“จงเป็นตัวเอง เพราะคนอื่นมีคนเป็นไปหมดแล้ว” ถ้อยคำที่เรายกให้ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เป็นผู้กล่าว บอกว่า ‘ตัวตน’ เป็นสิ่งจำกัดด้วยจำนวน ความคิดนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อสังคมมนุษย์ก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ประชาชนจำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันในการเป็นบุคคล คนคนหนึ่งจะเป็นได้เพียงคนคนเดียว แต่จะเป็นสองหรือสามคนไม่ได้ หากรัฐไม่อนุญาต
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ทอม ริปลีย์ ในหนังสือ The Talented Mr. Ripley (1956) ของแพทริเชีย ไฮสมิธ (Patricia Highsmith) หรือกระทั่งคนจริงๆ อย่างแฟรงก์ อบากเนล (Frank Abagnale) ย่อมสร้างความปั่นป่วนเวียนหัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเอามากๆ โดยยังไม่ต้องนับความถี่หรือจำนวนคดีที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้
แต่หากเราย้อนมองกลับไปยังประวัติศาสตร์ทั้งช่วงไกลและใกล้ ก็จะพบว่า มีคนไม่น้อยที่พยายามฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อมีอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง หรือแม้แต่เพื่อสนองความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองเช่น การกินฟรี และมีสิทธิ์พิเศษบางอย่าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าการปลอมแปลงตัวจะหมายความถึงการทำให้ตัวเองเหมือน เพราะหลายครั้ง ความไม่เหมือนหรือแตกต่างไป ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือ
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เราจะได้กล่าวถึงต่อไป
ตัวปลอมผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์
ศิลปะของการปลอมแปลงตัววางอยู่บนความคาดหวัง ทั้งความหวังของเราเองที่ว่าคนอื่นจะเชื่อ และความหวังของคนอื่นที่ว่าเราจะเป็นบุคคลนั้นจริงๆ ฉะนั้น เมื่อความหวังดังกล่าวพังทลายไป หลายกรณีก็มักจะนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง การประหัตประหารฆ่าฟันกันอย่างทารุณ เช่นที่ปรากฏในหนังสือ Famous Impostors (1910) ของบราม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ผู้เขียนนวนิยายเรื่องดัง Dracula (1897) ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของนักปลอมแปลงตัวในประวัติศาสตร์ได้อย่างมีสีสันสนุกสนานแกมซาดิสม์
บราม สโตเกอร์พยายามจำแนกเรื่องราวออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ตั้งแต่พวก แสร้งเป็น (Pretenders) ผู้มีเวทย์มนต์ แม่มดและผู้มีญาณวิเศษ (Witchcraft and Clairvoyance) หญิงปลอมเป็นชาย (Woman as Men) และเหตุการณ์กลั่นแกล้งหลอกลวงจิปาถะ (Hoaxes, etc.)
กรณีที่น่าสนใจก็เช่น โดแฟ็ง (Dauphin) ทั้ง 7 เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีคนจำนวนหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นหลุยส์ที่ 17 หรือรัชทายาทของหลุยส์ที่ 16 ซึ่งถูกประหารชีวิตไปในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส การแอบอ้างนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติพลิกกลับ ระบอบกษัตริย์พยายามกลับมาฟื้นฟูตัวเองอีกครั้งในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 18 โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้อ้างตัวว่าเป็นรัชทายาทจำนวนถึง 7 คน เกือบทั้งหมดลงเอยด้วยการถูกจับได้และถูกส่งไปใช้ชีวิตในเรือนจำ
