ถ้าวันหนึ่งคุณต้องกลายเป็นคนตาบอดอยู่ในโลกมืด แล้วมีคนชวนคุณมาปักผ้าเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตน คุณจะตอบตกลงทันทีหรือลังเล?

เราเชื่อว่า แวบแรกคุณอาจรู้สึกลังเล แต่เมื่อคุณหันไปมองอาชีพของคนตาบอดที่มีให้เลือกน้อยมากในสังคมไทย คุณอาจกล้าเสี่ยงมาลองเดินบนเส้นทางสายนี้กับเรา เพราะบนเส้นทางนี้มีโอกาสของการสร้างรายได้เลี้ยงตน แปรเปลี่ยนความรู้สึกของคนที่เคยเป็น ‘ภาระ’ สู่ ‘พลัง’ ของครอบครัว ดังเช่นเรื่องราวของนักปักผ้าในความมืดของโครงการปักจิตปักใจที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้

กระเทาะ ‘ไข่ในหิน’ 

คนตาบอดในสังคมไทยมักเติบโตภายใต้วิธีคิด ‘ไข่ในหิน’ บางครอบครัวไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือทำอะไรด้วยตนเองเลยเพราะกลัวว่าลูกจะเกิดอันตราย เด็กตาบอดจำนวนมากจึงถูกเก็บซ่อนไว้ที่บ้าน หรือเติบโตขึ้นมาแบบเป็น ‘ผู้รอรับ’ ความช่วยเหลือจากผู้ใจบุญที่มาบริจาคเงินและสิ่งของตามสถานสงเคราะห์  พวกเขาจึง ‘มองไม่เห็น’ ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในความมืดของตนเองเพราะขาดโอกาสในการพัฒนาความกล้าให้อยู่เหนือความกลัว

โครงการปักจิตปักใจเป็นโครงการภายใต้สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เริ่มต้นจากแนวคิดพาคนตาบอดมาทดลองก้าวข้ามความหวาดกลัวไปด้วยกันผ่านกระบวนการหลายอย่าง ตั้งแต่การฝึกให้คุ้นชินกับเข็มเย็บผ้าจนรู้วิธีหลบเลี่ยงปลายเข็มแหลมไม่ให้ทิ่มแทงนิ้วตัวเองจนบาดเจ็บ 

ยกตัวอย่างเช่น สายจันทร์ นักปักผ้าในความมืดรุ่น 3 ตาบอดแต่กำเนิด เกิดมาไม่เคยจับเข็มเย็บผ้ามาก่อน เพราะแค่ได้ยินคำว่า “เข็ม” เธอก็หวาดกลัวจนตัวเกร็งเสียแล้ว วันแรกของการอบรม เธอต้องฝึกทำความคุ้นเคยกับรูปร่างของเข็มเย็บผ้านานครึ่งวัน ความกล้าจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามมา จนสามารถปักผ้าได้สวยงามในที่สุด

หลังจากผ่านการสร้างความคุ้นเคยปลายแหลมของเข็มเย็บผ้าแล้ว มือปักในความมืดก็จะต้องผ่านการฝึกฝนฝีเข็มขึ้นลงจนกว่าจะสวยงามตามมาตรฐานการเรียน โดยฝึกปักจากผ้าชิ้นเล็กไปสู่ผ้าชิ้นใหญ่ จากผ้าหนาไปสู่ผ้าผืนบาง รวมทั้งการทำงานปักบนกระเป๋าที่เย็บสำเร็จรูป โดยปักไม่ให้ทะลุไปยังผ้าซับในด้านหลัง

นักปักผ้าในความมืดที่ก้าวเดินผ่านเส้นทางจากง่ายไปยากก็จะเกิดความภาคภูมิใจในฝีมือของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ จากความกลัวเริ่มกลายเป็นความกล้า จนอยากจะทำงานที่ท้าทายด้วยการปักลวดลายใหม่ๆ บนชิ้นงานที่ยากขึ้น

