ทั้งชื่อ ‘บิมสเทค’ ที่ไม่คุ้นเท่า ‘อาเซียน’ หรือแม้กระทั่งคำว่า อ่าวเบงกอล ยังเป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งนึกภาพในแผนที่โลกไม่ค่อยออก อาจทำให้ใครต่อใครสงสัยว่า เหตุใดเราถึงต้องสนใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับประเทศรอบๆ อ่าวเบงกอล อันได้แก่ พม่า บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย

เมื่อคิดว่า ภาพจำของอินเดียในแง่ลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความแออัด ความยากจน ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ การคมนาคมที่ล้าหลัง ฯลฯ ทำให้เรามองข้าม

แต่ภาพจำเหล่านี้อาจกำลังกลายเป็นอดีต หรืออาจเป็นอดีตไปนานแล้ว

หันไปอีกทีเราอาจพบว่าอินเดียกำลังจะกลับมายิ่งใหญ่ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่รายล้อม และความสัมพันธ์ของไทยต่อประเทศเหล่านี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในอนาคต

งานเสวนา OAR- ASEAN Plus Talk ครั้งที่ 1 เรื่อง “บทบาทไทยในอ่าวเบงกอล ภายใต้บริบทของ ASEAN และ BIMSTEC” วันที่ 20 มิ.ย. 2561 จึงจัดขึ้นมาเพื่อทบทวนเรื่องเหล่านี้

เมื่อความมั่งคั่งของโลกหมุนเวียนไป

ผศ. ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ ย้อนรอยให้เห็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย โดยแสดงกราฟ ‘ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 2000 ปี’ ที่เริ่มต้นด้วยความยิ่งใหญ่ของการผลิตจากจีนและอินเดียในช่วงแรกๆ ก่อนที่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ระลอกต่างๆ ที่ตามมาจะส่งผลให้การผลิตของสองประเทศนี้ถดถอยลง ไม่ว่าจะเป็นผลจากสงคราม จักรวรรดินิยม หรือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในประเทศ

“ภาพกราฟที่แสดงให้เห็น GDP ของแต่ละประเทศในโลก ตั้งแต่ปีที่ 1-2017 ถ้าโลกเรามี GDP รวมกันทั้งหมดเท่ากับ 100% รายได้ทั้งโลกนี้มาจากที่ไหนบ้าง จะพบว่าในช่วงแรกๆ 70% ของรายได้หรือผลผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มาจากแค่สองประเทศ คือจีนกับอินเดีย และอินเดียใหญ่กว่า”

ที่มา:  http://www.visualcapitalist.com/2000-years-economic-history-one-chart/

“อินเดียกับจีนผลัดกันเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกต่อเนื่องกันมา 1800 ปี ขณะนั้นยุโรปยังไม่เกิด อเมริกายังไม่มีตัวตน จุดพลิกผันอาจจะอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มีการล่าอาณานิคม ยุโรปเข้ายึดครองจีนกับอินเดียได้สำเร็จ ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองประเทศก็ไม่ได้ผลิตเพื่อประเทศตัวเองอีกต่อไป แต่ถูกผลิตเพื่อยุโรป”

ผศ. ดร. ปิติ เล่าต่อว่า เส้นกราฟต่างๆ สะท้อนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น ปี 1913 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสิ้นสุดปี 1940 ผลก็คือยุโรปได้รับความเสียหายหนัก โครงสร้างต่างๆ ผุพัง ขณะที่กราฟของอเมริกาไม่ได้รับผลกระทบ และกลายมาเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลก พร้อมๆ กับการผงาดขึ้นมาของญี่ปุ่น หลังจากล้มจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วลุกขึ้นมาได้ จนกระทั่งสามารถเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1963

หลังผ่านสงครามครั้งใหญ่ๆ ของโลกและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ประเทศที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตอย่างจีนและอินเดีย ก็เริ่มส่งเสียงคำรามในระบบการค้าโลกอีกครั้ง

จีน-อินเดีย กลับมายิ่งใหญ่ หลังผ่านสมัยแห่งความพ่ายแพ้

ความยิ่งใหญ่นี้ อาจเริ่มมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ และการจากไปของเจ้าอาณานิคมที่เคยครอบงำและดูดเอาทรัพยากรออกไป

“ปี 1978 ผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีนก็ขึ้นมา หลังจากที่เหมาเจ๋อตุงปู้ยี่ปู้ยำเศรษฐกิจไว้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Great Leap Forward เศรษฐกิจจีนตกต่ำที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็น คนจีนหนึ่งในสามตายเพราะอดอาหาร เติ้งเสี่ยวผิงจึงเข้ามาแก้ไขสิ่งที่เหมาทำผิดไว้ เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน และเปิดตลาดอย่างจริงจังในทศวรรษ 1990s จากนั้นก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 จนกระทั่งปัจจุบัน จีนทวงตำแหน่งเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำเร็จแล้ว