กรณีโด่งดังอีกเรื่องที่เกิดในยุควิคตอเรียก็เช่น เรื่องราวของนายอาร์เธอร์ ออร์ทัน (Arthur Orton) ผู้พยายามจะปลอมแปลงเป็น โรเจอร์ ทิชเบิร์น (Roger Tichborne) ราชนิกุลผู้โด่งดังซึ่งหายสาบสูญไปจากอุบัติเหตุเรือกลไฟล่มเมื่อปี 1854
มารดาของโรเจอร์ไม่ปักใจเชื่อว่าบุตรชายเสียชีวิต ดังนั้นเธอจึงพยายามประกาศแจ้งคนหายลงหนังสือพิมพ์เรื่อยมา จนกระทั่งผ่านไปเป็นสิบปี นายอาร์เธอร์ ออร์ทันคนขายเนื้อในเมืองวักกาวักกา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปลอมตัวเป็นใครคนหนึ่งที่ชื่อ โธมัส คาสโตร (Thomas Castro) อีกทีหนึ่ง เพื่อออกมาอ้างตัวว่าเป็นโรเจอร์ ทิชเบิร์น (งานศึกษาชั้นหลังแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนและความเจ้าเล่ห์แสนกลของนักปลอมตัวผู้นี้)
เพื่อการยืนยัน จึงมีการมารับตัวเขาขึ้นเรือกลับไปพิสูจน์ยังประเทศอังกฤษ และก็น่าแปลกใจว่า ในความไม่เหมือนกันทางกายภาพ ที่แม้โรเจอร์ ทิชเบิร์นมีรูปร่างผอมบาง ส่วนโธมัสผู้แอบอ้างนั้นอวบอ้วน กลับทำให้มารดาของโรเจอร์เชื่อว่าโธมัสคือบุตรชายที่หายสาบสูญไป เรื่องราวนี้ได้ถูกฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) นำมาเล่าใหม่ไว้อย่างน่าตื่นใจในชื่อว่า The Improbable Impostor Tom Castro
อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดาของโรเจอร์เสียชีวิตลงในปี 1868 โธมัสผู้อ้างสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สมบัติของตระกูลทิชเบิร์นก็เริ่มเข้าไปจัดการลงทุนในธุรกิจต่างๆ และก็ประสบปัญหาขาดทุน พร้อมกับเริ่มมีคนสงสัยในตัวตนจริงๆ ของเขามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นถูกเปิดโปง ไม่ จนกระทั่งโธมัสถูกศาลตัดสินให้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย การพยายามสืบสวนเรื่องราวเกี่ยวกับโธมัสจึงเริ่มต้นขึ้น และยิ่งการต่อสู้ในคดีความต่างๆ เกิดขึ้นมากเท่าไร เขาก็ยิ่งถูกจ้องจับผิดมากขึ้นเท่านั้น นับตั้งแต่เรื่องของรอยแผลเป็นจากอีสุกอีใส สำเนียงการพูดที่บ่งบอกว่าเขามาจากย่านคนชั้นล่างในอีสต์เอนด์ และอื่นๆ
ประจักษ์พยานจำนวนกว่าสองร้อยคนยืนยันว่า เขามิใช่โรเจอร์ ทิชเบิร์น แต่ที่แท้แล้วคือนายโธมัส คาสโตรปลอมตัวมา เขาถูกศาลตัดสินจำคุกร่วม 14 ปี และกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นก็ยังมีคนส่วนหนึ่งสนับสนุนเขา หรือยังเชื่อว่าเขาคือ โรเจอร์ ทิชเบิร์น
โทษจากการจำคุกทำให้ร่างกายของเขามีสภาพทรุดโทรมลง ความอวบอ้วนที่เคยเป็นเครื่องช่วยปกปิดเค้าโครงใบหน้า ก็กลับเปิดเผยความปลอมของตัวเขามากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อพ้นโทษออกมา ตัวเขาเองก็ทำสิ่งที่คนไม่คาดคิดว่าจะทำ เช่น ไปสมัครในคณะละครสัตว์ หรือไปเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก โดยที่ยังคงอ้างตัวว่าเป็น โรเจอร์ ทิชเบิร์น ดูเหมือนจะมีช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้าที่เขาจะจากโลกนี้ไป ที่เขาเพิ่งยอมรับว่าตัวเขาคือ อาร์เธอร์ ออร์ทัน บุตรชายของพ่อค้าขายเนื้อในกรุงลอนดอน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยท่องตระเวนไปยังชิลี ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ร้านขายเนื้อในออสเตรเลียและใช้ชื่อว่า โธมัส คาสโตร ในพิธีศพของอาร์เธอร์ ออร์ทัน ตัวปลอมผู้โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ ตระกูลทิชเบิร์นได้อนุญาตให้วางป้ายเล็กๆ ไว้บนโลงศพเขียนว่า “เซอร์ โรเจอร์ ชาร์ลส์ โดที ทิชเบิร์น (Sir Roger Charles Doughty Tichborne)”
