ถ้าพูดถึงงานสตรีตอาร์ต และ กราฟฟิตี้ แล้วไม่พูดถึงศิลปินคนนี้ก็คงจะเป็นอะไรที่พลาดอย่างแรง เพราะเขาเป็นศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีตอาร์ตที่ร้อนแรงที่สุดในยุคปัจจุบัน ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันในฉายา แบงก์ซี (Banksy) นั่นเอง

ศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตนิรนามชาวอังกฤษ ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะกราฟฟิตี้เชิงเสียดสีประชดประชัน มืดหม่น ตลกร้าย และการใช้ภาพลักษณ์สะดุดตาเนื้อหากระแทกใจ ผลงานของเขาปรากฏอยู่บนท้องถนน ผนัง กำแพง สะพาน อาคาร และที่สาธารณะต่างๆ ทั่วลอนดอน และในอีกหลายแห่งทั่วโลก

แบงก์ซีเป็นหนึ่งในศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตไม่กี่คนที่ยังคงทำงานใต้ดินและเก็บซ่อนตัวตนของเขาเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ ว่ากันว่าเขาเริ่มเป็นศิลปินเมื่ออายุ 14 ถูกไล่ออกจากโรงเรียน และเคยติดคุกในข้อหาเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงยุค 90s เขาอาศัยอยู่ในแอสตันบริสตอล ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ลอนดอนในช่วงปี 2000s

แบงก์ซีเริ่มต้นทำงานกราฟฟิตี้ในช่วงปี 1990 – 1996 ในแวดวงศิลปะใต้ดิน ที่เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ เขาได้แรงบันดาลใจจากศิลปินกราฟฟิตี้รุ่นพี่อย่าง 3D หรือ โรเบิร์ต เดล นายา (Robert Del Naja) (ที่ต่อมากลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งวงดนตรี Massive Attack) แรกเริ่มเขาทำงานกราฟฟิตี้ด้วยเทคนิคฟรีแฮนด์ (พ่นสีสเปรย์สดๆ โดยไม่ใช้เครื่องมือช่วย) ต่อมาเขาเปลี่ยนมาใช้เทคนิคการพ่นสีสเปรย์แบบสเตนซิล ที่ใช้กระดาษแข็งเจาะหรือตัดช่องเป็นรูปทรงต่างๆ แล้วพ่นสีสเปรย์ทะลุช่องลงไปประทับบนผนัง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำได้อย่างรวดเร็วมากๆ เขากล่าวว่าเปลี่ยนมาใช้เทคนิคนี้เพราะเขาต้องลักลอบทำงานแข่งกับเวลาเพื่อหลบหนีตำรวจที่คอยตามจับ หลังหันมาใช้เทคนิคนี้ ผลงานของเขาก็กลายเป็นที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักไปทั่วบริสตอลและลอนดอน

ผลงานศิลปะบนฝาผนังชิ้นแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างของเขาคือ The Mild Mild West (1997) ที่พ่นทับป้ายโฆษณาของสำนักงานทนายความ บนถนนสโตรคส์ ครอฟต์ ใน บริสตอล โดยเป็นภาพหมีเท็ดดี้กำลังจะปาระเบิดขวดใส่ตำรวจปราบจลาจลที่กำลังย่างสามขุมเข้าหามัน

เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของเขาคือการสอดแทรกประเด็นทางสังคมการเมือง วิพากษ์วิจารณ์สงคราม ความปลิ้นปล้อนกลับกลอกและโลภโมโทสันของสังคมทุนนิยมอย่างแสบสันต์ ด้วยการใช้ตัวละครอย่าง หนู, ลิง, ตำรวจ ทหาร ไปจนถึงเด็ก สตรี และคนชรา

Girl with Balloon or There is Always Hope (2002), เซาท์แบงค์ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Girl_with_Balloon

Rage, the Flower Thrower (2005), เมืองเบธเลเฮม, ปาเลสไตน์ ภาพจาก https://www.indulgexpress.com/cover/2018/jul/13/the-art-of-banksy-and-more-celebrating-street-art-across-the-world-8805–1.html

