เงยหน้ามองฟ้าที่ดาวพร่างพราวบนดอยสูง คุณอาจอ้าปากค้าง และบอกตัวเองว่าหลงรักอวกาศเข้าแล้ว
แต่หากเราบอกว่ารักอะไรบางอย่าง เราอยากทำความเข้าใจมันขนาดไหน หรือปล่อยให้เป็นเพียงการบอกเล่าของแสงที่ผ่านเข้ามา ดูดดื่มด้วยสายตา แล้วปล่อยผ่านไป
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 สำนักพิมพ์ a book ชวนนักฟิสิกส์สามคนมาล้อมวงคุยเรื่องดวงดาวและอวกาศกันอย่างเข้มข้น ในงาน a book fair 2018: Space Traveller เพื่อเปิดตัวหนังสือ ดาราศาสตร์ฟิสิกส์สำหรับคนเร่งรีบ หรือ Astrophysics for People in a Hurry ซึ่งเขียนโดย Neil deGrasse Tyson นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวอเมริกัน
นักฟิสิกส์ทั้งสามคน ได้แก่ ดร. ปิยบุตร บุรีคำ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. มณีเนตร เวชกามา อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ ที่นักอ่านหลายๆ คนอาจคุ้นเคยกันดีผ่านนามปากกา Mister Tompkin
จับเบาะเก้าอี้ให้ดีๆ เพราะบทสนทนาของพวกเขาจะพุ่งไปในอวกาศด้วยความเร็วที่อาจทำให้สมองคุณปลิวว่อน
วันที่ตกหลุมรักดวงดาว
“ผมชอบแปลหนังสือ เพราะตัวเองได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือแปล” ดร. ปิยบุตร บุรีคำ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาไทยกล่าว
เขาเล่าว่าเริ่มสนใจฟิสิกส์ตั้งแต่มัธยม เนื่องจากสมัยประถมฯ เคยได้อ่าน ไอน์สไตน์ฉบับการ์ตูน
“ตอนนั้นจะเป็นเรื่องความโน้มถ่วง หลุมดำ กาลอวกาศ ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ฟิสิกส์โดยตรง แต่เมื่อได้เข้าค่ายที่เตรียมเด็กไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ก็ได้ไปเจอเพื่อนที่ชอบฟิสิกส์เหมือนๆ กัน เลยเกิดกำลังใจ จนในที่สุดก็ตัดสินใจเรียนต่อฟิสิกส์”
ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะว่า 30 ปีที่แล้ว การจะเลือกเรียน ‘pure science’ หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่ใช่เรื่องปกติ ทำให้เป็นสาขาขาดแคลน
“เป็นสาขาขาดแคลน แต่ยังมีคนตกงานอยู่ น่าสนใจว่าเพราะอะไร” ดร. ปิยบุตร พูดติดตลก
ส่วน ดร. มณีเนตร เวชกามา เจ้าของเพจ มณีมีเนิร์ด มีเรื่องราวเบื้องหลังการตกหลุมอวกาศในรูปแบบที่ต่างไป
“เราเป็นเด็กต่างจังหวัดในหมู่บ้านเล็กๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ ข้อดีคือตอนกลางคืนจะมองเห็นดาวและทางช้างเผือกชัดมาก และรู้ตัวว่าชอบดาราศาสตร์ตั้งแต่ 9 ขวบ”
เรื่องราวกว่าโลกจะเกิด
ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ เริ่มคำถามที่ชักนำเราเข้าสู่อวกาศ “เอกภพมีการกำเนิดจริงหรือ เรามีหลักฐานหรือเปล่า และเขาคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร”
แต่ดูเหมือนคำถามนี้ไม่สามารถตอบได้สั้นๆ เพราะเรื่องราวการกำเนิดเอกภพนั้นยืดยาวเกินจินตนาการ ถึงจะเร่งรีบแค่ไหนก็ต้องใช้เวลาฟังและย่อยสักหน่อย
“ประวัติศาสตร์ความสนใจของเราต่อเอกภพนั้นมีมานานมาก ถ้าหลายคนอ่าน A Brief History of Time ของสตีเฟน ฮอว์กิง เริ่มมาหน้าแรก คนโบราณเชื่อว่าโลกเราเป็นแผ่น อยู่บนหลังเต่าที่ต่อๆ กันไปเป็นอนันต์ หรือทางฮินดูในอินเดียก็จะมีแนวคิดที่ดูประหลาดจนเราหัวเราะ มันก็เป็นแบบนี้มาเป็นพันๆ ปี” ดร. ปิยบุตร กล่าว และชี้ชวนให้ดูว่าความเชื่อเหล่านี้มีพื้นฐานร่วมกันอย่างหนึ่ง
“มันมีความเชื่อที่ว่าเอกภพมันสถิต หรือ static เพราะว่าคุณไม่ได้เห็นว่าดวงดาวเหล่านี้เคลื่อนที่เข้าหาเราหรือถอยห่างออกไป ทุกคนเชื่ออย่างนี้กันมาถึงศตวรรษที่ 20 จนถึงตอนที่ไอน์สไตน์คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษและทั่วไป
“สัมพัทธภาพทั่วไปบอกว่าความโน้มถ่วงคือความโค้งของอวกาศและเวลา รวมกันเรียกว่า spacetime หรือกาลอวกาศ เรียกว่าอวกาศและเวลาผสานเป็นอย่างเดียวกัน คุณไม่สามารถจะแยกมันออกจากกันได้ แล้วเอกภพทั้งมวลก็เหมือนเป็นก้อน มีผิวเป็นสามมิติ แล้วขยายตัวไปในเวลา หรือว่ามิติที่ 4″
มีความเชื่อที่ว่าเอกภพมันสถิต หรือ static เพราะว่าคุณไม่ได้เห็นว่าดวงดาวเหล่านี้เคลื่อนที่เข้าหาเราหรือถอยห่างออกไป ทุกคนเชื่ออย่างนี้กันมาถึงศตวรรษที่ 20
“สมการของไอน์สไตน์แสดงให้เห็นว่าเอกภพจะต้องขยายตัวหรือหดตัวอยู่ ไม่อันใดก็อันหนึ่ง ไม่มี static แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ไอน์สไตน์เชื่อว่าสมการต้องมีอะไรผิด เขากังวลอยู่หลายปี และพยายามจะเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘ค่าคงที่เอกภพ’ ใส่เข้ามาเพื่อเป็น anti-gravity เป็นแรงต้านแรงโน้มถ่วง เพื่อจะดันไม่ให้เอกภพมันหดหรือขยาย พยายามให้กลายเป็น static universe ให้ได้ เพราะทั้งเราและไอน์สไตน์มองเห็นว่าเอกภพมันสถิต เหมือนสมัยหนึ่งที่เรามองได้แค่ใกล้ๆ แล้วคิดว่าโลกแบน อันนี้ก็เหมือนกัน เราเห็นว่ามันอยู่นิ่ง
