จากบทความตอนที่ผ่านมา ที่นำเสนอการเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในโลกศิลปะของกลุ่มศิลปิน Guerrilla Girls ทำให้เราพบว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา บทบาทของผู้หญิงในโลกศิลปะ (รวมถึงวงการสร้างสรรค์อื่นๆ) ก็ยังคงถูกกีดกันและกดทับไม่ต่างกับในอดีตมากนัก

จริงอยู่ ที่ในยุคหลังมานี้อาจจะมีศิลปินหญิงให้เห็นอยู่ในวงโคจรของโลกศิลปะอยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนของศิลปินเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกาสที่พวกเธอจะได้แสดงนิทรรศการในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ชั้นนำก็ยังน้อยยิ่งกว่า

แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สถานภาพของเพศหญิงในโลกศิลปะและวงการสร้างสรรค์อื่นๆ ได้รับการยอมรับและยกระดับให้ทัดเทียมกับศิลปินเพศชายมากขึ้น จะด้วยกระแสเรียกร้องสิทธิสตรี กระแสสตรีนิยมคลื่นลูกใหม่ กระแสสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศในสังคม หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ของกระแส #MeToo อันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการปฏิวัติบรรทัดฐานและการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและการกดขี่คุกคามทางเพศในทุกๆ วงการอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ จนทำให้สถาบันทางศิลปะอย่างพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ หันมาทบทวนบทบาทและนำเสนอผลงานของศิลปินเพศหญิงกันมากขึ้น

ไม่เพียงศิลปินหญิงร่วมสมัยจะมีโอกาสทางวิชาชีพ มีพื้นที่ยืนมากขึ้นในแวดวงศิลปะมากขึ้นแล้ว แม้แต่ศิลปินหญิงในอดีต ที่เคยถูกเพิกเฉย ละเลย และตกสำรวจในหน้าประวัติศาสตร์ ก็ถูกขุดค้นและรื้อพื้นขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักกันอีกครั้งด้วยเหมือนกัน

พิพิธภัณฑ์ปราโด (Museo del Prado) ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน กำลังจะจัดนิทรรศการศิลปะเพื่ออุทิศให้กับศิลปินสตรีผู้มีความโดดเด่นเป็นเอกในยุคเรอเนสซองส์ อย่าง โซโฟนิสบา อังกุยโซลา (Sofonisba Anguissola) จิตรกรหญิงชาวอิตาเลียน ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในราชสำนักของกษัตริย์เฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน และ ลาวีเนีย ฟอนตานา (Lavinia Fontana) จิตรกรหญิงชาวอิตาเลียน ผู้ได้รับการบันทึกว่าเป็นศิลปินอาชีพหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ศิลปะ

โซโฟนิสบา อังกุยโซลา: Self-Portrait (1556), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Sofonisba_Anguissola

ลาวีเนีย ฟอนตานา: Self-Portrait at the Clavichord with a Servant, (1577), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Lavinia_Fontana

นิทรรศการนี้ทำขึ้นเพื่อต่อต้านการครอบงำประวัติศาสตร์ศิลปะโดยศิลปินเพศชายมายาวนานหลายศตวรรษ ด้วยการนำเสนอผลงานของศิลปินหญิงแห่งยุคเรอเนสซองส์ผู้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักคู่นี้

โดยนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินหญิงทั้งสองคนนี้ จะถูกแสดงในวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปี ของพิพิธภัณฑ์ปราโด ในปีหน้า ร่วมกับนิทรรศการของศิลปินชั้นครู (เพศชาย) ผู้โด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างดีในโลกศิลปะอย่าง เรมบรันด์ (Rembrandt) และ เบลาสเกซ (Diego Velázquez)

ถึง อังกุยโซลา และ ฟอนตานา จะเกิดในอิตาลีเหมือนๆ กัน แต่ทั้งคู่ก็มาจากชนชั้นและฐานะที่แตกต่างกันมาก ฟอนตานา  เป็นบุตรีของจิตรกรผู้มีชื่อเสียงในเมืองโบโลญญา ที่มีฐานะค่อนข้างดี ในขณะที่ อังกุยโซลา นั้นเกิดในตระกูลขุนนางในเมืองเครโมนา ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน

ลาวีเนีย ฟอนตานา (1552 – 1614) ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินหญิงอาชีพคนแรก ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับศิลปินเพศชาย โดยไม่ได้สังกัดในราชสำนัก หรือสำนักนางชี ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกและหาได้ยากยิ่งในยุคนั้น เธอเป็นแม่ของลูก 11 คน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ทำมาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนในครอบครัว โดยมีสามีเป็นผู้ช่วยและนายหน้าขายงานให้

เธอเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียง ที่ได้รับการว่าจ้างจากเหล่าบรรดาราชาคณะ สันตะปาปา และเหล่าบรรดาชนชั้นสูงต่างๆ และเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่วาดภาพเปลือยผู้หญิง หนำซ้ำยังเป็นการวาดแบบสดๆ จากนางแบบจริงๆ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องห้ามอย่างมาก

มีการบันทึกเอาไว้ว่า เธอสร้างสรรค์ผลงานนับร้อยชิ้น แต่มีเพียง 32 ชิ้นที่มีลายเซ็นและบันทึกวันเวลาเอาไว้ ส่วนที่เหลือก็ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผลงานของเธอ ทำให้เธอกลายเป็นศิลปินหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคก่อนปี 1700 และถือได้ว่าเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในยุคสมัยของเธอ

ลาวีเนีย ฟอนตานา: Portrait of a Lady with a Dog (1552) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Lavinia_Fontana

ลาวีเนีย ฟอนตานา: Minerva Dressing (1613), ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Lavinia_Fontana

ลาวีเนีย ฟอนตานา: Portrait of a Noblewoman (1580), สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพจาก https://news.artnet.com/exhibitions/help-us-museums-prado-celebrating-two-great-female-artists-bicentenary-year-1341185

ลาวีเนีย ฟอนตานา: Bianca degli Utili Maselli and six of her children (1614) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Lavinia_Fontana

ในขณะที่ โซโฟนิสบา อังกุยโซลา (1532 – 1625) ถึงแม้จะเกิดในครอบครัวฐานะไม่ดี แต่เธอก็ได้รับการศึกษาอย่างครบถ้วนดีงาม ซึ่งรวมถึงการศึกษาด้านศิลปะ ซึ่งเป็นตัวอย่างแรกของผู้หญิงที่ได้รับโอกาสร่ำเรียนด้านนี้ แต่อันที่จริง การเรียนของเธอก็ยังแตกต่างกับการเรียนของผู้ชาย รวมถึงไม่ได้มีพื้นที่ในการทำงานมากเท่า เธอไม่มีโอกาสศึกษาด้านกายวิภาค ไม่สามารถวาดภาพเปลือยจากคนจริงๆ ซึ่งในยุคนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ยิ่งกว่านั้นเธอยังไม่มีโอกาสวาดภาพทางศาสนาหรือประวัติศาสตร์ที่มีความซับซ้อนและมีแบบจำนวนมากได้

ในทางกลับกัน เธอก็ทดลองวาดภาพเหมือนคนในรูปแบบใหม่ๆ ที่นำเสนอภาพของบุคคลใกล้ชิดในวิถีชีวิตประจำวัน โดยได้แบบมาจากคนในครอบครัวของเธอเอง ผสมผสานกับเสื้อผ้าอันพิถีพิถัน และการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านสีหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก สำหรับงานจิตรกรรมของอิตาลีในยุคนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคสมัยที่ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุแห่งการจ้องมอง เป็นนางแบบให้ศิลปินเพศชายใช้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของพวกเขา แต่ในผลงาน Self-Portrait (1556) อังกุยโซลาวาดภาพตัวเองกำลังวาดภาพในฐานะจิตรกร ซึ่งเป็นการแยกสถานภาพของตัวเองออกจากการเป็นนางแบบให้จิตรกรชายวาดภาพ ผลงานชิ้นนี้แสดงการปฏิวัติความคิดที่มองเพศหญิงเป็นวัตถุที่เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์ของผู้ชาย ให้กลับกลายมาเป็นผู้สวมบทบาทของผู้สร้างสรรค์เสียเอง

