ใกล้สิ้นปี หลายคนอาจจะหันมาทบทวนตัวเองในปีที่กำลังจะผ่านไป และตั้งเป้าหมายสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง สำหรับประเทศไทย นอกจากจะมีการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดจะจัดขึ้นในปีหน้าแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ นั่นคือ การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
The Momentum ลองสำรวจความคาดหวังของผู้คนจากหลากหลายกลุ่ม ว่าอะไรคือเป้าหมายที่พวกเขาและเธออยากจะเห็นจากอาเซียน รวมถึงจากประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ในปี 2019 ที่จะถึงนี้
000
‘ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ’ บุตรคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พูดถึงความคาดหวังต่ออาเซียนในปี 2019 ที่จะถึงนี้ในมุมรัฐศาสตร์ว่า อาเซียนจะต้องคิดเรื่องการฝึกด้านการทหารร่วมกันมากขึ้น โดยแบ่งปันทรัพยากรทางการทหารและ สร้างพันธมิตรทางการทหารในกลุ่มอาเซียนกัน เพราะเขามองว่า ในที่สุดแล้ว อาเซียน อาจจะต้องโดนบังคับให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีน
“ลีเซียนลุง นายกฯ ของสิงคโปร์ ก็เพิ่งออกมาพูดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การชนกันในภูมิภาคอาเซียนของสหรัฐฯ และจีน อาจจะต้องทำให้อาเซียนต้องเลือกจะอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ถ้าเราไม่อยากเลือกเราต้องมีอะไรที่ดีพอในตัวของเราเอง มีประชาคมที่แข็งแกร่งมากขึ้น หรือความสัมพันธ์ทางการทหารที่แข็งแกร่งมากขึ้น มีการซ้อมรบร่วมกัน คิดว่าเราจะซื้ออาวุธอะไรร่วมกัน แบบที่มัน complimentary กันได้ อาจไม่ต้องถึงกับมีกองพันแบบ NATO ไม่ต้องถึงขนาดมีศูนย์กลางบัญชาการร่วมกัน แต่ว่าต้องมีแผนการซ้อมรบ ที่อาจจะต้องซ้อมกันทุกปี”
“ภาษาทหารเขาเรียกว่าต้องมี force projection ต้องโชว์ให้เห็นว่าเรามีประสิทธิภาพมากพอนะ คุณอย่าบังคับให้เราเลือกข้างนะ คุณอย่าทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้านะ เราพร้อม ถ้าจีนอยากทำอะไรเรา เราไปดึงอเมริกามาได้ ถ้าอเมริกาอยากทำอะไรเรา เราไปดึงจีนมาได้ มันต้องมีลูกเล่นแบบนี้”
ขณะที่อุปสรรคของการสร้างสิ่งนี้ให้เกิด เขามองว่า บางประเทศยังมีความหวาดระแวงต่อกัน ทำให้อาจทำงานร่วมกันได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม เขาเน้นว่า เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว ผลประโยชน์นั้นมีมากกว่าราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก จึงน่าจะทำให้เกิดขึ้น
ส่วนบทบาทของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า ฟูอาดี้หยิบยกในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังว่า ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่เฉพาะภาครัฐ แต่รวมถึงเอกชนด้วย
“คือประเทศไทยบอกว่าจะผลักดันด้านความยั่งยืน ด้าน SDGs (Sustainable Development Goals: เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) การเติบโตแบบทั่วถึง แต่ประเทศเราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก มันค่อนข้างแย่ กรุงเทพฯ ก็โตเอาโตเอา วัตถุนิยมในกรุงเทพฯ ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ห้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเอเชีย และน่าจะมีใหญ่กว่านี้อีกในอนาคต”
“เราพยายามฉายภาพให้ฝรั่งเห็นว่าเราอยากจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผมว่าเป็น recognition ที่ดีจากรัฐบาลหรือคนที่คิดเรื่องนี้ แต่ว่าการพัฒนาของประเทศ มันค่อนข้างสวนทางกับสิ่งที่เราจะพูด ไม่รู้ว่าความตระหนักตรงนี้ที่ข้าราชการหรือที่รัฐบาลมี จะส่งผลถึงภาคเอกชน คนที่ลงทุนในด้านนี้หรือเปล่า ประชาชนทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญตรงนี้ เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องของเราทุกคน”
000
ขณะที่ ‘พยอม วลัยพัชรา’ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลง The ASEAN Way หรือวิถีแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเพลงประจำอาเซียน จากที่มีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 99 เพลงจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ ในปี 2008 บอกว่า สิ่งที่คาดหวังต่ออาเซียนนั้นอยู่ในเนื้อเพลงที่เธอแต่ง
Raise our flag high, sky high
Embrace the pride in our heart
ASEAN we are bonded as one
Looking out to the world.
For peace, our goal from the very start
And prosperity to last.
We dare to dream, we care to share.
Together for ASEAN
we dare to dream,
we care to share for it’s the way of ASEAN.