“ปรากฏว่า ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยนั้น สามารถส่องกล้องไปในบริเวณที่มืดๆ ในอวกาศ ซึ่งเรานึกว่าไม่มีอะไรอยู่ พอเปิดหน้ากล้องนานๆ แล้วทดการหมุนรอบตัวเองของโลก จะเห็นเป็นจุดจางๆ ขึ้นมา เมื่อนำมาวิเคราะห์สเปกตรัม ปรากฏว่าพบการกระจายตัวของสเปกตรัมเคลื่อนไปทางความยาวคลื่นมากๆ หรือแสงสีแดง (red shift) ผู้สังเกตการณ์คือฮับเบิล แต่เขายังไม่กล้าเรียกว่ามันเป็นกาแล็กซีอื่น แต่เรียกว่าเนบิวลา
“ฮับเบิลพบว่ามีเนบิวลาอีกมากมายที่กำลังเคลื่อนที่ถอยห่างจากเราออกไปในทุกทิศทุกทาง หากอยู่ที่ระยะเดียวกัน ความเร็วในการถอยจะเท่าๆ กัน แต่ถ้ายิ่งออกไปไกล มันจะยิ่งมีความเร็วในการถอยห่างเร็วขึ้นเรื่อยๆ พอพล็อตกราฟออกมา ความเร็วในการถอยออกไปนั้นแปรผันตรงกับระยะห่าง ไม่ขึ้นกับทิศทาง นี่เรียกว่ากฎของฮับเบิล เมื่อไอน์สไตน์เห็นการค้นพบนี้ก็พบว่ามันตรงกับสมการ เขาก็เดินทางไปส่องที่กล้องนั้นเลย แล้วก็ยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดไปแล้ว เป็นการผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่พยายามให้เอกภพ static ทั้งๆ ที่สมการของตัวเองบอกว่ามันไม่สถิต”
“ที่น่าสนใจคือว่า จากทศวรรษ 1930s ที่ไอน์สไตน์ทิ้งค่าคงตัวนั้นไป จนมาปี 1998 เราพบว่าเอกภพขยายตัวจริง แต่ขยายตัวในอัตราเร่ง คือเร็วขึ้นๆ และเมื่อพยายามจะอธิบายด้วยหลักคณิตศาสตร์ ก็พบว่ามันต้องมี ‘ค่าคงที่’ ในเอกภพจริงๆ และเรา นักฟิสิกส์ก็ยังศึกษาว่าค่าคงที่ตรงนี้มันคืออะไรกันแน่”
แต่เรื่องราวไม่จบเพียงแค่นั้น ดร. ปิยบุตรบอกว่านักวิทยาศาสตร์บางคนไม่อยากยอมรับว่าเอกภพนั้นมี ‘จุดกำเนิด’
“ถ้าเราคิดว่าเอกภพกำลังขยายตัวในปัจจุบัน แสดงว่าในอดีตมองกลับไป เอกภพจะต้องเล็กลงๆๆๆ จนถึงจุดกำเนิด นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักร เขาอาจจะมีปมต่อต้านไอเดียของพระผู้สร้าง ประมาณทศวรรษ 50 นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ในเคมบริดจ์ ชื่อ เฟร็ด ฮอยล์ (Fred Hoyle) คิดว่าถ้าเอกภพมันย้อนไปถึงจุดเล็กๆ มันจะต้องมีจุดกำเนิด ซึ่งเขาไม่สบายใจว่าในจุดนั้นต้องมี creator หรือ God เขาจึงเสนอว่ามันจะต้องมีเอกภาพที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
“ถึงตรงนี้เราอาจจะงงว่า อ้าว แล้วมันจะขยายได้อย่างไร เขาก็บอกว่า มันขยายมาตลอดเวลา ขยายแบบชั่วกัปชั่วกัลป์ คือขยายแบบไม่จำเป็นว่าต้องขยายมาจากจุดหนึ่ง”
“คิดได้ไง” ป๋องแป๋งพูดปิดท้าย
“แต่เอกภพที่ขยายชั่วกัปชั่วกัลป์ มันจะต้องมีการสร้างสสารขึ้นมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพลังงานจึงไม่อนุรักษ์ในรูปแบบนี้ แล้วเรารู้ได้ไงว่าเรามีบิ๊กแบง อันนี้ก็จะส่งต่อให้อาจารย์มณีเนตรอธิบาย”