อังกุยโซลา ยังเป็นที่รู้จักนอกอิตาลี ในฐานะจิตรกรประจำราชสำนักสเปน จากการที่ กษัตริย์เฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน ว่าจ้างให้เธอไปเป็นนางสนองพระโอษฐ์และครูสอนศิลปะของพระนางเอลิซาเบธแห่งวาลัวส์ สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน ในช่วงนั้นเธอได้วาดภาพสมาชิกในราชวงศ์ทุกพระองค์ รวมถึงได้รับการว่าให้จ้างวาดภาพจากพระสันตปาปาอีกด้วย

ผลงานและความสำเร็จของเธอส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลัง และช่วยแผ้วถางหนทางแห่งโอกาส ให้ผู้หญิงจำนวนมากหันมาแสวงหาความสำเร็จในวิชาชีพศิลปินเป็นอย่างมาก

โซโฟนิสบา อังกุยโซลา: The Chess Game (1555), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Sofonisba_Anguissola

โซโฟนิสบา อังกุยโซลา: Family Portrait, Minerva, Amilcare and Asdrubale Anguissola, (1559), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Sofonisba_Anguissola

โซโฟนิสบา อังกุยโซลา: Portrait of Philip II of Spain (1573), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Sofonisba_Anguissola

โซโฟนิสบา อังกุยโซลา: Portrait of Queen Elisabeth of Spain (1599), สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Sofonisba_Anguissola

นิทรรศการแสดงผลงานของ อังกุยโซลา และ ฟอนตานา จะจัดแสดงในเดือนตุลาคม ปี 2019 นี้ และจะกลายเป็นอีกหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ปราโด หลังจากที่พิพิธภัณฑ์เพิ่งแสดงนิทรรศการของศิลปินหญิง คลารา พีเตอร์ส (Clara Peeters) ผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพหุ่นนิ่งไปเมื่อสองปีก่อน

อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์ในยุโรปเอง ขึ้นชื่อว่ามีความเชื่องช้าล้าหลังในการเก็บสะสมผลงานของศิลปินหญิง โดยเฉพาะศิลปินสองคนนี้ ดังนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ปราโดจึงต้องหยิบยืมผลงานเหล่าจากคอลเล็กชั่นของสถาบันศิลปะในสหรัฐอเมริกาอย่าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะของศิลปินสตรีแห่งชาติ (National Museum of Women in the Arts) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งตกลงที่จะให้ยืมผลงาน Portrait of a Noblewoman (1580) และ Portrait of Costanza Alidosi (1594) ของฟอนตานา ไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ปราโด เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนสเปน

“เหล่าศิลปินหญิงผู้มากความสามารถมากมายหลายคนในช่วงต้นยุคโมเดิร์น ต่างก็ฝ่าพันอุปสรรคและการกีดกันทางเพศจนประสบความสำเร็จในวิชาชีพ และบุกเบิกที่ทางให้เพศหญิงในวงการศิลปะได้สำเร็จ แต่การเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมอันเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางเพศในสถาบันศิลปะ และผลักดันให้สถาบันเหล่านั้นหันมาสะสมและแสดงผลงานที่ทำโดยศิลปินเพศหญิงนั้นเป็นภารกิจที่ทำได้ยากยิ่งกว่า” ซูซาน ฟิสเชอร์ สเตอร์ลิง (Susan Fisher Sterling) ผู้อำนายการของ National Museum of Women in the Arts กล่าว

นอกจากนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ปราโดแล้ว ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ชั้นนำของโลกอื่นๆ ก็หันกลับมามองศิลปินหญิงที่เคยถูกเพิกเฉยและมองข้ามไปในประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมถึงจัดนิทรรศการที่ท้าทายค่านิยมในการแสดงนิทรรศการศิลปะที่มีเพศชายเป็นศูนย์กลาง แม้จะเป็นในยุคสมัยปัจจุบันก็ตามที (ไม่เชื่อก็ถาม Guerrilla Girls ดู!)

