คนพิการมักถูกมองว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส เพียงเพราะมี ‘บางสิ่ง’ ไม่สมบูรณ์ ทั้งที่ในความเป็นจริง มนุษย์เราทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เพราะบางช่วงชีวิต เราต่างมีโอกาสเป็นคนพิการทั้งทางกายด้วยอุบัติเหตุไม่คาดฝัน หรือทางใจจนคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย
หากเรามองเห็นความพิการเป็นความด้อยโอกาส เราจะรู้สึกขาดโอกาสในทันทีที่กลายเป็นคนพิการ แต่ถ้าเรามองความพิการเป็น “แค่เพียง” อวัยวะบางอย่างขาดหายไป เราก็จะมองเห็นโอกาสของการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่อีกมากมายในตนเอง และใช้ศักยภาพนั้นอย่างเต็มที่เพื่อทดแทนอวัยวะที่ขาดหายไป และหากสังคมมองเห็นศักยภาพที่แตกต่างกันของคนพิการ แล้วนำมาเป็นจิ๊กซอว์ต่อกันจนกลายเป็นภาพที่สวยงาม คนพิการก็จะไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาสอีกต่อไป
ณ โซน Green Café’ งานอาเซียนซัมมิตครั้งที่ 35 ที่ผ่านมา
โจกำลังใช้มือคลำกระดาษฟอยด์สำหรับห่อช็อกโกแลตในความมืดผ่านการสัมผัสความแตกต่างบนพื้นผิว หากเป็นด้านบนจะมีลายนูน ด้านล่างจะเรียบ ฝีมือการห่อช็อกโกแลตของเขาเนี้ยบมากจนดูไม่รู้เลยว่าคนห่อมองไม่เห็น โจนับว่าโชคดีกว่าคนตาบอดอีกจำนวนมากที่มีโอกาสได้ทำงานในร้านช็อกโกแลตแห่งนี้ เพราะสำหรับคนตาบอดแล้ว โอกาสได้ทำงานในร้านอาหารดูเหมือนจะริบหรี่เต็มที เพราะเจ้าของร้านคงนึกไม่ออกว่าจะจ้างคนตาบอดอย่างไรจึงจะคุ้มค่าแรง
นอกจากโจแล้ว ที่นี่ยังมีเพื่อนผู้พิการทุกสภาพร่างกายทำงานร่วมกันตามความสามารถพิเศษและศักยภาพที่ยังทำงานได้ดีที่สุด อาทิเช่น ผู้พิการทางหู ซึ่งมีสัมผัสทางจมูกดีเยี่ยมจะได้ทำงานอยู่ในฝ่ายผลิตช็อกโกแลตที่ต้องอาศัยทักษะการดมกลิ่นไม่ให้ช็อกโกแลตไหม้ ขณะที่เพื่อนผู้มีภาวะออทิสติกสามารถทำงานในตำแหน่งพนักงานขายได้ด้วยรอยยิ้มจริงใจ ที่นี่จึงเป็นเหมือนดินแดนในฝันของผู้พิการเลยดีทีเดียว เพราะทุกคนมีความบกพร่องบางอย่างในตนเอง แต่สามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีใครรู้สึกด้อยคุณค่ากว่ากัน
ดินแดนในฝันแห่งนี้มีชื่อว่า ร้าน 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe อยู่ภายใต้ความดูแลของ มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ APCD ซึ่งเปิดโอกาสให้คนพิการทุกสภาพร่างกายมีงานทำตามศักยกภาพที่โดดเด่นจนความแตกต่างถูกหลอมรวมกลายเป็นความสมบูรณ์แบบในที่สุด
มองไปร้านติดกันด้านขวามือ ป้ายสีเขียวของ Café Amazon for Chance เชิญชวนให้ลูกค้าสั่งกาแฟในความเงียบ บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เพราะทุกคนต้องเรียนรู้ภาษามือ โลกการสื่อสารที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึงถูกทำให้เป็นเรื่องง่ายด้วยภาพการ์ตูนภาษามือแสดงวิธีสั่งเครื่องดื่มต่างๆ
ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาสของการทำงานถูกเปิดออกกว้างขึ้น โลกเงียบจึงไม่เงียบอีกต่อไป เพราะมีภาษากายช่วยนำพาความสุขและรอยยิ้มมาให้กันและกัน