“เสวนานี้จะเหมือนคลาสฟิสิกส์นิดนึง” ป๋องแป๋งกล่าวแล้วหัวเราะ
บิ๊กแบง ตำนานหรือทฤษฎี
“ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรว่ามีบิ๊กแบงจริง จริงๆ แล้ว เฟร็ด ฮอยล์ เองเป็นคนจุดประเด็นนี้ เพราะนอกจากจะอธิบายเรื่องเอกภพแบบ static เขายังสนใจด้วยว่าธาตุในเอกภพที่เราเห็นในตารางธาตุ มันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร” ดร. มณีเนตรกล่าวต่อ
“เขาสร้างทฤษฎีว่า ในดาวเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่สร้างธาตุต่างๆ ขึ้นมา จากนิวเคลียร์ฟิวชันของไฮโดรเจน กลายเป็นฮีเลียม และเมื่อดาวยุบตัว จากฮีเลียมก็รวมเป็นคาร์บอน ออกซิเจน ซิลิกอน ไปเรื่อยๆ จนจบที่เหล็ก”
“หมายความว่าธาตุที่หนักกว่าไฮโดรเจนถูกสร้างจากดาวฤกษ์” ป๋องแป๋งกล่าวสรุป
“ใช่ค่ะ อย่างพวกเรานี่คือมาจากดาว เพราะองค์ประกอบของตัวเราเป็นธาตุที่กำเนิดมาจากดาวฤกษ์ แต่สิ่งที่เฟร็ด ฮอยล์ อธิบายไม่ได้คือทำไมเอกภพถึงมีไฮโดรเจนถึง 75% โดยสัดส่วนของมวล และมีฮีเลียมประมาณ 25% มันมาจากไหน
“ถ้าเอกภพกำลังขยาย และมันเคยเล็กมาก่อน โดยที่สสารเท่าเดิม นั่นก็หมายความว่าแต่ก่อนมันมีความหนาแน่นมากกว่า มันจะร้อนกว่าในสมัยนี้ ถ้าย้อนเวลาไปในเวลาที่สุดโต่ง คือสมัยหลังจากเกิดบิ๊กแบง มันจะมีซุปของอนุภาค ที่เรียกว่าซุปก็เพราะมันร้อนมาก มีอนุภาคพื้นฐานต่างๆ และยิ่งพลังงานสูง ก็ยิ่งสร้างสสารได้มาก เหมือนดังสมการอันลือลั่นของไอน์สไตน์ โฟตอนที่ชนกันก็เกิดเป็นอนุภาคต่างๆ ขึ้นมา
“แต่ก็มีเหตุการณ์ประหลาดตรงที่มี matter มากกว่า anti-matter คือมีสัดส่วนเกินมานิดหนึ่ง เพราะถ้ามีจำนวนเท่ากัน เอกภพก็คงไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่แสง แต่มันกลับยังเหลือเป็นเราที่มานั่งคุยกันอยู่นี้ ซึ่งก็คือสสาร เป็นส่วนน้อยนิดที่เหลืออยู่”
“ผมว่าจบงานสองทุ่ม โลกเพิ่งเกิด” ป๋องแป๋งตัดบทจน ดร.มณีเนตรยิ้มเขิน
“เอาแบบสรุปเลยแล้วกัน สุดท้ายการชนกันของโฟตอนก็เกิดเป็นโปรตรอนและนิวตรอน ซึ่งเกิดจากการรวมกันของควาร์กสามตัว พอมันเริ่มเย็นและเกาะกันได้ และมีอิเล็กตรอนวิ่งไปมา โฟตอนจะเริ่มมีพลังงานน้อยลง จนอ่อนแรงเกินไปที่จะไปชนกับคนโน้นคนนี้ แต่มันยังอยู่ อยู่มาตั้งแต่ 300,000 ปีหลังบิ๊กแบงมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ แต่โฟตอนจะเริ่มไม่สามารถชนกับใครได้ และมีอุณหภูมิประมาณ 3,000 เคลวิน ซึ่งก็ยังร้อนอยู่
