Hej! คำทักทายภาษาสวีดิช ที่ฟังคล้ายๆ คำว่า ‘เห’ ดังขึ้นเป็นระยะๆ เมื่อเท้าก้าวลงสู่สนามบินสตอกโฮล์ม-อาร์ลันดา ฉันอดไม่ได้ที่จะนึกถึงการเดินซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ IKEA เมื่อกลิ่นไม้สนหอมอ่อนๆของสนามบินฟุ้งมาเตะจมูก ผนังด้านหนึ่งของอาคารผู้โดยสาร เรียงรายไปด้วย Hall of Fame ของ บุคคลสำคัญระดับโลกชาวสวีเดน คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างเราๆ
ด้วยความที่ฉัน รู้จักสวีเดนครั้งแรกในฐานะบ้านเกิดของ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช (ดาวซัลโวแห่ง LA Galaxy) ฉันจึงเฝ้ามองหารูปของเขาทุกครั้ง จนตอนนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีเขาในสนามบิน นอกจากบนป้ายโฆษณานาฬิกาชื่อดังยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น แต่กระนั้นก็ไม่น่าแปลกอะไร เพราะสวีเดนเองก็มีมากกว่าแค่ซลาตัน และ IKEA
ด้วยภูมิประเทศที่มีทะเลเป็นเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงและลากผ่านหลายพื้นที่ สวีเดนได้ฉายาว่า ราชินีแห่งทะเลบอลติก ที่ความงามตามธรรมชาติคือความหนาวสุดขั้ว พ่วงมาเป็นผลพลอยได้ อุณหภูมิติดลบจะพรากแสงอาทิตย์ไปตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันในฤดูหนาว และในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ความหนาวจะล่าถอยไปทีละน้อยๆ (แต่ตอนนี้บางวันยัง -3 อยู่เลยนะ) ให้พระอาทิตย์อ้อยอิ่ง จนเที่ยงคืนยังไม่ตกก็มี
หากต้องแข่งกับเมืองธรรมชาติอื่นๆในสวีเดน สตอกโฮล์มอาจเป็นม้านอกสายตา เพราะไม่ใช่เมืองที่เหมาะในการเที่ยวเล่นสักเท่าไร เมืองหลวงแห่งสวีเดนเหมาะแก่การอยู่อาศัยมากกว่า ทั้งยังอุ้มแนวคิดการใช้ชีวิตเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น (The Better World) ได้อย่างประสบความสำเร็จ เช่น ระบบการเดินทางขนส่งชั้นยอด ที่เชื่อมโยงเกาะเล็กๆ น้อยๆ ของเมืองเข้าหากันราวกับไม่มีน้ำมาขวางกั้น และสถานีรถไฟใต้ดินหรือ Tunnelbana ที่มีมากกว่าแค่การขนส่งสาธารณะ
สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงสตอกโฮล์ม เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดยาวที่สุดในโลก โดยกว่า 90 สถานี จะมีการนำผลงานศิลปะมาจัดแสดงของศิลปินกว่า 150 คน เริ่มต้นตั้งแต่ราวๆ ช่วงศตวรรษที่ 1950 ใจความสำคัญของการใช้ศิลปะมาตกแต่งในสถานีรถฟ้าใต้ดินสตอกโฮล์ม คือ Public Art หรือ ศิลปะสำหรับทุกคน ถ้าสถานีรถไฟใต้ดินที่รัสเซียคือมาสเตอร์พีชของสวรรค์ด้วยสถาปัตยกรรมชั้นยอดที่ดูโอ่อ่าแบบบาโรค ที่สวีเดนเลือกแนวทางของการแสดงศิลปะให้สนุกและทันสมัย บางครั้งก็ค่อนข้างคอนเซปต์ชวลแบบโมเดิร์นอาร์ตตามลักษณะของเมืองสตอกโฮล์มเอง
อย่างนั้นจะมีอะไรดีไปกว่าออกเดินทางค้นหาว่า ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ใต้ดินที่พร้อมเปิดให้ชมได้ง่ายๆ แค่แตะบัตรรถไฟนั้น มีสถานีไหนน่าสนใจบ้าง