Napalm Girl (2004-05), ซิลก์สกรีนบนกระดาษ, ภาพจาก https://jamaispasdutoutrien.wordpress.com/2012/10/15/napalm-2004-5-banksy/

Brexit (2017) โดเวอร์, ประเทศอังกฤษ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Banksy

นอกจากจะทำกราฟฟิตี้บนพื้นที่ที่คนทั่วๆ ไปมองเห็นและเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย อย่างบนผนังหรือกำแพงบนพื้นที่สาธารณะแล้ว บางครั้งเขาก็แอบเข้าไปติดตั้งผลงานศิลปะจัดวางแสบๆ คันๆ ของเขาบนพื้นที่เฉพาะ และเป็นทางการอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั้งในลอนดอนและนิวยอร์ก อย่างเช่นครั้งหนึ่ง เขาเคยแอบเข้าไปติดตั้งแผ่นหินที่มีภาพวาดโบราณก่อนประวัติศาสตร์เก๊ๆ รูปมนุษย์ถ้ำเข็นรถเข็นช็อปปิ้ง บนผนังในพิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ในลอนดอน แถมติดป้ายบรรยายผลงานเป็นตุเป็นตะ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ถอดออกไปในที่สุด (แต่ภายหลังมันก็ถูกเชิญให้กลับไปแสดงในพิพิธภัณฑ์บริติชอีกครั้งนั่นแหละนะ!)

นอกจากเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ นักก่อกวน ปั่นป่วนสังคม และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตัวยง เขายังเป็นผู้กำกับหนังอีกด้วย โดยเขาทำหนังสารคดีเรื่อง Exit Through the Gift Shop (2010) ซึ่งเป็นเรื่องราวของ เธียรี กูเอ็ตตา (Thierry Guetta) ชาวฝรั่งเศสอพยพในลอสแองเจลิส ผู้ตามถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับศิลปินสตรีทอาร์ตหลายคน รวมถึงแบงก์ซีด้วย แต่สุดท้ายแบงก์ซีกลับยุยงให้เขาหันมาทำงานสตรีทอาร์ตแทนการทำหนัง จนในที่สุดเขาก็กลายเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตตัวจริงเสียงจริง ผู้มีฉายาว่า Mr. Brainwash และถูกแบงก์ซีถ่ายทำหนังสารคดีเกี่ยวกับตัวเขาแทนเสียเอง จนได้ออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ในที่สุด

Well Hung Lover (Naked Man) (2006), บริสตอล, ประเทศอังกฤษ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Well_Hung_Lover

Swinger (2008) นิวออร์ลีนส์, สหรัฐอเมริกา, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Banksy

Shop Until You Drop (2011), เมย์แฟร์, ลอนดอน, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Banksy

นอกจากจะเป็นศิลปินที่เสียดเย้ยการเมืองอย่างเจ็บแสบแหลมคมแล้ว แบงก์ซีเป็นศิลปินที่สะท้อนปัญหาสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

ไม่ว่าจะเป็น  Dismaland (2015) โครงการศิลปะในรูปสวนสนุกสุดสยอง ที่จิกกัดสวนสนุกมหาชนสุดหรรษาอย่างดิสนีย์แลนด์อย่างเจ็บแสบ ที่ทำขึ้นที่สถานที่พักผ่อนชายทะเลทิ้งร้างชื่อ Tropicana ในเวสตันซุปเปอร์แมร์ เมืองชายทะเล ในมณฑลซอเมอร์เซ็ท ประเทศอังกฤษ โดยแบงก์ซีสร้างสวนสนุกสุดหดหู่ที่มีสโลแกนว่าเป็น “สวนสนุกที่ตรงข้ามกับสวนสนุกครอบครัวและไม่เหมาะกับเด็กๆ (อย่างแรง)” ขึ้นมา ในสวนสนุกมีตั้งแต่ รปภ. กิริยาวาจาก้าวร้าวหยาบกระด้าง สิ่งละอันพันละน้อยที่ไม่เจริญหูเจริญตาอย่าง ม้าหมุนที่มีหุ่นนักเชือดสัตว์ ถือมีดด้ามยาวเปื้อนเลือดนั่งหน้าตาถมึงทึง หรือรถบัสที่มีอุปกรณ์อันตรายและรุนแรงอย่าง โล่ปราบจราจลและกระสุนยาง ปุ่มหนามที่ใช้กันคนจรจัดไม่ให้นอนในที่สาธารณะ เป็นอาทิ