“เมื่อเอกภพขยายตัว โฟตอนเป็นเหมือนเส้นบะหมี่ที่วิ่งไปในสเปซของเอกภาพ มันก็จะยืดไปตามการขยายตัวของเอกภพ เวลามันโดนยืด ความถี่มันต่ำลง พลังงานก็ลดลงด้วย”
“ผลก็คือ เราสามารถทำนายได้ว่า ถ้าเคยมีบิ๊กแบงและเอกภพขยายตัวจริงๆ โฟตอนตัวนั้นควรจะมีพลังงาน 3 เคลวินในตอนนี้ คือเย็นมากๆ ปรากฏว่ามีคนเจอ เป็นโฟตอนที่ตกทอดมาตั้งแต่ 300,000 ปีหลังเกิดบิ๊กแบง และไม่เคยไปชนอะไรเพราะมีพลังงานต่ำเกินไป มันจึงเก็บข้อมูลทั้งหมดมา ในห้องนี้ก็มีนะ แต่เป็นโฟตอนที่เป็นพลังงานที่ต่ำมากๆ เรียกว่า cosmic microwave background (CMB)
“เมื่อปี 1967 มีวิศวกรสองคนของบริษัทเบลล์แล็บ ที่หาสัญญาณรบกวนในท้องฟ้า ปรากฏว่าเจอสัญญาณเดียวกันเต็มไปหมดในท้องฟ้าตรงตามทฤษฎีบิ๊กแบง ที่ว่ามันเป็นโฟตอนที่หลงเหลือจากบิ๊กแบง” เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ ผู้ฟังก็เกิดคำถาม
“มันใช่อันเดียวกับสัญญาณซ่าๆ เวลาจูนช่องทีวีไม่ตรงไหม”
“ใช่ค่ะ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันเข้ามาในทีวีที่จูนช่องไม่ตรงด้วย”
หากตอนนี้เราสรุปในใจว่า รู้แล้วว่าเอกภพกำเนิดขึ้นมาท่าไหน และกำลังเคลื่อนไหวไปอย่างไร คำถามสุดคลาสสิกต่อมาก็คือ ปลายทางของเอกภพจะเป็นอย่างไร
“มีการค้นพบว่าพลังงานมืด อาจไม่ใช่ ‘ค่าคงที่ของเอกภพ’ อาจจะเป็นพลังงานที่ดาร์กกว่า ดาร์กในความหมายว่า ‘เลวร้าย’ กว่านั้น คือจะเร่งในอัตราที่ทำให้ผิวลูกโป่งของเอกภพของเราแตกเลยก็ได้ เกิดเป็น big rip อันนี้คือนักทฤษฎีเขาคุยกันสนุกๆ ว่ามันเป็นไปได้” ดร. ปิยบุตรกล่าว ทำให้ป๋องแป๋งกระพริบตาปริบๆ อีกครั้ง
มีการค้นพบว่าพลังงานมืด อาจไม่ใช่ ‘ค่าคงที่ของเอกภพ’ แต่ ‘เลวร้าย’ กว่านั้น คือจะเร่งในอัตราที่ทำให้ผิวลูกโป่งของเอกภพของเราแตกเลยก็ได้
“Spacetime ฉีกออกจากกันหมายความว่ายังไงคะ หมายถึงว่าเราจะไม่มีทางเจอกันอีกหรือ” ดร. มณีเนตรถามเพื่อขอความกระจ่าง
“จินตนาการว่าเราอยู่บนพื้นผิวลูกโป่ง แล้วมองเห็นกาแล็กซี่อื่นๆ ถ้าลูกโป่งของเราขยายตัว แสงที่ออกมาจากกาแล็กซี่อาจวิ่งมาไม่ถึงกาแล็กซี่ข้างๆ ถ้าขยายตัวเร็ว เราก็ค่อยๆ มองเห็นมันหายไปๆ ค่อยๆ มืด ถ้ามันฉีกออกจากกัน ในที่สุดดาวก็จะโดดเดี่ยวออกมา โลกก็จะโดดเดี่ยวออกจากดาวเคราะห์อื่นๆ แม้กระทั่งอะตอมก็จะฉีกออก คือแม้แต่แรงดึงดูดของแม่เหล็กไฟฟ้าก็ไม่อาจเอาชนะการขยายตัวของเอกภพ ถึงที่สุดแล้ว มันก็อยู่ไม่ได้ แต่เราตีความว่ามันอาจเกิดเปลี่ยนสถานะของกาลอวกาศ”
“แล้วถ้าเป็นทฤษฎีกระแสหลักล่ะ” ป๋องแป๋งหันไปถาม ดร. มณีเนตร
“ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะห่างออกจากกันเรื่อยๆ เอกภพก็จะเย็นลงๆ จนกลายเป็นเอกภพที่ทุกอย่างมืดมิดและหนาวเย็น”
ฟังดูเหงาๆ แต่นั่นก็คือสิ่งที่จะเกิดในอนาคตแสนไกล ที่เราได้แค่จินตนาการ แต่ไม่อาจอยู่สังเกตการณ์ได้ถึงวันนั้น
เร่งรีบ แต่ไม่จำเป็นต้องง่าย
หลังจากพอจะได้ภาพอินโทรดักชันของเรื่องราวชีวิตเอกภพกันไปแล้ว ป๋องแป๋งก็เข้าสู่คำถามสบายๆ ที่ว่า “ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ใดที่อาจารย์ประทับใจ”
ดร.ปิยบุตร ตอบว่า “อย่างที่ทุกคนรู้แต่อาจไม่ได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ว่าเราเองก็คือ stardust เพราะฉะนั้นทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์” แต่คำตอบนี้อาจจะยากและล้ำลึกไปสักหน่อย ดร.ปิยบุตรจึงเสริมว่า “สิ่งที่ผมประทับใจก็คือการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง ที่เป็นข่าวดังไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะว่าผมเคยคิดว่าโปรเจ็กต์นี้ไม่มีทางจะทำได้
“เขาค้นพบการกระเพื่อมของ spacetime เล็กมากๆๆๆ คิดเป็น 1 ใน 1,000 ของขนาดนิวเคลียส ซึ่งคือ 1/100,000 ของขนาดอะตอม ซึ่งเราก็ lost ไปแล้วว่ามันเล็กขนาดไหน อันนี้คือสิ่งที่ผมประทับใจ…ในแบบคนปกติ” ดร. ปิยบุตรตอบเสร็จก็หันไปมองหน้าป๋องแป๋ง แล้วทั้งคู่ก็หัวเราะออกมาพร้อมกัน
ส่วน ดร.มณีเนตรตอบว่า “จริงๆ แล้วมีหลายปรากฏการณ์ อย่างปรากฏการณ์ที่อธิบายการเติมเต็มธาตุทุกอย่างในตารางธาตุ ก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจ เราจะมีตัวตนไม่ได้ถ้าไม่มีซูเปอร์โนวา”
เราเองก็คือ stardust เพราะฉะนั้นทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์
ป๋องแป๋งกล่าวปิดท้ายคำถามนี้ว่า “ผมก็ประทับใจ เพราะตอนที่ถามคำถามนี้ คาดว่าอาจารย์จะตอบว่า ดาวหาง ฝนดาวตกบ้าง”
กลับมาที่คำถามซึ่งโยงกับเรื่องราวในหนังสือ ป๋องแป๋งถามทั้งคู่ว่า คำว่า “พหุภพ” หรือ “multiverse” ที่มักปรากฏอยู่ในหนังสือ หมายถึงอะไร
ดร. มณีเนตรเลือกตอบในมุมมองที่ถนัด คือมุมมองกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum mechanics)
“มันจะมีเอกภพคู่ขนาน เรียกว่าเป็น many worlds – many minds อย่างป๋องแป๋งเจอผู้หญิงคนหนึ่ง อยากจะเข้าไปคุย ถ้าป๋องแป๋งตัดสินใจว่าไม่คุย ก็จะไม่เจอเขาอีกในเอกภพของป๋องแป๋ง แต่ถ้าตัดสินใจเข้าไปคุย เอกภพของป๋องแป๋งก็อาจจะเข้าสู่โหมดมีแฟน มีครอบครัว”
“ผมรู้แล้วว่าผมอยู่เอกภพไหน” ป๋องแป๋งกล่าวด้วยสีหน้านิ่งๆ จนทำให้ทั้งคู่หลุดขำ
