แม้กลุ่มประเทศอาเซียนจะมีนโยบายภาคประชาสังคมและวัฒนธรรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มภาคีสมาชิกอาเซียนสนับสนุน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์ประสบการณ์ ความเข้าใจในความหลากหลายทางสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ตลอดระยะเวลาร่วมทศวรรษแทบจะไม่เห็นรูปธรรมทางนโยบายเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เลย นอกจากปรากฏการณ์ปักธงชาติกลุ่มภาคีประเทศตามสถานที่ราชการต่างๆ เช่นโรงเรียนเกือบทุกหัวระแหง 

แต่ไม่ทราบว่าประชาคมอาเซียนได้เรียนรู้อะไรแล้วบ้าง จากบริบทร่มธงแต่ละประเทศ การดำเนินนโยบายภาคประชาสังคมและวัฒนธรรมภายใต้กลไกของรัฐต่อรัฐ ได้กลายเป็นอุปสรรคที่ยากและซับซ้อนกว่าที่ภาคประชาสังคมหรือประชาชนพลเมืองจะเข้าถึงได้ เพราะศิลปะ วัฒนธรรม หรือความเคลื่อนไหวทางประชาสังคมที่รัฐเลือกนำเสนอและแสดงออกนั้นเป็นแนวคิดและกลไกที่กล่อมเกลาจนกลายเป็นศิลปะ-วัฒนธรรมแห่งรัฐพิธีกรรมที่เต็มไปด้วยความพึงพอใจ รื่นรมย์ ดี-งาม แต่ปราศจากกลิ่นอาย วิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรมของประชาชนที่ไกลออกไปจากสายตาและการรับรู้ของรัฐ

เชื่อว่ามีนักปฏิบัติการทางศิลปะ-วัฒนธรรมจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมั่นร่วมคลุกคลีเรียนรู้ ศึกษา ปฏิบัติตนอยู่ท่ามกลางชุมชน หมู่บ้านหรือผู้คนที่ไม่ถูกนับจากรัฐ เพื่อนำเสนอบริบท รูปแบบผลงานในแบบอย่างต่างๆ ในนามของศิลปะ การทำงานเชิงปฏิบัติการทางศิลปะนั้นเป็นกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยการทุ่มเท การศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่ด้วยความอดทนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าผลงานที่ออกมาจะสวยหรือดี-งามตามกรอบแนวคิดพื้นฐานทางศิลปะกระแสหลัก แต่เป็นกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับชุมชน ผู้คนในสังคมให้ได้ตระหนักถึงปัญหา ตั้งคำถามถึงโอกาส ความเป็นไปได้ ความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม จนกระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและแสดงออก เสมือนหนึ่งนักปฏิบัติการทางศิลปะเป็นผู้สร้างปฏิสัมพันธ์ในการศึกษาเรียนรู้แล้วสื่อสะท้อนออกมาให้สังคมได้รับรู้ผ่านกระบวนการปฏิบัติการทางศิลปะรูปแบบต่างๆ

Moelyono Moel (1957 – ) หนึ่งในศิลปินอุษาคเนย์ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงาน ตั้งแต่เรียนในสถาบันศิลปะ Indonesian Fine Arts Academy ที่ Yogyakarta ซึ่งเป็นสถาบันสอนศิลปะที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลงานในเชิงสังคม วัฒนธรรม การเมืองมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับ Moelyono นั้นเลือกเรียนสาขาจิตรกรรม เขียนภาพเชิงเรียลิสติกที่สะท้อนบริบทวิถีชีวิตชาวนา ชาวไร่ในท้องถิ่นกำเนิดเกิดกายแถบ Tulung Agung ชวาตะวันออก ในวันที่เขาแสดงผลงานก่อนจบ Moelyno ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับบรรดาครูบาอาจารย์และผู้ชมในครั้งนั้น เพราะเขาไม่ได้แค่เขียนภาพเหมือนของผู้ทุกข์ยากในท้องไร่ท้องนาเท่านั้นแต่เขาได้สถาปนา site specific หรือพื้นที่เฉพาะ นำไม้ไผ่มาสร้างเรือนรองรับกับผลงาน เขียนภาพผู้คนในชุมชนหมู่บ้านบนใบตองกล้วยและปล่อยให้วัสดุที่เขานำมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกผ่านกระบวนการของพื้นที่และเวลา แห้งเหี่ยวไปจนถึงวันสิ้นสุดนิทรรศการ