สตอกโฮล์มแบ่งรถไฟใต้ดินแต่ละสายออกเป็นสีๆ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 3 วัน ในการเยี่ยมชมทุกสถานีให้ครบ ฉันจึงสร้างแผนคร่าวๆ ในการเลือกที่จะไป โดยต้องเป็นสถานีที่ 1. เปลี่ยนสายที่ สถานีศูนย์กลางอย่าง T-Centralen ได้ง่าย 2. ไม่ออกนอกเส้นทางจากตัวเมืองสตอกโฮล์มมากเกินไป เพราะต้องเผื่อระยะทางทั้งขาไปและขากลับ และ 3. มีการตกแต่งด้วยศิลปะที่แตกต่างจากสถานีอื่นอย่างชัดเจน ฉันดาวน์โหลดรูปแผนที่ติดตัวไว้สักหน่อย เป็นเหมือนเข็มทิศนำทางก่อนจะเริ่มสตาร์ตจากจุด Transit หลักอย่างสถานี T-Centralen เพราะรถไฟที่นี่ ยังต้องขึ้นฝั่งให้ถูกต้อง อารมณ์เหมือนหมอชิต กับแบริ่งอยู่ดี
สายสีฟ้า
T-centralen สถานีศูนย์กลางที่เลือกใช้สีฟ้าเพราะความเย็นของสีฟ้าช่วยลดความตึงเครียด
T-centralen: สถานีเริ่มแรกของเรา T-Centralen (Central Station) ที่บังเอิญเป็นสถานีแรกที่มีการนำศิลปะมาใช้ตกแต่งในรถไฟใต้ดินพอดี ศิลปิน Per Olof Ulvedlt นำสีฟ้ามาใช้เป็นการสะท้อนถึงการเป็นสถานีศูนย์กลางของเส้นสีฟ้า และดึงเอาหลักการที่ว่า สีฟ้าช่วยทำให้ผ่อนคลาย เพราะที่นี่คือศูนย์กลางของการเปลี่ยนสาย ที่ไม่ว่าจะเวลาไหนคนก็พลุกพล่านตลอดเวลา
Kungsträdgården ใช้สีแดง ขาว เขียว มาเป็นลูกเล่น
รูปวาดย่อยๆบนเพดานระบุถึงสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Stockholm City Museum
Kungsträdgården: สถานีเก่าเเก่ที่ยกเอาความงามเหนือพื้นสถานีมาถ่ายทอดผ่านสีแดง เขียว ขาว พร้อมนำรูปปั้น และประติมากรรมมาเรียงราย ฉันรู้สึกว่าสถานีนี้มีรายละเอียดในทุกมุม และการเดินชมการตกแต่งในสถานีก็คล้ายกับการเดินในสวน
Radhuset สถานีที่สีส้มอมแดงให้ความรู้สึกทรงพลัง ขลังๆ เหมือนอยู่ในโบราณสถาน
Radhuset: ถ้าคุณรักโบราณคดีและการสำรวจอาจจะถูกใจกับคอนเซปต์ที่ทั้งสถานีถูกเพนท์เป็นสีส้มคล้ายกับอิฐบนปล่องไฟ แฝงด้วยการนำอุปกรณ์การค้นหา ตะกร้า หิน ถ่าน ดิน มาแทรกไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วสถานี
เราเปลี่ยนสายที่ T-Centralen ไปที่ สายสีแดง กันต่อ
Stadion: สถานีสเตเดียมที่ศิลปิน Ake Pallarp และ Enno Hallek ตั้งใจสะท้อนสายรุ้งทั้ง 5 สี ของกีฬาโอลิมปิค แต่เนื่องจากทุกปีเทศกาล Stockholm Pride จัดอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ทำให้สายรุ้งดังกล่าวอุ้มชูการแสดงออกทาง LGBT ได้เป็นอย่างดี
Tekniska Högskolan ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับ สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ KTH Royal Institute of Technology
Tekniska Högskolan: เลยมาอีก 1 ป้ายกับบรรยากาศของส่วนผสมทางวิทยาการอันหลากหลาย กลางสถานีมีประติมากรรมทรงเรขาคณิตที่มีภาพวาดโดยรอบแสดงถึง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้
Mörby Centrum สถานีปลายทางของสายสีแดง ที่ใช้แนวคิดของภาพลวงตามาตกแต่งผนัง
