เราพบ มุก-อสมา วิชัยดิษฐ ในงาน Bangkok Coffee Cult ที่ Away Online ร่วมกับ ล้ง 1919 จัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอคือเจ้าของร้านกาแฟ Asama Cafe ที่ตั้งอยู่ในมุมหนึ่งของร้าน ‘ครัวย่า’ ที่หมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์ เป็นเจ้าของร้านกาแฟที่หลงรักกาแฟ และแนะนำตัวเองว่าเป็น ‘บาริสต้า’ ทุกครั้งเมื่อมีใครถามถึงสิ่งที่เธอทำ กระทั่งต้องคุยกันไปยาวๆ นั่นแหละ ถึงจะได้รู้ว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เธอทำอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ ก็คือการเป็นกรรมการตัดสินบาริสต้าในรายการประกวดทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

เธอบอกกับเราว่า แรกทีเดียว ไม่ได้หลงรักรสชาติของกาแฟ แต่บรรยากาศของร้านกาแฟต่างหากที่พาเธอมาสู่ความอยากเป็นคนชงกาแฟ

ความใคร่รู้ทำให้เธอกลายเป็นบาริสต้ามือรางวัลและกลายมาเป็นกรรมการตัดสินในรายการแข่งขันบาริสต้าหลังจากนั้น แน่นอนว่าสิ่งที่เราไม่พลาดที่จะถาม คือกรรมการมองหาอะไรในตัวบาริสต้า และถ้าอยากเป็นบาริสต้าเก่งๆ ต้องทำอย่างไร

แรงดึงดูด

สมัยที่ยังเรียนอยู่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในยุคที่ร้านกาแฟไม่ได้อยู่ทุกหัวถนนเท่าวันนี้ อสมาใช้มุมหนึ่งของร้านกาแฟสตาร์บัคส์เป็นที่อ่านหนังสือ ด้วยความหลงรักในบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเองในร้านกาแฟ ทำให้อยากเป็นบาริสต้า เพื่อจะได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศเหล่านั้น แต่เพราะยังต้องเรียนหนังสือจึงต้องยอมเลิกล้มความคิดไปก่อน

เมื่อเรียนจบและย้ายกลับมาทำงานประจำที่เชียงใหม่บ้านเกิด ก็พอดีกับช่วงที่เชียงใหม่เริ่มมีร้านกาแฟเยอะขึ้น ร้านกาแฟร้านหนึ่งเปิดสอนบาริสต้าขั้นพื้นฐาน เธอจึงไม่รีรอ

“มุกเริ่มดื่มกาแฟนมก่อน ไม่ได้เป็นสายกาแฟจ๋า ไปร้านกาแฟก็จะสั่งพิกโคโล อะไรแบบนั้น ความที่เราอยากทำกาแฟมาตั้งนานแล้ว พอร้าน Ristr8o เปิดสอนก็เลยจุดประกายเรา ไปลงเรียนโดยที่ยังไม่ได้มีความคาดหวังอะไรเลย”

พอไปเรียนแล้ว แม้คอร์สจบลง แต่ความสนใจของเธอยังไม่จบ กลับเกิดคำถามเกิดขึ้นมากมายที่รู้สึกว่าต้องไปทดลองด้วยตัวเอง

“อย่างเวลาที่เขาสอนว่า กาแฟช็อตนี้ต้องไหลหยุดที่สามสิบวินาที เราจะสงสัยว่าทำไมต้องสามสิบ ยี่สิบแปด ยี่สิบเก้า หรือสามสิบสองไม่ได้เหรอ ทำไมเวลาต้องเป๊ะขนาดนั้น และถ้าสมมติว่าเรากดหยุดเครื่องที่ยี่สิบแปดวินาทีจะเป็นยังไง แต่ตอนนั้นมันไม่มีพื้นที่ให้เราลอง เพราะต้องลองกับเครื่องชงกาแฟ เครื่องบด ต้องมีอุปกรณ์ที่แพงแสนแพง แต่เราเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอุปกรณ์ชงกาแฟใดๆ ทั้งสิ้น”