ดังเช่น จิฬาภรณ์ อนุศักดิ์กุล หรือ อุ๋ย หญิงตาบอดวัยสามสิบปี เคยมีอาชีพร้องเพลงเปิดหมวกตามตลาดนัดในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เคยทำงานปักผ้ามาก่อน แต่ด้วยเพราะเหนื่อยกับการตระเวนร้องเพลงนอกบ้าน เพราะบางวันก็ถูกคนสาดน้ำไล่ เพราะไปร้องเพลงหน้าร้านค้าจนเจ้าของร้านเกิดความรำคาญ เธอจึงเริ่มมองหาอาชีพใหม่ที่สร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองมากขึ้น ในช่วงแรกของการจับเข็มเย็บผ้า เธอมักท้อใจเมื่อได้รับบทเรียนที่ยากขึ้น โดยเฉพาะการปักผ้าบนกระเป๋าสำเร็จรูป แต่หลังจากลองพยายามฝึกฝนด้วยเทคนิคใหม่ๆ จนเจอวิถีทางของตนเอง ในที่สุดก็สามารถปักลวดลายหัวใจลงบนกระเป๋าใบแรกได้สวยงามน่าภาคภูมิใจ และทุกวันนี้ เธอเริ่มมีรายได้จากการปักผ้าเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องออกไปร้องเพลงเปิดหมวกอีกต่อไป  

ต้นเดือนสิงหาคม อุ๋ยเดินทางไกลจากจังหวัดเชียงใหม่เพื่อมาร่วมงานประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของบูธไปรษณีย์ไทย เพื่อปักผ้าโชว์ผลงานให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ชื่นชม เธอบอกว่า เธอภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนคนตาบอดไทยที่มาร่วมงานนี้ และจะกลับไปบอกลูกสาวและคนในครอบครัวว่า เธอได้ถ่ายภาพกับผู้นำจากหลายประเทศเลยทีเดียว เสียงชื่นชมจากผู้คนมากมายทำให้เธอมองเห็นคุณค่าในตัวเองเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามเสียงดูถูกและสบประมาทของผู้คนที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิตที่ผ่านมา 

การเดินทางของเส้นด้ายในความมืด

จอมแก้ว โลแก้ว หรือ หนิ้ว เป็นหญิงตาบอดแต่กำเนิด มีอาชีพรับจ้างนวดแผนโบราณอยู่ในหมู่บ้านอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ นานทีจะมีลูกค้ามาใช้บริการ รายได้จึงไม่พอยังชีพ ทุกครั้งที่มีการเปิดอบรมฝึกอาชีพที่เปิดโอกาสให้คนตาบอดมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เธอจะเข้าร่วมการอบรมเสมอ ตั้งแต่เย็บไม้กวาด ถักพรมเช็ดเท้าจากเศษถุงเท้า ฯลฯ แต่รายได้จากการขายสินค้าดังกล่าวไม่มากนัก 

เดือนกันยายนปี 2562 ที่ผ่านมา เธอได้ยินข่าวการเปิดอบรมนักปักผ้าในความมืดของโครงการปักจิตปักใจจะเปิดอบรมรุ่น 2 ที่สมาคมสหภาพจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่แตง เธอตัดสินใจเดินทางไกลจากหมู่บ้านบนดอยไม่ต่ำกว่าห้าชั่วโมง หวังจะมีอาชีพใหม่เลี้ยงตัวเองและจุนเจือครอบครัว แม้จะรู้ว่าปลายเข็มอาจทิ่มแทง และการปักผ้าในความมืดอาจต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักจนกว่าผืนผ้าจะงดงามก็ตาม

หลังเรียนจบหลักสูตรหกสัปดาห์ นักปักผ้าทุกคนจะต้องเดินทางกลับไปปักผ้าที่บ้านและส่งงานมาที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือตอนบน เพื่อจำหน่ายต่อไป แต่การออกไปส่งไปรษณีย์สำหรับคนตาบอดบนดอยเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะไปรษณีย์อยู่ไกลตัวเมือง เมื่อจะส่งพัสดุก็ต้องจ้างญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านตาดีไปส่งของให้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้น รายได้จากความพยายามปักผ้าในความมืดต้องลดลง เช่นเดียวกับนักปักผ้าทุกคนในโครงการที่ไม่สามารถเดินทางไปส่งของที่ไปรษณีย์ได้ด้วยตนเอง

เมื่อไปรษณีย์ไทยทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจึงออกนโยบาย CSR เพื่อสนับสนุนโครงการปักจิตปักใจด้วยการส่งบุรุษไปรษณีย์ไปรับและส่งผ้าระหว่างสมาคมคนตาบอดฯ และบ้านของสมาชิกในโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทำให้คนตาบอดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แปรเปลี่ยนสถานะจากคนที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘ภาระ’ สู่ ‘พลัง’ สำคัญของครอบครัวอย่างน่าภาคภูมิใจ