Dismaland (2015), เวสตันซุปเปอร์แมร์, ซอเมอร์เซ็ท, ประเทศอังกฤษ, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Banksy

หรือผลงานในปี 2018 ที่ทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับเทศกาลแฟชั่นโชว์ระดับโลกอย่าง ปารีส แฟชั่น วีค ที่เหล่าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำจับมือกับเหล่าศิลปินบิ๊กเนมในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น Dior ที่จับมือกับศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง KAWS, หรือ ราชันย์ป๊อปอาร์ตชาวญี่ปุ่่นอย่าง ทาคาชิ มูราคามิ (Takashi Murakami) ที่ร่วมงานกับ เวอร์จิล อาโบล (Virgil Abloh) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนใหม่ของ Louis Vuitton ออกแบบคอลเล็คชั่นเครื่องแต่งกายของผู้ชายชุดใหม่ออกมา แบงก์ซีก็บุกรุกเมืองหลวงของฝรั่งเศสด้วยงานศิลปะบนท้องถนนของเขา โดยไม่มีการแจ้งหรือเตือนล่วงหน้าใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่ทำขึ้นใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดิน Porte de la Chapelle ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ผู้ลี้ภัย La Bulle เพื่อตอบโต้นโยบายการขจัดผู้ลี้ภัยของประธานาธิบดี ฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ที่กวาดต้อนและรื้อถอนที่พักพิงของผู้ลี้ภัยกว่า 2,000 คน

โดยแบงก์ซีหยิบเอาผลงานกราฟิตี้ Go Flock Yourself ที่เขาทำขึ้นในปี 2008 มาทำในเวอร์ชั่นใหม่ เพื่อเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในฝรั่งเศสและทั่วทั้งยุโรปในปัจจุบัน ด้วยการวาดภาพเด็กหญิงผิวดำกำลังพ่นกราฟฟิตี้เป็นวอลเปเปอร์ลวดลายแบบวิคตอเรียนลงทับบนเครื่องหมายสวัสดิกะ แบงก์ซีใช้ผลงานชิ้นนี้วิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์ของนักการเมืองที่พยายามปกปิดความชั่วและนโยบายที่มีแนวโน้มแบบเผด็จการของตนเอง

หรือภาพของชายในชุดสูทสากลกำลังล่อหลอกหมาพิการสามขาด้วยกระดูกชิ้นโตในมือ แต่มืออีกข้างของเขากลับซ่อนเลื่อยเอาไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นอุปมาถึงเหล่านักการเมืองที่หลอกลวงประชาชนด้วยคำมั่นสัญญาต่างๆ แต่ในความเป็นจริงกลับแอบแฝงเจตนาเลวร้ายเอาไว้เบื้องหลัง

และภาพที่หยิบเอาภาพวาดสุดคลาสสิคเลื่องชื่ออย่าง Napoleon Crossing the Alps (1801) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส ฌาค-หลุย ดาวิด (Jacques-Louis David) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและอิทธิพลอันเกรียงไกรของชาติฝรั่งเศส มาดัดแปลงให้เป็นภาพคนบนหลังม้า ที่ถูกผ้าคลุมของตัวเองพันจนยุ่งอีรุงตุงนังมิดหัวหู แบงก์ซีใช้ภาพนี้วิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ที่กำลังนำพาประเทศไปผิดทาง ด้วยการปิดหูปิดตาประชาชนด้วยโฆษณาชวนเชื่อและคำสัญญาลมๆ แล้งๆ โป้ปดมดเท็จ

หรือภาพวาด ‘หนู’ อันเป็นเหมือนหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบงก์ซี ซึ่งนับเป็นการกลับไปเยือนต้นกำเนิดของมันซึ่งก็คือผลงานกราฟฟิตี้รูปหนู ของ Blek Le Rat ศิลปินกราฟฟิตี้คนแรกๆ ของปารีส ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บิดาของกราฟฟิตี้แบบสเต็นซิล’ กราฟฟิตี้สเต็นซิลรูปหนูของ Blek Le Rat นี่เองที่ส่งแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงต่อผลงานของแบงก์ซี

