คงเป็นช่วงวิกฤตอีกครั้งของหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ถูกตัดงบประมาณ ล่าสุด เช้าวันที่ 26 กันยายน 2561 ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลป์คนปัจจุบัน เผยว่าได้รับแจ้งข่าวเรื่องหอศิลป์อาจถูกปิดประตูน้ำประปา สืบเนื่องจากปัญหางบประมาณ

เวลาประมาณ 13:30 น. บรรยากาศในห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 ของหอศิลป์ กทม. ดูหนาแน่นเป็นพิเศษ ผู้คนมากมายสวมใส่ชุดสีดำตามคำเชิญชวนที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ตัวแทนบางส่วนถือป้ายไล่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยใช้คำว่า “อัศวินดูหมิ่นศิลปะ” “ประณามความพยายามยึดหอศิลป์” และมีเอกสารอธิบายการกระทำที่ผิดคำพูดของผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงมีวิดีโอของศิลปิน นักเคลื่อนไหว และสื่อมวลชน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อความจำเป็นในการมีอยู่ของหอศิลป์ เรียกได้ว่าเป็นประเด็นทางสังคมที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจและตึงเครียดในระดับหนึ่ง

งานแถลงข่าวครั้งนี้จัดขึ้นในนามของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการพูดคุยผ่านสื่อและประชาชนอย่างเป็นทางการเพื่อบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง และอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตความอยู่รอดของหอศิลป์กรุงเทพฯ

 

กทม.ตัดช่องทางงบอุดหนุน

วิกฤตรอบนี้เริ่มขึ้นหลังจากเมื่อสิงหาคม 2560 สมาชิกสภากทม. ส่วนหนึ่งมองว่า การบริหารงานภายใต้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อาจเข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 96 ตามพ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 เพราะมูลนิธิถือเป็นหน่วยงานเอกชนที่ทำมาหากินในพื้นที่กทม. จึงอาจจะไม่ถูกระเบียบตามสัญญาโอนสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด แม้ในอดีต เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 จะเคยมีการลงนามปฏิญญาระหว่างพันธมิตรด้านศิลปวัฒนธรรมกับผู้ว่าฯ กทม.ในยุคนั้น ซึ่งก็คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ว่าจะให้มูลนิธิเป็นผู้ดูแลบริหารงานจนถึงปี 2564 ก็ตาม

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2561 พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศว่า กรุงเทพมหานครจะเข้ามาดำเนินการบริหารหอศิลป์กรุงเทพฯ เสียเอง แต่ก็เกิดกระแสต่อต้าน มีแคมเปญออกมาล่าชื่อคัดค้านและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ระงับแผนดำเนินงานดังกล่าว

ผศ.ปวิตร กล่าวถึงความรู้สึกในช่วงที่ผ่านมาว่า เขารู้ดีถึงปัญหาที่ยังซ่อนอยู่ เพราะปกติหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้รับเงินอุดหนุนจากกทม. เป็นจำนวน 40 เปอร์เซนต์ หรือประมาณปีละ 50-60 ล้านบาท แต่ 9 เดือนที่ผ่านมา งบอุดหนุนจากกทม.ส่วนนี้ถูกโอนไปให้เบิกจ่ายผ่านทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมา สำนักวัฒนธรรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับมูลนิธิ และงบประมาณก็ถูกลด จากที่เคยตั้งไว้ราว 60 ล้าน ก็ถูกหักลง เหลือเพียง 53 ล้าน

สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ เพราะล่าสุด สำนักวัฒนธรรมฯ หยุดจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ตอนนี้มูลนิธิจึงเร่งหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วางแผนมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สามารถอยู่รอดไปจนถึงกลางปี 2562

ในงานแถลงข่าว วันที่ 26 กันยายน 2561 ผศ. ปวิตร ยืนยันว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมา พยายามส่งหนังสือเพื่อขอเจรจาเรื่องสัญญากับทางกทม. หลายครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับ กลุ่มเครือข่ายศิลปินที่รับรู้ข่าวเลยกังวลใจ เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยความรู้สึกไม่พอใจ นำไปสู่แคมเปญต่อต้านและงานแถลงข่าวครั้งนี้ หลายคนตั้งคำถามต่อรัฐว่าไม่สนใจผลงานที่ผ่านมาของหอศิลป์เลยหรืออย่างไร ตลอดจนเห็นพ้องต้องกันว่า หอศิลป์กรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีผู้บริหารเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ

ขณะที่มีการพูดคุยชี้แจงถึงผลกระทบในงานแถลงข่าว เวลา 14.10 น. พ.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯ กทม.
โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า “เรื่องงบฯ อุดหนุน.. ให้ได้ แต่ต้องชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชน ต้องทำให้ถูกต้อง” โดยบอกว่า ไม่ใช่ว่า กทม.ไม่ให้ แต่ให้ไม่ได้ แม้เขาพยายามช่วยสนับสนุนให้บรรจุเงินอุดหนุนแก่มูลนิธิเข้าวาระงบประมาณประจำปีแล้วถึงสามครั้ง แต่ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภากทม.

และชี้แจงว่า เรื่องยึดหอศิลป์นั้นมันจบไปนานแล้ว และยืนยันจะไม่เข้าไปบริหารจัดการในกิจการของหอศิลป์กรุงเทพฯ

สื่อสารผิดพลาด หรือต่างฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายแฝง?

