เมื่อพูดถึง ‘พิพิธภัณฑ์’ ในไทย เราจะนึกถึงสถาบันอันเก่าแก่และยิ่งใหญ่ หลายคนอาจนึกไปถึง ‘พิพิธภัณฑสถานพระนคร’ พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโน่น

เมื่อครั้งนั้น พิพิธภัณสถานถูกจัดตั้งขึ้นที่หอคองคอเดีย มีจุดประสงค์แรกเริ่มเอาไว้เทิดพระบารมีของพระมหากษัตริย์ รวมถึงแสดงความ ‘ศิวิไลซ์’ ของสยามประเทศ ให้เท่าเทียมกับประเทศผู้ล่าอาณานิคมในสมัยนั้น

หลายร้อยปีผ่านไป แน่นอนว่า หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ย่อมเปลี่ยนแปรไปด้วย

ในวันที่เราไม่ต้องกลัวเสียเมืองให้กับฝรั่งแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังคงเปิดให้บริการกับผู้เข้าชม เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อีกทั้งจัดแสดงวัตถุและงานศิลปะที่มีคุณค่า ซึ่งสองสิ่งนี้ถือเป็นรากฐานในการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ ในแง่มุมหนึ่ง พิพิธภัณฑ์คือสถานที่สร้างขั้วอำนาจทางศิลปะและวัฒนธรรมนั่นเอง

เพราะสิ่งที่พิพิธภัณฑ์พูด (หรือจัดแสดง) สามารถขับเคลื่อนความเข้าใจของผู้คนต่อสิ่งนั้นๆ ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง คล้ายๆ กับหนังสือเรียน ที่มักจะถูกคาดหวังให้ ‘ถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์’ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ้างอิงได้

แต่ความถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์นี่แหละ ที่กลับสร้างความยากให้กับพิพิธภัณฑ์ในยุคสมัยนี้

เนื่องจากในปัจจุบัน เราอยู่ในสังคม post-postmodern ที่จะขีดเส้นระหว่างความถูกและผิด ได้ยากยิ่งนัก ด้วยบริบทของบริบท บวกกับการถาโถมของข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และการค้นคว้าและค้นพบที่ต่อเนื่องที่รวดเร็วปานก้าวกระโดด ซึ่งทำให้สิ่งที่เรายึดถึงเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ถูกตั้งคำถามและหักล้างจนแทบตามไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาทางสังคมที่บีบให้พิพิธภัณฑ์ต้องหันมาคิดถึงความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) และความละเอียดอ่อนของสิทธิมนุษยชนในยุคโลกาภิวัตน์ด้วย

ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถตั้งตนเป็นหอคอยงาช้างได้อีกต่อไป 

แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานพิพิธภัณฑ์ก็ยังขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาปฏิรูประบบ อีกทั้งยังไม่สามารถตัดขาดจากพื้นเพที่มาจากชนชั้นสูงของตัวเอง พิพิธภัณฑ์เก่าแก่มากมายทั่วโลกจึงอยู่ในภาวะคล้ายๆ กับคุณปู่คุณย่าผู้ดีเก่าที่ถูกบังคับมาเล่นเฟซบุ๊ก

จะมีความประดักประเดิดน่าขัดเขินอยู่ไม่น้อย พยายามจะให้ความรู้เขาไปทั่ว แต่ในขณะเดียวกันพอจะพูดอะไรก็ดูล้าหลัง ไม่น่าฟังไปอีก หากแม้จะมีวิสัยทัศน์ แต่ก็ไม่สามารถไปถึงได้ด้วย ‘กรอบ’ ของความเป็นสถาบันเสียนี่! 

สรุปว่า ภาพลักษณ์ที่ถูกต้องดีงามคร่ำครึ ก็ต้องคงไว้ จะทำอะไรนอกกรอบ ทะลึ่ง โลดโผนย่อมไม่ได้ แต่อีกใจก็อยากจะสื่อสารและเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมร่วมสมัย อยากเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่ง check in ของฮิปสเตอร์กับเขาบ้าง

แบบนี้แล้ว ทำยังไงดี?