“ส่วนอินเดีย จากประเทศที่ยากจนติดอันดับต้นๆ แต่วันนี้กลับมามีเศรษฐกิจเป็นเบอร์ 6 ของโลก” ผศ. ดร. ปิติ กล่าว พร้อมย้อนไปให้เห็นว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือสิ่งที่เกิดขึ้นยาวนานใน 1,800 ปีแรกของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ขณะที่ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯ ต่างหากที่กินระยะเวลาเพียง 100-200 ปี และกำลังถูกดึงกลับมาสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจเดิม

“คำถามคือ พวกเราที่กำลังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปในศตวรรษที่ 21 จะมีอนาคตเป็นอย่างไร ก่อนอื่น คุณจะต้องกลับไปเข้าใจอดีต กลับไปดูว่าสมัยที่จีนและอินเดียเป็นใหญ่ในโลก โลกเป็นอย่างไร”

เมื่อย้อนดูแผนที่แสดงเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกจากอินเดียระลอกแรกในช่วงของพระเจ้าอโศกมหาราช และแผนที่ในการขนส่งที่คนจากยุโรปเดินทางมาเอาสินค้าจากจีนและอินเดียกลับไปขาย เราจะเห็นเค้าโครงภาพอดีตที่อาจสะท้อนอนาคต

“เส้นทางสายไหม คือ ความลับทางการค้าที่จะเอาสินค้าจากมือผู้ผลิตไปถึงมือลูกค้าได้เร็วที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด ทางไหนที่เดินผ่านทะเลทรายแล้วมีโอเอซิสพอที่จะให้คาราวานไม่อดน้ำตาย เดินทางผ่านช่องเขาตรงไหน หรือเดินทางเส้นไหนจึงจะหลบโจรที่ดักปล้น และยังมีเส้นทางกองเรือนับ 300 ลำของเจิ้งเหอที่เส้นทางเดินเรือยังใช้มาอย่างยาวนาน

ผศ. ดร. ปิติ ขมวดประเด็นทั้งหมดว่า “ถ้านี่คือความยิ่งใหญ่ของจีนและอินเดียในอดีต ตั้งแต่ ค.ศ. 1-1800 ปัจจุบัน อาเซียน-อ่าวเบงกอล-เอเชียใต้ ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม ผลก็คือ สามพื้นที่นี้กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรทางน้ำที่คับคั่งที่สุดในโลก สังเกตจากเส้นสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีเรือผ่านมากกว่า 5,000 ลำต่อปี”

วงสามวงที่ปรากฏในแผนที่ข้างบน ได้แก่ อ่าวเบงกอล ช่องแคบมะละกา และทะเลจีนใต้ ซึ่งมีการค้าการลงทุนทางทะเลที่สำคัญที่สุด และปัจจุบัน ผู้คนพูดถึงคำว่า เอเชียแปซิฟิก น้อยลง แต่มองภาพรวมเป็นอินโดแปซิฟิกมากขึ้น นั่นก็คือการเชื่อมสองมหาสมุทรเข้าเป็นผืนเดียวกัน

“นั่นแหละครับที่ทำให้เอเชียใต้และอาเซียนมีหมุดหมายและความสำคัญในเวทีเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

ผศ. ดร. ปิติ ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สองพื้นที่นี้ยังแตกต่างกันตรงที่ในทะเลจีนใต้ยังเกิดกรณีพิพาทมากมาย ในขณะที่อ่าวเบงกอล อินเดียและบังกลาเทศสามารถทำข้อตกลงเรื่องพื้นที่การทำประมงได้ และถึงขั้นแลกเกาะกันเพื่อให้ประชาชนที่นับถือศาสนาฮินดูและอิสลามได้ย้ายไปอยู่ใต้ปกครองของประเทศที่พวกเขาสบายใจ

“เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของประเทศในอ่าวเบงกอล อยู่ในสถานะที่ดีถึงดีมาก”

จากประเทศยากจน อินเดียกำลังกลับตัว

ถ้าพูดถึงจีนในตอนนี้ หลายคนคงไม่ปฏิเสธความยิ่งใหญ่ แต่บางคนอาจยังกังขาว่าอินเดียเองจะกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนจีนจริงๆ หรือไม่ พวกเขามีความสามารถพอหรือเปล่า

