หลังจากวันที่ 5 มกราคม 2562 เป็นต้นไป โรงแรมดุสิตธานีจะปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และทุบทิ้งอาคารหลังเดิม ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2513 ก่อนจะดำเนินการสร้างใหม่ ตามแผน จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในปี 2564

ดุสิตธานี ถือเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งแรกในประเทศไทย โดยความตั้งใจของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ที่อยากยกระดับโรงแรมไทยให้มีมาตรฐานสากล ทำให้ในสมัยนั้น ดุสิตธานีถือเป็นโรงแรมที่ทันสมัยทั้งการออกแบบและการก่อสร้างอาคารสูงที่ยังไม่มีอาคารไหนในเมืองกรุงทำได้

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโรงแรมดุสิตธานีคือห้องอาหารเบญจรงค์ที่อยู่คู่โรงแรมมาตั้งแต่แรก ภายในห้องอาหารตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามแบบไทยร่วมสมัย ทั้งลายแกะฉลุไม้ งานตกแต่งผนังด้วยไม้สักทอง และที่เป็นผลงานศิลปะวิจิตร คืองานจิตรกรรมบนเสาสองต้นในห้องอาหาร และบนกำแพงที่มีความยาวกว่า 4 เมตร ซึ่งเป็นผลงานของ ‘ท่านกูฎ’ ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ

ทางโรงแรมดุสิตธานีจึงมีแผนที่จะเก็บเสาสองต้นที่มีงานจิตรกรรมของท่านกูฎเอาไว้ และจะยกไปติดตั้งที่ห้องอาหารไทยของโรงแรมดุสิตธานีใหม่ในอนาคต จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในการช่วยเหลือศึกษาและจัดเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และวางแผนการรื้อถอนเสาสองต้นเพื่อนำไปเก็บเอาไว้

งานจิตรกรรมไทยร่วมสมัยที่ท่านกูฎค้นคว้าหาข้อมูลจากวัดโพธิ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องสีและลวดลายต่าง 

อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยถึงแนวทางในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยบนเสาทั้งสองต้นและบนฝาผนัง ซึ่งเป็นผลงานของท่านกูฎว่า นับเป็นงานอนุรักษ์ที่มีความยากในระดับหนึ่ง เนื่องจากเสาสองต้นเป็นเสาหลักในการรับน้ำหนักของโครงสร้างโรงแรม และน้ำหนักของเสาแต่ละต้นไม่ต่ำกว่า 5 ตัน

“การรื้อถอนคงทำอย่างระมัดระวัง เราต้องร่วมมือกับหลายฝ่าย สถาปนิก นักโบราณคดี วิศวกร ตอนแรกว่าจะตัดเสาออกก่อนเลย แต่ทำไม่ได้เนื่องจากเป็นตัวเสาที่ไว้รับน้ำหนักของอาคารด้วย เลยต้องปล่อยให้รื้อถอนจากข้างบนมาลงก่อน แต่มีตัวล็อคที่จะไม่ให้เสาได้รับความเสียหายมากนัก พอรื้อถึงชั้นล่างจะใช้วิธีตัดเสาทั้งสองต้นออกมา”

“ระหว่างนี้เราก็จะศึกษาและเก็บข้อมูล ถ่ายรูป ผลงานของท่านกูฎเอาไว้ทั้งหมด เพื่อซ่อมแซ่มและอนุรักษ์ต่อไป การเก็บรักษาเสาทั้งสองต้นก็ต้องไม่ให้มีความชื้นเข้ามาทำให้ผิวหน้าเสียหาย โดยหุ้มกระดาษเอาไว้”

อาจารย์อำมฤทธิ์ ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า เท่าที่ศึกษาผลงานของท่านกูฎ ถือว่าเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะไทยร่วมสมัยเป็นคนแรกๆ สังเกตได้จากเทคนิคการใช้สีที่มีความซับซ้อน และการเลือกใช้สีที่ถือว่ามีความใหม่ในยุคนั้น

ภาพตะวันและนาคนิมิตร สุวรรณกูฎ สองทายาทของท่านกูฎ

ภาพตะวันและนาคนิมิตร สุวรรณกูฎ สองทายาทของท่านกูฎ ที่เติบโตและเรียนรู้ทักษะการทำงานจิตรกรรมไทย ได้เล่าความทรงจำที่ได้ติดตามพ่อไปทำงานศิลปะไว้ว่า พ่อเป็นผู้บุกเบิกการเขียนภาพจิตรกรรม ฝาผนังขนาดใหญ่ในอาคารสถานที่ต่างๆ

“เมื่อ 50 ปีก่อน คุณพ่อมีโอกาสฝากผลงานภาพเขียนลายไทย เพื่อตกแต่งเสาขนาดใหญ่ทั้ง 2 ต้นของห้องอาหารเบญจรงค์ ความพิเศษของลวดลายจิตรกรรมไทยบนเสาทั้งสองต้นนี้ คือคุณพ่อใช้เวลาถึง 3 ปี ค้นคว้าหาข้อมูลที่วัดโพธิ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องสีและลวดลายต่าง ๆ และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะไทยร่วมสมัย โดยนำสีสันใหม่ ๆ มาใส่ในงานจิตรกรรมไทย” นาคนิมิตร สุวรรณกูฎ กล่าว

ภาพตะวัน สุวรรณกูฎ บอกว่า งานของคุณพ่อได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ และถ่ายทอดออกมาเป็นจิตรกรรมที่มีความร่วมสมัย

งานจิตรกรรมบนกำแพงที่มีความยาวกว่า 4 เมตร บริเวณทางเข้าห้องอาหารเบญจรงค์

อาหารไทยที่ทำหน้าตาให้ดูทันสมัยมากขึ้นของห้องอาหารเบญจรงค์ เช่น กุ้งลายเสือห่มสไบ แกงปูใบชะพลูหมี่หุ้น กุ้งแม่น้ำข้าวเม่ากรอบซอสมะขาม และเค้กกะละแมเสิร์ฟพร้อมไอศกรีม และกล้วยหอมทอด

 

 

Fact Box

  • ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)  ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2491 โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล  บริหารโรงแรมและรีสอร์ทรวม 4 แบรนด์  คือ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู ดุสิตปริ๊นเซส และดุสิตเดวาราณา โดยมีโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 27 แห่ง และมีโรงแรมที่อยู่ภายใต้การพัฒนาเพื่อเตรียมจะเปิดให้บริการอีกกว่า 50 แห่งทั่วโลก
  • นอกเหนือจากธุรกิจโรงแรม ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ยังก่อตั้งวิทยาลัยดุสิตธานี ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 สถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและปริญญา ซึ่งมีสาขาอยู่ที่กรุงเทพฯและพัทยา และบริหารโรงเรียนสอน ประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต  
Tags: , ,