ส่วนบทที่ดุดันรุนแรง ไม่ PC และเฟมินิสต์อ่านก็อาจสะเทือนใจ ก็เช่นเรื่องราวของลา วัวแซ็ง (La Voisin) หรือ แคทรีน มงวัวแซ็ง (Catherine Monvoisin) แม่หมอแห่งศตวรรษที่ 17 ผู้โด่งดังและเป็นผู้นำเครือข่ายหมอดูทั่วทั้งฝรั่งเศส นอกจากเป็นผู้ทรงอิทธิพลแล้ว เธอยังรับทำยาเสน่ห์ ทำแท้ง ลอบวางยาพิษ และพิธีไสยศาสตร์ต่างๆ
ว่ากันว่า ลา วัวแซ็งเริ่มต้นชีวิตช่วงแรกเป็นเพียงหญิงหม้ายที่เป็นหมอตำแยธรรมดารายได้น้อย จนเธอต้องใช้พรสวรรค์ในการทำนายชะตาชีวิตเป็นการหารายได้เสริม เธอขยับฐานะขึ้นมาเป็นหมอดูของมวลชน ความแม่นยำในคำทำนายของเธอ มาจากความฉลาดที่เธอมองเห็นในปัญหาความสัมพันธ์ ที่โดยมากแล้วฝ่ายชายจะรักง่ายและหน่ายเร็ว ขณะที่ฝ่ายหญิงกลับไม่รู้สึกเพียงพอ จากปัญหาเหล่านี้เองทำให้ลา วัวแซ็งเสนอขายแพ็คเกจ พิธีกรรม ยาเสน่ห์ต่างๆ ให้ฝ่ายหญิงนำไปใช้ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครกลับมาต่อว่าหรือเรียกร้องเอาเงินคืน
ความโด่งดังทำให้เธอขยับไปมีลูกค้าเป็นชนชั้นสูง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบวางยาพิษเชื้อพระวงศ์ หรือที่รู้จักในชื่อ L’affaire des poisons ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ชื่อของลา วัวแซ็งจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญแทบจะในทันที จุดจบของลา วัวแซ็งก็เป็นเช่นแม่มดทั้งหลายที่ถูกกล่าวหาในเวลานั้นก็คือถูกทัณฑทรมานจนเป็นที่สาสมใจแล้วจึงถูกนำไปเผาประจาน ทั้งที่เธออาจจะไม่ได้เป็นแม่มดตัวจริงหรือมีอำนาจวิเศษจริงๆ ด้วยซ้ำ และเป็นที่ทราบกันว่ากรณี L’affaire des poisons ได้นำไปสู่การจับกุมและประหารชีวิตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกนับร้อยคน
ดังที่บราม สโตเกอร์กล่าวไว้ในคำนำ Famous Impostors ว่าการปลอมตัวเองนั้นไม่เคยจะหมดสิ้นไปจากสังคมมนุษย์ กรณีประวัติที่เขายกมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าจุดจบของนักปลอมตัวมีตั้งแต่ถูกส่งไปตะแลงแกงไปจนถึงคุกตาราง ระดับความรุนแรงของบทลงโทษอาจปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่การปลอมตัวเองของเราดูเหมือนจะไม่มีวันหมดลงไปง่ายๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีโด่งดังในการปลอมแปลงเป็นผู้กำกับชื่อดังเพื่อกินฟรี
จงเป็นคนอื่น เพราะตัวเราธรรมดาเกินไป
หลายคนน่าจะทราบดี ก่อนหน้าผลงานภาพยนตร์เรื่อง Eyes Wide Shut (1999) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกันผู้โด่งดัง สแตนลีย์ คูบริค (Stanley Kubrick) ได้หลบซ่อนตัวจากสื่อสาธารณะและการรับรู้ของประชาชนนานถึง 15 ปี และด้วยเหตุนี้เอง ชายชาวอังกฤษนายหนึ่งผู้มีชื่อว่า อลัน คอนเวย์ (Alan Conway) จึงใช้ช่องว่างดังกล่าวนี้ในการอ้างตัวเป็น สแตนลีย์ คูบริค ที่พำนักอยู่ในเมืองเฮิร์ทฟอร์ดไชร์ ประเทศอังกฤษในตอนนั้น