Mörby Centrum: เรานั่งทะลุไปสุดสายสีแดง ที่สถานีสายไหม Mörby Centrum ระยะเวลาที่นั่งรถไฟแปรผันกับจำนวนผู้โดยสาร ที่เหลือแค่หยิบมือเมื่อถึงปลายทาง ฉันคาดว่าเจ้าสายไหมสีพาสเทลนี้จะต้องสีสดใสน่ารับประทาน แต่การออกแบบโดยอาศัยภาพลวงตาทำให้สีกำแพงแตกต่างกันออกไปตามมุมที่เรายืนอยู่ เป็นสีเทาออกเขียวซีดๆในเริ่มแรก จนเมื่อหันหลังกลับมามองอีกครั้ง พบว่าจริงๆ เป็นสีชมพูมากกว่า สะท้อนให้เห็นว่าการเดินทางจะออกมาเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับมุมในการที่เราเลือกจะมอง
สายสีเขียว
Hötorget สถานีที่คงความวินเทจของยุค 1950s ไว้ทุกมุม เว้นแต่เพดานไฟนีออนที่มาเพิ่มเติมทีหลัง
Hötorget: ผนัง พื้น และเพดานของสถานีถูกแต่งแต้มด้วยกระเบื้องสีมิ้น และ Hötorget เป็นสถานีที่คงความออริจินัลตามการดีไซน์ในยุค 1950 ได้อย่างไร้ที่ติ ตั้งแต่ม้านั่ง ป้ายบอกทาง ไปจนถึงถังขยะ ดูมุมไหนก็วินเทจ มีเพียงแค่หลอดนีออนที่นำมาติดไว้บนเพดาน ตั้งแต่ช่วงปี 1998 เท่านั้นที่เพิ่มความดราม่าทำให้สถานีดูโมเดิร์นขึ้น
สถานีเชื่อมระหว่าง Odenplan กับ Citybanan นำคลื่นหัวใจจาก CTG MONITOR มาทำเป็นผลงานศิลปะตลอดทางขึ้นลงบันไดเลื่อน
Citybanan – Odenplan: สถานีที่ครองใจฉันมากที่สุด ด้วยการนำคลื่นหัวใจจาก CTG MONITOR มาทำเป็นผลงานศิลปะตลอดทางขึ้นลงบันไดเลื่อนที่เชื่อมสู่ชานชาลาของรถไฟขนส่งระหว่างชานเมือง เสียงคลื่นหัวใจดังติ๊ดๆ เป็นจังหวะสะท้อนความมีชีวิตชีวาของตัวเมืองและการเดินทางได้อย่างน่ามหัศจรรย์
ก่อนกลับ เราวนมาที่สถานีแรกเริ่ม T-Centralen เพื่อเก็บตกถ่ายรูปอีกครั้ง สักพักมีคุณป้าคนหนึ่งเดินเข้ามาถามว่ามีอะไรพิเศษหรือเปล่า ทำไมต้องถ่ายรูปหน้าสถานีกันทุกคน ฉันหัวเราะร่า ก่อนบอกไปว่า แค่ เป็น Art ใน Subway ที่คนต้องหยุดมอง สีฟ้ามันทำให้คนแอบหยุดรีบไปได้สักพักจริงๆ คุณป้าก็ถึงบางอ้อ และบอกให้ฉันถ่ายรูปให้หน่อย
การแทรกแนวคิดศิลปะไปกับการเดินทางก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งช่วยลดระยะทาง หรือก่อให้เกิดบทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้าได้ ใครว่าศิลปะกับการเดินทางมันไปด้วยกันไม่ได้ หรือการชื่นชมผลงานสักอย่างต้องใช้เวลามากมาย ผลงานศิลปะที่สถานีรถไฟใต้ดินสตอกโฮล์มก้าวข้ามผ่านการ stereotype เหล่านั้น ทำให้เรามองเห็นว่า ‘ความงามมันใกล้ตัวเราเสมอ’
Fact Box
- เนื่องจากบัตร Single Journey Ticket ใช้ได้ 75 นาที ไม่จำกัดรถไฟ รถบัส หรือ เรือเฟอร์รี่ บัตรราคา 45 SEK (180 บาท) หรือเลือกซื้อเป็นตั๋ววัน ราคา 130 SEK (500 บาท) แต่ส่วนมากเราไม่จำเป็นต้องออกนอกสถานีด้วยซ้ำ เพราะงานศิลปะอยู่ด้านใน เลือกซื้อบัตรแบบ Single Journey Ticket ก็เพียงพอ
- มีบริการ Guide Tour นำคุณเที่ยวชมรถไฟใต้ดินแบบเอ็กคลูซีฟมากขึ้น ตลอดปีไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ทัวร์ภาษาอังกฤษจะมีแค่เฉพาะช่วงหน้าร้อนเท่านั้น เผื่อใครไปสต็อกโฮล์มช่วงที่ว่า แล้วมีเวลาว่างสัก 2 ชม. ก็ลองดูนะ