หนึ่งในเทรนด์ซึ่งสามารถตอบโจทย์ปัญหาข้างต้นของพิพิธภัณฑ์ได้ดีเยี่ยม คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Artist Intervention’ หรือการเชิญศิลปินมาสร้างงานศิลปะให้กับพิพิธภัณฑ์

ในปี 2010 กรุ๊ปทัวร์ที่เข้าไปชมพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ต่างตกตะลึกไปกับรูปปั้นไฟเบอร์กลาสอนิเมะดอกไม้หลากสีสุดจี๊ด สูงสามเมตรกว่า เบ่งบานอยู่กลางโถงกระจกทองเหลืองสไตล์บาโรคอายุสามร้อยกว่าปีอย่างไม่เกรงใจใคร งานชิ้นนั้นคือปฏิมากรรม Flower Matango ของศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นทากาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami)

ชิ้นงาน Flower Matango ภาพจาก artasiapacific.com

หนึ่งในรูปปั้นอนิเมะจำนวนมากที่ถูกติดตั้งในแวร์ซายส์ ภาพจาก fineartebooks.wordpress.com

งานของมุราคามินั้นมักพูดถึงวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่สุดโต่งของยุคปัจจุบัน ด้วยการใช้ความสองมิติและสีที่ฉูดฉาดเหนือจริงของการ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่นเป็นนัยสื่อถึงค่านิยมการบริโภคที่ตื้นเขิน แต่ในขณะเดียวกันก็ฟุ้งเฟ้อและสุดโต่งจนเหนือจริง ดังนั้นถ้าเราพิจารณาในแง่ของบริบท แม้จะมีอายุห่างกันสามร้อยกว่าปี แต่งานของมุราคามินั้นก็สอดคล้องกับความฟุ้งเฟ้อและจริตของการสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เช่นกัน

ถึงกระนั้นก็ยังมีลักษณะกายภาพที่ดูขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมอย่างชัดเจน ทั้งสีที่จี๊ดจ๊าด และวัสดุที่ดูพลาสติกสุดๆ อีกทั้งความขี้เล่นที่สวนทางกับความซีเรียสของโบราณสถาน (แต่ดูไปดูมา ทรงของดอกไม้อนิเมะก็ดูคล้ายๆ กับโคมแชนเดอร์เลียที่ห้อยอยู่เหมือนกันไหมนะ?)

การต่อยอดด้วยศิลปะนี้ ก็ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมแวร์ซายส์มีทั้งพอใจและไม่พอใจ บางคนถึงกับตั้งคำถามว่า มันสมควรหรือไม่? ที่จะนำสิ่งแปลกปลอมนี้เข้ามา ‘บิดเบือน’ ประสบการณ์ที่ควรจะมีในสถานที่ที่เป็นพระราชวัง? ซึ่งแน่นอนว่าความเห็นของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ มันเป็นการจุดประเด็น และทำให้ภาพลักษณ์ของพระราชวังแวร์ซายส์เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นสถาบันที่ตึงเครียดและเลอค่าจนเข้าไม่ถึง หรือเป็นของเก่าตกยุคมีไว้เพื่อเพียงให้เชิดชูบูชา ได้กลับกลายมาเป็นสถานที่ที่ฉุกให้คนคิด มีความสนุก ต่อยอดให้เกิดประเด็นสนทนาร่วมสมัย และโยงตัวเองเข้ากับปัจจุบันได้อย่างเนียนๆ

ภาพจาก perrotin.com

อีกงานที่น่าสนใจคืองานนิทรรศการ Uncomfortable Truth หรือ ‘ความจริงอันน่าตะขิดตะขวง’ ซึ่งไปโผล่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert ที่ลอนดอน เมื่อปี 2007

ต้องอธิบายก่อนว่า พิพิธภัณฑ์ V&A นี้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปะและดีไซน์ชั้นนำของโลก มีของจัดแสดงเป็นล้านชิ้น โดยมีการแบ่งห้องต่างๆ ตามธีมและภูมิประเทศ อาทิ ห้องจัดแสดงงานแฟชั่น ห้องจัดแสดงงานจากญี่ปุ่น ห้องจัดแสดงเครื่องเงิน หรือห้องจัดแสดงงานศิลปะจากตะวันออกกลาง ฯลฯ