กราฟฟิตี้ของแบงก์ซีในปารีส ปี 2018 ที่ทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับเทศกาล ปารีส แฟชั่น วีค, ภาพจาก https://www.instagram.com/wherethereswalls/

โดยแบงก์ซีประกาศลงในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “ปารีสเป็นบ้านเกิดของกราฟฟิตี้สเต็นซิลสมัยใหม่” ด้วยการพ่นรูปหนูไปทั่วเมืองปารีส โดยวางให้มันมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับภาพกราฟฟิตี้ของเดิมที่มีอยู่แล้วตามท้องถนน บนผนังอาคารต่างๆ ซึ่งดูผิวเผิน อาจดูเหมือนกับว่าพวกมันกำลังสนุกสนานในการทำลายข้าวของต่างๆ แต่ในความเป็นจริง เจ้าหนูเหล่านี้กำลังย้ำเตือนถึงการหลงลืมความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1968 หรือ การปฏิวัติฝรั่งเศส 1968 ซึ่งเป็นการประท้วงและนัดหยุดงานโดยเหล่านักเรียนและแรงงานในฝรั่งเศส ด้วยศิลปวัฒนธรรม, บทเพลง, กวี, ภาพวาด, รอยขูดขีดเขียนบนผนัง ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศฝรั่งเศส ทั้งในแง่วัฒนธรรม, สังคม, การเมือง และได้รับการยอมรับว่าเป็นการเคลื่อนไหวและปฏิวัติทางสังคมของประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นภาพวาดของหนูตัวหนึ่ง ที่กำลังนั่งอยู่บนฝาจุกแชมเปญที่พุ่งออกไปข้างหน้ากลางอากาศ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ของความหรูหรามั่งคั่งอย่างฝาจุกแชมเปญ เป็นยานพาหนะในการเอาชนะอุปสรรคและทะยานไปข้างหน้า หนูในภาพวาดของแบงก์ซีภาพนี้เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ เมื่อพวกเขาร่วมแรงร่วมใจและรวมพลังเข้าต่อสู้ร่วมกัน

หรือผลงานในปีเดียวกันที่เมืองพอร์ตทาลบอต (Port Talbot) ทางตอนใต้ของประเทศเวลส์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นข่าวจากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นชุมชนที่มีมลพิษมากที่สุดในสหราชอาณาจักร (แต่ทางองค์การก็ออกมาแจ้งว่าเป็นความเข้าใจผิดและกล่าวขออภัยในภายหลัง)

กราฟฟิตี้ของแบงก์ซีในเมืองพอร์ตทาลบอต ปี 2018, ภาพจาก  https://www.thisiscolossal.com/2018/12/banksy-port-talbot/

แบงค์ซีอ้างอิงถึงการถูกจัดอันดับอันไม่น่าพึงประสงค์ของเมืองแห่งนี้ในผลงานชิ้นล่าสุดของเขา ด้วยภาพวาดกราฟฟิตี้บนกำแพงอิฐของโรงรถเก่าๆ ในเมืองพอร์ตทาลบอต ที่ถ้าดูฟากหนึ่งจะเป็นภาพเด็กชายสวมชุดกันหนาว ด้านหน้ามีรถลากเลื่อนหิมะเล็กๆ ยืนอ้าแขนกว้าง แลบลิ้นรอรับละอองสีขาวที่ดูเหมือนเกล็ดหิมะที่ร่วงหล่นมาจากท้องฟ้า เหมือนภาพที่เราเห็นกันจนเกร่อในเทศกาลคริสต์มาส แต่ถ้าเดินมามองอีกด้านก็จะเห็นว่า เกล็ดหิมะที่ว่านั้น อันที่จริงแล้ว เป็นละอองขี้เถ้าและเขม่าควันที่ปลิวมาจากกองขยะติดไฟในถังขยะโสโครกใบใหญ่ต่างหาก!