ไม่ว่าจะเป็น หอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi) ในฟลอเรนซ์ อิตาลี ที่พยายามแสดงผลงานของศิลปินเพศหญิงมากขึ้น

หรือหอศิลป์แห่งชาติ (National Gallery) กรุงลอนดอน ที่เป็นข่าวฮือฮาในวงการศิลปะในปี 2018 นี้ จากการซื้อภาพวาด Self-Portrait as Saint Catherine (1615–17) มูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ของศิลปินหญิงชาวอิตาเลียนยุคบาโร้ก (Baroque) อาร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) (1593 – 1653) ศิลปินหญิงผู้มักวาดภาพตัวละครเอกหญิงสุดสตรองที่เปี่ยมความรุนแรงจากตำนานศาสนาและเทพปกรณัมคลาสสิคโบราณ

ผลงานของเธอมักจะเล่นกับการตัดกันระหว่างแสงสว่างกับความมืดอย่างจัดจ้าน ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากจิตรกรชั้นครูในยุคบาโร้กอย่าง คาราวัจโจ (Caravaggio) หนำซ้ำเธอยังวาดภาพ Judith Slaying Holofernes (1620) ที่หยิบเอาเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิ้ลของ จูดิธ วีรสตรีชาวยิว ผู้ตัดหัว โฮโลเฟอร์เนส แม่ทัพชาวบาบิโลนบนที่นอน เช่นเดียวกับที่คาราวัจโจเคยวาดจนกลายเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเขา แต่เวอร์ชั่นของเธอนั้นนองเลือดและดูสมจริงสมจังกว่า (ว่ากันว่าเธอศึกษาลักษณะการกระฉูดของเลือดจากบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ กาลิเลโอ (Galileo Galilei) ซึ่งเป็นคนร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันกับเธอ) ถามว่าสมจริงแค่ไหน? ก็ขนาดที่ผู้ว่าจ้างเธอให้วาดภาพนี้ไม่กล้าเอาภาพของเธอแขวนโชว์นั่นแหละ!

อาร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี: Judith Slaying Holofernes (1620), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://arthive.com/news/3573~10_facts_about_Artemisia_Gentileschi_how_teenage_tragedy_led_to_triumph

เธอยังเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ได้เข้าร่วมในสมาคม Accademia delle Arti del Disegno (Academy of the Arts of Drawing) อันเลื่องชื่อในฟลอเรนซ์ ที่ยอมรับแต่สมาชิกผู้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมที่สุดในยุคนั้น (แน่นอนว่าล้วนเป็นเพศชาย) อย่าง มีเกลันเจโล (Michelangelo) หรือ บรอนซิโน  (Bronzino) เป็นอาทิ

ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในยุคนั้น ที่กล้าขึ้นศาลฟ้องร้องผู้ชายที่ข่มขืนเธอในวัย 18 ปี ผู้ชายคนนั้นก็ไม่ใช่คนอื่นไกล ก็ศิลปินที่พ่อของเธอจ้างมาทำงานและสอนเธอวาดภาพนั่นแหละ หลังจากผ่านการพิจารณาคดี การตรวจสอบทางสูตินรีเวชอันเจ็บปวดและน่าอับอายเพื่อพิสูจน์หลักฐานการถูกข่มขืนต่อหน้าผู้พิพากษา และการประณามหยามเหยียดจากชายที่ข่มขืนเธอ ในที่สุดเธอก็ชนะคดี ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาที่ข่มขืนเธอจะติดคุกไม่ถึงปี และถูกว่าจ้างให้กลับมาทำงานกับพ่อของเธออีกในภายหลังก็ตามที (อะนะ!)