สิ่งที่น่าสนใจและเป็นกรณีที่คล้ายคลึงกับกรณีของอาร์เธอร์ ออร์ทันก็คือ คอนเวย์มีบุคลิกหลายอย่างที่แปลกและแตกต่างจากคูบริคในแบบที่ผู้คนจะคาดหวังได้เห็น เช่น ใบหน้าของคอนเวย์ปราศจากหนวดเครา พูดจาด้วยสำเนียงแบบคนอังกฤษ และมีท่าทางตุ้งติ้ง ในขณะที่คูบริคไว้หนวดเครามาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปีจนเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเขา และเป็นคนอเมริกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าเคยแสดงอาการตุ้งติ้งเช่นนี้ที่ไหนมาก่อน
แต่ปรากฏว่าคอยเวย์สามารถหลอกลวงคนในวงการบันเทิงได้เป็นจำนวนมาก และนั่นทำให้เขาสามารถเดินเข้าออกร้านอาหารหรูหรา หรือคลับชื่อดังต่างๆ ในกรุงลอนดอน เพื่อกินโดยไม่ต้องจ่ายเลยแม้สักสตางค์แดงเดียว
พูดให้ง่ายในกรณีของอลัน คอนเวย์นี้ต้องถือเป็นกรณีที่แปลกประหลาดมากที่สุดกรณีหนึ่ง และได้กลายเป็นภาพยนตร์ในชื่อว่า Colour Me Kubrick (2005) ที่เผยให้เห็นว่า ผู้ปลอมแปลงตัวแทบจะไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงกับกับผู้ที่ตัวเองปลอมแปลงเลย ว่ากันว่า คอนเวย์เคยดูหนังของคูบริคเพียง 2 เรื่องเท่านั้น และเขาแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวส่วนตัวของคูบริคเลย แต่กระนั้น คนในวงการบันเทิงจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ นักวิจารณ์ละคร และอื่นๆ ก็ยังเชื่อว่าเขาเป็น สแตนลีย์ คูบริค ผู้กำกับในตำนาน (พร้อมทั้งสร้างความแปลกประหลาดใจที่คูบริคตัวจริงนั้นมีท่าทางตุ้งติ้งอย่างเห็นได้ชัด) จนกระทั่งคอนเวย์ในคราบของคูบริคนั้นเกือบจะได้สัมภาษณ์ลงนิตยสาร หากว่าเขาไม่ถูกจับได้เสียก่อนว่าเป็นตัวปลอม
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า การปลอมแปลงตัวเป็นบุคคลสาธารณะผู้โด่งดังทั้งหลายให้แนบเนียนนั้น บางครั้งก็ต้องปลอมแปลงให้ไม่เหมือน เพราะในหลายกรณี บุคคลสาธารณะบางคนก็ต้องอาศัยการปลอมแปลงตัวเป็นคนอื่นเพื่อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนธรรมดาทั่วไป และอีกด้าน ในความไม่เหมือนนี้ สาธารณะชนก็พร้อมจะเชื่อ แม้บุคคลที่เขาเห็นจะแตกต่างหรือไม่เหมือนคนที่เขาคาดหวังจะได้เห็น
ในช่วงท้ายของชีวิต คอนเวย์เคยได้ให้สัมภาษณ์ไว้คราวหนึ่งเกี่ยวกับพฤติการณ์อันพิสดารนี้ ว่าเขาแสดงตัวเป็นคูบริค เพราะคิดว่า เขาคือสแตนลีย์ คูบริคจริงๆ และเขาสามารถเป็นสแตนลีย์ คูบริคได้ไปจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ หรือจนกว่าคูบริคจากโลกนี้ไป คอนเวย์อำลาโลกในเดือนธันวาคมปี 1999 ด้วยโรคหัวใจ หรือราว 3 เดือนก่อนที่คูบริคจะตามเขาไปด้วยโรคหัวใจเช่นเดียวกัน
แล้วทั้งหมดที่เล่ามาเกี่ยวข้องกับ “ศิลปะของความผิดหวัง” ตรงไหน ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจ แต่หากเชื่อมั่นให้ได้ครึ่งหนึ่งที่คอนเวย์เชื่อว่าเขาคือคูบริค มันก็น่าจะเรียกว่าเกี่ยวอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
อ้างอิง
- Bram Stoker, Famous Impostors (New York: Sturgis & Walton Company, 1910)
- Jorge Luis Borges, A Universal History of Infamy, translated by Norman Thomas di Giovanni (London: Penguin Books, 1975)