มูลค่าของความพยายาม

ปรียาวรีย์ มะโนจิตต์ หรือ ตาล หญิงตาบอดวัยสามสิบปีจากจังหวัดราชบุรี ย้ายมาอยู่ชานเมืองของกรุงเทพฯ เพื่อประกอบอาชีพขายล็อตเตอรี่เช่นเดียวกับคนตาบอดส่วนใหญ่ ซึ่งมีทางเลือกอาชีพไม่มากนัก ในระยะหลังมานี้ เธอต้องประสบปัญหาล็อตเตอรี่เหลือจำนวนนับน้อยใบจนขาดทุนเข้าเนื้อ  เธอจึงเริ่มมองหาอาชีพใหม่เพื่อมีรายได้เลี้ยงตนเองและลูกชายวัยซนทั้งสองคน 

ตาลลงชื่อสมัครมาเป็นนักเรียนปักผ้ารุ่นที่ 4 เพื่อหวังจะมีทางเลือกอีกหนึ่งอาชีพเพื่อเสริมรายได้จากอาชีพเดิม และหากสามารถเลี้ยงชีพด้วยอาชีพปักผ้าในความมืดได้เมื่อไหร่ เธอก็จะเลิกเสี่ยงลงทุนขายล็อตเตอรี่ หันมาประกอบอาชีพปักผ้าแทน เพราะไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนด้านวัสดุอุปกรณ์และสร้างตลาดด้วยตนเอง สิ่งที่ต้องลงทุนมีเพียง “ความพยายาม” ที่จะต้องปักผ้าให้สวยงามมากขึ้น 

  เธอมุ่งมั่นฝึกฝนปักผ้าจนสวยงามขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความหวังจะมีอาชีพใหม่ที่ไม่ต้องเสี่ยงขาดทุนและได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องลำบากตรากตรำออกไปตระเวนขายล็อตเตอรี่นอกบ้านอีกต่อไป เพราะสำหรับคนตาบอดแล้ว การเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องทนตากแดด ตากฝน และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รายได้ต้องถูกหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จนแทบไม่มีเหลือ หากเธอสามารถประกอบอาชีพปักผ้าอยู่ที่บ้าน และมีบุรุษไปรษณีย์มารับส่งผ้าถึงบ้านไปยังสมาคมคนตาบอด คุณภาพชีวิตของเธอก็จะดีขึ้น เพราะมีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูกมากขึ้นเช่นกัน 

เมื่อวันที่ 1- 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ตาลและเพื่อนๆ รุ่น 4 เดินทางมาปักผ้าโชว์พร้อมทั้งเป็นวิทยากรให้ผู้เข้าร่วมประชุมงานอาเซียนซัมมิทที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยให้ผู้เข้าร่วมปิดตาปักผ้าเพื่อเข้าใจความรู้สึกของคนตาบอดที่ต้องปักผ้าในความมืดว่าต้องอาศัยความพยายามมากเพียงใดกว่าจะเป็นผืนผ้าปักที่สวยงามให้ทุกคนได้ชื่นชม เธอบอกว่า “พวกเราภูมิใจที่ได้มาร่วมงานระดับประเทศครั้งนี้ และทำให้ทุกคนเห็นว่าคนตาบอดไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก”

เราเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมี “ความกล้า” และ “ความกลัว” อยู่ในตนเอง….หากเราสร้างอาชีพที่ทำให้คนพิการสามารถก้าวข้ามความหวาดกลัวในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำได้ เราก็จะมองเห็นศักยภาพอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ ดังเช่น วิถีคนกล้าของนักปักผ้าในความมืดของโครงการปักจิตปักใจที่ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า ศักยภาพในความมืดน่าอัศจรรย์มากเพียงใด 

หากเราไม่ปล่อยให้คนตาบอดอยู่ในความมืดเพียงลำพัง แต่ช่วยกันค้นหาศักยภาพจากประสาทสัมผัสที่ “มิใช่” ดวงตา เราก็คงจะได้เห็นคนตาบอดมีอาชีพเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย เพราะบางสิ่งที่เราไม่เคยลงมือทำ…ไม่ได้หมายความว่า เราทำสิ่งนั้นไม่ได้

Tags: , , , , , ,