เพื่อเรียนรู้และทดลองการชงกาแฟ เธอสมัครทำงานพาร์ตไทม์วันเสาร์อาทิตย์ในร้านกาแฟ Pacamara ที่เปิดสาขาแรกในเชียงใหม่

“เราอยากรู้อะไรเราก็ทำ แล้วเราก็ได้คำตอบด้วยตัวเอง อย่างที่บอกว่า เรากดหยุดที่ยี่สิบแปดวินาทีได้มั้ย จริงๆ แล้วมันได้ เพียงแต่รสชาติมันก็จะเปลี่ยนไปตามเวลาที่เรากดนั่นแหละ ขึ้นกับว่าเราต้องการอะไรจากกาแฟตัวนี้ ถ้าเราอยากได้รสชาติที่เข้มข้นขึ้น เราก็สกัดให้มันช้าลงด้วยการกดหยุดเร็วขึ้น

“กาแฟมันเป็นการทดลองแบบหนึ่ง เป็นทั้งวิทยาศาสต์และศิลปะ มันผสมกัน มุกสนุกมากเลย หมกมุ่นกับมัน ทั้งวันเราคิดแต่เรื่องกาแฟอย่างเดียวเลย ไม่สนใจเรื่องอื่น จนกระทั่งเราไม่สนุกกับการทำงานประจำอีกต่อไป อยากชงกาแฟเต็มตัว เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อจะเป็นบาริสต้าโดยไม่บอกที่บ้าน เพราะเขาไม่แฮปปี้แน่นอน ตอนที่เราบอกเขาว่าเราสมัครเป็นบาริสต้าพาร์ตไทม์ เขาก็ยังบอกอยากชงกาแฟเหรอ ถ้าอยากชงก็เปิดสิ เดี๋ยวเปิดในร้านอาหารให้ แต่เราไม่ได้อยากมีร้าน เราแค่อยากชงกาแฟ มันไม่เหมือนกัน พูดง่ายๆ ว่าเราแค่ชงกาแฟเป็น ทำเป็นแค่นั้น จะให้เรามาทำอะไรแบบที่ร้านดีๆ เขาทำกันแบบนั้นเราทำไม่ได้ และการที่เราเอาตัวเองไปอยู่ในร้านกาแฟร้านหนึ่งก็เพื่อที่จะเรียนรู้ เพื่อฝึกตัวเอง และหาคำตอบให้ตัวเองต่างหาก มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ”

เมื่อต้องลงสนามแข่ง

เป็นบาริสต้าพาร์ตไทม์ได้เพียงเดือนเศษ อสมาก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนร้านไปลงแข่งขันบาริสต้าในงาน Thailand Indy Barista ปี 2011 ซึ่งจัดขึ้นที่เชียงราย โอกาสที่มาถึงอย่างรวดเร็ว ทำให้เธอยิ่งต้องรีบพัฒนาตัวเอง

“เป็นงานแข่งระดับภูมิภาค ถ้าชนะระดับนั้นเราจะได้ไปแข่งต่อในระดับประเทศ จริงๆ ตอนนั้นเราไม่ได้อยากแข่ง ไม่ได้อยากทำอะไรเลย อยากชงกาแฟอย่างเดียวจริงๆ แต่ว่าเจ้าของร้านเขาส่งเราไป แล้วเวลาเราทำอะไร เราชอบที่จะจริงจังกับมัน พอได้รับมอบหมายว่าให้ไปแข่ง เราก็เตรียมตัว คิดว่าทำทั้งทีก็ทำให้มันดีไปเลย หาข้อมูล ดูยูทูบว่าคนที่แข่งระดับโลกเขาทำกันยังไง มันเหมือนเบิกเนตรเราเลยว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันเล็กน้อยมากเลยนะ ยังมีอะไรอีกเยอะแยะ ทั้งคอนเซ็ปต์หรือการพรีเซนต์ อะไรต่างๆ มากมายที่สามารถทำกับกาแฟได้โดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็มีทีมงานของ Pacamara เองที่ช่วยสนับสนุนและแนะนำเราอยู่