“ในมุมมองควอนตัม เนื่องจากอิเล็กตรอนเป็นได้มากกว่าหนึ่งสถานะ แต่ทำไมเราถึงเห็นป๋องแป๋งนั่งอยู่ตรงนี้ที่เดียว ทำไมปรากฏการณ์นี้ถึงหายไป คำอธิบายก็คือ จริงๆ มันไม่ได้หายไป แต่เรามองไม่เห็นมัน เพราะมันเป็นเอกภพคู่ขนาน นี่คือ multiverse ในมุมมองกลศาสตร์ควอนตัม”
ส่วน ดร. ปิยบุตร ตอบในมุมมองที่สอดคล้องกับเนื้อหาในหนังสือ
“เอกภพที่เราคิดว่ามันมีหนึ่งเดียว จริงๆ มันไม่ใช่ ‘เอกะ’ แต่เป็น ‘พหุ’ หรือ multiverse ซึ่งอาจจะมีการเรียงกันเป็นผืนๆ ที่ส่งอิทธิพลถึงกันกับผืนข้างเคียง ไอเดียแบบนี้ก็มี”
ทั้งทฤษฎีบิ๊กแบง ทั้งปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ชื่อแปลกๆ ที่เข้าใจยาก หรือการค้นพบในระดับเล็กกระจิดกระจ้อยเกินจินตนาการ อาจทำให้ใครหลายคนถอดใจ คิดว่าแค่มองดาวสวยๆ ต่อไป ไม่ต้องเข้าใจก็ได้
จึงมาที่คำถามว่า เนิร์ดฟิสิกส์ทั้งสองได้อะไรจากการศึกษาดาราศาสตร์มาทั้งชีวิต
“ดาราศาสตร์ก็คือการอธิบายเอกภพ เราเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพ ยิ่งเข้าใจดาราศาสตร์และฟิสิกส์ เราก็ยิ่งมีเมล็ดพันธุ์ที่จะพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างความสะดวกสบายในชีวิตให้มากขึ้น” ดร.มณีเนตรตอบก่อน
“นี่เป็นการศึกษาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของมนุษย์ แม้แต่การส่งยานออกไปสำรวจ ก็เป็นก้าวแรกในการสำรวจที่อยู่ใหม่ของเรา”
ส่วน ดร. ปิยบุตรตอบว่า
“ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ สัตว์อาจจะถามแล้วก็ลืม ความจำสั้น และอาจลืมว่าเคยสงสัยเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่มนุษย์อาจจะดื้อกว่า ต่อเนื่องกว่า” อย่างไรก็ตาม ความอยากรู้นี้ก็อาจไม่ได้รับการตอบสนองในทันที โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องใหญ่อย่างเอกภพ
“ประโยคสุดท้ายในคำนำ เขาบอกว่า เอกภพไม่จำเป็นต้องเข้าใจง่าย เราอาจจะเคยตั้งคำถามพวกนี้ แต่มันเป็นคำถามที่ยาก ที่ไม่ใช่แค่คนหนึ่งคนหรือคนหนึ่งรุ่นจะหาคำตอบได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันไม่มีประโยชน์
“มันเป็นคำถามของมนุษยชาติ เราอาจจะเร่งรีบ แต่มันไม่จำเป็นต้องเข้าใจง่าย อ่านแล้วไม่เข้าใจก็อ่านใหม่” ดร. ปิยบุตรกล่าวปิดท้าย เพื่อชวนให้ทุกคนเปิดใจอ่านหนังสือเล่มนี้ มากกว่าหนึ่งครั้ง
Tags: อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, สตีเฟน ฮอว์กิง, อวกาศ, ดาราศาสตร์ฟิสิกส์, Astrophysics, เอกภพ