แบงก์ซีเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ที่ไม่ขายรูปถ่ายผลงาน หรือผลิตซ้ำผลงานกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตของเขามาขาย นักสะสมส่วนใหญ่มักจะซื้อผลงานของเขาที่ทำเป็นศิลปะจัดวางบนพื้นที่สาธารณะ หรือผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ของเขาผ่านตัวแทนบริการการจัดการที่ทำหน้าที่ในนามของเขาอย่าง Pest Control บางคนถึงกับตัดผลงานกราฟฟิตี้บนผนังเขาไปขายเลยก็ยังมี!

ครั้งหนึ่งเขาเคยเล่นตลกด้วยการให้ชายแก่ไปเปิดแผงลอยขายภาพวาดบนผ้าใบของจริง พร้อมลายเซ็นของเขา ในเซ็นทรัลปาร์ค โดยในแผงลอยมีผลงานโด่งดังของเขาอย่างภาพลิงแขวนป้าย (Monkey Sign), ชายขว้างระเบิดช่อดอกไม้ (Flower Bomber) และภาพเหล่าบรรดาหนูอันลือลั่นของเขาวางขายอยู่ในราคา 60 เหรียญสหรัฐ แต่น่าขันขื่นตรงที่ไม่มีใครสนใจซื้อมันสักเท่าไหร่ ทั้งวันมีแค่สามคนมาซื้อ ผู้หญิงคนนึงซื้อภาพวาดบนผ้าใบเล็กๆ และขอลดครึ่งราคา, ชายหนุ่มคนหนึ่งซื้อภาพวาดขนาดใหญ่หน่อยภาพนึง, ผู้ชายอีกคนซื้อภาพวาดสี่ชิ้นไปแต่งบ้านใหม่ของเขา เพียงเพราะ “อยากได้อะไรสักอย่างไปแขวนผนังบ้าน” ซึ่งอันที่จริงภาพวาดทั้งหมดรวมๆ น่าแล้วจะมีราคา กว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว แบงก์ซีเสียดสีตลาดการค้างานศิลปะว่าผลงานของเขา (และศิลปินผู้มีชื่อเสียงส่วนใหญ่) มีราคาแพงเกินตัว ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันไม่น่าจะมีราคาถึง 60 เหรียญด้วยซ้ำไป!

หรือการเล่นตลกในงานประมูลผลงานชิ้นหนึ่งของเขาที่จัดขึ้นโดยสถาบันซัทเทบีส์ (Sotheby’s) ในเดือนตุลาคม ปี 2018 ซึ่งเป็นผลงานที่ผลิตซ้ำผลงานเก่าของเขาในปี 2002 อย่าง Girl with Ballon ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ีการประมูลกำลังดำเนินไปจนสิ้นสุดที่ราคา 860,000 ปอนด์ (หรือราวๆ 1.1 ล้านดอลลาร์) ภาพก็ค่อยๆ เลื่อนลงมาและถูกตัดเป็นริ้วๆ ด้วยเครื่องทำลายกระดาษที่ซ่อนอยู่ด้านล่างของกรอบรูป สร้างความเหวอแดกแตกตื่น ให้กับผู้คนในงานอย่างมาก มีเบาะแสว่าแบงก์ซีอาจซ่อนตัวแอบกดปุ่มให้ภาพทำลายตัวเองอยู่ในงานประมูลนั่นแหละ การเล่นตลกของเขาครั้งนี้นับเป็นการกลั่นแกล้งครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในตลาดการค้างานศิลปะ สมศักดิ์ศรีศิลปินจอมแสบจริงๆ อะไรจริง!

แต่อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการอาวุโสของซัทเทบีส์ก็คาดการณ์ว่าผลงานที่ถูกตัดจนเป็นริ้วชิ้นนี้อาจมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป (อ่านะ!)