“เราไม่เคยไปงานแข่งมาก่อน แล้วอยู่ดีๆ ต้องไปในฐานะคนแข่ง ขึ้นเวทีครั้งแรกก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วกรรมการเขามองหาอะไรบ้าง หรือเขาอยากได้รสชาติกาแฟแบบไหน แต่เรารู้สึกว่า ตัวเองก็เตรียมตัวมาได้ดีในระดับหนึ่ง

จากการแข่งครั้งแรก ปรากฏว่าอสมาได้ที่หนึ่ง

“ไม่คิดว่าจะได้เลย แต่พอได้แล้วเราก็ไปแข่งต่อในระดับประเทศ กดดันกว่าเดิมอีก เพราะต้องเจอกับตัวแทนทั้งสี่ภาค เพื่อให้ได้ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ของประเทศ เป็นแชมป์ในประเทศไทย”

สองสนามแรกของอสมา คว้าที่หนึ่งทั้งระดับภาคและระดับประเทศ หลังจากนั้นเธอก็ได้ลงแข่งอีกครั้งในงาน National Thailand Barista Championship ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้งเพื่อคัดตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อระดับโลก

“ผู้ชนะต้องเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งต่อในรายการเวิลด์ บาริสต้า แชมเปี้ยนชิพ แต่ครั้งนั้นในระดับประเทศมุกได้ที่สาม เลยไม่ได้เป็นตัวแทน แต่เราก็แฮปปี้กับผลที่ได้ เพราะตัวเราไม่ได้มาสายแข่งอยู่แล้วตั้งแต่เริ่ม มาเพราะเจ้านายให้มาแข่ง เราไม่ได้เป็นนักแข่งขัน อย่างที่บอกคือเราแค่ชอบชงกาแฟ

“แต่การแข่งมันก็มีข้อดีของมัน ซึ่งเรามารู้สึกทีหลังว่ามันเป็นการผลักดันตัวเองนะ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่รู้ตัวว่าเราต้องรีเสิร์ชนะ ต้องฝึกเทคนิคการชงกาแฟ ฝึกชิม อะไรหลายๆ อย่าง”

จากบาริสต้า สู่การเป็นกรรมการตัดสิน

อสมาบอกว่าเธอไม่ได้มีอาชีพเป็นกรรมการ เพราะการไปตัดสินการแข่งขันบาริสต้าในเวทีโลกนั้น เธอไม่ได้รับค่าตอบแทน รวมถึงค่าที่พักและค่าเดินทาง แต่เป็นการทำแบบ ‘อาสาสมัคร’ ที่ทำให้เธอยิ่งสนุกต่อการเรียนรู้ ซึ่งหากนับตั้งแต่เธอรับหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินครั้งแรกในระดับประเทศ ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาห้าปีแล้ว

“ตอนนั้นมุกทำร้านแล้ว จากที่มุกเคยบอกว่าไม่ได้อยากมีร้านกาแฟของตัวเอง แต่ตอนนั้นมีเหตุว่าคุณอาซึ่งดูแลร้านครัวย่าอยู่เขาป่วย เราเลยต้องลาออกจาก Pacamara เพื่อมาช่วยดูแลที่ร้าน พอออกมาสักพักเราก็ยังอยากชงกาแฟอยู่ คิดถึงการชงกาแฟอยู่ทุกวัน เรารู้สึกไม่มีความสุขถ้าไม่ได้ชง เลยขอมุมหนึ่งในร้านอาหารเพื่อเปิดเป็นร้านกาแฟ เปิดร้านได้สักพัก พี่ฝ้าย (สุธิณี อมรพัฒนกุล) ซึ่งอยู่ในสมาคมบาริสต้า เห็นว่าเราเคยแข่งมาแล้ว ก็เลยชวนให้ไปเป็นกรรมการ เขาอยากได้คนที่มีประสบการณ์ในเวทีแข่งขันมาก่อน เพราะจะได้เข้าใจความรู้สึกของผู้แข่งขัน รู้ว่าผู้แข่งขันต้องผ่านต้องเจอกับอะไรมาบ้างกว่าจะมาแข่งตรงนี้ได้ และเข้าใจกฎกติกาของการแข่งขัน”