“คำต่างๆ ที่เลือกใช้ คือสิ่งที่เราอยากเห็นมันเกิดขึ้น” เธอกล่าวและว่า เราพูดถึงคำว่า pride ที่แปลว่าความภาคภูมิใจ เราอยากให้ในที่สุดแล้วทุกคนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวอาเซียนคนหนึ่ง คำว่า bond ที่แปลว่าสายใย เราก็อยากจะให้คนอาเซียนรู้สึกผูกพัน รู้สึกเป็นญาติเป็นเพื่อน เป็นคู่ค้าเป็นมิตร ไม่ใช่คู่แข่ง Looking out to the world ต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มองไกลว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว เราควรจะต้องไปให้ทันโลก peace and prosperity อยากให้คนของเราเองและคนในภูมิภาคอยู่กันด้วยความสันติสุขและมีความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่บอกว่า We dare to dream, we care to share มันอยู่ในนี้หมดเลย
เธอขยายความว่า อยากจะเห็นประเทศที่แข็งแรงกว่าช่วยเหลือประเทศที่อ่อนด้อยกว่า ไม่ได้คาดหวังให้ไปยื่นมือให้เงิน แต่ช่วยเหลือในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาหารือ
การสอน การแบ่งปัน know-how หรือการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน ในที่สุดเมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกหกร้อยกว่าล้านคน เราก็กลายเป็นตลาดใหญ่ ทำให้เรามีสิทธิมีเสียงในการเจรจากับประเทศคู่เจรจา หรือ dialogue partner ของเรามากขึ้น
ถามว่าความคาดหวังที่ว่าอยู่ในขั้นไหนแล้ว เธอมองว่าเรายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น
“อาเซียนจะต้องทำงานหนักมากขึ้น สื่อสารให้มากขึ้น ให้คนรู้ว่าอาเซียนคืออะไร เกี่ยวอะไรกับเรา ถามชาวบ้านทั่วไปว่ามันมีผลกระทบอะไรกับเราหรือเปล่า ส่วนใหญ่คนเขาไม่ได้รู้สึกอะไรกับอาเซียน ว่ามีด้านบวกด้านลบอย่างไร ถ้าเขายังไม่เห็นภาพเช่นนี้ จะคิดไม่ออกหรอกว่าจะไปทำอะไรกับอาเซียน”
ถ้าถามว่า อยากให้ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนมีบทบาทเรื่องใดเป็นพิเศษ เธอบอกว่า อยากเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญที่ต้องช่วยกันดูแล เพราะภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หมอกควัน การตัดไม้ทำลายป่า หรือกระทั่งน้ำท่วม แม้จะเกิดขึ้นที่ประเทศหนึ่ง แต่ก็ส่งผลถึงประเทศของเรา ถ้ารณรงค์สิ่งเหล่านี้ได้ก็จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ให้ลูกหลานเราได้ เช่นเดียวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่ติดต่อกันได้ ก็ต้องมีความใส่ใจ นอกจากนี้ยังอยากเห็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ทั่วถึง เช่น พัฒนาระบบรางรถไฟเป็นระบบเดียวกัน จากจีนไปลาวและมาถึงบ้านเรา จนไปถึงสิงคโปร์ เพื่อความเจริญที่ทั่วถึงกัน ไม่ใช่มองเป็นเรื่องการเมืองไปเสียหมด
000
ด้าน ‘ภัทริสา ศศิตระกูล’ ผู้พิการทางสายตา อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันพัฒนาผู้นำคนตาบอด ซึ่งปัจจุบันประกอบธุรกิจส่งออกผ้าไหม เล่าว่าเธอคาดหวังให้คนในแต่ละประเทศของอาเซียนมีความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยยกตัวอย่างว่า กรณีประเทศไทยนั้น ในแง่กฎหมายเกี่ยวกับคนพิการแล้วนับว่าไม่น้อยหน้าใคร แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดในประเทศสมาชิกอื่นๆ
“เรามีกฎหมายที่เอื้อให้คนพิการสามารถเรียนฟรีได้จนจบปริญญาตรี เรามีกฎหมายที่จะให้คนพิการได้รับการสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีได้เต็มที่ เรามีกฎหมายที่ให้คนพิการสามารถที่จะขอผู้ช่วยและรัฐบาลจ่ายผู้ช่วยให้ได้ แต่ว่าสิ่งนี้ไม่สามารถเกิดได้ในประเทศอย่าง สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีช่องว่างระหว่างความก้าวหน้ากับความที่ยังไม่ไปถึงไหนกันมากเกินไป
“เรื่องทัศนคติต่อคนพิการในกลุ่มอาเซียน เรามองไม่เท่ากัน อย่างที่ฟิลิปปินส์จะมีห้างสรรพสินค้าที่ให้คนพิการเข้าไปเปิดร้านขายของหรือส่งผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองทำเข้าไปขายได้ แต่อย่างไทย ขนาดกฎหมายก้าวหน้า เราก็ให้พื้นที่คนพิการไปขาย ‘อะไรก็ได้’ แต่ ‘อะไรก็ได้’ นั่นคือ ล็อตเตอรี แต่อย่างเรา เราขายล็อตเตอรีไม่เป็น แปลว่าเราไปขอพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้ใช่ไหม มันมีความลักลั่นกันค่อนข้างเยอะในอาเซียน