“น่าจะได้ครับ เพราะศตวรรษที่ 17-18 ก่อนอังกฤษจะเข้าอินเดีย อินเดียครอบครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณหนึ่งในสี่ แต่ในปี 1947 วันที่อังกฤษออกจากอินเดียไป จากประเทศที่รวยเป็นอันดับ 1-2 ของโลก อินเดียเหลืออยู่แค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของโลก กลายเป็นประเทศที่ยากจนติดอันดับต้นๆ แต่วันนี้อินเดียกลับมามีเศรษฐกิจเป็นเบอร์ 6 ของโลก”

ผศ. ดร. ปิติ ยกตัวอย่างสถิติความเป็นอยู่ต่างๆ ในอินเดีย ทั้งสัดส่วนคนยากจนในประเทศที่ลดลงไปมาก อัตราการรู้หนังสือและอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ สะท้อนว่าทุกอย่างกำลังไปได้สวย

และเมื่อดูชาร์ตแสดงจุดศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ก็จะเห็นว่าทิศทางของมันกำลังย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น

“PwC ทำวิจัยต่อไปโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตรควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก พบว่าในปี 2050 ประเทศที่เป็นเบอร์ 1 ในด้านเศรษฐกิจ คือจีน รองลงมาคือสหรัฐฯ ส่วนเบอร์ 3 คือ อินเดีย เบอร์ 4 คืออินโดนีเซีย และเบอร์ 5 คือ ญี่ปุ่น”

“ภาพเส้นทางนี้นี้เกิดขึ้นในปี 2012 หลังจากที่จีนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยุโรปและสหรัฐฯ เจอซับไพรม์ในปี 2009 เดิมทีจีนเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกด้วยสัดส่วนเกิน 60-70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จีนจึงได้รับผลกระทบมาก สิ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูปเศรษฐกิจ กลายเป็น New Normal ทำให้จีนต้องทำสองอย่าง หนึ่งคือการเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ของประเทศ ต่อไปนี้เกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ต้องเป็นการบริโภคภายในประเทศ

“แต่การค้าระหว่างประเทศก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น จีนจึงจะสร้างเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ นำไปสู่สองเส้นนี้ คือ อีไต้ อีลู่ หรือหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เรียกว่าเป็นเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21

“ถ้าท่านจำแผนที่เส้นทางสายไหมและการเดินทางของเจิ้งเหอ ลองมาดูแผนที่เหล่านี้ มันไม่ต่างจากเดิมเลยครับ สิ่งที่ต่างคือ ‘เวลา’ และสังเกตว่าทางทะเล เส้นทางสายไหมที่มีเส้นลากมากที่สุด คืออ่าวเบงกอล และจากปี 2013 ตอนนี้เส้นทางเหล่านี้พัฒนาออกมาเป็น 7 ระเบียงเศรษฐกิจ

“สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ อดีตเคยเป็นยังไง เหตุการณ์ในอนาคตก็กำลังจะทำซ้ำตัวเองแบบนั้น และไทยเราเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเอื้อมไปเชื่อมกับเขาในหลายๆ เส้นทาง”

ยกตัวอย่างเช่น โครงการเชื่อมต่ออินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมตรงจากตาก-พม่า-กัลกัตตา (จากเดิมที่ต้องนำสินค้าไปขึ้นฝั่งที่มุมไบแล้วขนส่งทางบกตัดข้ามประเทศไปอีกที) ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์และระยะเวลาจาก 45 วันเหลือ 3 วัน

BIMSTEC ความสัมพันธ์ 20 กว่าปี ที่ไทยต้องหันมามอง

กลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอลยังดูห่างเหินจากไทยในสายตา แต่ความจริงแล้ว ไทยพยายามสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ผ่านสิ่งที่เรียกว่า BISTEC ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็น BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หลังการเข้ามาเป็นสมาชิกของเมียนมา เนปาล และภูฏาน

ผศ. สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท้าความว่า อันที่จริงแล้ว คอนเซปต์ ‘เอเชียใต้’ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ก่อนหน้านี้ สมัยสงครามเย็น ศรีลังกาเองก็เคยเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกเทียบเชิญให้เข้า ASEAN แต่ในเวลาดังกล่าว ประเทศแถบนั้นยังคลางแคลงอิทธิพลสหรัฐอเมริกาที่มาพร้อมกับคำว่า ‘จักรวรรดินิยมสมัยใหม่’ ในช่วงสงครามเย็น

ส่วนการเกิดขึ้นของ BIMSTEC มาจากการที่ทางภาครัฐไทยเห็นความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540