ตอนนี้มีคนไทยสองคนที่เป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขันในเวทีโลก คือ อสมา และ สุธิณี  โดยรายการที่เธอได้เข้าร่วมตัดสินคือ World Barista Championship และ World Latte Art Championship ซึ่งจัดเวียนกันไปในประเทศต่างๆ รวมทั้งเป็นกรรมการตัดสินรายการแข่งขันบาริสต้าในเมืองไทยด้วย

“จริงๆ แล้ว การเป็นกรรมการระดับประเทศ ไม่ได้แปลว่าจะได้เป็นกรรมการระดับโลก เราต้องไปสอบก่อน และต้องเคยเป็นกรรมการตัดสินในระดับประเทศมาแล้วอย่างน้อยสองปี มันสนุกมาก เราได้เจอผู้เข้าแข่งขันที่มีแพสชั่น และยังมีอาสาสมัครที่ไปช่วยงานในส่วนอื่นๆ เราได้เจอคนที่มีความรู้ คนที่มีใจให้กับกาแฟ และมุกรู้สึกว่า เวลาไปเป็นกรรมการ มันเติมพลังให้กับตัวเอง เรามีความสุขที่ได้อยู่ในบรรยากาศแบบนั้น

ช่วงที่จะมีงานตัดสิน กรรมการต้องดูแลตัวเอง คือไม่กินของรสจัด งดสูบบุหรี่ และดูแลตัวเองไม่ให้ป่วย เพื่อให้ลิ้นของเราเคลียร์ที่สุดที่จะรับรส

“ทุกครั้งที่ได้ทำงานตัดสิน เราได้เรียนรู้ตลอด เรื่องกาแฟคือองค์ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการเรียนรู้ที่เราไม่ได้ลงคอร์สเรียน ทุกคนมีเทคนิคใหม่ๆ อยู่ตลอด อาจเป็นเทคนิคแปลกๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าทำได้ เช่น เอาเมล็ดกาแฟไปใส่ถังอบ แล้วใช้ส่วนผสมของไวน์ในการหมัก หรือเอากาแฟไปแช่ในช่องฟรีซก่อนมาบด แล้วเราก็ได้พบรสชาติใหม่ๆ ในกาแฟที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน อย่างเช่นมีกาแฟตัวหนึ่ง มีความเป็นดอกไม้ชัดมาก เหมือนน้ำดอกไม้สกัดอย่างนั้นเลย ไม่เหมือนกาแฟ หรือได้เห็นกาแฟที่ดื่มแล้วรสชาติเหมือนน้ำส้ม ใหม่ต่อลิ้นมาก

“การเป็นกรรมการต้องมีลิ้นที่ดีด้วย ลิ้นของเราควรแยกรสได้ชัดเจน สมมติว่าผู้แข่งขันพูดถึงรสชาติอะไรแล้วมันมีจริง เราก็ต้องรับรสนั้นได้ ช่วงที่จะมีงานตัดสิน กรรมการจึงต้องดูแลตัวเอง คือไม่กินของรสจัด งดสูบบุหรี่ และดูแลตัวเองไม่ให้ป่วย เพื่อให้ลิ้นของเราเคลียร์ที่สุดที่จะรับรส มันเกี่ยวกับ sensory palette ของการรับรสชาติ เพราะเราต้องชิมเยอะมาก เป็นการชิมแบบดื่มเลย ไม่ใช่ชิมแล้วบ้วนทิ้งเหมือนไวน์ แล้วเราก็ต้องเคลียร์ลิ้นด้วยน้ำเปล่า ขนมปัง หรือแครกเกอร์ ได้หมด”

อะไรในตัวบาริสต้าที่กรรมการมองหา

ในการแข่งขันบาริสต้า คณะกรรมการไม่ได้ตั้งโจทย์ให้บาริสต้าผู้เข้าแข่งขันทำตาม แต่เป็นการให้บาริสต้านำเสนอสามเมนูบังคับ ซึ่งได้แก่ เอสเพรสโซ่ กาแฟนม และซิกเนเจอร์ดริงก์

