เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องนิทรรศการชั้น 7 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เราถูกต้อนรับด้วยประโยคของนักมนุษยปรัชญา Rudolf Hauschka ที่กล่าวถึงการสอดประสานของดินน้ำลมไฟในธรรมชาติ ตามด้วยภาพเขียนดอกไม้โทนสีอ่อนสบายตา และดอกไม้สด ที่เรียงรายอย่างสวยงามในสไตล์การจัดดอกไม้ญี่ปุ่นโคริงกะ ความตึงเครียดบางอย่างในใจดูจะผ่อนคลายลงโดยไม่รู้ตัว
นี่คือส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Art of Element and Therapy ศิลปะแห่งเหตุปัจจัยและการบำบัด ที่เชื้อเชิญผู้ชมให้เข้าไปสัมผัสกับศาสตร์การบำบัดที่มีศิลปะเป็นกระบวนการ พร้อมๆ กับได้ประสบการณ์ทางสุนทรียะที่เกื้อหนุนและจรรโลงจิตใจไปในคราวเดียวกัน เราขอถือโอกาสนี้เข้าไปทำความรู้จักกับนิทรรศการและศาสตร์ที่ลึกซึ้งนี้ พร้อมเชิญชวนผู้ที่สนใจ ให้รีบไปชมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นสุดนิทรรศการ
ศิลปะบำบัดนั้นหรือคือ…
ศิลปะบำบัดคือศาสตร์ที่อาศัยกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ ประกอบกับการใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยา เพื่อบำบัดหรือเติมเต็มชีวิตของบุคคล โดยตัวกระบวนการนั้น เปิดโอกาสให้คนเราได้เข้าไปสำรวจสภาพทางจิตใจและอารมณ์ ที่ถูกแสดงออกผ่านการทำงานศิลปะ และนักศิลปะบำบัดจะเป็นผู้ถอดความ ‘สาร’ เหล่านี้ที่อยู่ในรูปของอวัจนภาษา เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การแกะแก้ปัญหาภายใน หรือการพัฒนาตนเองต่อไป
ศาสตร์ศิลปะบำบัดนี้ได้รับการเผยแพร่ในประเทศทางฝั่งตะวันตกมายาวนานนับร้อยปี ส่วนทางประเทศไทยได้นำศิลปะบำบัดมาใช้ในการรักษามาราวๆกว่า 20 ปีแล้ว มีการใช้ในการรักษาในโรงพยาบาลและสถาบันศิลปะบำบัดต่างๆ และเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้
จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ศาสตร์ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างสุนทรียะ กับจิตบำบัดและการหาสมดุลภายในเช่นนี้ ได้ตบเท้าเข้าหอศิลป์มาแสดงให้คนจำนวนมากได้เข้าชม ทั้งยังได้นักศิลปะบำบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา (anthroposophy) อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี มาเป็นภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ และได้รวบรวมผลงานและการทำงานของนักศิลปะหลากหลายแขนงมานำเสนอในโอกาสเดียวกันนี้อีกด้วย
อนุพันธุ์กล่าวว่า มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยเหตุและปัจจัย ซึ่งความงามและสุนทรียภาพก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น ดังนั้นการได้มาซึมซาบสุนทรียtจากนิทรรศการ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยและพลังในการดำรงชีวิตได้เช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้ที่ได้มาชมจะรู้สึกผ่อนคลายและอิ่มเอมใจเมื่อได้มาเยือน