ซึ่งภาพวาด Self-Portrait as Saint Catherine ที่ว่านี้ เป็นภาพของตัวเธอที่สวมบทบาทเป็น นักบุญแคเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย นักบุญมรณสักขี (คริสต์ศาสนิกชนที่ถูกทรมานจนตายหรือถูกประหารชีวิตเพราะไม่ยอมละทิ้งศรัทธาทางศาสนา) ในศตวรรษที่ 4 ยืนพิงกงล้อดาบ ซึ่งเป็นเครื่องมือทรมานที่มีตำนานเชื่อมโยงกับนักบุญผู้นี้ (ตำนานกล่าวว่าอเล็กซานเดรียถูกสั่งให้ลงทัณฑ์ทรมานและประหารชีวิตด้วยเครื่องมือชิ้นนี้ แต่เมื่อเธอสัมผัสกงล้อก็หักสะบั้นลง ท้ายที่สุดเธอจึงถูกประหารด้วยการตัดหัวแทน) ผลงานชิ้นนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นการอ้างอิงถึงประสบการณ์ที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางเพศ และความเจ็บปวดอับอายที่เธอได้รับจากการพิจารณาคดีดังกล่าวนั่นเอง

อาร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี: Self-Portrait as Saint Catherine (1615–17), สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพจาก https://arthive.com/news/3573~10_facts_about_Artemisia_Gentileschi_how_teenage_tragedy_led_to_triumph

ฮานนาห์ รอธส์ไชลด์ (Hannah Rothschild) ผู้ดูแลหอศิลป์แห่งชาติในลอนดอน กล่าวว่า

“การได้มาซึ่งผลงานชิ้นนี้ เป็นการเติมเต็มความฝันของการเพิ่มคอลเล็คชั่นผลงานของศิลปินหญิงในหอศิลป์ เจนทิเลสกีเป็นศิลปินหญิงชั้นครู นักเล่าเรื่องชั้นยอด เป็นนักบุกเบิกทางศิลปะ และเป็นศิลปินหัวก้าวหน้าผู้เปี่ยมสีสันที่สุดในยุคสมัยนั้น และเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่สามารถทำลายกรอบข้อจำกัดในยุคนั้น ด้วยการเอาชนะความเหลื่อมล้ำและค่านิยมอันคับแคบที่มีต่อเพศหญิงในวงการศิลปะและประสบความสำเร็จในฐานะจิตรกรได้”

ในปีหน้า สถาบันรอยัลอะคาเดมีออฟอาตส์ (Royal Academy of Art) ในลอนดอน ก็กำลังจะจัดนิทรรศการ The Renaissance Nude ที่นำเสนอภาพเปลือยตั้งแต่ยุค 1400 ถึง 1530 ของทั้งเพศชายและเพศหญิง มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจแนวคิดและอุดมคติเกี่ยวกับภาพเปลือย และแสดงออกถึงความเสมอภาคทางเพศในโลกศิลปะ ไม่ให้เพศหญิงต้องตกเป็นเป้าแห่งการจ้องมองจากเพศชายแต่เพียงฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา ดังที่กลุ่ม Guerrilla Girls เคยทำสถิติประจานเอาไว้นั่นแหละนะ

เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของการปฏิวัติบทบาทของผู้หญิงในวงการศิลปะโลกจริงๆ อะไรจริง!

ข้อมูล

https://frieze.com/article/countering-male-art-history-madrids-prado-devotes-show-female-renaissance-trailblazers?medium=paid

https://news.artnet.com/exhibitions/help-us-museums-prado-celebrating-two-great-female-artists-bicentenary-year-1341185

https://frieze.com/article/national-gallery-purchases-ps36m-artemisia-gentileschi-transforming-how-it-tells-story-women

https://en.wikipedia.org/wiki/Lavinia_Fontana

https://en.wikipedia.org/wiki/Sofonisba_Anguissola

https://arthive.com/news/3573~10_facts_about_Artemisia_Gentileschi_how_teenage_tragedy_led_to_triumphhttps://hyperallergic.com/75376/10-facts-you-may-not-know-about-artemisia-gentileschi/

Tags: , , , , , , ,