เมื่อนำเสนอแล้ว ก็ต้องชงกาแฟออกมาให้ได้คุณสมบัติตามที่นำเสนอไป โดยกาแฟเอสเพรสโซ่ บาริสต้าจะต้องดึงรสชาติกาแฟสายพันธุ์ที่ตัวเองเลือกมาชงออกมาให้ดีที่สุด เพื่อแสดงว่ารู้จักกาแฟนั้นมากน้อยแค่ไหน เมื่อชงออกมาแล้ว ต้องชิมและรู้ว่ารสชาติของกาแฟตัวนั้นเป็นอย่างไร หากชงออกมาแล้วได้รสชาติตามที่นำเสนอไปก็จะได้คะแนนสูง

ส่วนกาแฟนม บาริสต้าต้องรู้ว่าสามารถสตีมนมได้เนียนแค่ไหน อุณหภูมิที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร และเมื่อผสมกับกาแฟแล้วจะได้รสชาติอย่างไร

สุดท้ายคือซิกเนเจอร์ดริงก์ ที่บาริสต้าต้องสามารถทำรสชาติที่แปลกใหม่ออกมาอย่างสร้างสรรค์ นำวัตถุดิบต่างๆ มาชูรสชาติของกาแฟ ซึ่งในฐานะที่เคยเป็นผู้แข่งขันมาก่อนนั้น ซึ่งอสมามองว่าซิกเนเจอร์ดริงก์นั้นยากที่สุดแล้ว

“ทำไมคุณถึงเอากาแฟตัวนี้มา คุณรู้จักมันดีมากน้อยแค่ไหน และคุณสามารถชงมันออกมาให้ดีได้สม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน อันนี้คือหลักปัจจัย มาตรฐานการตัดสินจะไม่มีเรื่องความชอบส่วนตัวของกรรมการ เวลาตัดสินกรรมการจะต้องชิมตามกฎที่กำหนดมา ก็คือดูว่ามีรสชาติหวานของกาแฟยังไง เพราะตามธรรมชาติของกาแฟจะมีรสหวาน มี Acidity คือมีความสดชื่น และความขม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกาแฟที่ต้องมี สามรสชาตินี้ต้องบาลานซ์กัน แล้วสามารถพูดถึงคุณลักษณะของกาแฟได้ตรงกับที่เราชง

“สิ่งที่กรรมการมองหาในตัวบาริสต้า พูดให้ง่ายๆ จบในประโยคเดียวก็คือ เขาหาแอมบาสเดอร์ที่จะสามารถนำเสนอความเป็นกาแฟพิเศษได้ ซึ่งคำพูดสั้นๆ แค่นี้ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย คือ บาริสต้าต้องมีความรู้เกี่ยวกับกาแฟ ต้องชงกาแฟเป็น ต้องชิมเป็น ต้องมีบุคลิกภาพที่ดี ต้องมีไหวพริบ

“ถ้าคุณไม่มีเสน่ห์ในการชงกาแฟ คุณก็จะเป็นบาริสต้าที่น่าเบื่อ เพราะบาริสต้ามันก็คือบาร์เทนเดอร์ คือเชฟ สิ่งที่เราเห็นคือ บางคนเดินอยู่เฉยๆ ไม่มีเสน่ห์นะ แต่พอเข้ามาในบาร์ปุ๊บ โคตรมีเสน่ห์เลย หยุดดูไม่ได้ มีหลายคนที่เป็นแบบนี้ มุกว่าสิ่งที่ทำให้เขามีเสน่ห์ขึ้นมามันคือแพสชั่นที่อยู่ในตัวคน พอเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ หรือพูดถึงสิ่งที่เรารัก แววตา น้ำเสียง ท่าทางมันออก”

“บางคนเดินอยู่เฉยๆ ไม่มีเสน่ห์นะ แต่พอเข้ามาในบาร์ปุ๊บ โคตรมีเสน่ห์เลย หยุดดูไม่ได้ มีหลายคนที่เป็นแบบนี้”