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ V&A ไม่เคยพูดถึงคือ งานจากแถบแอฟริกา อาจจะเป็นเพราะในคลังอาจจะ ไม่ได้มีงานชิ้นเอกที่มาจากแถบนั้นมากพอที่จะนำมาจัดแสดงได้เป็นกิจจะลักษณะ แต่ความซวยก็บังเกิดเมื่อ ‘การหายไปของแอฟริกา’ กลายเป็นประเด็นที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ถูกโจมตี บ้างก็ว่าพิพิธภัณฑ์พยายามจะปกปิด หรือทำเป็นลืม ว่าจริงๆ แล้วของทั้งหลายที่ตนครอบครองนั้นมาจากการยึดอาณานิคม และความสวยงามเลอค่าทั้งหลายที่จัดแสดงอยู่นั้น มีไม่น้อยที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของทาสจากแอฟริกา

เพื่อตอบข้อครหานี้ อีกทั้งแสดงจุดยืนของการเป็นพื้นที่สาธารณะของคนทุกชนชั้นและเชื้อชาติ ทางพิพิธภัณฑ์ V&A จึงว่าจ้างและจัดแสดงงานจากศิลปินที่พูดเรื่องทาส และประเด็นของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มาจัดแสดงในมุมต่างๆ ทั่วพิพิธภัณฑ์ งานของคนหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ยินก้า โชนิบาร์ (Yinka Shonibare) ศิลปินชาว อังกฤษ-ไนจีเรีย ผู้จัดแสดงรูปปั้นไม่มีหัวของผู้ชายในสไตล์การแต่งกายตามแบบสมัยนิยมของชาวยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 แต่เสื้อผ้าของเขานั้นทำมาจากผ้าแอฟริกันทั้งสิ้น

งานชิ้นนี้ได้ตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นเจ้าของ’ ของชาวยุโรป และชวนให้คิดถึงหลายๆ สิ่งที่เราคิดว่ามาจากยุโรปนั้น จริงๆ แล้วมีชาวแอฟริกันอยู่เบื้องหลัง คล้ายๆ กับอีกชิ้นที่เรียบง่ายแต่ปังสุดๆ คือ งานของศิลปินเฟร็ด วิลสัน (Fred Wilson) ที่จัดแสดงใน Maryland Historical Society รัฐบัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1993 โดยศิลปินได้เอาโซ่ตรวนของทาสผิวสีไปใส่ไว้ในตู้จัดแสดงรวมกับโถถ้วยเครื่องเงินของชนชั้นสูง โดยมีป้ายแปะไว้ว่า ‘งานโลหะ 1793-1880’ 

งานของ ยินก้า โชนิบาร์ ภาพจาก Pinterest

งานของ เฟร็ด วิลสัน ภาพจาก Pinterest

สุดท้ายนี้จึงอยากจะขอเชิญชวนทุกๆ ท่าน ให้หันมามองพิพิธภัณฑ์กันใหม่ แทนที่จะเป็นห้องเก็บของเก่าๆ น่าเบื่อ มองให้เห็นเป็นคลังขุมทรัพย์ในการสร้างงานศิลปะ และขอฝากแนวคิดนี้ไว้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งน้องๆ ศิลปินและนักคิดนักทำสิ่งสร้างสรรค์ทุกแขนง ลองมองพิพิธภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งผืนผ้าใบให้ได้ไปปล่อยของกัน

แม้ผืนผ้าใบนี้จะไม่ใช่สีขาวบริสุทธ์ แต่นั่นแหละคือความพิเศษ! พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งมีเรื่องเล่า มีประวัติศาสตร์ มีบริบทที่เราสร้างมาตั้งคำถาม หยิบประเด็นมาพูดถึง ต่อยอดจินตนาการได้อย่างน่าสนใจ ลองคิดดูว่าถ้าเราเชิญศิลปินร่วมสมัยอย่าง อ.พิเชษฐ์ กลั่นชื่น คุณวิศุทธ์ พรนิมิตร หรือ ศิลปินกราฟิตี้อย่างอเล็ก เฟซ (Alex Face)  มาสร้างงานจาก collection ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ก็คงจะเป็นไฮไลต์เรียกคนเข้าพิพิธภัณฑ์กันได้อย่างล้นหลาม

และมั่นใจว่าไม่มีใครจะกล้าใช้คำว่า ‘ล้าหลัง’ กับพิพิธภัณฑ์อีกต่อไป

Tags: , , , , , , , , , ,