เมื่องานบำบัดมาอยู่ในหอศิลป์
ความน่าสนใจประการแรกของนิทรรศการนี้ คือ การสร้างบรรยากาศนำเสนองานศิลปะที่ทำให้ผู้มาเยี่ยมชมรู้สึกผ่อนคลาย สเปซนี้จึงสร้าง effect ของการเยียวยาจิตใจเป็นประสบการณ์ตรง ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ความเข้าใจของการทำงานของศาสตร์นี้ไปในตัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้โคริงกะที่อาศัยความงามของดอกไม้เพื่อให้จิตใจเบิกบาน หรือจะเป็นเกลือกองสีขาวใหญ่ในมุมห้องสีขาว พร้อมเก้าอี้ที่เชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งพิจารณาจิตใจตนเอง จนถึงโครงสร้างไม้ไผ่ที่มีผ้ามัดย้อมหลากสีพาดผ่าน สะท้อนแสงสีบนท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ของวัน
ความน่าสนใจประการที่สอง คือ การนำกระบวนการบำบัดที่ปกติแล้วจะอยู่เบื้องหลังประตูอันมิดชิด และเป็นสิ่งที่ผู้รับการบำบัดและนักบำบัดเท่านั้นที่จะรับรู้ มาจัดแสดงอยู่บนผนังหอศิลป์ (แน่นอนว่าต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของผลงาน) จึงถือเป็นการเผยให้เราได้เห็นการทำงานอันละเอียดอ่อนและสภาพจิตใจของบุคคล ซึ่งตามปกติแล้วคนอื่น แม้จะเป็นครอบครัวผู้ป่วยก็ไม่มีโอกาสจะได้สัมผัส
ในนิทรรศการ เราได้เห็นภาพผลงานจากศิลปะ จากผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารายหนึ่ง ซึ่งเป็นคนไข้ของอนุพันธุ์ ที่ได้รับการรักษาจากทั้งแพทย์และนักศิลปะบำบัด ในกระบวนการศิลปะบำบัดนั้น เขาอธิบายว่า ไม่มีถูกหรือผิด ไม่เน้นความสวยงาม หรือ ขอบเขตในการถ่ายทอด นักศิลปะบำบัดจะสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผู้บำบัดที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านผลงาน เช่น การระบายสี การขยับของฝีแปรง และช่วยกำหนดทิศทางเพื่อสร้างความสมดุล อนุพันธ์ยังเล่าว่าในช่วงท้ายการบำบัดของเคสนี้ คนไข้ดูผ่อนคลาย สามารถตัดสินใจต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้อย่างชัดเจน และมีแนวโน้มที่จะปรับลดระดับของการจ่ายยา
อย่างไรก็ตาม สำหรับสายตาของคนนอก ที่มองดูเพียงภาพผลงานหลังจบกระบวนการแล้ว ก็อาจจะยากที่จะจินตนาการว่าสภาพจิตใจของผู้วาดเป็นเช่นไร และได้รับการประคับประคอง ชี้แนะจากการบำบัดอย่างไรบ้าง ทางหอศิลป์ฯ จึงได้จัดกิจกรรมอีกจำนวนมาก เพื่อต่อยอดความเข้าใจให้กับนิทรรศการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำชมโดยภัณฑารักษ์ การจัดเวิร์กช็อป หรือที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามและถูกจองเต็มทั้ง 12 รอบ ก็คือ การแสดงสดจำลองสภาวการณ์ในห้องศิลปะบำบัด – Arts Therapy Performance นั่นเอง ซึ่งร่วมมือกับทีม B-Floor Theatre ในการกำกับและออกแบบการแสดง
เมื่องานบำบัดกลายเป็นการแสดง