“ไทยเล็กเกินไปในเวทีโลก เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างอัตลักษณ์และจุดยืนขึ้นมา”

ด้าน ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ใช้เรื่องอาหารมาเป็นตัวชูโรงเชื่อมโยงความสำคัญของกลุ่มประเทศในอ่าวเบงกอล มองว่า อาหารสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสัมพันธ์ทางการทูตได้ เรียกว่าเป็น Gastrodiplomacy และเป็นความสัมพันธ์แบบที่ระดับบุคคลสามารถเริ่มได้เองเลย ไม่ต้องรอให้รัฐเริ่มอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อสร้าง “จินตนาการใหม่” ที่จะช่วยขจัดความเป็นอื่นที่มีระหว่างกัน

เริ่มจากการสังเกตว่า เรากับประเทศในอ่าวเบงกอลมีอาหารการกินหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น ขนมตาล แกงต่างๆ ขนมจีน (ซึ่งไม่ได้มาจากจีน) ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการกินปลาตะลุมพุก ที่ปัจจุบันหาได้ยากในประเทศไทย

“ความสัมพันธ์อันดีจะทำให้ความร่วมมือที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกันเป็นไปได้ดี อาหารการกินอย่างปลาตะลุมพุกอาจสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจน คือเมื่อเราชอบกินอะไรเหมือนๆ กัน ก็ต้องช่วยกันรักษาให้มีกินไปนานๆ”

ส่วนอาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอแง่มุมทางภาษาและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกันมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาร่วมกัน พระพุทธรูปแต่ละแห่ง แม้จะสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยศิลปะที่ต่างรูปแบบ แต่ชนชาติต่างๆ มีความเข้าใจร่วมกันว่าแก่นของสิ่งนั้นหมายถึงอะไร และการเดินทางเผยแผ่ศาสนาทำให้เกิดความสัมพันธ์กันมาช้านาน มีการสร้างสถาปัตยกรรมจำลองสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างได้ไปเห็นมาจากอีกสถานที่หนึ่ง

และปัจจุบัน แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาก็กลายเป็นจุดดึงดูดนักเดินทางให้ตามรอยสักการะวัด สถานที่สำคัญในพุทธประวัติ หรือพุทธศาสนสถานตามที่ต่างๆ ซึ่งนี่คือแกนกลางที่ยึดโยงประเทศต่างๆ ในแถบนี้ร่วมกัน และไม่ได้ห่างเหินกันอย่างที่เรารู้สึก

อุปสรรคของ BIMSTEC

แต่แม้ BIMSTEC จะดำรงอยู่ยาวนานมาถึง 20 กว่าปี ผศ. สุรัตน์ มองว่า ความร่วมมือนี้มีปัญหาในการจัดการ ยังไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะได้แบ่งการทำงานออกเป็นหลายส่วนเกินไป กล่าวคือ แบ่งเป็น 14 ภาค

“เรียกได้ว่าแบ่งซอยย่อยไปหลายเรื่อง และก่อนหน้านี้ก็ไม่มีสำนักงานเลขาธิการ ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องเลขาธิการคลี่คลายแล้วด้วยการจัดตั้งสำนักงานที่บังกลาเทศ โดยมีเลขาธิการคนแรกเป็นชาวศรีลังกา แต่ปัญหาเรื่องการสร้างผลงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน เรายังต้องหาวิธีแก้ไข และปัจจุบัน เอเชียใต้ก็ยังมีความอ่อนไหวเรื่องการค้ามาก เพราะยังเสียดุลการค้าเยอะ โดยเฉพาะกับประเทศไทย”

เมื่อความยิ่งใหญ่ของอินเดียเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจคาดการณ์เอาไว้ และโครงข่ายที่โยงใยเส้นทางการค้าโลกอยู่ ทำให้เราเห็นภาพชัดว่าภูมิภาคนี้จะขับเคลื่อนไปอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น BIMSTEC หรือ ASEAN ก็เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง

แม้จะมีผู้กังขาว่า การสร้างสัมพันธ์เหล่านี้ประโยชน์จะตกอยู่แก่ใคร ประชาชนทั่วๆ ไปจะเสียเปรียบหรือเปล่า แต่ทั้งผศ. ดร. ปิติ และ ผศ. สุรัตน์ มองว่า เมื่อไทยต้องอยู่กับโลก และต้องทำมาค้าขาย ความตกลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปร่วมด้วย และมองถึงประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้บริโภค และเร่งพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตในไทยให้แข่งขันได้ มากกว่าจะคิดตั้งกำแพงกันผู้เล่นจากต่างชาติ

Tags: , , , , , , ,