ถัดไปอีกนิด กระเป๋าแสนสวยผลิตจากใบกล้วยของแบรนด์ตานี ที่เครือสยามพิวรรธน์จับมือกับกลุ่ม Art Story กำลังถูกแต่งเติมสีสันโดยจิตรกรออทิสติกอย่างน่าทึ่ง แม้ว่าบุคคลออทิสติกจะอยู่ในโลกส่วนตัวจนไม่อยากสื่อสารกับใคร แต่บนโลกของงานศิลปะแล้ว ทุกคนสามารถมองเห็นความงามร่วมกันได้แบบไร้ข้อจำกัดความพิการ
บริเวณใกล้ๆ กัน คนตาบอดในโครงการปักจิตปักใจ กำลังปักผ้าโดยไม่ต้องใช้ตามองอย่างตั้งใจ แม้ว่าไม่เคยมีใครคิดว่าตนเองจะปักผ้าได้สวยมาก่อน เพราะเข็มเย็บผ้ากับความมืดเป็นสิ่งที่ดูไม่น่าปลอดภัยยิ่งนัก การก้าวข้ามความหวาดกลัวไปสู่ความสวยงามบนผืนผ้าจึงต้องอาศัยการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาคลายความหวาดกลัวและ เสริมความมั่นใจจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่สนเข็ม กล่องด้าย แพทเทิร์นพลาสติกสำหรับทำลวดลาย ในที่สุดทุกคนก็สามารถปักผ้าได้สวยงามจนคนตาดีชื่นชมและทึ่งในศักยภาพของคนตาบอดมากขึ้น
ตลอดระยะเวลาทั้งสี่วันของงานอาเซียน ผู้พิการทุกสภาพร่างกายได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองในหลากหลายอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นร่วมกันในงานนี้ คือ คนพิการมีความบกพร่องเพียงแค่อวัยวะบางอย่าง แต่พวกเขายังมีอวัยวะอีกหลายอย่างที่ทำงานได้ดีไม่แพ้คนทั่วไป หรือบางอย่างอาจมากกว่าคนที่ไม่พิการด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะ “หัวใจนักสู้” ที่คนพิการทุกคนมีอย่างเต็มเปี่ยม
เมื่อไม่มีใครเลือกเกิดได้ ต้นทุนชีวิตของคนเราจึงไม่เท่ากัน คนพิการเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ขาดทุน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะขาดทุนไปตลอดชีวิต เพราะหากครอบครัวช่วยส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ สังคมเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีพื้นที่ยืนในสังคมร่วมกับคนทั่วไป ต้นทุนที่ขาดหายไปก็จะถูกเติมเต็มด้วยกำไรชีวิตที่สังคมเติมเต็มให้ จนในที่สุดคนพิการก็จะไม่เป็นภาระกับครอบครัวและสังคมอีกต่อไป
ตรงกันข้าม พวกเขาจะเป็นแรงพลังกายและพลังใจให้คนในสังคมมองเห็นศักยภาพอันแตกต่างของตนเองและเคารพในศักดิ์ศรีกันและกันมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงวันที่โชคชะตาพลิกผันให้เรากลายเป็นคนพิการโดยไม่คาดฝัน วันนั้นเราก็จะยังมองเห็นคุณค่าของตนเองอยู่เช่นเดิม เพราะยังมีสังคมที่เปิดประตูโอกาสให้เราเสมอ
ณ งานอาเซียนซัมมิตแห่งนี้ เรารู้สึกเหมือนเดินอยู่ในดินแดนแห่งอุดมคติ
ที่นี่…ไม่มีแววตาดูถูกดูแคลนในความแตกต่างของสภาพร่างกาย
ที่นี่…ไม่มีคำว่า ‘ด้อยโอกาส’ เพราะมีโอกาสมากมายให้ไขว่คว้า
ที่นี่…เป็นดินแดนที่คนทุกสภาพร่างกายทำหน้าที่เป็นจิ๊กซอว์เติมเต็มส่วนที่ขาดหายของกันและกันจนกลายเป็นภาพใหญ่แสนสวยงามของสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน
เราหวังว่าเมล็ดพันธุ์จากดินแดนอุดมคติแห่งนี้จะแพร่กระจายไปสู่สังคมไทยทุกแห่งหน เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีทุกคนอยู่ร่วมกันได้แบบเติมเต็มความแตกต่างให้กันและกัน เมื่อถึงวันนั้น คนพิการจะไม่ใช่ ‘คนด้อยโอกาส’ ในสังคมไทยอีกต่อไป