แถม แบงก์ซีบอมบ์บาสเกีย

ในเดือนกันยายน ปี 2017 แบงก์ซีบุกไปบอมบ์นิทรรศการของศิลปินกราฟฟิตี้รุ่นพี่ผู้ล่วงลับอย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย โดยนิทรรศการที่ว่านี้เป็นนิทรรศการครั้งใหญ่ของบาสเกีย ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อว่า Basquiat: Boom for Real

ซึ่งเป็นนิทรรศการที่คัดเลือกผลงานกว่า 100 ชิ้น ของบาสเกียจากพิพิธภัณฑ์และคอลเล็คชั่นส่วนตัวทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์เกี่ยวกับศิลปินที่หาดูได้ยาก รวมถึงภาพถ่าย และวัตถุสะสมต่างๆ มาจัดแสดงที่หอศิลป์ของศูนย์ศิลปะและการเรียนรู้ Barbican บนถนนซิลค์สตรีท กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เรื่องของเรื่องก็คือ อีตาแบงก์ซี แอบดอดไปพ่นและวาดภาพกราฟฟิตี้บนผนังอาคารของศูนย์ศิลปะ Barbican ใกล้ๆ กับสถานที่แสดงงาน

โดยภาพแรกเป็นภาพคาแรคเตอร์ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนตัวบาสเกีย ที่ถูก ‘ต้อนรับขับสู้’ โดยตำรวจนครบาลอังกฤษ และคาแรคเตอร์ที่ว่านี้ก็มีที่มาจากผลงานจิตรกรรมชื่อดังของบาสเกียอย่าง Boy and Dog in a Johnnypump (1982) ที่ถูกแบงก์ซีวาดใหม่ในสไตล์ของงานศิลปะเชิงเสียดสีประชดประชัน โดยป็นภาพที่ดูเหมือนกับบาสเกียกำลังถูกตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสองคน และมีหมายืนมองดูใกล้ๆ ซึ่งเชื่อมโยงกลับไปในช่วงที่บาสเกียพ่นกราฟฟิตี้บนท้องถนน เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นและจับกุมอย่างรุนแรงอยู่บ่อยๆ ซึ่งบาสเกียก็ถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นลงในผลงานหลายชิ้นของเขา และแบงก์ซีก็เอามาล้อเลียนเสียดสีต่ออีกที ส่วนภาพวาดของแบงก์ซีอีกภาพ เป็นภาพของลูกค้าที่กำลังยืนเข้าคิวรอขึ้นชิงช้าสวรรค์ที่มีกระเช้าเป็นรูป ‘มงกุฏ’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัวของบาสเกียนั่นเอง

นอกจากจะเป็นการแสดงการคารวะศิลปินผู้รุ่งโรจน์โชติช่วงที่ล่วงลับอย่างบาสเกีย ในสไตล์หยิกแกมหยอกแล้ว แบงก์ซียังวาดภาพกราฟฟิตี้สองชิ้นนี้ เพื่อท้าทายนโยบายอันเข้มงวดของศูนย์ศิลปะ Barbican ที่มักจะลบภาพกราฟฟิตี้ที่มาพ่นบนผนังอาคารออกอย่างรวดเร็วอีกด้วย

กราฟฟิตี้ของ แบงก์ซี บนผนังอาคารของศูนย์ศิลปะ Barbican ใกล้ๆ กับสถานที่แสดงงานของ ฌอง-มิเชล บาสเกีย, ปี 2017, ขอบคุณภาพถ่ายจากคุณจิรภัทร อังศุมาลี

ซึ่งก็คงไม่ต้องถามว่าทางศูนย์ศิลปะ Barbican จะกล้าลบภาพกราฟฟิตี้ของแบงก์ซีออกจากผนังตึกตัวเองไหม เพราะตอนนี้เขาติดแผ่นพลาสติกใสหรือเพล็กซิกลาสทับบนภาพเพื่อป้องกันมือดีหรือศิลปินกราฟฟิตี้คนอื่นมาวาดทับให้ภาพเสียหายไปเรียบร้อยโรงเรียนลอนดอนแล้วน่ะนะ!

ข้อมูล:

https://www.theartstory.org/artist-banksy.htm

https://en.wikipedia.org/wiki/Banksy

http://www.streetartbio.com/banksy

https://www.thisiscolossal.com/2018/06/banksy-in-paris/

https://www.thisiscolossal.com/2018/12/banksy-port-talbot/

Tags: , , , ,