“และแน่นอนว่าฝีมือก็สำคัญมาก เขาจะดูว่าคุณชงกาแฟยังไงด้วย เพราะว่ากาแฟอร่อยหรือไม่อร่อย บาริสต้ามีส่วนเกี่ยวข้องเยอะมาก 80 เปอร์เซ็นต์เลย คุณรู้จักกาแฟที่คุณนำมาใช้แข่งมากน้อยแค่ไหน เหตุผลอะไรถึงนำกาแฟตัวนี้มาใช้ แน่นอนว่ากาแฟดี บาริสต้าสามคนชงออกมาก็ไม่เหมือนกันแน่นอน ทุกอย่างในการแข่งขันบาริสต้าเป็นคนกำหนดหมดเลย อยากชงอะไรโชว์เลย พรีเซนต์ยังไงทำให้ได้ดีอย่างที่พรีเซนต์เท่านั้นเลย”

ถ้าอยากเป็นบาริสต้าเก่งๆ

“มุกว่ามันเป็นเรื่องของความขยันและความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองอะไรใหม่ๆ เพราะมุกรู้สึกว่าจริงๆ แล้วทุกคนชงกาแฟได้ แต่เราจะมีความอยากรู้อยากเห็นที่จะต่อยอดจากแค่ชงกาแฟเป็นไปจนถึงชงกาแฟเก่ง มันต้องมีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น

“มันเป็นความสามารถเฉพาะตัว แต่มันก็ขึ้นอยู่กับความสนใจด้วย บางคนอาจจะแฮปปี้แล้วกับการชงกาแฟดื่มทุกวันเองได้ แต่บางคนมีความอยากที่มากกว่านั้น เป็นสิ่งที่พิเศษของแต่ละบุคคลไป อย่างมุกชอบชงกาแฟเองเพราะเรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้ทุกครั้งจากการชงกาแฟของเรา บางทีเราอยากปรับเบอร์บดนี้ เราอยากลองเราก็ทำ แต่เราก็ยังอยากเป็นผู้ดื่มในร้านอื่นด้วยเหมือนกัน เพราะว่าเราอยากคุยหรือแลกมุมมองในการชงกาแฟแบบต่างๆ มันเป็นสิ่งที่สำคัญนะคะ เราไม่ได้อยู่ในโลกของตัวเองคนเดียว ยังมีร้านกาแฟอีกมากมายที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจจังเลย มีวิธีการชงที่เก่งนะ เขาเอากาแฟมาผสมกับวัตถุดิบตัวนี้ แล้วได้รสชาติออกมาอีกรสชาติหนึ่ง ได้เท็กซ์เจอร์อีกแบบหนึ่ง ยังมีอะไรมากมายในการชงกาแฟที่เราสามารถทำได้อย่างคาดไม่ถึง แล้วเรายังได้เพื่อนอีกมากมายจากการไปนั่งในร้านอื่น”

บทสนทนาของเธอทำให้เรารู้จักโลกของการแข่งขันที่บาริสต้าหลายคนอยากไปยืนมากขึ้น ทุกวันนี้อสมายังเดินทางไปตัดสินการแข่งขันอยู่สม่ำเสมอ นอกเหนือจากนั้นชีวิตทั้งหมดทั้งมวลของเธอจะไหลรวมมาอยู่ตรงหน้าแก้วกาแฟและเครื่องชงที่ร้าน เพื่อเตรียมกาแฟที่หวังว่าจะถูกปากคนดื่มที่สุดในนามบาริสต้าของ Asama Café

“เราเป็นคนโฟกัสกับการชงกาแฟ จะไม่ค่อยได้สนใจหรือพูดคุยกับลูกค้ามากนัก แต่เราชอบอารมณ์ของลูกค้าที่เขาเดินเข้ามาบอกกับเราว่า-เฮ้ย พี่ กาแฟอร่อยมาก การที่เราชงกาแฟแล้วเขาบอกว่าเขาอร่อย นั่นคือเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ”

Fact Box

Asama Café ตั้งอยู่ในร้านอาหารครัวย่า หมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์ เลขที่ 122/128 หมู่ 6 ถนนเลียบคลองชลประทาน เทศบาลนครเชียงใหม่
โทร. 081-530-5388

https://www.facebook.com/AsamaCafe/

 

Tags: , , , , , , , , ,