เสมือนเป็นหมุดหมายสำคัญของ Moelyono ที่ทำให้เขาตระหนักถึงวิถีปฏิบัติทางศิลปะและนับเป็นการก้าวย่างไปสู่จุดหมายของ social action ผ่านกลไกทางศิลปะที่ไม่ได้หมายถึงการเขียนภาพ/รูปเหมือนอีกต่อไป การปฏิบัติการทางศิลปะที่ทำให้สังคมตื่นตระหนัก รับรู้ถึงสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นทำให้เขาหันมาศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะทางการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมของสังคม ชุมชน ซึ่งเขาได้แนวคิด มุมมองจากหนังสือ Pedagogy of the Oppressed (การศึกษาของผู้ถูกกดขี่) ของ Paulo Freire (เปาโล เฟรเร) ที่กล่าวถึง “ความไม่รู้และความเฉื่อยชา คือผลผลิตทางตรงของสถานการณ์ทั้งหมดแห่งการครอบงำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และของระบบพ่อปกครองลูกที่ซึ่งผู้คนเหล่านั้นคือเหยื่อ แทนที่จะถูกส่งเสริมและให้เครื่องมือที่จะทำความเข้าใจและโต้ตอบต่อสภาพความเป็นจริงที่เป็นรูปธรรมในโลกของพวกเขา พวกเขากลับถูกทำให้จมจ่อมอยู่ในสถานการณ์ ที่ซึ่งการตระหนักรู้และการโต้ตอบอย่างมีวิจารณญาณไม่อาจเป็นไปได้ และนั่นทำให้เขาเห็นได้ชัดว่าระบบการศึกษาทั้งหมด คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับการธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งความเงียบงันนั้น” (จากพับในปก ; การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (ฉบับครบรอบ 50 ปี) : 2560) 

หลังจากจบการศึกษาศิลปะที่ Yogyakarta เขาก็มุ่งหน้าสู่ชนบทพร้อมเป้สัมภาระอุปกรณ์ศิลปะ เดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเรียนรู้ศึกษาศิลปะไปพร้อมๆ กับเยาวชนคนท้องถิ่น จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นโรงเรียนศิลปะเคลื่อนที่ (Portable art school) โดยการนำแนวคิด ‘การศึกษาของผู้ถูกกดขี่’ เป็นพาหนะเพื่อให้ผู้เข้าร่วมทุกคนมีส่วนในการออกแบบแนวคิดในการนำเสนอรูปแบบผลงานของตนเองจากประสบการณ์วิถีชีวิตประจำวัน ปัญหาทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม โดยไม่จำกัดเวลาในการปฏิบัติงาน ขึ้นอยู่กับความสะดวก เหมาะสมของแต่ละชุมชน ท้องถิ่นและใครถนัด เชี่ยวชาญในการแสดงออกผ่านสื่อวัสดุอะไรก็สามารถเปล่งความรู้สึกการแสดงออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการจักสาน ทักถอ ขีดเขียน เป็นต้น Moelyono ในฐานะนักปฏิบัติการจะเป็นผู้ประสานเชื่อมต่อในการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนำเสนอจัดแสดงในฐานะศิลปะเพื่อการมีส่วนร่วม (Participatory art) ของชุมชน

เขาไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ศิลปิน’ แต่เขาคือนักปฏิบัติการทางศิลปะที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดพลวัตในการทำงานสะท้อนบริบทเรื่องราวต่างๆ ให้สังคมได้รับรู้ และสั่งสมอำนาจจากท้องถิ่นให้สามารถต่อรองกับพลวัตภายนอก

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่เขาได้โถมตัวเองในฐานะนักปฏิบัติการทางศิลปะ (art activist) มาจนถึงปัจจุบันในวัย 60 กว่า แรงพลังของ Moelyono ยังไม่หยุดเพียงแค่โครงการโรงเรียนศิลปะเคลื่อนที่เท่านั้น เขายังจับประเด็นทางสังคม การเมือง ความไม่เป็นธรรม การกดขี่ข่มเหง จากอำนาจรัฐผ่านการปฏิบัติการทางศิลปะของเขาอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อปี 2018 ในงาน Bangkok Art Biennale ที่กรุงเทพฯ เขาได้นำเสนอเรื่องราวของรัฐบาลอินโดนีเซียกระทำต่อชาวปาปัว ในผลงานชุด Listen to the Voice my Land Papua ซึ่งเป็นผลงานจิตกรรมภาพเขียนผู้หญิงชาวปาปัว และที่สำคัญเขาได้นำเสนอเรื่องราวของผู้นำกรรมกรหญิงโรงงานผลิตนาฬิกาที่ถูกสังหารโดยน้ำมือของรัฐ ในชุด The Monument of Marsinah (ประติมาแห่งมาร์สินาฮ์) 