การแสดง Arts Therapy Performance นั้น ได้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นการทำงานสดๆ ของนักบำบัดตัวจริงเสียงจริง 4 คน ได้แก่ โจเซฟ ซามูดิโอ (ดนตรีบำบัด) อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี (ศิลปะบำบัดด้วยแนวทางมนุษยปรัชญา) ดุจดาว วัฒนปกรณ์ (จิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว) และ ปรัชญพร วรนันท์ (ศิลปะบำบัดด้วยแนวทาง Integrative และ Expressive Arts Therapy) โดยแต่ละคนจะทำ session ประมาณ 1 ชั่วโมงกับนักแสดงที่รับบทเป็นผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า, ภาวะ mid-life crisis, ภาวะ selective mutism, การจัดการกับความโกรธ หรือ การรับมือกับความสูญเสีย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อขึ้นชื่อว่า ‘การแสดง’ คำถามแรกที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้เข้าไปชมคือ เรากำลังจะได้เห็นกระบวนการบำบัดจริงๆ แค่ไหน? หรือนี่เป็นเพียงการจัดฉากที่เตรียมบทไว้แล้วเท่านั้น? เราได้รับคำตอบในช่วงถามตอบท้ายการแสดงว่า นักแสดงที่รับบทผู้ป่วยนั้น ในชีวิตจริงไม่ได้มีอาการตามบทที่ได้รับ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะไปกระตุ้นให้เกิดภาวะเหล่านั้นจริง และต้องมาทำเวิร์กช็อปกับทางทีมงานก่อนการแสดง เพื่อให้เข้าถึงสภาพจิตใจของผู้มีอาการนั้นๆให้ได้มากที่สุด ส่วนในการแสดงจริงนั้น จะพูดอะไร หรือตอบสนองแบบไหนกับการบำบัด ก็สุดแท้แต่เจ้าตัว ทั้งหมดเกิดขึ้นสดๆ โดยไม่ได้วางบทเอาไว้ และนักบำบัดเองก็ดำเนิน session เสมือนกำลังทำงานกับผู้รับการบำบัดจริงๆ โดยไม่รู้ว่าจะจบในรูปแบบใดเช่นกัน จึงเรียกได้ว่าเหมือนการทำการบำบัดจริงแทบจะ 100 %
ใน session ของผู้มีภาวะ mid-life crisis กับนักศิลปะบำบัด คุณปรัชญพร วรนันท์ ผู้ชมจะได้ยินเสียงคุยโทรศัพท์ของชายวัยกลางคน ที่ดูเผินๆ ก็มีชีวิตที่เรียบง่าย แต่มีเรื่องให้กังวล และมีปัญหาที่ไม่มีทางออกชัดเจน เขาดูเหมือนจะชอบเด็กรุ่นน้องในที่ทำงาน ในขณะที่ตัวเองมีภรรยาแล้ว และดูจะสะเทือนใจมากเมื่อได้ยินข่าวเพื่อนเสียชีวิตอย่างกะทันหัน จากนั้น เขาวางหูโทรศัพท์และเข้าสู่ session กับนักบำบัด
น่าสนใจที่เขาไม่ได้เล่าเรื่องราวใดๆ เหล่านี้ออกมาให้นักบำบัดฟัง แต่ความรู้สึกภายในค่อยๆ ถูกสะท้อนออกมาผ่านกระบวนการศิลปะ คุณปรัชญพรใช้ clay ซึ่งเป็นดินปั้นที่คล้ายโคลนอัดเต็มอยู่ในถาด เป็นเครื่องมือในการทำกระบวนการนี้ ซึ่งในช่วงแรก เราเห็นผู้รับการบำบัดค่อยๆ ฃจิ้มและจับ เหมือนยังไม่แน่ใจว่าจะทำอะไร แต่ต่อมาก็มีการใช้แรงกำและดัน clay มากขึ้น เหมือนกำลังระบายความอัดอั้นบางอย่างออกมา จนนักบำบัดต้องช่วยจับถาดเพื่อไม่ให้เคลื่อนตกจากโต๊ะ และในช่วงท้าย ผู้ป่วยได้มุดมือเข้าไปกำ clay ไว้โดยที่นักบำบัดช่วยเอา clay ที่เหลือมาพอกมือจนคลุมมิดทั้งสองข้าง ให้ความรู้สึกแน่น แต่สบายมือเพราะดินนุ่มและชุ่มด้วยน้ำอุ่น ราวกับว่ามือนั้นพยายามจะหาที่ที่ตัวเองเข้าไปอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง
ลอดการทำ session นักบำบัดจะคอยซัพพอร์ทผู้ป่วยให้ทำกระบวนการโดยไม่ต้องกังวลว่าถูกหรือผิด พร้อมกับคอยอ่านอย่างระมัดระวังว่าผู้ป่วยต้องการอะไร เพื่อที่จะสนับสนุนได้ถูกทาง เขากำมือเพราะโกรธหรือเปล่า? ควรจะแนะให้ดัน clay จนออกนอกถาดไปเลยไหม? หรือเขาต้องการจะหาที่ยึดเหนี่ยวที่ปลอดภัย? ควรจะพอกมือและเทน้ำอุ่นให้ดีไหม? เมื่อจบกระบวนการ เราได้เห็นผู้ป่วยดูสบายใจขึ้น แม้ไม่ได้มีคำตอบใดๆ ให้กับชีวิต และปัญหาก็ยังคงเดิม แต่เขาได้มาเห็นสภาวะจิตใจของตัวเอง เห็นอารมณ์ที่เก็บกดคั่งค้างไว้ภายใน ดังนั้น จากนี้จะเป็นการทำงานกับสิ่งเหล่านั้นของตัวผู้ป่วยเอง เมื่อกลับออกไปในโลกภายนอก และทำร่วมกันกับนักบำบัดเมื่อถึงคราว session ต่อไป
ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้…
บอกได้เลยว่าแม้นิทรรศการนี้จะเป็นศาสตร์ที่เนื่องด้วยศิลปะ แต่มีความเฉพาะทางอย่างมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหอศิลป์ฯ เองย่อมจะไม่คุ้นชิน และอาจประสบปัญหาในการตอบคำถามเชิงลึกเกี่ยวกับการบำบัด อย่างไรก็ตาม ตัวนิทรรศการและกิจกรรมที่ดำเนินมา ทั้งในแง่เนื้อหาและความสนใจของผู้ชมแล้วเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก และได้เปิดโลกใหม่ให้กับคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่อาจไม่รู้จักศิลปะบำบัดมาก่อน หรือพอรู้แต่ไม่เข้าใจการทำงานของมัน ทั้งยังได้เห็นความสำคัญของการกลับมาหาสมดุลในชีวิต เริ่มจากการเข้าใจตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้ป่วยเสียก่อน
แน่นอนว่านิทรรศการเดียวไม่อาจจะใส่เรื่องราวของศาสตร์วิชานี้ได้ทั้งหมด ผู้ชมที่สนใจ และได้มาสัมผัสกับการบำบัดที่เน้นสมดุลของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ในธรรมชาติ ตามแนวทางมนุษยปรัชญาในนิทรรศการนี้แล้ว อาจสืบค้นต่อไปได้ว่ามีศิลปะบำบัดแขนงใดอีกที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางบำบัดที่มีฐานมาจากจิตวิทยาคลินิค (Clinical Psychology) ที่มีประวัติย้อนไปถึงสมัยซิกมุนด์ ฟรอยด์ หรือศิลปะบำบัดที่ใช้สติเป็นฐาน (Mindfulness-Based Art Therapy) ซึ่งเป็นแขนงใหม่ที่เพิ่งกำเนิดได้ราว 10 ปี
สำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วแต่ยังไม่ได้ไปเยี่ยมชม นิทรรศการ Art of Element and Therapy – ศิลปะแห่งเหตุปัจจัยและการบำบัด ยังคงรอให้ทุกท่านไปค้นหา และค้นพบเรื่องราวภายในตัวเอง จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อ้างอิงคำจำกัดความศิลปะบำบัด
https://www.psychologytoday.com/intl/therapy-types/art-therapy
https://arttherapy.org/about-art-therapy/ (American Art Therapy Association)
Tags: BACC, Art Therapy, ศิลปะบำบัด, หอศิลปกรุงเทพมหานคร