“ในขณะที่อียู แม้ด้านเศรษฐกิจ จีดีพีของสเปนกับของเยอรมนี จะไม่เท่ากัน แต่ความใกล้เคียงกันของคุณภาพชีวิตของคนพิการค่อนข้างจะใกล้เคียงกันมาก แทบจะไม่ต่างกันเลย”
นอกจากนี้ เธอยังอยากเห็นการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาค เพราะหากทำได้สำเร็จก็จะพัฒนาเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้ไม่ยาก
“ขอแค่เปิดโอกาสให้เราค้าขายร่วมกันแล้วก็ไม่ถูกกีดกัน ถ้าเราแข็งแรงพอในส่วนของเศรษฐกิจ ส่วนอื่นๆ ก็พัฒนากันไม่ยาก คือเราไม่ต้องไปมองเรื่องสังคมเพราะว่าเรามีความหลากหลายมาก เรามีประเทศมุสลิม เรามีประเทศพุทธ เรามีประเทศที่มีปัญหา มีประเทศที่เป็นกึ่งคอมมิวนิสต์ เราแค่เน้นกับเสาเศรษฐกิจว่าทำอย่างไรที่เราจะขยายอาชีพให้มันเคลื่อนย้ายกันได้ง่ายขึ้น ทำอย่างไรที่เราจะสามารถเอาความรู้จากประเทศอื่น ๆ สมมติว่าสิงคโปร์เด่นด้านดิจิทัล ด้านการเงิน ทำอย่างไรเราจะขอรับความรู้ของเขามาใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่ได้หมายถึงภาครัฐเอามาใช้ หมายถึงแบบคนทั่วๆ ไปอย่างเรา ทำอย่างไรที่เราจะนำเอาประโยชน์มาบริโภคได้ง่ายขึ้น หรือถ้าเราอยากจะไปฝากเงินที่มาเลเซีย ต้องทำอย่างไร เราไปเปิดบัญชีได้ไหม หรือต้องมีเอกสารอะไรวุ่นวายอีกไหม เราอยากซื้อกองทุนที่สิงคโปร์เราต้องทำอย่างไรอีก เปิดบริษัทที่เมียนมา ต้องทำอย่างไรเราถึงจะทำได้ เราก็ต้องไปอิงกฎหมายของภายในเขา ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของการค้าขายได้อย่างเท่าเทียม จะต้องเปิดให้สิ่งเหล่านี้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การยกเว้นวีซ่าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน”
ทั้งนี้ ภัทริสา มองว่า การจะไปสู่จุดนั้นได้ ภาครัฐอาจต้องเปลี่ยนทัศนคติ ยอมถอยกันคนละก้าวและหาจุดที่จะร่วมกันได้ หากจะมีข้อกำหนดใดก็ควรให้เหมือนกันทั้งสิบประเทศ
เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์คำร้องเพลงประจำอาเซียน เรื่องการรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนก็เป็นความคาดหวังของภัทริสาเช่นกัน เธอบอกว่า อยากให้ประเทศไทยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น และให้เวลากับเรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวสั้นๆ หรือประชาสัมพันธ์เพียงชั่วคราวแล้วจบไป
“ทำให้คนในประเทศรู้ได้ไหมว่า ประโยชน์ที่เราจะได้รับในฐานะที่เราเป็นคนไทย แล้วเราไปรวมเป็นอาเซียนคืออะไรบ้าง เช่น ตอนนี้อาเซียนไปถึงไหนแล้ว เราคุยกันเรื่องอะไรแล้ว เรามีอะไรถึงไหนแล้ว ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร ประชาชนสามารถที่จะไปใช้สิทธิพลเมืองอาเซียนได้อย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อยากให้มีข้อมูลตรงนี้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เขียนตัวหนังสือมาแล้วจากพวกเราไป ไม่อยากเห็นแค่นั้น”
ภาพ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ โดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย
ภาพ พยอม วลัยพัชรา โดย ภูพัฒน์ เจนอักษร
ภาพ ภัทริสา ศศิตระกูล โดย ธนพร แก้วเต่า
Fact Box
- อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations - ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1967 มีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สปป. ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
- ตามกฎบัตรอาเซียน ประเทศสมาชิกจะเวียนกันดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน วาระละ 1 ปี โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2018 ประเทศไทยรับไม้ต่อจากสิงคโปร์ นั่งเป็นประธานอาเซียนในปี 2019
- กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่หนังสือออนไลน์ “หนังสือ 50 ปีของไทยในอาเซียน” เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย เพื่อที่สร้างความเข้าใจและทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า ที่ผ่านมาไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน มีบทบาทในการขับเคลื่อนอาเซียนให้มาถึงวันนี้อย่างไร