โครงการปฏิบัติการศิลปะชุดนี้เขาทำงานต่อเนื่องมากว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปีที่เธอถูกสังหารเมื่อปี 1993 ช่วงแรกๆ นั้นผลงานชุดนี้ถูกปฏิเสธและเซ็นเซอร์จากรัฐไม่ให้แสดงเช่นที่สุราบายา จนกระทั่งเมื่อปี 2019 ในงานเทศกาลศิลปะ Biennale Jogga ที่เมือง Yogyakarta ผลงานชุด The Monument of Marsinah จึงได้ถูกจัดวางติดตั้งแสดงอย่างเต็มรูปแบบ 

Marsinah เกิดเมื่อปี 1965 ทำงานเป็นกรรมกรในโรงงานนาฬิกา ซึ่งกดค่าแรงราวกับทำงานให้เจ้าของโรงงานฟรีๆ หยาดเหงื่อแรงงานของกรรมกรที่ประกอบนาฬิกาเรือนงามให้ผู้คนได้สวม ไม่มีใครรู้ถึงความเจ็บปวดของแรงงานหญิงในโรงงานที่ห้อมล้อมด้วยกำแพงสูงเพื่อปิดบังหยาดเหงื่อ แรงงานที่วนเวียนกันเข้ามากะแล้วกะเล่า แล้ววันสังหาร Marsinah ก็มาถึง ในการเดินขบวนประท้วงค่าแรงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1993 พร้อมกับเพื่อนกรรมกร เธอหนึ่งในผู้นำจำนวน 11 คนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ ถูกลอบสังหารด้วยกระสุนบาปทะลวงร่างอย่างโหดเหี้ยมในวันที่ 8 พฤษภาคม 1993 ร่างไร้วิญญาณของนักสู้ถูกพันปิดบังด้วยกระสอบข้าวเพื่ออำพรางความตายของเธอ 

Moelyono ได้นำบริบทของ Marsinah มานำเสนอใน site specific  ที่ล้อมด้วยสังกะสีเก่าสนิมเกรอะ รอยรูเว้าแหว่ง รอบสังกะสีติดโปสเตอร์ภาพเกี่ยวกับบริบทของนักสู้หญิงและเปิดทางเข้าด้านหน้าหลุมศพของนักสู้หญิง มีพวงหรีดสีเหลืองวางคารวะพร้อมป้ายชื่อของเธอ และฟุตเทจเหตุการณ์วันประท้วงที่เธอนำทัพแรงงาน เหนือหรีดอาลัยมีแผ่นป้ายหินอ่อนสลักเรื่องราวของเธอย่อๆ รอบหลุมศพวางอิฐบล็อกไว้ให้เดินชมสวนที่มีต้นไม้ล้มลุกปลูกเป็นหย่อมๆ ทุกเช้าศิลปินจะเข้ามารดต้นไม้ทุกวันตลอดจนสิ้นสุดการแสดง ฝากหลังหลุมศพมีตราครุฑติดอยู่บนผนังโรงแสดง อันเป็นตราสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย หน้าตราสัญญาลักษณ์มีแอ่งน้ำสีแดงสะท้อนเงาครุฑที่อาบด้วยเลือดของผู้ถูกสังหาร…ประติมาแห่งมาสินาฮ์เหยื่ออำมหิตจากกระสุนบาปเพื่อรำลึกถึงนักสู้หญิงแห่งอินโดนีเซีย

Moelyono ไม่เพียงแต่เป็นนักปฏิบัติการทางศิลปะเท่านั้นเขายังเป็นนักเขียน ครูขบถและนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใช้กระบวนการทางศิลปะสะท้อนปัญหา เรื่องราวต่างๆ ให้สาธารณะได้รับรู้ ตราบใดที่สังคมยังเต็มไปด้วยความอยุติธรรม สถานะของศิลปะก็พร้อมที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ของผู้ยากไร้ ผู้ถูกกดขี่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่อำนาจรัฐได้กระทำต่อประชาชนผู้มีเพียงมือเปล่าร้องขอหาความยุติธรรม