเคยเจอ พวกเขามีความคิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่จนถึงวัยแก่ชรา “เราคิดว่าจะไม่อยู่ถึง 45 ไม่คิดจะแต่งงาน ไม่คิดจะมีลูก แต่งงานยุคนี้ มีลูกยุคนี้ คือต้องเงินหนามาก พร้อมมากๆ แถมยังต้องมาเจอสังคม เจอฝุ่น เจออะไร อย่าเกิดเลย” เธอบอกผมเช่นนั้นพร้อมเสียงหัวเราะ
4
ผมอยากรู้ว่าหลังจากผ่านวิกฤตมา (หรือกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่ว่า) พร้อมกับอายุที่ขยับเป็นเลขสามพอดี ทำให้เธอได้ครุ่นคิดกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษบ้าง เธอเว้นระยะเวลาใช้ความคิดเงียบๆ ครู่เล็กๆ ก่อนตอบว่า เรื่องของการจัดการชีวิตตัวเอง
“ที่ผ่านมาจัดการชีวิตตัวเองไม่ดี และไม่ได้หันมามองชีวิตตัวเองเท่าไหร่” เธอกล่าว และบอกว่าช่วงนี้รู้เข้าใจหลายสิ่งมากขึ้น และได้กลับมาอ่านหนังสือมากขึ้น “ช่วงก่อนหน้าที่ทำงานเยอะ เราลืมหลายอย่าง ลืมความรู้สึก ความชอบ ความต้องการ การพูดคุย ความละเอียดอ่อนหลายๆ เรื่องของเราไป โชคดีที่มีเพื่อนรอบตัวดีมากๆ เป็นข้อหนึ่งที่ไม่ทำให้ชีวิตถ่มถุยไปมากกว่านี้”
“เพื่อนจะอยู่ด้วยตลอด อย่างพี่คนหนึ่งก็มาช่วยจัดห้องให้ เราเป็นคนจัดห้องไม่ได้ จัดระเบียบชีวิตไม่ได้ ในห้องมีเสื้อผ้า ข้าวของ เหล้า กองเต็ม แต่ตอนนี้ห้องเรียบร้อยแล้ว มีความสุขมากขึ้นเลย ดูหนังผีได้แล้วด้วย เพราะมันเศร้าจนรู้สึกว่า ถ้าผีมาก็ไม่เป็นไรแล้ว”
“กลัวผีเหรอ?” ผมถาม “ใช่ กลัวความมืด” เธอหัวเราะเล็กๆ และมีรอยยิ้ม
“ทุกวันนี้คิดว่าใช้ชีวิตสนุกน้อยลงไหม” ผมถามเธอเพิ่มเติม คราวนี้เธอใช้เวลาคิดนานที่สุดในช่วงเวลาของการสนทนานี้ แต่ถึงจะพูดว่านาน มันก็เป็นเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
“ถ้าเป็นตอนเรียนเราสนุกสุดๆ เลย เพราะไม่คิดอะไรมาก แต่ตอนนี้ความสนุกน้อยลงไหม มันน้อยลง แต่ว่าก็ได้อะไรเยอะขึ้น มันมีอะไรที่มากกว่าความสนุก มันได้คิด หาคำตอบ แต่ไม่ได้เชิงศิลป์อะไรขนาดนั้น แต่คนเราต้องมีบ้างที่ถามว่า เราเกิดมาทำไมวะ”
“มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกอยากตาย แต่ว่ามีพี่คนหนึ่งที่ชอบให้เราหาความหมายชีวิตหรือคิดเรื่องนู่นนี่นั่น มาบอกว่า “ต่อให้ทรมานให้ตาย กูก็จะมองดูโลกนี้จนกว่ากูจะทรมานสุดๆ และตาย เพราะยังไงมันก็มีอะไรให้ได้เห็น และมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีทั้งเศร้า สุข ทุกข์”
“แต่เศร้าของเรามันยาวนานกว่าคนอื่นไง” เธอขยับตัวและยิ้ม “เราขึ้นสุดลงสุด เป็นคน emotional จัดเลย คือไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเป็นตัวเองได้ด้วย สมัยก่อนจะคิดว่า ทำไมต้องมาเป็นแบบนี้ ไม่ได้อยากเป็นคนเศร้าสุด ลึกสุด ดีใจสุด ปาร์ตี้ก็ปาร์ตี้ ร้องไห้ก็ร้องไห้ เปลี่ยนอารมณ์ทุกนาที แต่เราก็ค่อยๆ เข้าใจตัวเองมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น เหมือนอยู่กับตัวเองแล้วคิดได้ว่า อ๋อ กูเป็นแบบนี้ กูรู้แล้ว กูไม่ต้องอายที่ตัวเองจะเป็นอย่างนี้ แต่อย่าให้เลยเถิดเกินไปนะ เตือนตัวเองนะ เหมือนออกมายืนมองตัวเองว่า ยังไงมึงก็ต้องเศร้านะเรื่องนี้ ยังไงมึงก็ต้องสุดนะเรื่องนี้ ไม่เป็นไร ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาตินะ ฝืนตัวเองไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด”
“คือไม่ชอบหรอกนะชีวิตที่ต้องเศร้า แต่ว่าความเศร้ามันเป็นหนึ่งในการสร้างผลงานจริงๆ” เธอว่าเช่นนั้น ผมจึงเล่ากลับไปว่า บางคนใช้ความเศร้าเป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน จนบางครั้งตัวเองถลำดิ่งลึกจนเกินเลยไป และกลายเป็นผลร้าย เธอหัวเราะเบาๆ และบอกว่า “ก็มาหาเพื่อน ดิ่งด้วยกัน ที่นี่มีแต่คนบ้า”
“โชคดีเพื่อนๆ ไม่มีใครปกติ เขาจะมองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องตลกกัน มันก็คงไม่ดิ่งไปมากกว่านี้แล้ว ถ้าไม่นับความตายของคนใกล้ตัว นี่เป็นปีที่เราเศร้าที่สุดในชีวิต หมายถึงปลายปีที่แล้วจนมาถึงตอนนี้ แต่ว่า…” เธอเว้นจังหวะครู่หนึ่ง “แต่ว่าเราเข้าใจ และมึงจะเศร้ากว่านี้ไปอีก มึงจะเจอความถ่มถุยมากกว่านี้ อีกเตรียมรับมือได้เลย” พูดจบเธอหัวเราะเสียงดัง
5
เวลาเคลื่อนผ่านไม่ทันตั้งตัว ถนนพระสุเมรุยังคงสงบเงียบ ตลอดการสนทนาอาจไม่ได้ทำให้ผมเป็นเหมือนคนที่รู้จักเธอมาทั้งชีวิต แต่อย่างน้อยที่สุด เพียงชั่วขณะหนึ่งของบทสนทนาที่สะท้อนชีวิตเธอในช่วงเวลานี้ มันก็มากพอที่จะทำให้มองเห็นและเริ่มเข้าใจส่วนเสี้ยวหนึ่งที่ประกอบร่างมาเป็นเธอตรงหน้าผม แน่นอนว่ามากกว่าที่เคย
“ถ้ามีใครถามว่าช่วงนี้ชีวิตเป็นอย่างไร จะตอบว่าอย่างไร?” ผมถามคู่สนทนาเบื้องหน้า ที่จำนวนตัวเลขในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เท่ากันกับผม
“ถ่มถุย มีเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องเปลี่ยน” เธอตอบพร้อมรอยยิ้ม
Tags: Music, the voice, เอ้ กุลจิรา, at the Moment, Beagle Hug