การพิจารณาว่าหอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ของกทม. เอกชนจึงไม่สมควรได้รับเงินอุดหนุน ประจวบกับเป็นช่วงที่คณะกรรมการมูลนิธิกำลังสรรหาเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เพราะชุดเก่าหมดวาระไปเมื่อเดือนมีนาคม ทำให้วันที่ 25 กันยายน 2561 มูลนิธิต้องยอมให้รัฐเข้ามาถือสิทธิ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการบริหารจำนวน 6 คน

ทั้ง 6 คนนี้ เป็นตัวแทนของผู้ว่าฯ กทม. 5 คน ตัวแทนของมูลนิธิหอศิลป์ฯ 1 คน คือ รศ.สุธีร์ คุณาวิชยานนท์ และมีทหารซึ่งไม่ได้มีความรู้ทางด้านศิลปะได้ดำรงตำแหน่งอยู่ถึง 3 คน

ผศ. ปวิตร สัญญาต่อหน้าศิลปินและสื่อมวลชนว่า “จะพยายามทำให้หอศิลป์อยู่รอดด้วยการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด” ทั้งยังยืนยันว่า ทีมงานทุกฝ่ายต่างปฏิบัติหน้าที่ อุทิศตนให้กับพื้นที่เรียนรู้ทางศิลปะ จนหอศิลป์ได้รับการยอมรับจากเยาวชนและคนแวดวงศิลปะมาถึงทุกวันนี้ แต่เพราะถูกมุ่งเป้าไปที่เรื่องของสัญญาจากสภากทม. เป็นผลให้การดำเนินงานติดขัดด้วย

จากข้อจำกัดหลายประการ ทางหอศิลป์กรุงเทพฯ กำลังพิจารณาผลดีผลเสียในการตัดนิทรรศการ ลดกิจกรรม ลดเวลาทำการของหอศิลป์ จากเดิมเปิดช่วงเวลา 10.00-21.00 น. เป็น 11.00-20.00 น. และอาจเปิดพื้นที่บางชั้นให้ศิลปินอิสระมาเช่าพื้นที่ จัดแสดงผลงานของตัวเอง รับบริจาคหาเงินเพื่อลดภาษี รวมถึงงานใหญ่ระดับชาติอย่างบางกอกเบียนนาเล่ และเทศกาลละครที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว ก็ยังอยู่ในช่วงพิจารณาหาช่องทางสนับสนุนเพิ่มเติม

ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพฯ เผยถึงผลกระทบว่า “ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากหอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงถูกตัดงบประมาณ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรมและพื้นที่การจัดแสดงใหม่จนเสียระบบ แต่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ปรับตัวได้ เพียงเสียดาย ถ้าหากงานนี้ไม่สามารถดำเนินงานได้โดยอิสระสมบูรณ์ ก็จะทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงศิลปะอย่างเต็มที่” พร้อมทั้งเสนอว่าจะพยายามใช้พื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมในการจัดแสดงผลงาน เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง โดยเฉพาะเยาวชน นักเรียน นักศึกษา

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ อธิบายถึงความสำคัญของเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติที่เขาเป็นเจ้าภาพว่า “โปรเจ็กตฺนี้ได้ดำเนินงานมาเป็นปีแล้ว และจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 จึงเกรงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดงานศิลปะไทยกับต่างประเทศ ฉะนั้นเมื่อหอศิลป์ กทม. เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงที่กำลังมีปัญหา เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ย่อมได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ทำได้เพียงเผชิญหน้า และเตรียมรับมือไปพร้อมกับมูลนิธิหอศิลป์เท่านั้น จึงอยากให้กทม. เข้าใจ”

ผศ.ดร. อลิศร์ เทียนประเสริฐ นักวิชาการผู้จัดกิจกรรมการศึกษาเชื่อมโยงศิลปะกับวิทยาศาสตร์  กล่าวด้วยสีหน้ากังวลว่า “นี่เป็นวิกฤตของวงการศิลปะไทยก็ว่าได้ หากรัฐปิดกั้นการดำเนินงานของคนทำศิลปะ ไม่ให้พื้นที่อิสระในการเผยแพร่งานร่วมสมัย ภาพจำของศิลปะไทยก็จะอยู่แต่ในรูปแบบวัฒนธรรมที่แตะต้องไม่ได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงใจและจริงจัง”

ในช่วงท้ายของงานแถลงข่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ส่งรองผู้ว่าราชการ กทม. มาเป็นตัวแทนรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน หากแต่ไม่ได้มีเวลาแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาอย่างละเอียด จำเป็นต้องรอหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

กระแสในโซเชียลมีเดียตอนนี้ มีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐทำแบบนี้เป็นการบีบให้หอศิลป์ปิดหรือไม่ ความรู้สึกผูกพัน หวงแหน โหยหาอดีต ทำให้คนออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนอง ยินยอมพร้อมใจว่าจะเสียค่าเข้าชมดีกว่าถูกปิด เนื่องจากเหตุผลในแง่จิตใจต่างๆ

มูลนิธิเลือกแถลงข่าวชี้แจงถึงผลกระทบทางฝั่งของตนเอง กระแสวิพากษ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ออกมาในทางหวั่นวิตกว่า ท่าทีของฝ่ายราชการในครั้งนี้ดูเหมือนไม่เห็นคุณค่าของพื้นที่ทางศิลปะ ซึ่งรัฐคงจะกลายเป็นผู้ร้าย หากไม่มีการตอบสนองที่สามารถยอมรับร่วมกัน

“เป็นหน้าที่ต่อไปของมูลนิธิที่จะต้องทำให้คนเข้าใจ ยอมรับในการบริหารงานหอศิลป์ของมูลนิธิ ว่าจะสามารถขับเคลื่อนศิลปะจนเป็นที่ยอมรับในสากลได้” ผศ. ปวิตรกล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิง

Tags: , , ,